MKM MUSEUM KÜPPERSMÜHLE EXTENSION

หลังเคยฝากผลงานการปรับปรุงโรงงานสีข้าวเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ MKM Museum Küppersmühle ไปแล้วในปี 1999 ล่าสุด Herzog & de Meuron กลับมาต่อเติมพื้นที่จัดแสดงเพิ่มเติมให้กับพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง ภายใต้แนวคิดการรักษาสมดุลระหว่างของใหม่และของเก่า 

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: SIMON MENGES

(For English, press here)

บนสองฝั่งของท่าเรือชั้นในที่เคยคึกคักของเมือง Duisburg หรือ ‘innenhafen’ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผังแม่บท Duisburg City Masterplan ซึ่งได้รับการออกแบบโดย Foster and Partners บนแนวความคิด ‘Industrial Heritage’ ซึ่งนำเสนอแนวคิดเรื่องเมืองที่สมดุลระหว่างของใหม่กับของเก่า Herzog & de Meuron ได้กลับมาต่อยอดแนวความคิดเดิมนี้ ผ่านงานต่อเติมพิพิธภัณฑ์ MKM Museum Küppersmühle ที่พวกเขาออกแบบไว้ในปี 1999 ที่มองดูเผินๆ ราวกับว่าโรงงานและส่วนต่อเติมใหม่หลังนี้ ตั้งอยู่ตรงนี้อยู่แล้วตลอดมา

โรงงานสีข้าวใน ‘เขตขนมปัง’ (bread basket of the Ruhr District) แห่งนี้เดิมสร้างขึ้นเมื่อปี 1860 และได้รับการต่อเติมหลายครั้งโดยเฉพาะในส่วนของห้องต้ม (boiler house) ในฝั่งตะวันตกของอาคาร และหอไซโล (Silo) ในฝั่งตะวันออก ซึ่งทำให้อาคารมีรายละเอียดอย่างความสูงต่ำที่แตกต่างกันเพื่อนำแสงเข้าจากหลังคา ปล่องไฟในห้องต้ม และถังไซโล ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนกระทั่งโรงงานปิดกิจการไปในปี 1972 และต่อมาได้กลายสภาพเป็น MKM Museum Küppersmühle ในปี 1999 และได้รับการต่อเติมพื้นที่จัดแสดงอีก 2,500 ตารางเมตร แล้วเสร็จในปีนี้ (2021) ตัวพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปะช่วงหลังสงคราม (German post-war art) ในชุดงานสะสม ‘ströher collection’ ที่มีผลงานศิลปะตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วมากกว่า 300 ขิ้น

อาคารอิฐในปีกตะวันออกที่สร้างขึ้นใหม่นี้เชื่อมต่อกับอาคารเดิมผ่านพื้นที่หอไซโลขนาดยักษ์ สถาปนิกสร้างพื้นที่เชื่อมต่อส่วนนี้ด้วยการรื้อถอนหอไซโลด้านในบางส่วนออกเพื่อให้เกิดที่ว่าง และสร้างสะพานเหล็กสีดำเพื่อเชื่อมพื้นที่เข้าด้วยกัน ทำให้หอคอนกรีตสีเทาขนาดยักษ์เหล่านี้เกิดเป็นประติมากรรมชิ้นสำคัญที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นในพิพิธภัณฑ์ ส่วน mass โดยรวมของอาคารใหม่ประกอบขึ้นจากรูปทรงที่แตกต่างกัน 3 ชิ้น โดยอ้างอิงระดับหลังคา รายละเอียดต่างๆ ของรูปด้าน รูปแบบของหลังคา และโดยเฉพาะการเลือกใช้อิฐที่เหมือนกับอาคารเดิม และมี plaza ที่อยู่ด้านหน้าอาคารฝั่งทางหลวงที่เกิดจากระยะ setback 40 เมตร ที่เป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะของเมืองอย่างพอดิบพอดี

แม้ว่าหน้าตาอาคารภายนอกจะมีลักษณะเป็นโรงงานอิฐที่ดูเป็นของเดิม พื้นที่ภายในนั้นเป็นโลกอีกใบที่แตกต่างกับภายนอกอย่างสิ้นเชิง การออกแบบพื้นที่จัดแสดงงานแบบ ‘White cube’ นั้นมีองค์ประกอบหลักเป็นเพียงผนังสีขาวที่ช่วยขับให้งานศิลปะที่ถูกจัดแสดงให้โดดเด่น โดยมีการเจาะช่องเปิดในลักษณะแคบยาวเป็นระยะ ที่นอกจากจะนำแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่จัดแสดงแล้ว ยังเชื่อมต่อพื้นที่ภายในเหล่านี้เข้ากับทิวทัศน์ของท่าเรือ แม่น้ำและทัศนียภาพโดยรอบไปด้วย

ส่วนต่อเติมนี้มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้นสามส่วน สองส่วนสำหรับจัดนิทรรศการ และอีกหนึ่งส่วนสำหรับส่วนสำนักงานและจัดเก็บงานศิลปะ อาคารขนาด 4 ชั้นและหนึ่งชั้นใต้ดินนี้เชื่อมต่อกันทุกชั้นด้วยบันไดเวียน ซึ่งเป็นทางขึ้นทางเดียวเท่านั้นสำหรับส่วนจัดนิทรรศการชั้นบนสุดของอาคารใหม่ ให้ผู้เข้าใช้งานได้ซึมซับกับบรรยากาศของช่องบันไดนี้ก่อนจะขึ้นไปยังชั้นบนสุด ช่องว่างระหว่างผนังกับบันได้ถูกลบมุม ก่อให้เกิดทางเดินที่ลื่นไหลไปตามชั้นต่างๆ ช่องแสงที่ถูกเจาะเป็นระยะทำให้แสงธรรมชาติส่องไล้ลงมาตามผนังสีน้ำตาล เผยให้เห็นรอยไม้แบบหยาบๆ ที่ก่อให้เกิดรูปทรงและผิวสัมผัสที่ไม่ได้เรียบเนียนสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด ดูเหมือนพื้นที่โถงบันไดนี้จะเป็นการพบกันตรงกลางระหว่างสีและผิวสัมผัสของอิฐภายนอก กับสเปซขาวโพลนภายในพื้นที่จัดแสดง เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้ความเก่าและใหม่ได้เดินทางสอดคล้องเป็นอันหนี่งอันเดียวกัน

MKM Museum Küppersmühle แห่งนี้ผุดขึ้นท่ามกลางบริบทเดิมอย่างแนบเนียนและกลมกลืน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเคารพต่อบริบทของอาคาร ของเมือง และของประวัติศาสตร์ในพื้นที่เดิมผ่านสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด เรื่องราวของโรงงานและหอไซโลเดิมมิได้ถูกกลบฝังไว้ภายใต้สถาปัตยกรรมที่ ‘ใหม่กว่า’ ไปตลอดกาล หากแต่ได้รับการชุบชีวิตให้ยังส่งเสียงบอกเล่าถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และหลักฐานของเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ไปอีกหลายชั่วอายุคน

herzogdemeuron.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *