JOUER AT SUKUMVIT 32 & SŌKO

Photo: Miti Ruangkritya

GET TO KNOW WITH JOUER AT SUKUMVIT 32, A SMALL CREATIVE COMMUNITY FOR PEOPLE TO MEET, SHARE, AND EXPRESS THEIR CREATIVITY 

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA 
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press  here)

ในบรรยากาศย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ย่านทองหล่อที่เริ่มแน่นขนัดด้วยตึกสูงมากมาย คงจะดีถ้าเราได้มีโอกาสหลีกหนีความจอแจไปยังที่ที่มีบรรยากาศสบายๆ ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบ และคงจะดีขึ้นไปอีก ถ้าหากเรามีพื้นที่ creative space ที่เปิดโอกาสให้คนต่างๆ ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยน และแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง เพราะ creative space ในกรุงเทพฯ ก็มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยเสียเหลือเกิน

Jouer at Sukumvit 32 เป็นเวิ้งขนาดย่อมในซอยสุขุมวิท 32 ที่ Dai Mogi เจ้าของโครงการและเจ้าของร้านตัดผม Rikyu (ซึ่งอยู่ภายในโครงการอีกที) ตั้งใจให้เป็น creative community ที่รวบรวมคนสร้างสรรค์จากวงการต่างๆ เข้าด้วยกัน โดย Jouer เป็นชื่อภาษาฝรั่งเศสอ่านว่า ‘ฌูเอ้’ ที่แปลว่า ‘เล่น’ เปรียบเสมือนสถานที่แห่งนี้ เป็นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามา ‘เล่น’ ด้วยกัน

Takahiro Kume (left) and Wtanya Chanvitan (right), Founders of Bangkok Tokyo Architecture

“พื้นที่ตรงนี้ถูกออกแบบให้เป็น creative community ทุกคนที่มาอยู่ร่วมกันไม่ได้มาเพื่อผลักดันความเป็นธุรกิจจ๋า แต่มาอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับความสร้างสรรค์” วทันยา จันทร์วิทัน หนึ่งในสถาปนิกผู้ก่อตั้งออฟฟิศ Bangkok Tokyo Architecture และผู้ร่วมสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้กล่าว

เดิมทีเวิ้ง Jouer at Sukumvit 32 เคยเรียงรายไปด้วยบ้านเก่าหลายหลัง ต่อมา Rikyu ร้านตัดผมเจ้าดังจากญี่ปุ่นก็ขอเข้ามาเช่าพื้นที่บ้านหลังหนึ่ง แต่เจ้าของที่ดินให้เงื่อนไขว่าถ้าร้านตัดผมจะเช่าที่ ก็ต้องเช่าบ้านทุกหลังในเวิ้งนี้ด้วย ทางร้านจึงชักชวนเพื่อน และคนทำงานสร้างสรรค์ที่รู้จักมาจับจองพื้นที่ในบ้านหลังต่างๆ รวมไปถึง Bangkok Tokyo Architecture 

Photo: THANAWATCHU Creative Production Co.,Ltd

Photo: THANAWATCHU Creative Production Co.,Ltd

Photo: THANAWATCHU Creative Production Co.,Ltd

“ตัวเขาเองเป็นร้านทำผมก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ร้านทำผมทั่วไป ถ้าดูจากสาขาเดิมที่ญี่ปุ่น จะเห็นว่าเขาก็พยายามสร้าง creative community มีการทำ workshop ทำ gallery หรืออะไรอีกหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่การตัดผม” วทันยาเล่าถึง Rikyu ผู้มอบหมายให้เธอออกแบบร้านที่สาขานี้

Photo: Miti Ruangkritya

และไม่นานมานี้ หมู่บ้านสร้างสรรค์แห่งซอยสุขุมวิท 32 ก็ได้ฤกษ์ต้อนรับ SŌKO (ซึ่งเป็นคำภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “โกดัง”) พื้นที่อเนกประสงค์ที่เปิดกว้างรับกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงงานศิลปะ จัดเวิร์คช็อป เล็คเชอร์ ฯลฯ อีกครั้ง หลังจากปิดปรับปรุงไปหลายเดือน โดย SŌKO โฉมใหม่นี้ ถูกขยับขยายมาอยู่ที่บ้านหลังด้านหน้าที่หมดสัญญาจากผู้เช่าเดิมไป 

 

ภาพรวมของการปรับปรุงนอกจากการรื้อแนวกำแพงบ้านหลังเก่า ทาสี และตกแต่งใหม่แล้ว สถาปนิกสร้างพื้นที่คล้ายกับชานด้านหน้าบ้าน ที่ถูกห่อหุ้มด้วยบานประตู และกระจกอันโปร่งใส พร้อมกับโครงสร้างเสาปูนเปลือยใหม่ที่ไม่ตรงแถวตรงแนวกับโครงสร้างบ้านหลังเก่า องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้สร้างให้พื้นที่นี้มีความกำกวมในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ข้างใน-ข้างนอก เก่า-ใหม่ ส่วนตัว-ส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งเราคิดว่า ความกำกวมเหล่านี้ดูช่วยให้เกิดการใช้งานพื้นที่แบบใหม่ๆ ในอนาคต และเกิดไอเดียสร้างสรรค์อื่นๆ ตามมาได้เหมือนกัน

แม้ว่า Jouer at Sukumvit 32 จะเป็นเพียงเวิ้งขนาดเล็กที่แอบซ่อนในเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แต่ Bangkok Tokyo Architecture ก็หวังว่า กิจกรรมหรือแรงบันดาลใจที่เกิดในพื้นที่นี้ จะส่งแรงกระเพื่อมจนเกิดพื้นที่สร้างสรรค์อื่นๆ ตามมา 

Photo courtesy of SŌKO

“เราหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ จะส่งผลต่อให้เกิดกิจกรรมข้างนอกต่อไป และเราอยากให้พื้นที่นี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดพื้นที่ กิจกรรม แพลตฟอร์ม และไอเดียอื่นๆ ต่อไปอีก” วทันยากล่าวทิ้งท้าย

btarchitecture.jp
facebook.com/jouer32
facebook.com/sokocreativespace

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *