THE GOAT (GREATEST OF ALL TIME)

WITNESS A NEW STORY OF HUMANS’ FIVE SENSORY EXPERIENCES AND THE BEAUTIFULLY HYBRID CUISINE AND WHIMSICALLY SURPRISING DESIGN IN A NEW RESTAURANT FROM CHEF PAKORN ‘TAN’ KOSIYABONG COMPLETED BY AGALIGO STUDIO, THE ARCHITECTURAL DESIGNER; STORAGE STUDIO, INTERIOR DESIGNER; AND THE ARTIST PABAJA (PAVISA MEESRENON)

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: SPACESHIFT STUDIO

(For English, press here)

เชฟแทน (ภากร โกสิยพงษ์) เจ้าของร้านอาหารใหม่ย่านเอกมัย The GOAT (Greatest of All Time) เคยมีประสบการณ์การทำงานอยู่ที่พังงา ก่อนจะย้ายกลับมาย่านเอกมัยที่เขาคุ้นเคย ประกอบกับความชื่นชอบสถาปัตยกรรมแนวชิโน-โปรตุกีส ทำให้เขามอบหมายให้ทีมสถาปนิก Agaligo Studio ปรับปรุง Wan Yu Mansion หลังนี้ขึ้นมาเป็นโรงแรมในสไตล์ดังกล่าว ที่มีร้านอาหารและห้องพักแบบ Bed & Breakfast ในแบบลูกผสมฝรั่งกับจีน โดยในส่วนอาหารนั้นให้ชื่อว่าเป็นแบบ Offbeat Asian Cuisine ที่เน้นบอกเล่าการเดินทางผ่านวัตถุดิบต่างๆ อย่างไม่มีเทคนิคตายตัว โดยเป็นการใช้เทคนิคการประกอบอาหารแบบตะวันตกแต่ได้รสชาติแบบตะวันออก ในลักษณะของลูกผสมเช่นเดียวกันกับสไตล์งานสถาปัตยกรรม

ส่วนในงานออกแบบภายในโดยทีมงาน Storage Studio ก็มีทิศทางเดียวกัน คือเน้นการออกแบบให้ดูมีความเก่าแต่สอดแทรกด้วยกิมมิคบางอย่าง เริ่มต้นจากรูปแบบของร้านเป็น Chef’s Table จึงมีพื้นที่รับประทานอาหารไม่มาก และเนื่องด้วยมีการแบ่งพื้นที่ลิฟต์ขึ้นชั้นห้องพักที่กินพื้นที่เข้ามาในร้าน ร้านจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน โดยมีซุ้มโค้งในส่วนพื้นที่หลังลิฟท์นี้เชื่อมต่อทั้งสองโซนเข้าด้วยกัน ในโซนแรกจากทางเข้าเป็นที่ตั้งของโต๊ะรับประทานอาหารขนาดยาว เป็นที่นั่งชมเชฟรังสรรค์อาหาร ผนังครัวถูกทุบเปิดโล่งให้เห็นกิจกรรมภายในครัวได้ จุดเด่นของโซนนี้คือการออกแบบฝ้าเพดานให้เหมือนกับฝ้าเพดานของห้องแถวโบราณ และใช้โคมไฟตั้งพื้นของเก่าจากยุโรปหลากหลายรูปแบบมาติดห้อยกลับหัว
โดยเปลี่ยนสีผ้าบุโคมไฟให้มีสีสันที่หลากหลายและจัดวางแบบกระจายตัว แต่ยังได้ฟังก์ชั่นเรื่องของแสงสว่างที่ลงโต๊ะอาหาร 

และมีกิมมิคอย่างผนังหน้าซุ้มที่ตั้งใจให้มีภาพเขียนแนวจีนที่เล่าเรื่องราวเชฟเจ้าของร้าน ซึ่งได้ศิลปิน PABAJA (ภาวิษา มีศรีนนท์) มาสร้างสรรค์ผลงานให้ โดยปริ้นท์ภาพลงบนผ้าแล้วซ่อนไฟเพื่อสร้างอารมณ์อีกแบบในยามค่ำคืน 

เมื่อลอดผ่านซุ้มโค้งเข้าไปจะเป็นโซนรับประทานอาหารส่วนใน ซึ่งเชื่อมต่อกับห้องน้ำและล็อบบี้ของโครงการ Wan Yu ในโซนนี้ดีไซเนอร์ต้องการสร้างบรรยากาศที่แตกต่าง โดยเปลี่ยนทั้งโครงสีและวัสดุจากโซนแรกโดยใช้ผนังก่ออิฐโดยรอบที่แต่งผิวและสีโดยศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับการตกแต่งผนังโดยเฉพาะ ส่วนฝ้าเพดานกรุด้วยแผ่นดีบุกปั๊มลายนูนแบบโบราณ จัดระดับสูงต่ำแตกต่างกัน และปริ้นท์รูปแผ่นดีบุกทำเป็นกล่องไฟเป็นส่วนโคมตกแต่ง โดยในส่วน Lighitng Design โดยทีม Studio Accent ก็ใช้วิธีผสมผสาน โดยให้ Decorative Lighting เป็นพระเอก และ Architectural Lighitng เป็นตัวสนับสนุน เพื่อสร้างบรรยากาศเฉพาะตัวในแต่ละโซน ประกอบกับเทคนิคการนำรูปแบบเดิมๆ ที่มีอยู่เดิมมาหาวิธีนำเสนอใหม่ให้แปลกตา เพิ่มประโยชน์ใช้สอย หรือสนุกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความ “offbeat” ของ The GOAT อย่างเช่น การดัดแปลงโคมไฟตั้งพื้นให้ไปห้อยกลับหัว การดัดแปลงแจกันเซรามิคให้เป็นโคมไฟผนังที่ประตูทางเข้าโครงการ หรือการสร้างเรื่องราวบนผนังด้านหนึ่งของโครงการให้คล้ายกับใบหลิวที่กำลังปลิวตามสายลม ที่ช่วยสร้างบรรยากาศที่หลากหลายและเฉพาะตัวให้กับสเปซภายในของร้านอาหารแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ในยุคสมัยแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม นี่คือเรื่องเล่าบทใหม่ของการสร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสทั้งห้าผ่านดีไซน์ลูกผสมและอาหารแนวหักมุม ดูแล้วเห็นความท้าทายทางสายตากระจายอยู่ทั่วไปหมด เหลือแต่รสชาติอาหารนี่ล่ะที่ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง โควิดหมดเมื่อไหร่เจอกัน

facebook.com/we.are.agaligo.studio
facebook.com/storagestudio
facebook.com/greatestofalltimebkk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *