THE SETARA

ชาตรี ประกิตนนทการ สตูดิโอ HUES development และสิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ ร่วมกันรื้อฟื้นคุณค่าของสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ถูกหลงลืม ผ่าน The Setara โปรเจ็คต์บ้านพักตากอากาศในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: TICHACHART PRADABMUK EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

อย่างกับหลุดมาจากอดีตเลยทีเดียวกับ The Setara บ้านพักตากอากาศในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสัดส่วนและทรวดทรงของบ้านที่เกลี้ยงเกลา และการตกแต่งประดับประดาด้วยรูปทรงเรขาคณิตเรียบง่าย ตรงกับคาแรกเตอร์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม Modernism และ Art Deco ที่แพร่หลายในไทยช่วงปี ..2475-2490 ซึ่งชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์และนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม นิยามไว้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ 

สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ เจ้าของบ้าน เล่าให้เราฟังถึงสาเหตุในการทำบ้านหลังใหม่ด้วยสไตล์จากอดีตให้ฟังว่า มีจุดเริ่มต้นจากความผูกพันกับรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวตั้งแต่ยังเด็กๆ 

ตัวอย่างอาคารสาธารณะที่สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรม Art Deco | Photo courtesy of Sittha Loetphaiboonsiri

ตัวผมเองเกิดและเติบโตในนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท นิคมสร้างตนเองแห่งแรกของไทย ที่อยู่ในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน และเริ่มต้นชีวิตวัยเรียนที่อำเมือง จังหวัดลพบุรี เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหม่ของรัฐบาลคณะราษฎรในปี .. 2483 ทั้งสองแห่งยังคงมีอาคารสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco ตามที่ต่างๆ ซึ่งทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อคนในพื้นที่ให้ร่วมกันอนุรักษ์” 

ภาพตัวอย่างอาคาร Art Deco ในอินโดนิเซีย | Photo courtesy of Sittha Loetphaiboonsiri

ภาพตัวอย่างอาคาร Art Deco ในอินโดนิเซีย | Photo courtesy of Sittha Loetphaiboonsiri

ยิ่งเมื่อได้ไปอินโดนีเซีย เพื่อร่ำเรียนและค้นคว้าวิจัย ความหลงใหลที่เขามีต่ออาคารในรูปลักษณ์แบบ Art Deco ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีก หลังเขาได้พบกับอาคารรูปแบบดังกล่าวที่สร้างขึ้นช่วงทศวรรษ 1920-1930 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอาณานิคมดัตช์ 

พอถึงจังหวะสร้างบ้านพักตากอากาศของตัวเอง สิทธาจึงเลือกรูปแบบสถาปัตยกรรมนี้มาใช้กับดีไซน์บ้านพร้อมตั้งชื่อว่า ‘The Setara’ ที่แปลว่าเท่าเทียมในภาษาอินโดนีเซีย สะท้อนลักษณะสถาปัตยกรรม Art Deco ในไทยและอินโดนีเซียที่ลดทอนสัญลักษณ์และของประดับประดาที่แสดงออกถึงความเป็นชนชั้น และยังพ่วงมากับนัยยะของการพัฒนาประเทศ โดยบ้านหลังนี้ได้ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้เขียนหนังสือศิลปะสถาปัตยกรรม คณะราษฎรและ HUES development ออฟฟิศออกแบบสถาปัตยกรรมในเชียงใหม่ มาร่วมออกแบบ

โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี | Photo courtesy of Sittha Loetphaiboonsiri

ขั้นแรกของการออกแบบ ชาตรีเริ่มต้นพัฒนาแบบสเก็ตช์ด้วยการนำองค์ประกอบต่างๆ ที่โดดเด่นของตึกปฏิบัติการแพทย์ และตึกศัลยกรรม (ที่ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของตึกทันตกรรม) ในโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรม Art Deco ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี (เริ่มก่อสร้างในปี .. 2480 ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา) มาสอดแทรกเป็นองค์ประกอบของบ้านตั้งแต่ผนังที่มีความโค้งมน หน้าต่างที่แบ่งช่องย่อยเป็นช่องเล็กๆ รวมไปถึงหน้าต่าง Porthole Window ที่เป็นเอกลักษณ์ของตึกศัลยกรรม แผงคอนกรีตและเส้นสายที่มีความลู่ลมที่เรียกว่า Streamline และการจัดวางองค์ประกอบอาคารแบบอสมมาตรตามอย่างตึกปฏิบัติการแพทย์ 

ตึกปฏิบัติการแพทย์ โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี | Photo courtesy of Sittha Loetphaiboonsiri

ผมเลือกอาคารตึกอาคารปฏิบัติการแพทย์และตึกศัลยกรรมเป็นต้นแบบจากการเจอกันบ่อยๆ กับคุณสิทธา ไปดูสถานที่จริงอยู่หลายครั้งแล้วก็รู้ว่าค่อนข้างประทับใจกับอาคารนี้ และตึกปฏิบัติการแพทย์จริงๆ เป็น Art Deco แบบทันสมัยมากๆ เวลาเราดูอาคาร Art Deco ในสมัยคณะราษฎร ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Neo-Classic หรือ PWA (Public Work Administration) คือมีความสมมาตร มีลูกเล่นหรือ ornament ที่ด้านหน้าอาคารหรือมีประตูที่ดูอลังการ แต่ตึกปฏิบัติการแพทย์ ในทางวิชาการเขาจะเรียกว่า Streamline modern ตัวผังจะไม่สมมาตร และรูปร่างหน้าตาจะโค้งแบบลู่ลม  มีรูปแบบการใช้แผงคอนกรีตที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับอาคารในยุคหลังช่วง High Modern ซึ่งรูปแบบนี้จะมีไม่เยอะในประเทศไทยชาตรีกล่าว

เมื่อชาตรีสเก็ตช์แบบร่างเรียบร้อย ทีม HUES development ก็นำแบบของชาตรีมาพัฒนารายละเอียดเป็นแบบก่อสร้าง และปรับฟังก์ชันต่างๆ ให้ลงตัวเข้ากับบริบทของไซต์และการใช้งาน อย่างเช่น การวางพื้นที่ส่วนรับประทานอาหารและพื้นที่นั่งเล่นให้หันออกไปหาวิวภูเขา พร้อมปรับสัดส่วนองค์ประกอบของอาคารต้นแบบที่เป็นอาคารสาธารณะ ให้เหมาะสมกับการเป็นบ้าน ในเวลาเดียวกัน สปิริตความเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎรของบ้านก็ได้รับการสร้างสรรค์เพิ่มเติม ผ่านการสอดแทรกลวดลายแบบ Art Deco หรือการเลือกสรรวัสดุให้มีรูปแบบและสีสันคล้ายคลึงกับวัสดุในสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ไม่เพียงเท่านั้น ทีม HUES development ยังใส่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ให้บ้าน ด้วยการออกแบบให้มีเสาในบ้าน 6 ต้นในระยะกริด 6×6 เมตร รวมถึงการปรับความโค้งมนของกำแพงด้วยรัศมี 0.6 เมตร ที่อ้างอิงเลข 6 ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรนั่นเอง

เราถามสิทธาว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังการสร้างบ้านที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายจากอดีตหลังนี้  

นอกจากผมจะเลือกอาคารตึกอาคารปฏิบัติการแพทย์และตึกศัลยกรรม มาเป็นแบบบ้านด้วยเหตุผลด้านคุณค่าและความงามเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากอีกประการคือ ทั้งสองอาคารทำให้ผมได้เข้าใจความพยายามของคณะราษฎรในการสร้างหลักประกันเรื่อง ความสงบและปลอดภัย อันเป็นหนึ่งในหลักหกประการ ด้วยการสร้างโรงพยาบาลและสุขศาลาจำนวนมากในหลายจังหวัดในช่วงเวลานั้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฏร The Setara จึงเปรียบเสมือนความคิดและตัวตนของผมที่ถูกหลอมหลอมจากวัยเด็กจนถึงจบการศึกษา ผ่านประสบการณ์ของการเดินทางย้อนเวลากลับไปศึกษาเพื่อค้นหาตัวตนและประวัติศาสตร์ที่บางช่วงตอนนั้นตกหล่นและขาดหายไปสิทธาตอบสรุปอย่างครบถ้วนกระบวนความ  

สำหรับชาตรี ผู้ร่วมปลุกปั้นบ้านตั้งแต่ยังเป็นแบบร่าง ก็มีเหตุผลในการเข้ามาออกแบบบ้านหลังนี้เหมือนกัน นั่นคือการรื้อฟื้นคุณค่าสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในไทย หลังจากหลายอาคารถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย ผมต้องการผลักดันให้รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ ถูกรื้อฟื้นในบริบทสังคมไทย เพราะมันถูกมองในเชิงลบมากว่าไม่มีคุณค่า ไม่มีความเป็นไทย ในขณะที่รูปแบบตะวันตกอื่นๆ อย่างเช่นตึกที่สร้างช่วง .5-.7 คนก็รับรู้ว่าหน้าตามันเป็นตะวันตกแต่ก็ถูกยอมรับว่าเป็นมรดกของสถาปัตยกรรมไทย แต่สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ไม่ได้อยู่ในสถานะนั้น

จะว่าไปแล้ว The Setara ก็ชวนให้เราตระหนักเหมือนกันว่า สถาปัตยกรรม Art Decoในสมัยคณะราษฎร หรือสถาปัตยกรรมคณะราษฎรแท้จริง ยังคงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งมีความหมายแนบแน่น ผูกโยงไปกับการเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทยในตอนนั้น ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ตามมา และมันคงน่าเสียดายถ้ามันจะถูกหลงลืมหรือละเลยไปอย่างไม่ใยดี 

facebook.com/The-Setara
facebook.com/huesdevelopment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *