THE LIVING CONTAINER

HIDDEN AMONG THE BUSTLING BANGKOK IN SUKHUMVIT 49 LIES A HOUSE BY WALLLASIA THAT WISHES TO BE ANOTHER SMALL PART THAT BRINGS NATURE BACK TO THE CITY

TEXT: PITI AMRARANGA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

โครงการที่มีพื้นที่จำกัดโดยส่วนใหญ่จะคิดถึงการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่ากับราคาของมัน ดังนั้นเมื่อโจทย์คือการสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ บนพื้นที่ 435 ตารางเมตร ใจกลางเมือง นักออกแบบจะจัดการอย่างไร? / โครงการที่ภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมรวมตัวกันเป็นเนื้อเดียว / แนวคิดของการจัดสวนที่ปล่อยให้ต้นไม้เจริญเติบโตไปจนถึงจุดที่บดบังบ้านทั้งหลังกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ / ความต้องการที่เปลี่ยนบ่อยครั้งจนดูเหมือนกับว่ามันได้เติบโตไปตามจังหวะชีวิตของผู้อยู่อาศัย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือความน่าสนใจของ Mac&Ham House งานออกแบบของ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ จาก Walllasia ที่เริ่มต้นจากโจทย์เล็กๆ นั่นคือการออกแบบสวนและศาลาในที่ดินอีกแปลงใกล้ๆ กับบ้านหลังเดิม ก่อนสโคปงานจะงอกเงยมาเป็นบ้านพักอาศัยสำหรับครอบครัวเพิ่งแต่งงานใหม่ ราวกับว่าสถาปนิกจะมองเห็นอนาคต คอนเทนเนอร์ที่มีความยืดหยุ่นต่อการดัดแปลงและขยับขยาย ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ phase แรกของโครงการ และได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของการทำงานออกแบบในช่วงเวลาต่อมา

ถ้ามองเผินๆ อาจมองเห็นเป็นว่ากลุ่มอาคาร 3 หลังนั้นสร้างจากคอนเทนเนอร์ทั้งหมด พื้นที่ขนาด 435 ตารางเมตร แห่งนี้ ถูกใช้เป็นที่ตั้งของศาลาคอนเทนเนอร์บนพื้นยกสูงสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของคุณพ่อ – แม่ ถัดเข้าไปเป็นบ้านสองชั้น พื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวลูกสาว ซึ่งมีระเบียงเชื่อมต่อไปยังอาคารคอนเทนเนอร์ซ้อนชั้นที่ถูกใช้งานเป็นห้องอเนกประสงค์ ดาดฟ้า และสตูดิโอทำงานศิลปะ

ระยะ floor to ceiling ที่ต่างกันระหว่างโครงสร้างปกติของบ้านสองชั้น และอาคารคอนเทนเนอร์ซ้อนชั้น (ที่มีความสูงน้อยกว่า) นำมาสู่การเล่นระดับซึ่งช่วยลดความ rigid ของสถาปัตยกรรมไปในตัว กล่าวคือ บ้านหลังนี้ไม่ได้มีแค่ชั้น 1-2 แต่ยังมีระเบียงภายนอกของบ้านหลักที่เชื่อมไปยังชั้น 2 ของอาคารคอนเทนเนอร์ซ้อนชั้น และชานพักที่ต่อเนื่องไปยังชั้น 3 ซึ่งเป็นดาดฟ้าชั้นบนสุดของคอนเทนเนอร์ ทั้งหมดนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ภายใน – ภายนอก / งานสถาปัตยกรรม – ภูมิสถาปัตยกรรมเจือจางลง กระทั่งชวนให้นึกถึงประสบการณ์การเดินในภูมิประเทศ ที่มีการเดินขึ้นเดินลงเป็นจังหวะ ไม่ได้เป็นระนาบเดียวแบนๆ นอกจากนั้น การเล่นระดับที่ว่า ยังทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ของการใช้สอยพื้นที่ อย่างเช่น เราสามารถนั่งลงตรงพื้นที่ต่างระดับในแต่ะละจุดได้อย่างอิสระ

ในวันที่ art4d ไปเยี่ยมเยือนไซต์เมื่อเดือนมิถุนายน เหลี่ยมมุมของอาคารได้ถูกลบโดยต้นไม้ที่แทรกตัวอยู่ในทุกๆ จุดของบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถาปนิกปลูกต้นไม้เอาไว้อย่างต่อเนื่องในช่วงปีแรกๆ ของโครงการ เช่น ต้นพะยูง ปีป โมกมัน โดยตั้งใจให้ต้นไม้คลุมอาคารไว้ทั้งหมด สร้างความรู้สึกปกปิดแต่ทว่าปลอดโปร่ง บริเวณรั้วกั้นใช้ตะแกรงเหล็กทำหน้าที่เป็นม่านบังตาและเอื้อให้ต้นไม้เลื้อยเกาะตัวได้ อย่างต้นเหลืองชัชวาล รูที่เจาะไว้บนตะแกรงช่วยให้ลมระบายและแสงแดดลอดผ่านได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจคงเป็นวิธีการทำงานกับเหล็กของ Walllasia ที่กล่าวไปข้างต้นว่า “ถ้ามองเผินๆ คงคิดว่า บ้านทั้งหลังสร้างจากตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด” ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะดีเทลการพับเหล็กเป็นลอนบริเวณผนังบ้านหลัก ที่นอกจากจะทำให้โครงสร้างบ้านสองชั้นดูเนียนไปกับกลุ่มตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ยังช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับตัววัสดุไปในตัว Mac&Ham House เป็นอีกโปรเจ็คต์ที่เหล็กถูกนำมาใช้อย่างยืดหยุ่นมาก

จนเรียกได้ว่า ในทุกๆ จุดของบ้านนั้นมีรายละเอียดการใช้งาน / ยืดหด / ต่อเติม ด้วยเหล็กที่แทบไม่ซ้ำกัน ไล่ไปตั้งแต่โครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่สำหรับติดตั้งหลังคาผ้าใบ ที่สถาปนิกบอกกับ art4d ว่ารูปทรงของเหล็กที่ดูเพรียวบางนั้นมีที่มาจากการฝึกช่างให้ตัดเหล็ก wide flange ด้วยมือ! ไปจนถึงตามขอบหน้าต่างรอบบ้าน ที่สั่งตัดเหล็กมาแก้ปัญหาน้ำรั่วซึมแบบไม่ซ้ำกันสักชิ้น สภาวะการเชื่อมโลหะต่อกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ อุปมาคล้ายกับกิ่งก้านของต้นไม้ที่งอกเงยไปตามธรรมชาติ และมันคือการออกแบบที่ใช้ “มือคิด” และค่อยๆ จัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่สามารถกำหนดได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์

ชื่อเรียกโครงการ Mac&Ham House มาจากน้อง Macbeth และ Hamlet เฟรนซ์บูลด๊อกทั้งสองตัว ซึ่งจะเป็นหนึ่งในยูเซอร์ของบ้านหลังนี้ด้วย นอกจากนั้น ด้วยความที่บ้านหลังนี้มีแมวอีกหลายตัว ทำให้สถาปนิกต้องติดตั้งมุ้งลวดแบบพิเศษ บริเวณหลุมปลูกต้นไม้ก็ทำที่กั้นเอาไว้ไม่ให้แมวตกลงไป เพื่อช่วยป้องกันความปลอดภัยให้กับทุกชีวิตในบ้าน

Mac&Ham House เป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลาออกแบบก่อสร้างค่อนข้างนาน แต่แม้แบบจะเปลี่ยน (หน้างาน) หลายครั้ง สิ่งที่ทุกคนทั้งผู้ออกแบบและผู้อาศัยเห็นตรงกันก็คือ ความใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้นไม่เคยหายไป หลังจากที่ต้นไม้หลายต้น ค่อยๆ แปรสภาพกลายเป็นป่าขนาดย่อม พวกเขาพบว่าบ้านหลังนี้ค่อยๆ กลายเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของสัตว์เล็กๆ อย่างเช่น กระรอก กระแต หรือนกต่างๆ ที่แวะเวียนกันเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรกที่ว่า “เริ่มต้นด้วยธรรมชาติ จบด้วยความรู้สึกสัมผัสได้ถึงธรรมชาติ” และในอนาคต Mac&Ham House ก็จะมีเส้นทางการเติบโตไปตามชีวิตของเจ้าของบ้าน สถาปนิกบอกกับ art4d ว่าเขาต้องการให้บ้านหลังนี้มีการใช้งานที่ยืดหยุ่น เปิดเป็นแกลเลอรี่ได้หากต้องการ

เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อถูกวัฒนธรรมเมืองโอบล้อมโดยส่วนลึกเราจึงโหยหาการอยู่กับธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือของสถาปนิกกับเจ้าของโครงการที่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างการจัดการพื้นที่จำกัดในเขตเมืองที่ดูจะเป็นไปได้ยากให้ออกมาน่าสนใจ และคิดฝันอยากเห็นอะไรแบบนี้ในพื้นที่สาธารณะ ในขณะที่การสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อส่วนรวมถูกมองไม่เห็นค่าเท่ากับการสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่รู้สึกเศร้าใจพร้อมไปกับการเตรียมรับมือปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่จะวนเวียนกลับมาและอยู่กับเราตลอดไปกลายเป็นความปกติรูปแบบใหม่ที่ยังไร้ทางแก้

walllasia.com
fb.com/walllasia

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *