MAKE YOURSELF AT HOME

ARSOMSILP COMMUNITY AND ENVIRONMENT ARCHITECT TEAMS UP WITH SPACETIME ARCHITECTS TO DESIGN THE RATCHAPHRUEK HOSPITAL IN KHON KAEN PROVINCE, A SO-CALLED ‘HOUSEPITAL’ THAT OFFERS A MORE HUMAN DIMENSION TO ITS USERS INSTEAD OF BASING THE DESIGN ON QUESTIONS LIKE ‘HOW CAN THE PROJECT BE MARKETED?’

TEXT: KRAIPOL JAYANETRA
PHOTO: W WORKSPACE

(For English, press here)

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เติบโตมากับโรงพยาบาลในช่วงปี 1980s ผู้เขียนยังจำได้เป็นอย่างดีถึงบรรยากาศโดยรวมของโรงพยาบาลในขณะนั้น ที่แม้จะดูเคร่งขรึมไปบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายเมื่อได้ใช้เวลาอยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาล ผ่านการได้สัมผัสแสงแดด และได้ใกล้ชิดกับสวนธรรมชาติสีเขียว องค์ประกอบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใส่ใจต่อความรู้สึกของการอยู่อาศัย และของผู้ใช้งาน รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนไม่รู้สึกเกร็งหรือถูกคุมคามเมื่อต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลด้วย

อย่างไรก็ดี จากการขยายตัวของเมืองและประชากรตามนโยบายการค้าเสรีในต้นทศวรรษที่ 1990s โรงพยาบาลรัฐและเอกชนต่างเร่งขยายตัวเพื่อรองรับกับอุปสงค์ที่มากขึ้น โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในยุคนั้นเลือกเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างต่อเติมของอาคาร ส่งผลให้พื้นที่ส่วนกลางขาดความสัมพันธ์กับธรรมชาติจนทำให้โรงพยาบาลในยุคนั้นดูเย็นชา กลายเป็นเครื่องจักรที่ไร้ชีวิตจิตใจ ซึ่งย้อนแย้งกับหน้าที่ของมันที่ควรจะเป็นสถานที่ที่ช่วยทำนุบำรุงชีวิตของผู้คน ภาพความอึดอัดของผู้ป่วยนอกที่มานั่งรอตรวจ จึงกลายเป็นมโนภาพของหลายๆ คนเมื่อนึกถึงโรงพยาบาล

CLICK ON IMAGE TO VIEW FULL SIZE

จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าโดยทั่วไปโรงพยาบาลจะมีระเบียบข้อบังคับในการออกแบบให้ถูกสุขอนามัย ซึ่งต้องใช้ทีมสถาปนิกที่มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทางเข้ามาร่วมออกแบบเพื่อจัดการให้การก่อสร้างสะดวกราบรื่น แต่เมื่อโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของจังหวัดขอนแก่นอย่าง “โรงพยาบาลราชพฤกษ์” มีนโยบายที่จะสร้างอาคารหลังใหม่ให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 220 เตียงขึ้นมา เพื่อให้บริการผู้คนทุกระดับชั้นในเขตท้องถิ่นอีสานกลาง ทางผู้บริหารได้ตัดสินใจเลือก “สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์” และ “สถาปนิกสเปซไทม์” เข้ามารับหน้าที่ออกแบบ ซึ่งถือเป็นมือใหม่ในการออกแบบอาคารประเภทนี้ เพราะต้องการให้ความสำคัญกับแนวคิด “ถึงกายป่วยแต่ใจไม่ป่วย” และเชื่อว่าทัศนคติของผู้ออกแบบที่ใช้การสืบค้นหาองค์ความรู้ท้องถิ่นมาเป็นพื้นฐานของการออกแบบ เพื่อให้ได้สถาปัตยกรรมที่มีชีวิตสอดคล้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หรือท้องถิ่นนั้น สามารถตอบโจทย์ในมิติของความเป็นมนุษย์ที่ผู้บริหารมองหาได้

เพื่อทำให้โรงพยาบาลตอบโจทย์เป้าหมายของการออกแบบที่ประกอบด้วย การสร้างสภาวะที่เหมาะแก่การเยียวยา การใช้งานโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีความสอดคล้องกับบริบท อาศรมศิลป์เริ่มต้นการออกแบบด้วยการค้นคว้าข้อมูลหลายๆ แนวทาง เช่น การจัดเวิร์คช็อปเชิญบุคคลจากหลากหลายอาชีพและฐานะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า “โรงพยาบาลในฝันคืออะไร” การวิเคราะห์กรณีศึกษาของโรงพยาบาลในต่างประเทศที่นำธรรมชาติหรือความเชื่อทางจิตวิญญาณมาเป็นองค์ประกอบในการออกแบบ การศึกษาแนวคิดมิตรภาพบำบัดที่เกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆ ในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การวิเคราะห์คุณลักษณะของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการสืบค้นเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาอาการป่วยไข้ในวัฒนธรรมอีสานกลาง

ผลลัพธ์ของการสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ทำให้อาศรมศิลป์เชื่อว่าความ “บ้านบ้าน” ทั้งในนัยของสิ่งปลูกสร้างและสถานที่ สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานอยู่ใน “สภาวะที่คุ้นเคย ผูกผันกับสถานที่ และใกล้ชิดกับธรรมชาติ” ซึ่งความคุ้นเคยที่ว่าสามารถช่วยลดความรู้สึกเครียดที่เกิดจากความรู้สึกแปลกแยกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่ และในท้ายที่สุดแล้วยังจะช่วยทำให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย และเข้าถึงสภาวะ “ถึงกายป่วยแต่ใจไม่ป่วย” ได้ด้วยดี

CLICK ON IMAGE TO VIEW FULL SIZE

อย่างไรก็ตาม จากการทดลองนำแนวคิด “บ้านบ้าน” มาใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติในหลายรูปแบบ สถาปนิกตระหนักได้ว่าการจัดการโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ถึง 30,000 ตารางเมตร ให้มีระบบสัญจรภายในที่ดี ไม่หลงทางได้นั้น ไม่สามารถที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมโดยเน้นเฉพาะการขยายแนวราบเพียงอย่างเดียว แม้การออกแบบในแนวทางที่ว่าจะช่วยให้อาคารเปิดรับธรรมชาติได้มากกว่า แต่การออกแบบให้โรงพยาบาลที่มีการขยายในแนวดิ่งสามารถช่วยจัดการกับโซนนิ่งของอาคาร และร่นระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะฉะนั้นการออกแบบโรงพยาบาลราชพฤกษ์จึงเป็นไปในแบบลูกผสมแทน คือผสมระหว่างส่วนฐานอาคารที่แผ่ไปทางราบ มีการจัดพื้นที่บางส่วนให้เกิดเป็นคอร์ทยาร์ด กับส่วนตึกที่วางคร่อมอยู่ ซึ่งนี่ดูจะเป็นแนวทางที่สามารถสร้างให้เกิดจุดร่วมระหว่างการสร้างความเป็นบ้าน และการใช้งานของโรงพยาบาล ได้อย่างลงตัวที่สุด

CLICK ON IMAGE TO VIEW FULL SIZE

รายละเอียดการจัดโซนนิ่งของโรงพยาบาลราชพฤกษ์สามารถแบ่งการจัดการคร่าวๆ ออกเป็นสี่ส่วน คือ ส่วนเซอร์วิสที่รวมถึงที่จอดรถและโรงอาหารสำหรับคนนอก ซึ่งแผ่อยู่บริเวณชั้นที่ 1 และอาคารที่แยกออกมา ส่วนฐานบ้านบริเวณชั้นที่ 2 และ 3 ซึ่งยื่นออกมาจากส่วนทาวเวอร์ ประกอบด้วยสวนคอร์ทยาร์ด โถงรับรอง และกลุ่มห้องตรวจผู้ป่วยนอก สำหรับส่วนที่อยู่บนทาวเวอร์ตั้งแต่บริเวณชั้นที่ 5-15 ถูกแบ่งเป็นส่วนของห้องพักผู้ป่วยใน กับห้องทำงานผู้บริหาร และส่วนสุดท้ายที่เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างฐานกับทาวเวอร์ประกอบด้วย ออฟฟิศ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด แผนก ICU และห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ต้องรองรับทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก

เพื่อให้การมาโรงพยาบาลไม่รู้สึกกดดันหรือแปลกแยก สถาปนิกเลือกใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มนุษย์ใช้กันอยู่โดยทั่วไป สามารถเข้าใจได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ยังมีมิติที่ชักชวนให้มนุษย์ได้พักสายตาจ้องมอง หรือเชื้อเชิญให้เราเข้าไปอยู่อย่าง ลานกลางบ้าน (courtyard) มาเป็นหัวใจหลักของงาน โดยในรายละเอียดของการออกแบบลานดังกล่าว ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยห้องตรวจและส่วนพักรอผู้ป่วยนอก สถาปนิกได้พยายามนำความเชื่อเรื่อง ธรรมชาติบำบัด มิตรภาพบำบัด และจิตวิญญาณบำบัด มาเป็นหลักการในการออกแบบ ยกตัวอย่างเช่น สถาปนิกเลือกจัดวางให้ห้องตรวจอยู่ในแนวแกนที่ตั้งฉากกับลาน เพื่อเปิดให้ส่วนพักรอผู้ป่วยสามารถมองเห็น และสัมผัสการระบายอากาศทางธรรมชาติ จากมุมมองของต้นจิกน้ำที่อยู่ข้างในลาน และมุมมองของต้นไม้ด้านนอกลานจอดรถ ซึ่งช่วยผ่อนคลายความอึดอัดระหว่างการตรวจลงได้

สำหรับการเดินเชื่อมต่อระหว่างแผนกต่างๆ ของห้องผู้ป่วยนอก สถาปนิกเลือกใช้ทางเดินแบบกึ่งภายนอกเพื่อบังคับให้ผู้ใช้งานได้เดินเข้า-ออก และรับฟังความเงียบสงบของสวนที่แซมไปด้วยเสียงกระทบของน้ำพุรอบๆ ทางเดิน สร้างปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ และด้วยขนาดที่กว้างเป็นพิเศษทำให้ทางเดินนั้นยังทำหน้าที่เหมือนเป็นเฉลียงที่เชื้อเชิญให้คนมาหยุดนั่งพักผ่อน และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

สำหรับห้องพักผู้ป่วยในบนตึกนั้น ด้วยข้อบังคับด้านความปลอดภัย และความต้องการเป็นส่วนตัว ทำให้การออกแบบดูไม่ต่างไปจากโรงพยาบาลทั่วไปสักเท่าไร อย่างไรก็ดี สถาปนิกได้พยายามเพิ่มรายละเอียด อาทิ เฉลียงและสวนหย่อมขนาดเล็กในแต่ละชั้นของส่วนห้องพักผู้ป่วยใน และพื้นที่สวนส่วนกลางที่บริเวณชั้น 5 เพื่อให้ผู้ป่วยภายในและแขกได้ใช้พักผ่อน หรือการเลือกจัดวางให้ห้องพัก ICU มีช่องเจาะกระจกที่สามารถรับแสงธรรมชาติ และมองเห็นแนวไม้เลื้อยภายนอก เกิดเป็นบรรยากาศห้อง ICU ที่ดูสบายใจขึ้น นอกจากนี้ สถาปนิกยังได้ประยุกต์เอาสัญลักษณ์ความเชื่อทางจิตวิญญาณในท้องถิ่นอย่าง “ตะเหลว” หรือลายเครื่องจักสานหวายที่แพทย์แผนไทยโบราณใช้เป็นสัญลักษณ์ปักบนหม้อต้มยาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ มาใช้เป็นลวดลายของฉากกรองแสงที่ติดอยู่โดยรอบอาคาร สร้างความรู้สึกเป็นสิริมงคลให้กับผู้ใช้งานภายในอาคาร

สัดส่วนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สถาปนิกให้ความสนใจ เนื่องด้วยอาคารมีพื้นที่ขนาดใหญ่ดูน่าเกรงขาม จึงได้มีความพยายามลดทอนทรวดทรงของอาคารให้ดูมีขนาดที่สัมพันธ์ใกล้เคียงกับสัดส่วนของมนุษย์มากขึ้น เช่น สถาปนิกเลือกที่จะทอนความตระการตาของตัวตึกลงด้วยการยื่นขยายอาคารในสองชั้นบนสุด และครอบพื้นที่ส่วนนี้ด้วยหลังคาเกล็ดไม้ทรงจั่ว เพื่อลดทอนสัดส่วนให้ดูมีความละม้ายคล้ายบ้านมากขึ้น หรือการใช้หลังคาเกล็ดไม้ทรงปั้นหยาเหนือทางเดิน ที่มีระดับของเชิงชายอยู่ต่ำจนคนเกือบที่จะเอื้อมถึงได้ เพื่อช่วยให้พื้นที่นี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

สำหรับการออกแบบที่ใช้มุมมองความเชื่อ ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ใช้พื้นฐานประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ มาเป็นตัวแปรในการตีความหมายสิ่งที่ควรทำนั้น เราคงไม่สามารถมีข้อสรุปได้ตายตัวว่าการออกแบบในแนวทางนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่ เพราะมันมีความคาบเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรม และทำให้เราสามารถเกิดมุมมองที่แตกต่างกันออกไปได้ เช่น เราอาจมองว่าโรงพยาบาลยังดูมีขนาดที่ใหญ่โตน่าเกรงขามเมื่อมองจากภายนอก การใช้พื้นที่สีเขียวในอาคารยังมีน้อยเกินไป หรือการใช้ลานคอร์ทยาร์ดอาจจะดูเข้าถึงความเป็นส่วนตัวมากขึ้นหากมันถูกซอยออกเป็นลานย่อยๆ หลายๆ ลานมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมในผลงานชิ้นนี้คือ ความกล้าของทั้งเจ้าของโครงการและสถาปนิก ที่ต่างก็ให้ความสำคัญกับสิ่งที่โรงพยาบาลควรจะเป็นในมิติของความเป็นมนุษย์ มากกว่าการเริ่มออกแบบบนคำถามว่าโรงพยาบาลแห่งนี้จะขายอย่างไร

arsomsilparchitect.co.th

1 Comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *