PHANTASMAPOLIS 2021 ASIAN ART BIENNIAL

ร่วมสำรวจตัวตนและอนาคตอันไม่แน่นอนของภูมิภาคเอเชียใน Asian Art Biennial ครั้งที่ 8 จัดที่ National Taiwan Museum of Fine Art เมืองไทจง ประเทศไต้หวัน

TEXT & PHOTO: NAPAT CHARITBUTRA

(For English, press here)

สถานการณ์ในไต้หวันกลับมาเป็นปกติจนคนวางใจจะออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และเทศกาลต่างๆ ก็กลับมาทยอยจัดขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา วันแรกของ 2021 Asian Art Biennial ครั้งที่ 8 เราจึงได้เห็นคนไทจงจูงลูกจูงหลาน หนุ่มสาวมาออกเดตกันที่ National Taiwan Museum of Fine Art กันเนืองแน่น

หัวเรื่องของ biennial ครั้งนี้คือ Phantasmapolis ซึ่งมาจากสองคำคือ Phantasmagoria นิยาย Sci-Fi เขียนโดย Wang Da-hong (1917-2018) สถาปนิกยุคโมเดิร์นชาวไต้หวัน และคำว่า เมือง (Polis) ในภาษากรีก แปลรวมๆ ก็ประมาณว่า “มาร่วมกันสำรวจอนาคตของเอเชียกันเถอะ!” สเกลของ Phantasmapolis 2021 Asian Art Biennial ไม่ได้ใหญ่นักหากเทียบกับ biennial อื่นๆ ที่งานศิลปะถูกจัดวางกระจายตามพื้นที่เมือง เรียกได้ว่าเป็น biennial ที่ดูวันเดียวจบ (แต่เหนื่อย) 60 ผลงาน จากศิลปิน 38 คน ครั้งนี้ถูกคัดเลือกโดยทีมคิวเรเตอร์ 5 คน คือ คือ Takamori Nobuo (ไต้หวัน), Ho Yu Kuan (ไต้หวัน), Anushka Rajendran (อินเดีย), Tessa Maria Guazon (ฟิลิปปินส์) และธนาวิ โชติประดิษฐ (ประเทศไทย)

Phantasmapolis เริ่มสำรวจอนาคตของเอเชียจาก “อดีต” ระหว่าง 1960s จนถึงต้น 1970s ทศวรรษที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ Tokyo Olympic (1964) และ Expo’70 Osaka ติดๆ กัน กับ archive สำคัญอย่างแบบร่างและภาพถ่ายพาวิลเลี่ยนของไต้หวัน ที่ Expo‘70 ต่อเนื่องไปถึงแรงต้าน (ต่ออนาคต หรือ ชาติตะวันตก?) ภายในประเทศญี่ปุ่นในห้องถัดมา (ผลงานของ Hirata Minoru และ Kimura Tsunehisa) ว่าด้วย anti-expo movement ของกลุ่มนักศึกษาญี่ปุ่น โอลิมปิกครั้งนั้นไม่ได้เป็นแค่มหกรรมกีฬา แต่มันคือจังหวะเวลาที่สายตาของชาวตะวันตกจับจ้องมาที่ซีกโลกตะวันออก และรถไฟชินคันเซนกับความเร็วเกือบ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือสิ่งที่พวกเขาได้เห็น

คิวเรเตอร์ Takamori Nobuo กล่าวในระหว่างงานเสวนา Songs from the Moon Rabbit ว่า ภาพนั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อย่างแรกคือมันพลิกกลับมุมมอง จากการเป็นผู้รับเทคโนโลยี มาเป็นเอเชียผู้ผลิตและส่งออกเทคโนโลยี อย่างที่สองคือมันทำให้หลังจากนั้นมา Sci-Fi ของเอเชียมีภาพเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นครั้งแรก และอย่างที่สาม – ที่สำคัญที่สุด มันเปลี่ยนมุมมองที่ชาวตะวันตกมีต่อเอเชียไปตลอดกาล

ใช่แล้ว ตะวันตกไม่ได้มองว่าเอเชียทัดเทียมตัวเอง Takamori Nobuo ยกภาพยนตร์ Sci-Fi ฮอลลีวูด อย่าง Blade Runner (1982) และสารคดี Tokyo-Ga (1985) โดย Wim Wenders มาประกอบคำอธิบายว่า ในนั้นเรามองเห็นทัศนคติที่ชาวตะวันตกมองอนาคตของเอเชียที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเป็น dystopia หน่อยๆ หรือพูดอีกแบบก็คือ “เป็นโลกที่ล้ำหน้าทางเทคโนโลยีแต่คุณภาพชีวิตต่ำ” (high-technology world with low-life) หรือกล่าวให้ชัดกว่านี้ก็คงจะเป็น คำว่า “เทคโนโลยี” มันถูกเติมเข้าไปในรากฐานความคิดของชาวตะวันตกนั่นคือ เอเชีย = ไม่สะอาด นั่นเอง มวลของความคิดเหล่านี้ยังถูกกระตุ้นด้วยกระแสความหวาดกลัวชาวญี่ปุ่นในอเมริกาเมื่อญี่ปุ่นเริ่มมีอำนาจทางเศรษฐกิจและคนญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเริ่มเข้าไปถือครองที่ดินในอเมริกา 

Takamori Nobuo ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ทัศนคติของชาวตะวันตกต่อ Sci-Fi ของตะวันออกนั้นมีที่มาที่ไป มันมีความแตกต่างกันที่รากฐานของวัฒนธรรมซึ่งเห็นได้ชัดเจน นั่นคือ Sci-Fi ของตะวันตก – จินตนาการต่อโลกอนาคต ยืนอยู่บนพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (progressive modernization) ในขณะที่จินตนาการต่อโลกอนาคตของเอเชียได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก เรื่องเล่าทางศาสนา (myth) จากอินเดีย จีน (รวมถึงไทย) ไปสู่สุดขอบโลกตะวันออกอย่างประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างง่ายๆ คือ นึกถึงจินตนาการของคนโบราณในสมุดภาพไตรภูมิ มุมมองที่คนเอเชียมีต่อโลกและจักรวาล หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ในวัฒนธรรมจีน

ทศวรรษ  1960s ที่อเมริกากับโซเวียตแข่งกันสำรวจอวกาศ และเป็นอเมริกาที่วิ่งเข้าเส้นชัยหลังจากที่เท้าของ Neil Armstrong เหยียบลงบดวงจันทร์ จึงเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทั้งในเชิงวัฒนธรรมและการเมือง และคงเป็นเพราะแบบนี้เอง “ดวงจันทร์” จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญใน biennial ครั้งนี้ 

Phantasmapolis 2021 Asian Art Biennial เต็มไปด้วยดวงจันทร์ ดวงแรกคือ archive โปรเจ็คต์ SELENE—Monument to Man’s Conquest of the Moon อนุสาวรีย์แห่งการสำรวจดวงจันทร์ สถาปนิก Wang Da-hong ออกแบบอนุสาวรีย์ขนาดความสูง 252.71 ฟุต (ตัวเลขแทนระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์) เสร็จก่อนหน้าที่ Apollo 11 จะบินไปถึงดวงจันทร์เสียอีก และหลังจากที่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ลุล่วง โปรเจ็คต์นี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ภาคส่วน ให้ดำเนินการก่อสร้างที่เมือง Boston ซึ่งถ้าสำเร็จตามแผนจะกลายมาเป็น “เครื่องหมาย” อันแข็งแรงที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับอเมริกา แต่ท้ายที่สุดแล้วโปรเจ็คต์นี้ก็ไม่เกิดขึ้นจริงเมืองจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาขวางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้

Nine Sun in the Sky (2019)

ท่าที “ตื่นตัว” (และโอบรับ) ของไต้หวันต่อการสำรวจอวกาศโดยอเมริกาใน 1960s ยังถูกนำเสนอด้วย documentary เกี่ยวกับการเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการของเหล่าฮีโร่ Apollo 11 และผลงานเพ้นต์ติ้งของ Liu Kuo-sung อย่าง Nine Sun in the Sky (2019) ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายดวงจันทร์โดยยานอวกาศ Apollo 8 ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก Liu Kuo-sung ผสมผสานเทคนิคการเพ้นต์ด้วยพู่กันแบบจีนเข้ากับ Hard-Edge Painting ในกระแสศิลปะ Abstract Expressionism ในซีรีส์ Space Series ตั้งแต่ปี 1969 

จุดร่วมระหว่าง SELENE—Monument to Man’s Conquest of the Moon และ Space Series คือการผสมผสานสุนทรีย์ / เทคนิคแบบตะวันออกเข้ากับอดุมการณ์ของโลกตะวันตก (หรือโลกเสรีนิยม) ท่ามกลางบริบทสงครามเย็น และเราเชื่อว่าการย้อนกลับไปพูดถึง movement ดังกล่าว ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ระหว่างจีน – ไต้หวัน เดินมาถึงจุดที่ตึงเครียดที่สุดในรอบหลายๆ สิบปีนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างไร

อาจดูเหมือนว่าเนื้อหาของนิทรรศการน่าจะหนักไปสำหรับหนุ่มสาวที่ควงกันมาออกเดตและลูกๆ หลานๆ ที่มาเป็นครอบครัว ตัวงาน Phantasmapolis เองอ่านได้หลายแบบ และอีกมุมของนิทรรศการที่สนุกก็คือ การสำรวจ “ภาพอนาคต” ของคนในอดีตที่มองปี 2000 ราวกับเป็นอนาคตอันไกลโพ้น A Day after a Hundred Years (1933) โดย Ogino Shigeji (1899 – 1991) พูดถึงปี 2033 ด้วยเทคนิค stop motion ยุคแรก จินตนาการถึงการเดินทางไกลด้วยไฮเปอร์ลูป ฯลฯ เทียบกับจินตนาการของคนปัจจุบัน (กลุ่มผลงานที่สร้างขึ้นช่วง 2019-2021) ดูเหมือนว่าลูกหลานของเจนเนอเรชั่นก่อนๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรกับอนาคตเท่าไหร่ Chen Chun Yu พูดถึงสังคมสูงอายุว่า “ถ้าหากในอนาคตคนชรามีจำนวนเยอะแล้วทำไมเราไม่เกณฑ์พวกเขาไปเป็นทหารกันล่ะ?” กับวิดีโออาร์ต Back to Glory: Make_ _Great Again (2021) พร้อมปุ่มให้คนมาดูงานได้โหวตว่าเห็นด้วยกับไอเดียนี้หรือไม่ตรงทางออก

Wrapped Future by Lim Sokchanlina

Wrapped Future by Lim Sokchanlina

Lim Sokchanlina ศิลปินคนสำคัญชาวเขมรพูดถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึงสักทีกับภาพถ่ายซีรีส์ Wrapped Future ที่ว่าด้วยแผ่นสังกะสีที่บอกเป็นนัยถึงการ “อยู่ระหว่างการก่อสร้าง” Alvin Zafra กับ The Sound of One Hand Clapping (2021) ที่ศิลปินออกไปตระเวนถ่ายภาพเมืองระหว่างการล็อคดาวน์ ก่อนจะนำมาสร้างงานด้วยเทคนิคพิเศษ หรือ LE Giang ศิลปนชาวเวียดนามที่ออกสำรวจชนบท ก่อนจะจำลองสถาปัตยกรรมท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่กำลังจะสูญหายไปจากประเทศ ออกมาเป็นประติมากรรมซากปรักหักพังกับ Vestige of Land (2021)

Vestige of Land (2021)

ตัวแทนของประเทศไทยคือ จุฬญานนท์ ศิริผล กับผลงาน Gives Us A Little More Time (2020) ขอเวลาอีกไม่นาน (แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา) ประกอบไปด้วยวิดีโออาร์ตที่ท้าทายการตีความของคนดูไต้หวัน (เช่นเดียวกันกับคนไทย) และงานคอลลาจที่ศิลปินเริ่มทำตั้งแต่หลัง ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ล้มล้าง” การปกครองระบอประชาธิปไตยในไทย (ปี 2014) ส่วนผลงานที่เราคิดว่าน่าจะเป็นตัวแทนหลายๆ อารมณ์ที่ล่องลอยอยู่ใน biennial ครั้งนี้ได้ดีคือ Escape Route (2021) โดย Liu Yu + Wu Sih Chin ว่าด้วยจินตนาการถึงวันสิ้นโลกในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เป็นจริง และการมาถึงของพระผู้ช่วยให้รอด (ที่ก็ไม่มาซะที) “we are all in the waiting room.” ประโยคนี่ปรากฏขึ้นบนจอหลังวิดีโอเร่งเร้าผู้ชมด้วยการตัดสลับภาพการนับถอยหลังขึ้นปี 2000 จากทั่วทุกมุมโลก และจบลงด้วยตัวเลขนับถอยหลังก่อนที่วิดีโอจะเล่นอีกครั้ง Phantasmapolis คือห้องรอขนาดใหญ่ต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึง (หรืออาจจะมาถึงแล้วแต่เราไม่ยอมรับว่ามันเป็นอนาคต?) และอันที่จริงถ้ามองผ่านสายตาของงานที่สร้างขึ้นในช่วง 1960s ดูเหมือนว่า อนาคต (หรือปัจจุบัน) ศิลปินผู้ล่วงลับคงจะผิดหวังกันเป็นแถบๆ เพราะอนาคตที่เขาคิดถึง กลับกลายเป็นโรคระบาด COVID-19 และสถานการ์ความขัดแย้งที่วนกลับมาเหมือนเดิมราวกับหนังฉายซ้ำ

เป็นอันว่าอนาคตของเอเชียผ่านสายตาของศิลปินดูจะไม่สดใส อีกประเด็นที่น่าพูดถึงคือ ความ Sci-fi แบบหลอนๆ ของผลงานหลายชิ้นใน biennial ส่วนชิ้นที่เราคิดว่าไปไกลสุดขอบที่สุดคงจะเป็น วิดีโอของ Li Yi Fan ศิลปินชาวไต้หวัน ผลงานชื่อ How Do You Turn This On (2021) ว่าด้วยตัวประหลาดตัวนึงที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก กับบทสนทนาที่ไม่ปะติดปะต่อ ศิลปินพูดถึงการก้าวหน้าของเทคโนลยี และตั้งคำถามว่า “แม้จะเป็นคนสร้างก็เถอะ คุณแน่ใจหรอว่าจะควบคุมสิ่งที่คุณสร้างได้?” 

How Do You Turn This On (2021)

คำว่า Phantasmapolis หัวข้อของ biennial บอกใบ้แต่แรกแล้วว่าอนาคตอาจไม่สวยงาม เพราะรากศัพท์ของ phantasms นั้นเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับความเป็นบ้านผีสิง (phantom-haunted hose) นี่คืออีกสาเหตุที่ภาพอนาคต หรือความ Sci-Fi ที่พ่อแม่ป้าน้าอาลูกหลานชาวไทจงได้เห็นอาจจะไม่เจริญหูเจริญตานัก แต่แน่นอนว่ามันคงกระตุ้นให้ตั้งคำถามกับความเป็นเอเชียและอนาคตของภูมิภาคนี้ได้เยอะทีเดียว

Looking Back to the Future curated by Anushka Rajendran

นอกจากผลงานที่กล่าวถึงไป ยังมี Video Art Project ชุด Looking Back to the Future คิวเรตโดย Anushka Rajendran (เข้าไปดูได้ทางเว็บไซต์ของเทศกาล) และ Beyond Time and Sex: A Opsis of Queer Sci-Fi in Asia งานรีเสิร์ชโดย Tessa Maria Guazon กับนักวิจัยชาวไต้หวันอย่าง I Chun (Nicole) Wang เกี่ยวกับ movement ของ Sci-Fi Queer ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงส่วนที่เป็น non-exhibition อย่าง Songs from the Moon Rabbit งานเสวนาที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2021 และกิจกรรมฉายภาพยนตร์ 

Phantasmapolis 2021 Asian Art Biennial จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2021 ถึง 3 มีนามคม 2022 ที่ National Taiwan Museum of Fine Art เมืองไทจง และ Mongolian and Tibetan Cultural Gallery และ Digital Art Center เมืองไทเป ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ถือว่ายังพอมีลุ้นว่าไต้หวันจะเปิดประเทศให้คนไทยได้ไปชมงานได้ทันเวลา

asianartbiennial.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *