THE FLOATING CINEMATHEQUE

THE FLOATING CINEMATHEQUE BUILDING WOODEN CINEMA WAS A COMMON THING IN THE PAST. BUT IS IT STILL POSSIBLE TO MAKE ONE AT PRESENT? TONSILP STUDIO AND KOR KAN DEE ARCHITECT ANSWER THIS QUESTION THROUGH THEIR LATEST PROJECT IN SALAYA, THE NEW BUILDING OF THAI FILM ARCHIVE, WHERE STATE-OF-THE-ART CINEMA TECHNOLOGY MEETS BUDDHIST IDEOLOGY

TEXT: JAKSIN NOYRAIPHOOM
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2544 ทันทีที่ อาคารภูมิพลสังคีต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งออกแบบโดย ต้นศิลป์ สตูดิโอ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับย่านศาลายา จากที่แต่เดิมย่านนี้เคยมีภาพลักษณ์เป็นชุมชนชานเมืองที่ยังมีความเป็นชนบทสูง กลายเป็นย่านการศึกษาที่ทันสมัย สะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นในย่านนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งอาคารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ฝั่งตะวันตก อาคารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล อาคารมหิดลสิทธาคาร เป็นต้น จนมาถึงสถาปัตยกรรมชิ้นล่าสุด “อาคารสรรพสาตรศุภกิจ” ที่ถือเป็นสถาปัตยกรรมน้องใหม่ในแถบนี้ และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในย่านศาลายา

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่บริเวณถนนพุทธมณฑล สาย 5 แนวคิดในการสร้างอาคารหลังนี้ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2552 จาก โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการฯ ที่ต้องการสร้างพื้นที่สำหรับเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ออกสู่สาธารณะ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ภาพยนตร์เปรียบเสมือนศาสนา และเขาได้เปรียบหอภาพยนตร์นี้เป็นดั่ง ศาสนสถาน โดยมีพื้นที่เผยแพร่ความรู้ที่มีความเป็นสาธารณะ เป็นเสมือนเขต “พุทธาวาส” ในขณะที่ส่วนที่ทำการอนุรักษ์ภาพยนตร์และเก็บรักษาฟิล์มซึ่งมีความเป็นส่วนตัว จะเปรียบได้กับเขต “สังฆาวาส” และตัวอาคารสรรพสาตรศุภกิจหลังนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของส่วนพุทธาวาส โดยตั้งอยู่ทางด้านหน้า ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ โดยมีอาคารอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยตั้งอยู่ทางด้านหลังและเชื่อมต่อกันด้วยลานกิจกรรม

ความต้องการเบื้องต้นที่ทางสถาปนิกผู้ออกแบบได้รับจาก โดม สุขวงศ์ คือ “อยากได้โรงหนังไม้” ที่มีบรรยากาศคล้ายกับโรงหนังไม้สมัยก่อน โดยมี โรงหนังศาลาเฉลิมธานี ตลาดนางเลิ้ง เป็นแหล่งอ้างอิง และนอกจากโรงหนังไม้แล้ว สิ่งที่ต้องการอีกคือ “อยากได้โรงหนังไม้ลอยฟ้า” เนื่องจากโรงภาพยนตร์เปรียบได้กับโบสถ์ และอยากให้โบสถ์หลังนี้ยิ่งใหญ่เหมือนลอยอยู่บนท้องฟ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชิดชูภาพยนตร์ไทย โดยมีบริษัทสถาปนิก 2 แห่ง คือ ต้นศิลป์ สตูดิโอ ซึ่งมีผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกหลายชิ้นในย่านนี้ และ สถาปนิกก่อกาลดี ทำหน้าที่แปรจากแนวคิดที่เป็นนามธรรมดังกล่าว ให้กลายเป็นผลงานออกแบบที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ได้รับการออกแบบให้เป็น “ภาพยนตร์สถาน” (Cinematheque) พื้นที่สำหรับฉายภาพยนตร์ ค้นคว้าข้อมูล และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ภายในประกอบด้วยพื้นที่ใช้งานหลักได้แก่ โรงภาพยนตร์ 3 โรง ขนาดความจุ 50 คน 100 คน และ 361 คน ห้องนิทรรศการ ห้องสมุด และพื้นที่ส่วนสำนักงาน นอกจากพื้นที่เหล่านี้แล้ว ทางสถาปนิกได้นำเสนอพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า “พื้นที่ปฏิสัมพันธ์” เพิ่มเข้าไป โดยเป็นพื้นที่กึ่งภายใน-กึ่งภายนอก ที่ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ใช้งานส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

“คือโรงภาพยนตร์มันเป็นต้องพื้นที่ที่ปิดร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ เวลาดูภาพยนตร์ก็ไม่อยากได้รับการรบกวนจากภายนอก ห้องนิทรรศการหลักๆ ก็ค่อนข้างเป็นที่ปิด เพราะต้องควบคุมแสง ควบคุมเสียง ผมเลยนำเสนอพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์กับภายนอก ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่า ถ้าเดินในพื้นที่นี้ จะมีพื้นที่ปิดเป็นก้อนๆ กระจายกันอยู่ และมีพื้นที่ปฏิสัมพันธ์อยู่ภายนอก ยึดโยงพื้นที่ปิดก้อนต่างๆ ไว้ด้วยกัน” วีระ ลีลาพัฒนภูติ สถาปนิกจาก สถาปนิกก่อกาลดี กล่าวอธิบายถึงแนวคิดการออกแบบพื้นที่ปฏิสัมพันธ์

พื้นที่ตรงกลางที่เป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เชื่อมโยงพื้นที่ส่วนต่างๆ ทั้งโรงภาพยนตร์ ห้องสมุด ห้องนิทรรศการ ร้านค้า และพื้นที่แสดงงานต่างๆ โดยพื้นที่ปฏิสัมพันธ์นี้ มีทั้งส่วนที่เป็นลานกิจกรรม ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ พื้นที่ทางเดิน และพื้นที่แสดงงานขนาดต่างๆ แทรกอยู่กับพื้นที่ส่วนอื่นๆ กระจายต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นล่างสุดไปจนถึงชั้นบน โดยผู้ออกแบบได้เปรียบพื้นที่ปฏิสัมพันธ์นี้ไว้ว่า เป็น “พื้นที่สีเทา” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างข้างนอก (สีขาว) และข้างใน (สีดำ) เป็นพื้นที่ที่อยู่ในสภาวะ “นอกก็ไม่ใช่ ในก็ไม่เชิง” ซึ่งแนวคิดการใช้พื้นที่ลักษณะนี้ เป็นแนวคิดที่ ชาตรี ลดาลลิตสกุล ผู้ก่อตั้ง ต้นศิลป์ สตูดิโอ หัวหน้าทีมสถาปนิกหลักของโครงการ นิยมใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมหลายหลังก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอาคารเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในส่วนของการออกแบบรูปทรงอาคาร สถาปนิกได้อธิบายว่า “เราแยกพื้นที่ใช้งานออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกผมเรียกว่าส่วนฐาน ก็จะมีลักษณะเป็นกล่อง เปรียบเหมือนกับเป็นกล่องของขวัญ ตรงส่วนหัวด้านบนเปรียบเหมือนของขวัญ ที่เป็นโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่” ในส่วนของฐานด้านล่าง มีรูปทรงเป็นกล่องที่เรียบง่าย เพื่อเน้นให้โรงภาพยนตร์ด้านบนเด่น ผนังภายนอกโดยรอบกล่องด้านล่าง มีการออกแบบโดยใช้ระแนงเหล็ก ที่มีเส้นสายแสดงออกถึงการเคลื่อนไหว มีการจัดวางลวดลายให้มีองศาที่ต่างกันเมื่อมองจากต่างมุม แสดงมิติของการเคลื่อนที่แบบภาพยนตร์ และภายในยังมีการนำรูปทรงเกลียวฟิล์ม มาประยุกต์เป็นบันไดวน 2 จุด

ส่วนยอดอาคารที่เป็นโรงภาพยนตร์ไม้ลอยฟ้า มีรูปทรงเรียบง่ายโดยนำหลังคาจั่วมาประยุกต์ มีการหักบิดแกนเปิดรับมุมมอง และสร้างสรรค์รูปทรงใหม่ๆ ให้มีความทันสมัย ผนังทั้งภายนอกและภายในจะใช้ไม้เป็นวัสดุ ซึ่งเมื่อใช้วัสดุเป็นไม้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะภายในอาคาร เนื่องจากไม้จะดูดซับเสียงได้ไม่ดี ทำให้ต้องมีการแก้ปัญหาเพื่อป้องกันเสียงสะท้อน ซึ่งในส่วนนี้ทางสถาปนิกได้นำการออกแบบเข้ามาช่วย ด้วยการเจาะช่องผนังไม้ พลิกไม้เป็นลวดลาย หรือทำไม้ให้มีตื้นลึก ช่วยให้ดูดซับเสียงไม่ให้เกิดการสะท้อน ไม้ที่ใช้ภายในจะเป็นไม้คลองเลื่อย ซึ่งเป็นไม้ที่ไม่แต่งผิว มีความหยาบ ดิบ ดูไม่ทันสมัยมาก ให้อารมณ์โหยหาอดีต นอกจากนี้ไม้ที่ใช้ภายนอกยังต้องมีการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้ง การกันแดด-ฝน ความชื้น เสียงรบกวน เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้งานอาคารสรรพสาตรศุภกิจจะสามารถสัมผัสได้คือ ความเป็นมิตร ภายในอาคารเต็มไปด้วยพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ปิดทึบ มีพื้นที่กิจกรรมแทรกอยู่ในทุกส่วน ช่วยสร้างชีวิตชีวาให้กับอาคารได้ดี สะท้อนความตั้งใจของเจ้าของโครงการที่ไม่ได้ต้องการให้อาคารเป็นพื้นที่สำหรับฉายหนังแล้วให้คนมาดูเท่านั้น แต่ต้องการให้อาคารแห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทุกคน ที่จะหลอมรวมคนทุกคนเข้าไว้ด้วยกันผ่านวัฒนธรรมภาพยนตร์

facebook.com/สถาปนิกก่อกาลดี-253096348063120
facebook.com/ThaiFilmArchivePage

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *