HELD ANNUALLY FOR THE THIRD CONSECUTIVE YEAR, BANGKOK THROUGH POSTER, INVITES CREATORS TO SUBMIT THEIR WORKS AND EXPRESS THEIR VIEWS ON DIFFERENT SOCIAL ISSUES USING A POSTER AS THE MEDIUM. AND THIS YEAR’S TOPIC, POSTER OF THE PEOPLE, BY THE PEOPLE, FOR THE PEOPLE, IS NOTHING BUT INTENSE
TEXT & PHOTO: SUTEE NAKARAKORNKUL
(For English, press here)
ปีที่ 3 ของ Bangkok Through Poster นิทรรศการประจำปีที่เชิญชวนให้นักสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขาส่งผลงานเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม โดยการสื่อสารผ่านการออกแบบโปสเตอร์ ซึ่งปีนี้มาพร้อมกับโจทย์ที่มีความเข้มข้นทางเนื้อหาอย่าง “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”
ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกได้ถูกนำมาจัดแสดงที่ Kinjai Contemporary แกลเลอรี่ย่านบางพลัดผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงาน เท่าที่กวาดสายตาดูประกอบไปด้วยงานกราฟิกหนักๆ จากกราฟิกดีไซเนอร์ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก งานคอลลาจ เพ้นท์ ภาพถ่าย typography ไปจนถึงงาน data visualization โดยทีม ELECT และ Punch Up
ต้องขอพาย้อนกลับไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า Bangkok Through Poster เป็นนิทรรศการการเมืองมาตั้งแต่การจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2018 โดยมีธีมเป็นคำถามที่ค่อนข้างเปิดกว้างว่า “อะไรคือกรุงเทพของคุณ?” (What is your Bangkok?) ซึ่งเมื่อนิทรรศการจบลงแล้ว ผลงานโปสเตอร์ทั้งหมดได้ถูกนำไปแปะในพื้นที่สาธารณะรอบๆ กรุงเทพฯ และเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรจากการปฏิบัติงานในรูปแบบ guerrilla
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานสร้างสรรค์นั้นแยกไม่ขาดจากเรื่องการเมือง เพราะงานสร้างสรรค์เป็น “วิธี” ในการส่งสารความหมาย หรือแนวคิดบางประการมาโดยตลอด และแน่นอนว่าเราไม่สามารถนิยามหรือถกเถียงกันได้จบภายในพื้นที่ของบทความนี้แน่ๆ สำหรับหนึ่งใน movement ที่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นงานสร้างสรรค์หรือเปล่า แต่มีความน่าสนใจในรอบปีที่ผ่านมา หลายๆ คนคงจำกันได้กับภาพนักเรียนชูกระดาษเปล่าสีขาว การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติวิธีที่เป็นปรากฏการณ์ในหลายๆ โรงเรียน ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลงานออกแบบโปสเตอร์ส่วนใหญ่ใน Bangkok Through Poster ปีนี้ ได้หยิบสิ่งที่สืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำงานเป็นจำนวนมาก
เนื้อหาของงานค่อยๆ พาคนดูไต่ระดับขึ้นไปตามความสูงขนาด 4 ชั้นครึ่งของแกลเลอรี่ บางผลงานเราอาจคุ้นตากันมาบ้างแล้ว จากเทคนิคการนำเสนอหรือลายเส้นที่เคยผ่านตาในโซเชียลมีเดีย บางผลงานมีกลิ่นอายของความเป็น meme อยู่ไม่น้อย นกพิราบ เป็ดเหลือง ทหาร คณะรัฐบาล หมุด หวย COVID-19 ความเหลื่อมล้ำทางเพศ การชุมนุม ขนส่งสาธารณะ แรงงาน ประชาชน ฯลฯ ล้วนถูกสอดใส่ความหมายเข้ามาในแต่ละองค์ประกอบภายในชิ้นงานได้อย่างชวนคิด ไปจนถึงบริเวณชั้นบนสุดที่เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการย่อยของพิพิธภัณฑ์สามัญชน นำเสนอเรื่องราวของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของนักเคลื่อนไหว ตลอดจนสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้บรรยากาศภายในแกลเลอรี่เป็นเหมือนกับการชุมนุมขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว
ยังมีอีกหลากหลายประเด็นจากนิทรรศการที่เราสามารถหยิบมาพูดคุยกันต่อได้ ไม่ว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นดีด้วยกับสิ่งที่ถูกนำเสนอก็ตาม คงต้องรอดูว่าผลงานโปสเตอร์ทั้งหมดนี้ จะถูกนำไปแปะที่ไหนกันบ้าง และเมื่อถูกแปะยังที่สถานที่นั้นๆ แล้ว โปสเตอร์จะมี “พลัง” ในการสื่อสารมากน้อยเท่าไหร่ อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้ติดตามไม่แพ้กัน
นิทรรศการ Bangkok Through Poster จัดแสดงที่ Kinjai Contemporary ตั้งแต่วันที่ 12 – 27 ธันวาคม 2563 โดยหลังจากนี้ โปสเตอร์ทั้งหมดจะถูกนำไปแปะยังพื้นที่สาธารณะรอบกรุงเทพฯ และหากไม่มีอะไรผิดพลาด นิทรรศการจะถูกนำไปจัดแสดงอีกครั้งที่งาน Bangkok Design Week 2021