THE NATIONAL ART CENTER, TOKYO PRESENTS THE LATEST EXHIBITION FEATURING KASHIWA SATO, A LEGENDARY JAPANESE DESIGNER WHO DESIGNS EVERYTHING IN DAILY LIFE FROM LOGOS TO INTERIORS OF MANY RENOWNED JAPANESE BRANDS
TEXT: PAKPOOM LAMOONPAN
PHOTO COURTESY OF THE NATIONAL ART CENTER, TOKYO
(For English, press here)
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของคนทั้งโลกในตอนนี้ ประเทศที่โชคร้ายที่สุดคงไม่พ้นญี่ปุ่นที่วาดหวังไว้ถึงปี 2020 ที่ยิ่งใหญ่ นอกจากโอลิมปิกแล้วก็ยังมีนิทรรศการและอีเว้นต์ต่างๆ ที่ชาวญี่ปุ่นเตรียมไว้เพียบที่ต่างทยอยเลื่อนตามๆ กันไป จนมาถึงปีนี้ งาน KASHIWA SATO Exhibition ก็เป็นหนึ่งในนิทรรศการใหญ่ของ 2020 ที่ขอชิงเปิดก่อนไม่รอแล้วโอลิมปิก
แล้ว Kashiwa Sato คือใคร ถึงกับต้องมี special exhibition ที่จัดในสถานที่ที่เคยจัดแสดงงานศิลปะสำคัญๆ ของโลกทั้ง Renoir, Monet, Vermeer และมาสเตอร์อื่นๆ อีกมากมายได้ ความจริงแล้วถ้าเป็นคนญี่ปุ่นจะรู้จักเขาในฐานะหนึ่งในครีเอเตอร์เสาหลักสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ใหญ่ๆ แทบทุกแบรนด์ จนสามารถพูดได้ว่าไม่มีสักวันที่คุณจะไม่ได้เห็นงานของเขา
เเม้ว่าจะเริ่มสร้างชื่อตั้งแต่เป็น art director อยู่ที่บริษัทโฆษณา Hakuhodo ในช่วงปี 90 ซึ่งเขาทำผลงานเด่นๆ ในการใช้กราฟิกดีไซน์มาเป็นจุดขาย แทนที่จะใช้ดาราหรือคนดัง แม้แต่วงบอยแบนด์ที่ดังที่สุดในยุคนั้นอย่าง smap ก็ยังได้ไอเดียของเขาทำโฆษณาออกมาเป็นแค่แถบสีสามสีเต็มหน้าหนังสือพิมพ์
และหลังจากช่วงตั้งแต่ปี 2000 ที่เขาออกมาทำออฟฟิศเป็นของตัวเอง และมีบทบาทใหม่เป็น creative director ให้กับหลากหลายแบรนด์ เขากลายเป็นคนที่ใช้ design สื่อสารกับมวลชนได้กว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่งของยุค ไม่ว่าจะเป็น Tsutaya, Uniqlo, 7-11, Rakuten ก็ต้องผ่านมือให้เขาช่วยจัดระบบระเบียบ เขาเป็นคนทำโลโก้ Uniqlo ยุคที่ขยายไปในสเกลระดับโลก (ก่อนที่เราจะเห็นกันมานี้สีแดงของโลโก้แต่ละสาขาต่างก็มีโทนสีไม่เหมือนกันด้วยซ้ำ) จุดเด่นของเขาคือไม่ใช่แค่ทำตัวโลโก้หรือโฆษณา บ่อยครั้งที่เขาได้รับการทาบทามให้ไปเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่การวางแนวคิด อย่างโรงเรียนอนุบาล Fuji Kindergarten ที่ทำงานกับ Tezuka Architects หรือการสร้าง Cup Noodle Museum ที่โยโกฮาม่า ก็ได้เขามาเป็นโปรดิวเซอร์คิดทั้งรูปร่างหน้าตาของ space และเนื้อหาต่างๆ ในนั้น
ในงานนิทรรศการครั้งนี้ที่จัดขึ้นที่ The National Art Center, Tokyo (ที่เขาก็เป็นคนออกแบบ identity ของที่นี่ด้วย) ได้รวบรวมเอาผลงานทั้งหมดกว่า 30 ปี มาจัดแสดงในพื้นที่ใหญ่มหึมา แบบที่ชวนสงสัยตั้งแต่แรกรู้ข่าวว่าจะทำได้ยังไง โจทย์นี้เขาต้องเตรียมงานกว่า 3 ปี โดยแบ่งเป็น 7 section ต่างๆ ที่เด่นและดูยากที่สุดคือส่วน THE LOGO เพราะว่าเป็นสิ่งที่ผู้ชมที่จ่ายเงินเข้ามาดูงานก็สามารถเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เขาแก้ปัญหาโดยการเพิ่มสัดส่วนขยายตัวโลโก้ให้ใหญ่ยักษ์และใช้วัสดุที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์นั้นๆ อย่างเช่นใช้ผ้าทอขนาดใหญ่กับโลโก้บริษัทผ้าเช็ดตัว หรือคาร์บอนไฟเบอร์ที่ใช้ในแบรนด์เบ็ดตกปลา และเมื่อขยายขนาดมาอยู่ในสเปซแสดงงาน โลโก้เหล่านั้นก็สามารถถูกมองว่าเป็น contemporary art ชิ้นหนึ่งได้เหมือนกัน
ใน section อื่นๆ ก็น่าสนใจ นอกจากความใหญ่โตของโปรเจ็คต์แล้วก็ยังมีการโชว์ความละเอียดของแต่ละโปรเจ็คต์ อย่างการควบคุมภาพลักษณ์สินค้าต่างๆ กว่า 4,000 ชนิดของ 7-11 งานดีไซน์อินทีเรียของแบรนด์ใหม่ๆ ไปจนถึงผลงานศิลปะส่วนตัวของเขา ตบท้ายด้วยการขายของกับโปรเจ็คต์พิเศษสร้างร้าน UT STORE@THE NATIONAL ART CENTER, TOKYO ขึ้นมาขายเสื้อยืด limited edition กันไปเลย
การเห็นงานดีไซน์เข้าไปอยู่ในหอศิลป์อย่างนี้แล้วก็เข้าใจว่าเขาทรีตความเป็นตัวแทนทีมชาติกันแบบนี้นี่เอง ยิ่งคิดว่ามีช่วงเวลาจัดงานกว่าสามเดือน (นิทรรศการจะจัดไปจนถึงเดือน 5) ลองคำนวณดูจำนวนคนดู ลูกค้าใหม่ๆ หรือเด็กๆ ที่จะได้เข้าไปทำความเข้าใจกับงานดีไซน์ที่มีผลกับชีวิตของเขาแล้วก็คิดว่าคงได้เห็นอะไรสนุกๆ จากประเทศนี้ต่อไปอีกนาน
ชอบบทความนี้ค่ะ เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชีวิตผ่านงานดีไซน์ ขอบคุณค่ะ