THE PLAYSCAPE

THE ARCHITECTURE STUDIO FROM BEIJING ‘WAA STUDIO’ TRANSFORMS THE RUN-DOWN STORAGE HOUSE INTO A PLAYFUL AND IMAGINATIVE KINDERGARTEN THAT INVITES THE KID TO LEARN THROUGH PLAY AND ADVENTURE

TEXT: WATSAPON VIJITSARN
PHOTO: FANGFANG TIAN

(For English, press here)

ถ้าให้นับเมืองหลวงที่มีสถาปัตยกรรมที่ดูแปลกตาล้ำสมัย กรุงปักกิ่งก็คงเป็นหนึ่งในลิสต์ ที่ใครหลายๆ คนอยากเข้าไปสัมผัสด้วยตาตัวเองดูสักครั้ง เพราะการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆ ที่ใครต่างก็คาดไม่ถึง หรือการปรับปรุงอาคารเก่าที่มักจะสอดแทรกการออกแบบสิ่งใหม่ๆ ผนวกเข้าไปอยู่เสมอ และล่าสุดสตูดิโอเจ้าถิ่นอย่าง waa ก็ได้ปรับโฉมโกดังเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1970s ให้กลายเป็น The Playscape โรงเรียนอนุบาลที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ฉีกออกไปจากแบบเดิมๆ

เพราะมองว่าการ “เล่น” ของเด็กเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสมดุลและการเรียนรู้ สถาปนิกจึงออกแบบคอร์ทยาร์ดตรงกลางให้มีเนินระดับที่สูงต่ำต่างกัน ปูด้วยพื้นยางสีน้ำตาลอ่อนเหมือนสีดิน และออกแบบระดับความชันที่ต่างกันไป เพื่อให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นผลุบโผล่ผจญภัย และก้าวข้ามผ่านระดับเนินสูง-ต่ำต่างๆ กัน ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกการตัดสินใจถึงความเสี่ยงในระดับพื้นที่ลาดชันที่ต่างกันอีกด้วย นอกจากนี้ สถาปนิกยังใช้ระดับเนินที่ลาดชันสูงชะลูดคล้ายเนินเขากึ่ง façade ที่ถูกเจาะช่องเน้นทางเข้าไปยังภายในอาคาร ดึงดูดให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นเข้านอกออกในได้อย่างอิสระ 

และด้วยสภาวะความเป็นเมืองใหญ่ของปักกิ่งในปัจจุบัน ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นได้อย่างอิสระเหมือนสมัยก่อน จึงเป็นที่มาของแนวคิด “Back to the Neighborhood” ที่พยายามสร้างสรรค์พื้นที่ผจญภัยเสริมจินตนาการ เสมือนวิ่งเล่น เข้าออกหลบหลีกตามซอกซอยกับเพื่อนๆ สถาปนิกจึงออกแบบคอร์ทยาร์ดให้โอบล้อมไปด้วยท่อขนาดเล็ก – ใหญ่ ที่ขับเน้นให้เด่นด้วยสีขาว ทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เป็นตัวเลือกให้เด็กๆ ตัดสินใจในการเลือกเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางท่อที่ต้องมุดหลบในซอกหลืบ หรือระดับและขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปของตัวท่อ หรือตัวท่อสไลเดอร์เกลียวขนาดเล็กที่เป็นทางลัดไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ตัวท่อยังเชื่อมโยงไปยังระเบียงหลังคาที่เปิดมุมมองรับวิวโดยรอบพื้นที่ ซึ่งทำให้เด็กๆ ได้รับประสบการ์ณการรับรู้ถึงบรรยากาศ และขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ความสนุกยังส่งต่อเข้ามายังภายในอาคาร Playspace 1 ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีระดับความลาดเอียงอ่อนๆ ปูด้วยพื้นโฟม และเพิ่มความสนุกด้วยชิงช้าตัวจิ๋วขนาดเล็ก เพื่อให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ที่กำลังซน ได้วิ่งโลดแล่น นั่งแกว่งได้อย่างไม่ยากเย็นจนเกินไป พร้อมแขวนผ้าสีขาว ทำหน้าที่เป็นทั้งฉากให้กับเด็กๆ ได้กำบังวิ่งหลบซ่อน และเป็นฉากกั้นให้ผู้ปกครองนั่งพักผ่อนดูแลลูกหลานได้อย่างไม่คลาดสายตา และอาคาร Playspace 2 ที่เด็กๆ จะพบกับเส้นทางที่มีระดับสูงต่ำที่ขึงด้วยเบาะตาข่าย เชื่อมโยงกับสไลเดอร์ไปยังยังชั้นล่างที่มีลักษณะเป็นหลุมที่เต็มไปด้วยยางทรงลูกเต๋าสีเหลือง ให้เด็กๆ ปีนป่ายผจญภัยขึ้น ส่วนพื้นที่ชั้นบนสุดเป็นระเบียงหลังคาที่เชื่อมโยงไปยังบริเวณพื้นที่อื่นๆ และเป็นระเบียงที่เด็กๆ และผู้ปกครองสามารถมองเห็นวิวสวนสาธารณะเขียวชอุ่มห้อมล้อมไปด้วยอาคารโกดังเก่าได้อีกด้วย จะว่าไปก็ชักจะเริ่มอิจฉาเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ซะแล้วสิ

w-a-a.cn

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *