‘ENZO MARI: 25 WAYS TO DRIVE A NAIL,’ TRANSLATED INTO THAI LANGUAGE FROM THE ORIGINAL ITALIAN EDITION, SHEDS LIGHT ON THE STORY OF THE ITALIAN MODERNIST FURNITURE DESIGNER AS BROKEN DOWN INTO 16 CHAPTERS
TEXT: KANOKWAN TRAKULYINGCHAROEN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
ปี 2020 เป็นปีที่โลกของเราสูญเสียบุคคลสำคัญในแวดวงศิลปะ สถาปัตยกรรม และงานออกแบบเป็นจำนวนมาก ล่าสุดสำนักข่าวอิตาลีเพิ่งออกมายืนยันว่า Enzo Mari นักออกแบบอุตสาหกรรม และภรรยาของเขา Lea Vergine นักวิจารณ์ศิลปะได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ไม่กี่วันหลังจากที่นิทรรศการของมาริ ถูกนำมาจัดแสดงอีกครั้งใน Triennale Milano (คิวเรตโดย Hans Ulrich Obrist และ Francesca Giacomelli)
Enzo Mari เป็นนักออกแบบ นักเขียน ศิลปิน และช่างฝีมือ ที่ได้รับรางวัลของวงการออกแบบในอิตาลี Compasso d’oro มาสี่ครั้ง มีมุมมองของเขาต่อการทำงานออกแบบที่ชัดเจน เขาถึงกับบอกว่าระบบการเรียนการสอนปัจจุบันนั้นจะไม่นำไปสู่สิ่งใดๆ เลยนอกจากการตอบสนองความต้องการของตลาด และกระแสนิยม ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเราควรกลับไปใช้ระบบการเรียนจากการปฏิบัติจริง (คล้ายๆ ฝึกงาน) และให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียนและผู้สอน อย่างเคารพซึ่งกันและกัน
นี่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาใน หนังสืออัตชีวประวัติชื่อ Enzo Mari 25 modi per pian tare un chiodo แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาลีโดย ดร. กนกวรรณ ตระกูลยิ่งเจริญ บรรณาธิการนิตยสาร art4d ระหว่างปี 2019 – 2020
“หนังสืออัตชีวประวัติเล่มนี้ มีชื่อแปลเป็นไทยว่า 25 วิธีการตอกตะปู เป็นประโยคที่สะท้อนวิธีคิดของเขาในการออกแบบได้ตรงไปตรงมาที่สุด นั่นก็คือการนั่งแกะปมปัญหา ไปให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นฐานให้กับการค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้สำหรับโจทย์ของการออกแบบ”
ความรู้สึกที่ได้เห็นนิทรรศการแสดงผลงานของ เอนโซ มาริ โดยความบังเอิญเป็นครั้งแรกเมื่อราวสองปีก่อนที่เมืองตูริน มันเป็นความประทับใจอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งได้เห็นซีรีส์งานทดลองระดับความเปลี่ยนแปลงของแสงเงาที่เกิดในวัตถุขนาดเดียวกัน แต่บิดเปลี่ยนระนาบไปเพียงเล็กน้อยก็พาเอาเราสงสัยเดินวนไปวนมาสนุกกับการนั่งจับต้นชนปลายจนแทบไม่อยากกลับออกมาลุยหิมะข้างนอกอีก เมื่อเริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวได้ก็จะเห็นเส้นทางของกระบวนการทำความเข้าใจในเป้าหมายตัวเองของคนออกแบบ มันเป็นการค้นหาที่แน่วแน่ชัดเจนในจุดยืนแบบสังคมนิยม-ประชาธิปไตยที่ไม่ได้พูดเพื่อแสดงกำลังภายในลึกล้ำ แต่เป็นความเชื่อจริงๆ ของคนที่ขบคิดเรื่องงานออกแบบและสังคมรอบตัวไปพร้อมกัน
เดินวนแกะรอยอ่านเส้นทางแนวคิดของมาริก็จะเห็นทั้งลูกเล่นให้คนดูได้ขำขันฮาหึๆ บ้างลูกเสียดสีชวนสะดุ้งบ้าง โดยชิ้นที่เป็นเหมือนจุดลงตัวของความคิดอย่างเช่น il gioco dei 16 animal (เกมสัตว์ 16 ตัวผลิตโดย Danese) หรือ Aggregato (โคมไฟแยกชิ้นส่วนผลิตโดย Artemide) หรืออีกหลายต่อหลายชิ้นที่เห็นแล้วก็ชวนให้อมยิ้มในความช่างคิดช่างสังเกต
รายละเอียดของคนออกแบบพอดูงานนิทรรศการเสร็จแล้วการตามหาหนังสือที่เขาเขียนมาอ่านสักเล่มก็ผุดขึ้นมาไรๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
เอนโซ มาริเป็นนักออกแบบชาวอิตาเลียนรุ่นขิงแก่ เขาเคยได้รับรางวัลสูงสุดของวงการออกแบบในอิตาลี Compasso d’oro มาสี่ครั้ง ถ้าจะนับรุ่น เขาเป็นคนรุ่นถัดมาจากรุ่นของสามนักออกแบบระดับมาสเตอร์อย่าง Marco Zanuso, Achille Castiglioni และ Ettore Sottsass เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วตอนที่งานของกลุ่มเมมฟิสกำลังมีชื่อเสียงงานของมาริจัดได้ว่าเป็นงานสวนกระแสบ้างวิจารณ์ไปถึงว่าเป็นงานตกยุค แต่ทุกวันนี้ใครได้เห็นผลงานของเขาแล้วคงหาคำตอบให้ตัวเองไม่ยาก
หนังสืออัตชีวประวัติชื่อ 25 modi per pian tare un chiodo แปลเป็นไทยแบบตรงๆ ได้ว่า 25 วิธีการตอกตะปู เอาเป็นว่าอย่าพยายามเดาว่า 25 วิธีจะเกี่ยวอะไรกับโครงสร้างหนังสือหรือเป็นชื่อบทความ หรือตอนหนึ่งในหนังสือเพราะมันไม่ถูกเลยสักข้อ แต่เป็นประโยคที่สะท้อนวิธีคิดของเขาในการออกแบบได้ตรงไปตรงมาที่สุด นั่นก็คือการนั่งแกะปมปัญหาไปให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นฐานให้กับการค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้จำนวนหนึ่งสำหรับโจทย์ออกแบบขึ้น มาหนังสือมีชื่อรองต่อท้ายให้รู้ถึงลักษณะเนื้อหาข้างในไว้ว่า “ความคิดและงานตลอดหกสิบปีเพื่อปกป้องหนึ่งความฝัน” (Sessant’ di idee progetti per diffendere un sogno) ในบทที่หก มาริ หยอดไว้ว่าแรกเริ่มเดิมที่เขาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า L’anima del design (สาระสำคัญของการออกแบบ) มาริเชื่อว่าสาระอันนี้ตั้งอยู่บนประเด็นหลักสองเรื่อง คือคุณภาพของรูปทรงและการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ซึ่งก่อนที่เขาจะมาถึงข้อสรุปตรงนี้เขาใช้เวลาไปไม่น้อยกับการทำความเข้าใจคำถามที่ว่าความงามคืออะไร
หนังสือแบ่งเป็น 18 บทสิบบทแรกว่าด้วยเส้นทางการทำงานของเขาที่ผ่านมา ที่มาที่ไปของแต่ละผลงานเชิงทดลองบ้างผลิตภัณฑ์จริงบ้าง งานต้นแบบที่เสนอความเป็นไปได้หรือแนวทางใหม่ๆ บ้าง เมื่อเวลาผ่านไป บางครั้งเขามองย้อนกลับไปแล้ว วิจารณ์ผลงานตัวเอง แต่หลายงานก็ทำหน้าที่เป็นหลักกิโลเมตรยืนยันความคิด และตัวตนเขาในปัจจุบัน หกบทหลังเป็นเหมือนการประมวลความคิดของเขาต่อประเด็นต่างๆ ไม่ว่าเรื่อง สถาปัตยกรรม ใจความสำคัญของการทำงานออกแบบ ไปจนถึง วิกฤตที่เกินกว่าจะต้านทานในปัจจุบัน และจบบทสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความหวัง ถึงทางออกสำหรับสถานการณ์ที่ยากลำบากในปัจจุบัน คือการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่เขาเล่าไว้ในบทที่สี่ (รางวัลโนเบลสำหรับเด็กทุกคนที่อายุครบสองขวบ) ในเรื่องกระบวนการไม่รู้จบระหว่างการทดลองผิดลองถูก– การนิยามความรู้ที่ได้จากการทดลองนั้นซึ่งเขาเรียกว่าทฤษฎี
แนวคิดพื้นฐานในการทำงานออกแบบสำหรับมาริคือกระบวนการระหว่าง “ปฏิบัติกับทฤษฎี” ที่พัฒนาผ่านเวลาอย่างมีระเบียบแบบแผนในแบบฉบับของตัวเขาเอง เพื่อให้ได้รูปทรง (form) ที่ไม่ขึ้นกับเวลา แฟชั่น สังคม ค่านิยม หรือกลไกตลาด
ถ้าจะพูดถึงคนรุ่นมาริที่ผ่านยุคความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงปลายทศวรรษ 70 แบบเต็มๆ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดเรื่องจุดยืนทางความคิด มาริเป็นนักออกแบบที่มีจุดยืนอยู่บนฐานคิดแบบสังคมนิยม-ประชาธิปไตยหลายครั้งที่เขาออกความคิดเห็นในแบบยูโทเปียน (utopian) และหวังถึงคุณภาพชีวิตในสังคมที่ดีกว่า จนถึงกับเสนอเรื่อง transformation กับกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างๆ เขา แต่ก็ไม่มีใครสนใจฟังแม้แต่พวกเดียวกันเอง จากจุดนั้นดูจะทำให้เขามีมุมมองแบบกึ่ง ๆ จะปลงตกกับรสนิยมของยุคสมัยและกลไกตลาด แต่เขาก็ยังยืนยันว่างานออกแบบควรคิดเพื่อคนทุกคน
สำนวนการเล่าในหนังสือก็แสดงบุคลิกส่วนตัวของเขาได้ไม่ขาดไม่เกินเหมือนงานออกแบบ ที่ไม่วายกัดเหน็บให้คนฟังได้เจ็บ สะดุ้ง อยู่เป็นระยะกับความคิดเห็นของเขา นอกจากนี้มาริยังเป็นคนที่ไม่เชื่อในระบบโรงเรียนออกแบบ (Design Academy) และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจไม่ร่วมกลุ่มเมมฟิสเพราะเขาเชื่อว่าความรู้เกิดขึ้นจากงาน (La conoscenza nasce dal lavoro) ซึ่งคล้องจองลงตัวกับชื่อบทที่สิบสี่ในหนังสือว่า ll lavoro al centro (หัวใจอยู่ที่งาน)
ฟังเผินๆ อาจดูเหมือนคนขวางโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาคือคนที่เผชิญหน้าได้ตรงไปตรงมาที่สุดกับปัญหาเรื่องการออกแบบที่ขึ้นอยู่กับความหวือหวาแบบดาษ ๆ ชื่อเสียงคนออกแบบ ไปจนถึงการทำงานเพียงเพื่อให้ตลาดมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาให้สังคมได้บริโภคผลก็คือมาริเสนอให้คนที่ตั้งใจทำงานสนใจเรื่องการพัฒนาตัวงานผ่านเทคนิคที่เรียนรู้จากการลงมือลงแรงจริงๆ กระบวนการค้นคว้าอย่างเป็นระบบและการเรียนรู้เรื่องความงามกับรูปทรงด้วยมือของคนเรียนเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการเอาขวานผ่าลงไปในโรงเรียนออกแบบให้เหลือแต่ซาก เพราะมันคือการเสนอให้รื้อระบบปัจจุบัน ที่ยังคงติดอยู่กับรูปแบบของโรงเรียนออกแบบที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ในศตวรรษที่สิบเก้าหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่มาริเสนอก็คล้ายๆ กับการกลับไปใช้แนวทางแบบการฝึกงานในบ้านช่าง (bottega) ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยที่ปรับแนวทางเก่าให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ฝากกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดไว้กับตัวอาจารย์ และก็เคารพในศักยภาพของปัจเจกบุคคลที่เข้ามาเรียนรู้มากขึ้น
มาริมองกระบวนการทำงานงานออกแบบแยกออกเป็นสองช่วงส่วนแรกเป็นงานที่ปรับจากสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยวิเคราะห์ไปให้ถึงที่สุดเพื่อที่จะเข้าใจให้ได้ว่า การแก้ปัญหาที่มีคนทำไว้นั้นมันไม่ได้ถูกต้องหมดจด ส่วนนี้จึงเป็นเรื่องของการปรับตามความจำเป็นซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้จะเห็นได้ชัดในฟอร์มของเมืองหรือบ้านคน หรือที่มาริเรียกว่ากระบวนการที่แบบไม่รู้จบของการปรับแก้ทำใหม่ (attivita infinita di ‘riedizione)
ช่วงสองคือส่วนสำคัญของกระบวนการทำงานออกแบบ (progetto effectivo) ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีความพยายามที่จะเสนอสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ผ่านการแยกแยะอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพื่อที่จะหาว่า สาระสำคัญที่แท้จริงอยู่ที่ไหนกันแน่ โดยเป็นอิสระจากความคิดเรื่องความเชี่ยวชาญสามารถของตัวเอง เพราะคนออกแบบแต่ละคนก็ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอดที่จมจ่อมอยู่กับเงื่อนไขวัฒนธรรมของยุคสมัยตนเอง และก็ด้วยเงื่อนไขเดียวกันนี้เองที่เป็นบ่อเกิดของเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในตัวมันเองในปัจจุบัน
จุดเด่นของหนังสืออยู่ที่ภาษาเรียบง่ายของเรื่องเล่า แต่น่าสนใจ แบบเดียวกับที่สัมผัสได้ในงานของเขา เรื่องเล่าแต่ละเรื่องถ่ายทอดมุมมองของเขาที่มีต่อสิ่งรอบตัว แสนบรรเจิดบ้าง เสียดสีปนขมปะแล่มๆ บ้างสุดโต่งบ้างตามประสามนุษย์เดินดินคนหนึ่ง ส่วนอีกประเด็นที่น่าพูดถึงก็คือการมองประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของวงการออกแบบในอิตาลีนับ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ผ่านประสบการณ์ของคน ๆ หนึ่ง ใครที่สนใจประเด็นนี้หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยให้เห็นภาพความเป็นไปในยุคสมัยในมุมใกล้ และเติมมุมมองแบบปัจเจกให้คนอ่านได้เข้าใจบริบทในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ในแบบที่หนังสือเชิงวิชาการที่ให้ความสำคัญกับลักษณะของยุครวมๆ ลักษณะของยุครวมๆ มักข้ามไปไม่ถึง
Enzo Mari: 25 modi per piantare un chiodo
Post Views: 971