MANY COMPARE THE COVID-19 CRISIS TO A BIG STORM THAT WE CANNOT SEE WHAT IS GOING ON. ART4D SAW IT AS AN OPPORTUNITY TO INVITE TEERAWAT THAMVARANONT, THE FOUNDER OF TRUSOL, TO TALK ABOUT THE PAST, PRESENT AND FUTURE OF HIS THAI SANITARY WARE BRAND AS IT REACHES ITS TEN-YEAR MILESTONE
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
หลายคนบอกว่าวิกฤตการณ์ COVID-19 เหมือนกับพายุใหญ่ที่พัดจนฝุ่นคลุ้งแทบจะมองไม่เห็นแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร ปลายปี 2020 ช่วงที่พายุลูกนี้สงบลงพักหนึ่ง (ก่อนที่จะก่อตัวขึ้นตอนต้นปี 2021) จึงเป็นโอกาสดีทีเดียวที่ art4d จะได้ชวน ธีรวัฒน์ ธรรมวรานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สุขภัณฑ์สัญชาติไทยแท้ TRUSOL คุยถึงเรื่องที่ผ่านมารวมถึงแผนการในอนาคตของแบรนด์ในวันที่พวกเขามีอายุได้ 10 ปี
“ช่วง COVID-19 ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่อยู่หลายอย่างทีเดียว เรื่องแรกคือไม่ว่าจะอย่างไรคนเราก็โหยหา human touch เสมอ” ธีรวัฒน์ บอกกับ art4d ว่า ในยุคที่อะไรอะไรก็เบนเข็มไปยังโลกดิจิตอลกันหมดนั้นเราต้องหันกลับมาสำรวจตัวตนของตัวเองที่แท้จริงและอย่าไปตามกระแส
อ่างอาบน้ำนั้นในมุมหนึ่งก็เหมือนกับเฟอร์นิเจอร์ แต่ในอีกมุมก็ไม่เหมือนทีเดียวเพราะมีรูปแบบการใช้งานที่ละเอียดอ่อนกว่าโซฟาหรือเก้าอี้ ที่บางโอกาสเราสามารถกดซื้อผ่านเว็บไซต์แล้วเอามาประกอบตามคู่มือเองที่บ้าน “ผมชวนให้ลูกค้าทุกคนลงอ่าง มันต้องลงไปนอนครับ ถึงจะเข้าใจว่าสรีระของเราเหมาะกับอ่างแบบใด หรือชอบให้ร่างกายของตัวเองมันจมลงไปในอ่างลึกประมาณไหน” ประเด็นถัดมาคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและเซลล์ ธีรวัฒน์บอกกับ art4d ว่าร้อยทั้งร้อยของคนไทย (หรือคนทั่วไป) เวลาจะซื้อของอะไรสักอย่างจะมีคำถามอยู่ในใจแม้จะทำการบ้านเกี่ยวกับข้อมูลสินค้ามาแล้วอย่างดีก็ตาม
“ประสบการณ์การบริการ หรือบทสนทนา มันช่วย inspire คนทั้งสองฝั่ง บางทีลูกค้ายังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร การพูดคุยทำให้เขามองเห็นภาพความต้องการของตัวเองชัดขึ้น เช่นเดียวกันกับทางฝั่ง TRUSOL ที่เราก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้นจากมุมมองความต้องการของลูกค้า ในมุมมองของผม ผมไม่เชื่อว่าโชว์รูมจะหมดความสำคัญไป ในยุค e-commerce คนก็ยังต้องการการติดต่อ สนทนาแลกเปลี่ยน การจับต้องสัมผัสสินค้าตัวจริง”
โชว์รูม TRUSOL ตั้งอยู่ใจกลางเมือง บริเวณชั้น G อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท สาทร ประมาณ 20 เมตร จากรถไฟฟ้าสถานีสุรศักดิ์ ไม่บ่อยนักที่จะเห็นโชว์รูมขายอ่างอาบน้ำตั้งอยู่โดดๆ เจ้าเดียว ในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจขนาดนี้ ความตั้งใจแรกของดีไซเนอร์ผู้ออกแบบสเปซและธีรวัฒน์ คือการทำให้ที่นี่ดูเป็นโรงงานไปเลยเรียกได้ว่าตั้งใจให้ขัดกับลุคของอาคารสุดๆ “จริงๆ มันต้องดู brutal กว่านี้มาก ถึงขนาดต้องมีนั่งร้านหรือมีโฟล์คลิฟท์ด้วยซ้ำ บางจุดในโชว์รูมอาจจะทิ้งไว้เป็นมุมมืดๆ เราอยากให้ลูกค้าเดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่าที่นี่ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ที่เคยไป มีอะไรที่ทำให้เขาสะดุด” พูดอีกแบบก็คือ นี่เป็นวิธีการสื่อสารขั้นต้นกับลูกค้าถึงรสนิยมของแบรนด์ “ถ้าเขาโอเคกับสเปซ เขาก็น่าจะชอบโปรดักท์และทิศทางของ TRUSOL ด้วย” กลิ่นอายแบบโรงงานในสเปซของโชว์รูม TRUSOL ถูกลดทอนมาเป็นชั้นวางเหล็ก และ layout การวางสินค้าที่ค่อนข้างแน่น โชว์ให้เห็นสินค้าชัดๆ เข้าถึงสินค้าได้โดยตรงแบบไม่มีเส้นกั้น สัมผัส หมุน ยกดู และลงไปนอนในอ่างได้ง่ายๆ แบบไม่มีต้องมีพิธีรีตรอง
ความน่าสนใจคือ หลังจากคงสภาพเดิมมาได้หลายปี ธีรวัฒน์ กำลังวางแผนรีดีไซน์โชว์รูมในปีนี้ โดยการขยับขยายพื้นที่ขึ้นไปในทางตั้ง เปิดฝ้าเพดานออกทั้งหมดซึ่งจะทำให้โชว์รูมแห่งนี้มีความสูง floor to ceiling กว่า 8 เมตร (ได้อารมณ์โรงงานตามที่หวังไว้มากขึ้น) ต่อเติมชั้น 2 และเพิ่มโปรแกรมใหม่ๆ ให้โชว์รูมนี้เป็นมากกว่าโชว์รูม “ถ้าถามว่า ที่ตั้งของโชว์รูมซึ่งอยู่ใจกลางเมืองแบบนี้ ทำให้เราต้องคิดกับการใช้งานพื้นที่ตรงนี้มากขึ้นไหม ใช่เลยครับ เราต้องการให้โชว์รูมเป็น destination สำหรับกลุ่มคนที่กว้างขึ้นแบบที่ไม่จำเป็นต้องมาเพื่อซื้อสุขภัณฑ์อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้าอย่างเดียว” ธีรวัฒน์บอกกับ art4d
กิจกรรมที่ว่าคือการสร้างพื้นที่นิทรรศการ จัดแสดงตั้งแต่คอลเล็คชั่นงานศิลปะของศิลปินที่มีความสนใจนิทรรศการหมุนเวียน ไปจนถึงดีไซเนอร์คอลเล็คชั่น – อ่างอาบน้ำ / อ่างล้างมือที่ TRUSOL ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษตามแบบที่ดีไซเนอร์ไทยออกแบบซึ่งกำลังจะถูกนำมาจัดวางแบบใหม่ เน้นย้ำความเป็น design object ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น “เช่นเดียวกันกับการจัดวางสินค้า ที่เราจะเล่นกับงาน lighting มากขึ้น สร้างมิติให้สเปซดูลุ่มลึกมากกว่าเดิม”
รูปทรงของอ่างอาบน้ำ / อ่างล้างมือ ที่อ่อนช้อยแต่คมคายตรงความต้องการของดีไซเนอร์ เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญที่ทำให้สเปซในห้องน้ำดูพิเศษขึ้นผิดหูผิดตา คือจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ TRUSOL พุ่งทะยานมาถึงปีที่ 10
Freestanding Basin อ่างล้างหน้าตั้งพื้นคอลเล็คชั่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาเช่นกัน ที่ยังคงสปิริตของ TRUSOL ไว้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุหินสังเคราะห์ที่ให้สัมผัสที่ดีหรือรูปทรงของอ่าง บางชิ้นมี silhouette ที่ดูเซ็กซี่คล้ายกับสรีระของมนุษย์ บางรุ่นมีกลิ่นอายโมเดิร์นด้วยรูปทรงเรขาคณิตเรียบง่าย ไปจนถึงความยืดหยุ่นในการติดตั้ง สามารถตั้งกับขาตั้งเหล็กได้หลายรูปแบบ เป็นการสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ระหว่างสองวัสดุที่แตกต่าง
นอกจากการปรับปรุงสเปซโชว์รูม ก้าวต่อไปของธีรวัฒน์คือการ re-positioning แบรนด์ TRUSOL ให้ชัดเจนกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ photo book สินค้าแจกลูกค้า VIP (ในยุคที่ทุกคนไม่ลงทุนกับสิ่งพิมพ์แล้ว) ให้เป็นหมุดหมายสำคัญของการครบรอบ 10 ปีของแบรนด์ ซึ่งธีรวัฒน์มองว่าสิ่งนี้ต้องพิเศษกว่าเป็นภาพ 2มิติ บนหน้าจอ แต่ต้องมี quality ของงานออกแบบ มีลูกเล่นกราฟิก เทคนิคและผิวสัมผัสของกระดาษ “วิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้เราเรียนรู้หลายอย่าง เป็นโอกาสที่ทำให้เราตัดสินใจริเริ่มสร้าง fighting brands ขึ้นมาใหม่เพื่อลงไปเล่นกับตลาดอีกกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มฐานตลาดที่กว้างขึ้น เพื่อเน้นย้ำความพิเศษของแบรนด์ TRUSOL ให้ชัดยิ่งขึ้น และขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มคนที่มีความสนใจด้านงานออกแบบ (อยู่ในระหว่างขั้นตอนการวางแผนงานและออกไลน์สินค้าในกลุ่มที่มีราคาจับต้องได้เพื่องานโครงการ mid-end)”
ในตอนนี้ TRUSOL กำลังร่วมงานกับ เมกะโปรเจ็คต์ในเมืองไทย เครือโรงแรมใหม่ๆ ในต่างประเทศที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์โรงแรมชั้นนำ นอกเหนือจากการขยับขยายโปรดักท์ของแบรนด์ไปในโปรเจ็คต์สำคัญต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ หรือการปรับตัวมาขายกลุ่มลูกค้าโครงการบ้านที่พักอาศัยส่วนบุคคล หัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของธีรวัฒน์คงจะเป็นมุมมองที่เชื่อว่า “TRUSOL เป็นได้มากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันมีกลิ่นอายแฟชั่น เป็นไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ แต่ในอีกมุมมันก็เป็นความลึกแบบศิลปะ เป็น Artistic pieces in your bathroom ซึ่งเป็นคุณค่าในแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร”