THE LONGEST WAY ROUND IS THE SHORTEST WAY HOME

THE EXHIBITION, THE LONGEST WAY ROUND IS THE SHORTEST WAY HOME, BY NONTAWAT NUMBENCHAPOL, TELLS THE STORY OF TA, A YOUNG MAN OF TAI YAI DESCEND, AND HIS JOURNEY BACK HOME TO APPLY FOR THE IDENTIFICATION CARD AFTER SIX YEARS OF BEING AWAY

TEXT: KANDECH DEELEE
PHOTO COURTESY OF GALLERY VER

(For English, press here)

บ่อยครั้งที่ “การเดินทาง” ถูกนำมาใช้เป็นหัวข้อหลักในการเล่าเรื่องและหมุดหมายตั้งต้นบทสนทนา ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะคุณสมบัติของหัวเรื่องเองที่ผสานทั้งการเปลี่ยนผ่านพื้นที่ (เดินทางจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง) และมิติทางด้านเวลาที่ค่อยๆ ผันผ่านไปตามระยะทาง

การเดินทางคือหัวข้อที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการเล่าเรื่อง เพราะพื้นที่และเวลาในตัวเนื้อเรื่องเอง ก็จะทำหน้าที่ของมัน นั่นคือการปูทางให้เรื่องราวอื่นๆ เดินทางคู่ขนานกันไป

นิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล เล่าเรื่องราวของ ต๊ะ แรงงานหนุ่มชาวไทใหญ่ที่กำลังเดินทางกลับบ้านเพื่อไปทำเอกสารประจำตัวประชาชน หลังจากที่เขาไม่ได้กลับบ้านเลยตลอด 6 ปีที่จากมา

นนทวัฒน์นำเสนอเรื่องราวนี้ผ่านวิดีโอฟุตเทจที่ถ่ายระหว่างเดินทางไปพร้อมกับต๊ะ ฟุตเทจทั้งหมดถูกร้อยเรียงฉายบนจอภาพขนาดใหญ่ที่ขึงด้วยไม้ไผ่แบบจอฉายหนังกลางแปลงทั้งหมดสี่จอ โดยสามจอถูกจัดวางอยู่ที่ผนังแต่ละด้านของห้อง ส่วนอีกจอถูกจัดวางให้อยู่อีกพื้นที่ที่ลึกเข้าไป

ภาพที่ฉายในแต่ละจอคือฟุตเทจที่ถูกตัดสลับไปมา บ้างฉายพร้อมกันทั้งหมดบ้างก็ฉายแค่สองหรือสามจอ บ้างก็ฉายแค่จอเดียว โดยไม่มีการฉายซ้ำกัน ยกตัวอย่างเช่น หากจอหนึ่งเป็นฉากที่ทุกคนกำลังช่วยกันซ่อมจักรยานยนต์ อีกจอที่ฉายพร้อมกันอาจฉายภาพตอนที่จักรยานยนต์ซ่อมเสร็จแล้ว เรื่องราว (หรือจะเรียกความจริงก็ได้) จึงแตกออกเป็นส่วนๆ ด้วยการจดจ่อแต่ละจอที่ไม่เท่ากันของผู้ชม แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งคือ แม้รายละเอียดของเหตุการณ์จะต่างกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้มันก็ยังเป็นเรื่องราวการเดินทางกลับบ้านของต๊ะอยู่ดี

อดคิดไม่ได้ว่าอุปสรรคในการรับชมของผู้ชมในแกลเลอรี่ นั้นไม่ต่างกับอุปสรรคระหว่างทางกลับบ้านของต๊ะ การกลับบ้านของต๊ะในครั้งนี้ต้องพึ่งพิงการเดินทางหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่วิธีที่สะดวกสบายที่สุดอย่างการนั่งเครื่องบิน และค่อยๆ ลดระดับความสบายลง เป็นการนั่งรถบัส นั่งรถยนต์ ไปจนถึงวิธีที่ยากลำบากที่สุดอย่างการขับรถจักรยานยนต์ (ที่เสียไปครั้งหนึ่งระหว่างการเดินทาง) บนถนนดินลูกรังเพื่อเข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางกลับบ้านครั้งนี้จึงมีส่วนช่วยร่างภาพสะท้อนระดับความเจริญที่แปรผันไปตามพื้นที่ที่เปลี่ยนผ่าน จากสังคมที่เจริญที่สุดที่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้ด้วยเวลาไม่กี่ชั่วโมง มาสู่ชนบทที่เข้าถึงยากทั้งการเข้าถึงในเชิงกายภาพ หรือแม้กระทั่งโอกาส เศรษฐกิจ ความฝัน ในเชิงนามธรรม

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าผลงานวิดีโอครั้งนี้เป็นการนำเสนอวิดีโอฟุตเทจ ทำให้ตลอดชิ้นงานเป็นการใช้เสียงสดที่ได้จากการอัดบันทึกระหว่างการเดินทางโดยตรง และแทบไม่มีการสอดแทรกดนตรีประกอบใดๆ เลยตลอดงาน น่าสังเกตว่ามีเพียงฉากเดียวเท่านั้นที่นนทวัฒน์เลือกที่จะใส่ดนตรีประกอบเข้ามาแทรกเป็นเวลานานถึงหลายนาที ฉากดังกล่าวคือ ฉากการขับจักรยานยนต์เพื่อที่จะเข้าสู่ตัวหมู่บ้านยามวิกาล สิ่งที่ปรากฏในจอที่ฉายอยู่เบื้องหน้าผู้ชมนั้น มีแต่ความมืดโอบล้อมภูมิทัศน์โดยรอบจนไม่เห็นสิ่งใด แม้แต่แสงไฟหน้ารถที่สาดส่องไปเบื้องหน้าก็ยังส่องเจอแต่ความมืดเบื้องหน้าที่ไม่ปรากฏสิ่งใดอื่น เสียงเดียวที่ผู้ชมได้ยินก็เป็นดนตรีบรรเลงคลอช้าๆ ชวนให้รู้สึกเปล่าเปลี่ยวอยู่เนืองๆ

ฉากดังกล่าวถูกฉายอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยเหตุหลายประการ นับตั้งแต่การที่เป็นฉากเดียวของตัวชิ้นงานที่มีดนตรีประกอบ การถ่ายด้วยมุมมองเดียวไม่เปลี่ยนมุมมองอื่น และการเป็นฉากที่ฉายยาวต่อเนื่องโดยไม่ตัด (long take) ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้ไม่ยากว่าฉากนี้มีความต้องการจะหมุดความหมายอะไรบางอย่างเอาไว้เป็นพิเศษ

ในเมื่อบ้านคือสิ่งแทนตัวตนของผู้อยู่อาศัย ภาพเส้นทางที่ค่อยๆ เข้าใกล้สู่ตัวบ้านก็ให้ความหมายถึงการที่เราค่อยๆ เข้าใกล้ชิดชีวิตของต๊ะเช่นกัน ฉากการเดินทางด้วยจักรยานยนต์ฉากนี้จึงถือเป็นฉากที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะฉากนี้ถือเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อแสงไฟหน้ารถสาดสะท้อนให้เห็นภาพบ้านของต๊ะในที่สุด

นอกจากนั้นถ้ามองอีกมุม “การเดินทางกลับบ้าน” อาจคือการย้อนรอยทางความหมาย “การเดินทางออกจากบ้าน” ไปในเวลาเดียวกัน หากเราลองพลิกเรื่องราวการเดินทางกลับบ้านครั้งนี้เป็นเรื่องราวตรงกันข้ามกัน เราก็จะเห็นได้ว่า เส้นทางดังกล่าวอาจเล่าเรื่องราวการเดินทางออกจากบ้านของต๊ะได้ด้วย ความมืดที่กัดกินภูมิทัศน์จนทำให้แทบมองไม่เห็นทางนั้นจึงอุปมาอุปมัยถึงความรู้สึกนึกคิดของต๊ะในตอนที่กำลังตัดสินใจจะออกจากบ้าน เพราะรอบพื้นที่บ้าน รอบพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ ดันเต็มไปด้วยความมืดบอดของโอกาส ความเป็นไปไม่ได้ของความฝัน การเดินทางออกมาจากบ้านมาเป็นแรงงานในไทยของต๊ะ ก็คงไม่ต่างจากการเดินทางไปหาแสงสว่างของความหวังเช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้ว การเดินทางกลับบ้านของต๊ะในครั้งนี้ อาจจะถูกสรุปเอาไว้แล้วตั้งแต่ชื่อนิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home เป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า ทางลัดอาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดเสมอไป เราคงได้เห็นแล้วว่า แม้การเดินทางตลอดชีวิตของต๊ะที่ผ่านมาจะเต็มไปด้วยอุปสรรคความยากลำบาก จนเสมือนว่าชีวิตของต๊ะนั้นกำลังถูกวางอยู่บนทางอ้อมของความสำเร็จ แต่จากบทสัมภาษณ์ที่แทรกมาตลอดตัวชิ้นงาน หรือแม้กระทั่งเค้าลางบางอย่างบนตัวต๊ะ ก็อาจจะทำให้เราเห็นแล้วว่า ทางอ้อมที่ต๊ะได้รับนั้นก็ไม่ได้เป็นทางอ้อมโล่งๆ ที่เพียงแค่ยื้อเวลาให้เขาไปถึงช้ากว่าคนอื่น ตรงกันข้าม เจ้าทางอ้อมนี้เองที่กำลังมอบความรู้ ความคิด ทัศนคติ ประสบการณ์ที่ล้ำค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆ จนเราอาจจะต้องกล่าวสรุปเรื่องราวทั้งหมด ด้วยชื่ออันเป็นสัมผัสแรกของนิทรรศการว่า “ทางลัดอาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดเสมอไป”

นิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล จัดแสดงที่ Gallery VER ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 – 22 สิงหาคม 2563

galleryver.com
fb.com/galleryver

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *