NONG HO 17 HOUSE

EACH HOUSE HAS A DIFFERENT ETHOS BEHIND THE DESIGN. FOR THIS PROJECT BY SKARN CHAIYAWAT ARCHITECTS, THE PRINCIPAL GUIDELINE OF THE DESIGN IS THE MOUNTAIN VIEW WHICH INFORMS THE HOUSE’S HUMILITY AND RETICENCE, ALLOWING THE USERS TO TAKE PLEASURE IN THE SCENERY RATHER THAN THE HOUSE ITSELF

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: DOF SKY|GROUND

(For English, press here

การที่บ้านแต่ละหลังมีหน้าตาไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบ้านแต่หลังมีหัวใจของการออกแบบที่ต่างกัน บางหลัง หัวใจของการออกแบบอาจอยู่ที่การแสดงคาแร็คเตอร์เจ้าของบ้าน จนบ้านออกมามีหน้าตาที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร แต่สำหรับ ‘บ้านหนองฮ่อ 17’ บ้านพักตากอากาศสองชั้นในจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 3 คน ผลงานการออกแบบจาก บริษัท สถาปนิก สการ จัยวัฒน์ จำกัด หัวใจเบื้องหลังการออกแบบคือทิวทัศน์ภูเขาภายนอกบ้านที่สวยงาม ซึ่งเป็นที่มาของการที่บ้านมีตัวตนอันเงียบงันและถ่อมตัว เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสให้คนในบ้านได้ดื่มด่ำกับวิวของภูเขา แทนที่จะเป็นตัวบ้านเสียเอง

เพื่อเปิดรับทัศนียภาพของภูเขาภายนอกอย่างเต็มที่ สถาปนิกจึงยอมวางผังบ้านให้ด้านยาวหันไปทางทิศตะวันตกเพื่อมองวิวภูเขา แทนการวางด้านยาวของบ้านไปทางทิศเหนือ-ใต้ ที่ทำให้บ้านได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ยามบ่ายน้อยกว่า นอกจากนี้ การวางตัวบ้านไว้บริเวณกลางที่ดินได้สร้างให้เกิดที่ว่างทั้งในฝั่งวิวภูเขาทางทิศตะวันตก และฝั่งหน้าบ้านทางทิศตะวันออก พื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกมีความเปิดโล่ง เปิดโอกาสให้คนในบ้านชื่นชมวิวภูเขาได้อย่างสบายตา มีสระว่ายน้ำที่ถูกจัดวางให้ตรงกับแนวห้องนอน เพื่อให้เมื่อเจ้าของบ้านตื่นนอนและเปิดม่านออกมา ก็จะได้รับการต้อนรับในเวลาเช้าด้วยวิวของภูเขาที่สะท้อนลงบนสระน้ำ เสมือนท้องฟ้าและผืนน้ำได้ผนวกตัวกันเป็นหนึ่งเดียว

 

ส่วนที่ว่างหน้าบ้านฝั่งทิศตะวันออกติดถนนสาธารณะเป็นพื้นที่ของส่วนบริการอย่างเช่นที่จอดรถและโซนแม่บ้าน รวมทั้งโถงบันไดหลักที่มีความทึบที่ถูกจัดวางอยู่ทางฝั่งนี้เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้าน แต่ในเวลาเดียวกัน พื้นที่ส่วนหน้าบ้านนี้ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่อันโดดเดี่ยวแปลกแยกจากบริบทภายนอก ด้วยพื้นที่สวนหย่อมที่มาพร้อมแนวรั้วโปร่ง เปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน รวมทั้งเป็นอีกพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจหลบแดดยามบ่ายได้เช่นกัน

แน่นอนว่าการวางผังบ้านเพื่อเปิดรับทัศนียภาพทิวเขาในทิศตะวันตกทำให้บ้านได้รับแสงแดดตอนบ่ายไปแบบเต็มๆ สถาปนิกจึงออกแบบเพื่อลดทอนปริมาณแสงแดดให้กับตัวบ้านด้วยวิธีต่างๆ เช่นการยื่นระเบียงโดยรอบชั้นสองออกมาเพื่อช่วยกันแดดให้กับชั้นหนึ่ง การใส่ประตูระแนงไม้สักแนวตั้งที่ห้องนั่งเล่นชั้นสอง และโดยเฉพาะการติดตั้งมู่ลี่ไม้ไผ่โดยรอบตัวบ้าน ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่กรองแสงแดดแต่ไม่บดบังวิวทั้งหมดแล้ว ยังสร้างให้เกิดคาแร็คเตอร์ที่เด่นชัดของตัวบ้านไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

เหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกว่าทัศนียภาพนอกดูโดดเด่นมากกว่าตัวบ้าน ก็เพราะบ้านมีตัวตนอันถ่อมตัวและเงียบงัน ซึ่งมีที่มาจากการลดทอนองค์ประกอบของตัวบ้านให้ดูบางเบา เช่นการออกแบบราวกันตกที่ระเบียงชั้นสอง ที่สถาปนิกออกแบบให้มีโปรไฟล์บางเบา โดยเสริมความแข็งแรงด้วยราวกันตกที่มีความหนากว่าเป็นระยะๆ รวมทั้งมีที่มาจากการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน เช่นขนาดม่านมู่ลี่ การแบ่งแนวพื้นหินขัด หรือระยะของโครงจันทันอยู่ในโมดูล่าเดียวกัน จนสามารถลากเส้นสายของวัสดุต่างๆ ให้ต่อเนื่องถึงกันได้ ในขณะเดียวกัน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยนี้ก็ถูกทำให้อ่อนโยนและกลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบ ผ่านการแต่งเติมความไม่สมบูรณ์ด้วยวัสดุที่มาจากธรรมชาติ เช่นกระเบื้องสระว่ายน้ำและกระเบื้องหลังคาแฮนด์เมดจากอำเภอแม่ริม ที่แต่ละแผ่นมีสีสันและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างกันไป การใช้ไม้สักที่ได้จากแหล่งไม้เก่าในเชียงใหม่ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ในเชียงใหม่ที่มีความสวยงาม 

การจัดวางองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้บ้านหนองฮ่อ 17 ส่งเสียงออกมาแผ่วเบา แทนการตะโกนเรียกร้องความสนใจ และเสียงนั้นได้สอดประสานกับเสียงอื่นๆ ที่อยู่รายรอบ จนเกิดเป็นความไพเราะ และมีเสน่ห์เฉพาะตัว

skarnchaiyawat.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *