SIPPING THE FLEETING MOMENTS OF HAPPINESS IN A NEW TEA HOUSE IN CHAROENKRUNG DESIGNED BY TRIMODE STUDIO WHO BREAK THEIR OWN DESIGN RULES BY FOLLOWING THEIR EPHEMERAL FEELING WHICH LEADS TO THE UNEXPECTED RESULT
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
นิ – ชินภานุ อธิชาธนบดี, หงส์ – ภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ หยก – ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา 3 ประสานแห่ง Trimode Studio ร่วมกันสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำให้กับวงการออกแบบมาหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน เมื่อ 4 ปีก่อน พวกเขาย้ายสำนักงานจากในบ้านมาอยู่ริมถนนเจริญกรุงค่อนมาทางย่านถนนตก เป็นอาคาร 5 ชั้น พวกเขาเรียกกองบัญชาการแห่งนี้ว่า Tangible มีชั้นล่างเป็นคาเฟ่ ชั้น 2 เป็น mixed-use ไว้ประชุมและพบปะลูกค้า ชั้น 3-4 เป็นสำนักงาน “ตอนแรกมันไม่มีร้านค้าในย่านนี้ การเดินทางก็ลำบากไม่มีรถไฟฟ้ามาถึง เราเลยทำสเปซให้น้องๆ ในทีม ได้เอ็นจอยไลฟ์ด้วย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เป็นที่หย่อนใจดีๆ ขึ้นมา ตอนแรกที่ทำคาเฟ่ตั้งใจจะเป็นที่สำหรับคนสนใจ material หรือเรื่องครีเอทีฟมาใช้ชั้น 1-2 ทำๆ ไปปรากฏมีลูกค้าหลากหลายเลย”
โปรเจ็คต์ต่างๆ ของ Trimode ทำให้มีของต้นแบบมากมาย จึงต้องขยับขยายมาเช่าอาคารข้างๆ เพื่อใช้เก็บของ พอมาเจอโควิดระบาดในปีที่ผ่านมางาน design service มีปริมาณลดลง พวกเขาจำเป็นต้องคิดบิสซิเนสใหม่ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหารายจ่ายค่าเช่าที่ยังรันไม่หยุด Tangible Store เกิดขึ้นมาในเวลาอันสั้น เพื่อเป็นเวทีทดลองตลาด retail “เรื่อง retail ที่เป็น design service ถูกจริตกับพวกเรามากกว่าด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสปีด พอมาเจอโควิดนี่กระทบทุกมิติเลย เลยต้องคิดใหม่ แก้ปัญหา fixed cost กับ income ให้มันสมดุล เอา “ที่เก็บของ” ที่เปล่าประโยชน์เปลี่ยนให้มีรายได้กลับมาโดยใช้เงินน้อยที่สุด ใช้ความคิดให้มากที่สุด”
Tangible Store ชั้นล่างเป็นกลุ่มร้านค้าที่ต้องนัดหมายล่วงหน้า ส่วนชั้นสองตั้งใจให้เป็น experience space ในชื่อ “Void” โดยใช้ประโยชน์จากของที่มีอยู่ให้มากที่สุด จากสภาวะเดิมที่เป็นห้องเก็บของ มันจึงมีความรู้สึกระเกะระกะไม่เป็นที่เป็นทาง ประกอบกับตัวอาคารมีช่องเปิดที่ด้านนอกมีผนังยื่นลงมาบังทำให้แสงที่เข้ามาเป็น indirect light ทั้งหมด ให้ความรู้สึกเหงา ปนๆ กับความโรแมนติก ความรู้สึกตรงนี้เองที่นิบอกว่ามันเหมือนช่วงเวลาความสุขสั้นๆ ในชีวิตเรา เช่นช่วงเวลาพระอาทิตย์ในระนาบขอบฟ้า “ความรู้สึกของแสงที่คนรอคอยเช่นพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกมันเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว อยากจะยืดมันออกด้วยการจัดแสง indirect light เสริมกับแสงธรรมชาติ ช่วยสร้างอารมณ์”
ความเลือนลางของแสงเงาที่ทอดลงบนผนัง ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย และเป็นกันเอง การทำงานอินทีเรียที่นี่เป็นการฉีกกฎทั้งมวลจากประสบการณ์การทำงานของ Trimode ที่เวลามองแวบแรกจะเห็นแปลนขึ้นมาในหัวทันที นิสารภาพว่าเขาหลงระเริงไปกับประสบการณ์อินทีเรียแบบที่ทำกับลูกค้าไปพักใหญ่กว่าจะดึงตัวเองกลับมา “เราค่อยมานึกว่าถ้าเราใช้ประสบการณ์อาชีพอินทีเรียทั้งหมด แล้วจัดแปลนตามประสบการณ์ มันจะเป็นเหมือนงานทั่วไป เราต้องบอกตัวเองว่าอย่าไปทำตามประสบการณ์ หนีออกจากมัน ไม่งั้นมันจะไม่ใหม่ เลยรื้อไฟใหม่หมด จัดวางใหม่ ถอยออกมาค่อยๆ วางทุกอย่างอย่างซื่อตรง จัดวางของที่เลือกเข้ามาอย่างอ่อนโยน ไม่ต้องถูกยัดเยียดด้วยงานดีไซน์”
บรรดาเฟอร์นิเจอร์และวัตถุต่างๆ ในโกดังของ Trimode ถูกนำมาจัดวางใหม่คล้ายกับศิลปะติดตั้ง บางชิ้นเป็นงานต้นแบบที่เคยทำเสนอลูกค้า บางชิ้นเคยทำให้ร้านของลูกค้าที่ปิดตัวไปแล้วพวกเขาไปขอซื้อกลับมา หลายๆ ชิ้นเก็บมาจากบริเวณบ้านนั่นเอง การตัดสินจัดวางสิ่งของพวกนี้จะค่อยๆ ขยับปรับเปลี่ยนทดลองดูโดยใช้ความรู้สึก ความซื่อตรงเป็นหลักมากกว่าเหตุและผลแบบเวลาทำงานเสนอลูกค้าเพื่อให้ขาย และในช่วงเวลา 1-2 ปีมานี้พวกเขาให้ความสนใจกับกระบวนการระหว่างทางที่ช่างทำงาน “เราจะเห็นพวกช่างทำงานอย่างมีความสุขก็ต่อเมื่อพวกเขาเชื่อว่าจะมีอะไรมาปิดอีกชั้นหนึ่งเหมือนเวลาเค้าฉาบเก็บโป๊ว จะสนุกและดูเป็นธรรมชาติแต่ถ้าเราบอกว่าให้เอาแบบนี้เลยเค้าจะเกร็งรู้สึกไม่อิสระระหว่างสมองกับมือ เราเลยไม่บอกปล่อยให้เขาทำงานระหว่างทางให้เต็มที่ มีความอิสระบางอย่างของช่าง”
ก้าวแรกที่เราย่างเข้ามาในสเปซของ Void สายตาของเราจะปะทะกับวัตถุทรงกลมสีขาวที่ถูกกดทับลงมา คล้ายฉากในหนังไซไฟย้อนยุคประมาณ 2001: A Space Odyssey ก้อนกลมชิ้นนี้เป็นวัตถุชิ้นเดียวที่ไม่ได้มาจากโกดังของ Trimode เป็นความตั้งใจที่ให้มันทำหน้าที่เป็น partition ทรงกลมที่โดนบี้ลงมาเพราะความเตี้ยของเพดาน แทนความรู้สึกแทนคำพูดของคนในสังคมตอนนี้ที่รู้สึกอึดอัดต่อสถานการณ์รอบด้าน ไม่สามารถหนีออกมาได้ ต้องมีชีวิตกันต่อไป “รูปทรงกลมเป็นรูปทรงที่ดูไปเรื่อยๆจะเกิดความสงบ เห็นสองมิติจากมันเสมอ แล้วเราจัดวางให้เห็นอีกด้านนึงของมันจากกระจกด้วย อยากให้ Void เป็นเหมือน experience space ที่คนเข้ามาแล้วให้อารมณ์แตกต่างจากสิ่งที่เขาเคยไปมาก่อนทั้งหมด”
Trimode ตั้งใจให้ Void เป็น tea house (ในอนาคตจะเสิร์ฟ mocktail ด้วย) ที่เป็นสถานที่พักใจ ที่ๆ เราแขวนเครื่องแบบในชีวิตประจำวันลง แล้วดื่มด่ำไปกับโมเม้นท์ที่เป็นช่วงเวลาของความสุขสั้นๆ แสงสวยๆ ยามพระอาทิตย์ตกดิน เป็นความเหงาที่อ่อนโยน อิ่มเอมใจ เป็นศูนย์รวมของด้านลึกในชีวิตที่ซุกซ่อน อารมณ์ ความรู้สึก การทดลอง และเรื่องราว “ระหว่างทาง” เอาไว้
หลังจากนั่งที่ Void สักพักใหญ่เรายังซื่อตรงกับความรู้สึกแรกพบว่ามันเป็นเหมือนหนังไซไฟยุค 60s – 70s Trimode ไม่ได้ปฏิเสธ “เป็นไปได้นะ ลึกๆ เราก็ชอบซีนในหนังพวกนั้นเหมือนกัน”