หลังจากเป็นไซต์ก่อสร้างอยู่ 6 ปี หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้เปิดตัว พร้อมแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการออกแบบนั่นคือ ความ ‘ไร้พรมแดน’ หรือการเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์และตอบโจทย์ชีวิตของนักศึกษา
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
“มีวันนึงพี่เมธา บุนนาค กลับมามหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วพูดว่า “เราเรียกที่นี่ว่ามหา’ลัยแห่งการสร้างสรรค์ แต่สภาพแวดล้อมของมหา’ลัยไม่มีอะไร inspire คนให้ทำศิลปะเลย” ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้งบประมาณมาปรับปรุงวังท่าพระใหม่หมด และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของหอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นันทพล จั่นเงิน อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหัวหน้าทีมออกแบบ
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กลับมาเป็นพื้นที่ใช้เรียนหนังสือได้อีกครั้ง (หลังจากกลายเป็นไซต์ก่อสร้างไป 6 ปี) วันนี้ ถ้าไม่มีโรคระบาด COVID-19 เราคงจะได้เห็นนักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่ที่ออกแบบใหม่หมดตามจุดต่างๆ ของวิทยาเขต ใช้พื้นที่อาคารหอประชุมเดิมที่ถูกเนรมิตให้กลายเป็น auditorium hall เพื่อรองรับการแสดงดนตรีจากคณะดุริยางคศาสตร์ ได้เล่นบาสบนลานกีฬาที่ไม่มีรถจอดแล้ว หรือจับกลุ่มคุยกันในสวนแก้ว ทำกิจกรรมในมหา’ลัยจนถึงดึกดื่น หรือเข้าไปใช้ facility ของแต่ละคณะที่ปรับปรุงใหม่หมด
ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของ ผศ.นันทพล ระหว่างการออกแบบครั้งนี้ คือความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละพื้นที่ในมหาวิทยาลัยและระหว่างบริเวณโดยรอบ “เราไม่ได้มองอาคารแต่เรามองชีวิตที่อยู่ตรง open space คาแร็คเตอร์ของศิลปากรคือเรามีที่แค่ 9 ไร่ แต่ถ้าสแกนให้ดี เราจะเห็นพื้นที่เปิดโล่งย่อยๆ กระจายอยู่เต็มไปหมด ตรงนั้นแหละคือพื้นที่ที่นักศึกษาใช้ชีวิต” และด้วยพื้นที่ที่ไม่มากของวิทยาเขต ระยะการเดินของนักศึกษาจึงแผ่ขยายออกไปยังพื้นที่รอบๆ ด้วย “ผมเคยเรียนที่นี่ สมัยก่อน ถ้ามีเรื่องไม่สบายใจผมจะเข้าไปเดินในวัดพระแก้วตอนเช้าๆ โรงอาหารของเราไม่ใหญ่ก็จริง แต่เรามีท่าช้าง ท่าพระจันทร์ เรามีสนามหลวง มีแม่น้ำเจ้าพระยา เราแวดล้อมไปด้วยประวัติศาสตร์”
สิ่งเหล่านี้นำมาสู่แนวคิดหลักของการออกแบบหอสมุดฯ ที่ ผศ. นันทพล บอกกับ art4d ว่า “Borderless” หรือความไร้พรมแดนคือคีย์เวิร์ดสำคัญ และเขาทลายพรมแดนดังกล่าวด้วยการสร้าง “ความเชื่อมต่อ” ขึ้นมาใหม่หลายจุด เช่น พื้นที่กิจกรรมตรงข้ามหอสมุด (แต่เดิมคือห้องน้ำและลานจอดรถ) ซึ่งทำให้เกิดความต่อเนื่องของกิจกรรมในสวนแก้ว ไหลมาจนถึงบันไดทางเข้าหอสมุดฯ ที่ถูกปรับให้แผ่ขยายไปรอบทิศทาง และเข้ามาบริเวณภายในหอสมุดฯ การเจาะหน้าต่างเปิดมุมมองออกไปยังท่าช้าง รวมถึงการจัดการการเชื่อมต่อของพื้นที่ภายในตัวห้องสมุดเองใหม่ หรือพูดอีกอย่างก็คือการทลายกำแพงความเป็น “ห้อง” ทิ้งไป พร้อมกับการจัดสรรที่นั่งอ่านหนังสือที่นักศึกษาบอกอยู่เสมอว่ามีไม่เพียงพอ
แต่การขยับขยายพื้นที่นั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะกับอาคารประวัติศาสตร์ ที่แต่ละคนมักจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ผศ.นันทพลใช้เวลาพักใหญ่สร้างความเข้าใจกับผู้คน โดยเฉพาะเมื่อเขาจะย้ายห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล เพื่อทุบส่วนต่อเติมบริเวณด้านหน้าซึ่งประชิดกับซุ้มประตูวังท่าพระที่ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่มีปัญหาน้ำรั่วและมีสถิติจำนวนผู้ใช้งานค่อนข้างน้อย (ประเด็นนี้คลี่คลาย เมื่อผู้ออกแบบตัดสินใจบินไปเชียงใหม่เพื่อขอคำปรึกษาจากผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยา รัตนพฤกษ์ ผู้ออกแบบหอสมุดฯ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 – อาจารย์สุริยาเห็นด้วยกับการทุบ) และพูดคุยกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยหลายๆ ภาคส่วนทั้งสำนักหอสมุดและสำนักงานอธิการบดี ท้ายที่สุด เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกท่านยินดีที่จะเสียสละพื้นที่บางส่วนของตัวเองให้กับนักศึกษา
“เรากำจัดท่อแอร์ที่พันกันยุ่งเหยิงบนเพดานที่ก็ต่ำอยู่แล้วออกไป ทำให้สเปซดูกว้างขึ้นด้วยการใช้สีดำกับเพดาน และค่อยๆ จัดระเบียบพื้นที่ภายในใหม่โดยเริ่มจากการสำรวจโครงสร้างเดิมที่อาจารย์สุริยาออกแบบไว้” การสร้างภาพสามมิติโครงสร้างเดิม ทำให้ ผศ. นันทพล เจอกริดเดิมของอาคาร “เราเริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่จะตัดคานออกไป 1 ช่วงบริเวณห้องเก็บวิทยานิพนธ์เดิม เพื่อเจาะทะลุเพดาน 2 ชั้น และแทรกบันไดวนขึ้นไปเชื่อมกับห้องโสตทัศนศึกษาชั้น 3 บนตึกสำนักงานอธิการบดี ซึ่งมันควรจะเชื่อมถึงกันตั้งนานแล้ว” โดยเมื่อก่อนหากจะเดินทางไปยังห้องโสตฯ นักศึกษาจะต้องเดินออกทางประตูหน้าหอสมุดฯ แล้วเดินอ้อมไปข้างหลัง เข้าไปในตึกสำนักงานอธิการบดี แล้วขึ้นลิฟต์สีแดงตัวเก่าในสำนักงานอธิการกว่าจะถึง
กลายเป็นว่าหอสมุดวังท่าพระมีห้องโถงเพดานสูงๆ กับเขาบ้างแล้ว ทางลงชั้นใต้ดินเช่นกัน มันถูกเปลี่ยนจากบันไดเล็กๆ เป็น step seat ขนาดใหญ่ ที่ทั้งเพิ่มจำนวนที่นั่ง (บนพื้น) และเปิดโอกาสให้กิจกรรมเกิดขึ้นในห้องสมุดในอนาคตได้สบายๆ ส่วนคำถามว่า แล้วหนังสือในห้องสมุดลดลงบ้างไหม? จำนวนหนังสือเดิมประมาณ 117,000 เล่ม ลดลงเหลือประมาณ 90,000 เล่ม ส่วนที่หายไปคือวิทยานิพนธ์ที่ถูกเปลี่ยนไปจัดเก็บในรูปแบบดิจิตอล และหนังสือบางส่วนที่มีสถิติการใช้ต่ำจะถูกนำไปเก็บในคลังหนังสือ “เราชดเชยพื้นที่ที่เสียไปด้วยการยืดความสูงของชั้นหนังสือชั้นใต้ดินขึ้นไปถึงสุดความสูงของเพดานชั้นใต้ดิน เหนือสิ่งอื่นใดเรายังสามารถเข้าถึงข้อมูล หนังสือ หรือองค์ความรู้ที่มีอยู่ได้ทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการจัดการทรัพยากรที่เป็นระบบ”
CLICK IMAGE TO VIEW IN FULL SIZE
การปรับปรุงครั้งนี้ทำให้พื้นที่หอสมุดฯ ชั้นหนึ่ง ชั้นใต้ดิน และชั้น 3 (ห้องโสตฯ) ไหลเวียนเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ลิฟต์ตัวใหม่ถูกแทรกเข้าไปแทนที่ลิฟต์ขนหนังสือเป็นทางลัดจากชั้นเก็บหนังสือใต้ดินไปสู่โซนนั่งอ่านหนังสือ / โซนคอมพิวเตอร์บนชั้น 3 และออฟฟิศสำนักงานหอสมุดฯ บนชั้น 4 ฟังก์ชั่นใหม่ๆ ถูกเพิ่มเข้าไป เช่น ห้อง mini theater จำนวน 24 ที่นั่ง หรือห้องสมุดภาพผลงานศิลปะและผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นเหมือนแกลเลอรี่โชว์งานศิลปะของนักศึกษาและอาจารย์แต่สามารถยืมกลับบ้านไปได้
การเปลี่ยนแปลงอีกส่วนหนึ่งที่พูดถึงคีย์เวิร์ด “Borderless” ได้ชัดคือ ห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ถูกย้ายมาอยู่ที่บริเวณใจกลางหอสมุดฯ ที่มีคนพลุกพล่านมากที่สุด ซึ่งอันที่จริงใช้คำว่า “ย้าย” ก็ไม่ถูกนัก เพราะตอนนี้ ห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ไม่ได้มีลักษณะเป็น “ห้อง” ในความหมายเดิมๆ อีกต่อไป แต่รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโถงกลางไปเรียบร้อยแล้ว ผศ.นันทพล นำคอลเล็คชั่นหนังสือหายากด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลป์ออกมาวางโชว์ตรงจุดไฮไลท์ของห้องสมุดที่มีคนสัญจรมากที่สุด
“ผมต้องการทลายกำแพงเดิมๆ ที่กั้นขวางการเข้าถึงความรู้ออกไปให้หมด ให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง ตัดพวกขั้นตอนการเข้าถึงที่ยุ่งยากออกไป ไม่เอาแล้ว เมื่อก่อนผมไม่รู้ จนเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการหอสมุดกลาง ถึงรู้ว่าในหอสมุดเรามีหนังสือหายาก มีเอกสารสำคัญเต็มไปหมด แล้วทำไมเราถึงต้องเอาสมบัติพวกนี้ไปซ่อนล่ะ?” ผศ.นันทพล ยังเสริมว่า เขาตั้งใจออกแบบให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่นิทรรศการหมุนเวียน นอกจากนี้ ถัดขึ้นไปบนระเบียงทางเดินบันไดวนยังมีคอลเล็คชั่นหนังสือพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหนังสือชุดประทานจาก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทั้งหมดนี้ถูกเน้นด้วยงานไลท์ติ้ง ที่ทำให้บรรยากาศบริเวณนั้นโดยรวมมีความเป็น monumental space “โดยรวมผมพอใจกับผลลัพธ์นะครับ วันที่แขกผู้ใหญ่และทายาทของท่านสุภัทรดิศมาเยี่ยมชม ทุกคนก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับความคิดนี้ และดีใจที่มรดกของท่านสุภัทรดิศจะถูกเปิดอ่านมากกว่าแต่ก่อน” ผศ.นันทพล กล่าว
นอกจากการปรับปรุงเพื่อให้ห้องสมุดที่สร้างมา 50 ปี ตามทันพฤติกรรมของผู้ใช้งานห้องสมุดในปัจจุบัน อีกประเด็นที่เห็นได้ครั้งนี้คงเป็นเรื่องของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมโลกเดินมาไกลจนเข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วว่า การเก็บรักษาองค์ความรู้ไม่ใช่แค่การ “เก็บ” ให้ดีที่สุด แต่คือการเผยแพร่ให้มันยังคงโลดแล่นอยู่ในความสนใจของคน เราตั้งตารอวันที่หนังสือและข้อมูลทางด้านศิลปะและโบราณคดีเหล่านั้นถูกอ่านโดยสายตาของนักศึกษาหลากหลายสาขา และถูกนำไปต่อยอดเป็นงานสร้างสรรค์ในอนาคต สุดท้ายนี้ เราขอแสดงความยินดีกับบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นต่อๆ ไปมา ณ ที่นี้ด้วย
plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library
facebook.com/SUlibrary