SHER MAKER

นอกเหนือจากการออกแบบบนกระดาษหรือโปรแกรมสามมิติ Sher Maker สตูดิโอออกแบบจากเชียงใหม่ยังสร้างสถาปัตยกรรมผ่านการทดลองกับวัสดุจริง การทำความเข้าใจผู้ใช้งานและบริบท รวมไปถึงความสัมพันธ์กับช่างและงานช่าง

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
INTERVIEW: KARJVIT RIRERMVANICH AND PAPHOP KERDSUP
PHOTO COURTESY OF SHER MAKER

(For English, press here

Sher Maker คือสตูดิโอจากเชียงใหม่ที่วันนี้มีผลงานไปไกลจนถึงระดับนานาชาติ  โดยเฉพาะรางวัล Interiors Project of the Year จาก Dezeen Awards จากผลงานอาคารสตูดิโอของพวกเขาเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา art4d คุยกับ พัชรดา อินแปลง ผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อพยายามลากเส้นต่อจุดระหว่างเชียงใหม่ ช่าง และการออกแบบ design process ที่มีการลงมือเป็นกระบวนการสำคัญ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้หลอมรวมกันเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เราเห็นตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา

Thongchai Chansamak (Left) and Patcharada Inplang (Right)

art4d: ทำไมต้องเป็นเชียงใหม่

Patcharada Inplang : เรามองสองเรื่อง เรื่องแรกคือธรรมชาติของตัวเราเอง เป็นการตั้งคำถามพื้นฐานกับตัวเองว่า หากเลือกได้อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในบริบทของเมืองแบบไหน เรากับพี่โอ๊ต (ธงชัย จันทร์สมัคร ผู้ร่วมก่อตั้ง) เป็นคนต่างจังหวัด  ไม่ได้มีความคิดอยากอยู่ในเมืองที่มันเป็นมหานคร  เรายังชื่นชอบชีวิตที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ  มันอาจจะฟังดูเป็นชีวิตในอุดมคติมากๆ  แต่เราเชื่อว่าพื้นที่ที่เราอยู่มันส่งผลต่อวิธีที่เราคิดงาน  มันสำคัญกับเรา อีกเรื่องคือเราคิดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพในเชิงของการประกอบวิชาชีพสร้างสรรค์ และเป็นเมืองที่สิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานออกแบบ  มีความเป็นเมืองที่มี background ทางวัฒนธรรม และอนุญาตให้สตูดิโอต่างจังหวัดทดลองและได้ perform งานในแบบที่ตัวเองสนใจ  หลักๆน่าจะเป็น 2 เรื่องนี้

art4d: ย้อนกลับไปตั้งแต่เรียนจบ เกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนจะตัดสินใจมาปักหลักที่เชียงใหม่

PI: พี่โอ๊ตเรียนสถาปัตย์ ที่ มช. ส่วนเรามี background เคยทำแบรนด์งานคราฟท์ตั้งแต่สมัยเรียนที่มีแหล่งผลิตและที่ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่เป็นหลัก หลังจากเรียนจบเราได้ไปทำงานที่ Studiomake อยู่ 2 ปี เป็นการไปหาประสบการณ์ในสตูดิโอออกแบบเชิงปฏิบัติการ ถือเป็นช่วงชีวิตที่เปิดโลกมาก เอาจริงๆมันก็คือชีวิตนักศึกษาที่ต้องเข้าสู่ practice field มันก็มีเรื่องใหม่ๆให้เรียนรู้เยอะ หลังจากนั้นก็ตัดสินใจย้ายกลับมาตั้งหลักที่เชียงใหม่  เราถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ของการเริ่มทำงาน เพราะเราทั้งสองคนต่างก็ไม่ใช่คนเชียงใหม่ ที่เลือกมาอยู่และทำงานที่เชียงใหม่เหมือนกัน

Sher Maker Studio

Sher Maker Studio

art4d: ช่วงที่ set up สตูดิโอในเชียงใหม่แรกๆ เป็นอย่างไร

PI: ช่วง 2 ปีแรกก็ทำงานออกแบบตามปกติ แต่ด้วยความที่เราคิดว่าความคิดทางสถาปัตยกรรมและภาษาของเรายังไม่ชัดเจน ก็เลยเป็นวัยแห่งการลองผิดลองถูก กว่าจะเสร็จแต่ละงานนี่ต้องใช้กำลังกายกำลังใจกันมากมาย  และมีช่วงนึงหยุดทำงานไปพักนึงเหมือนกัน  เป็น gap year ที่เราลองมานั่งคิดดูว่าจริงๆอยากทำงานอะไรกันแน่  ได้พิจารณาจริงๆดูว่าอยากใช้ชีวิตกับงานยังไง ระหว่างนั้นก็ไม่ได้มีงานออกแบบบ้านหรืองานอาคารอะไร มาจนถึงจังหวะที่เราได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเพื่อนรีโนเวทโรงแรม ตอนนั้นทำให้เราได้เจอกับทีมช่างชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นช่างที่เราร่วมงานกันมาจนมาทำ Sher Maker ในทุกวันนี้ 

โปรเจ็คต์ที่เรารู้สึกว่าเป็นการนับหนึ่งของ Sher Maker ร่วมกับช่างชุดนี้จริงๆ คือโปรเจ็คต์ลานดิน จำได้ว่าท้าทายมาก เพราะนอกจากจะเป็นโปรเจ็คต์ที่เราเพิ่งได้ร่วมงานกันแล้ว โจทย์ที่ลงเอยด้วยงานเหล็ก แต่ช่างของเราเป็นช่างไม้ มันเหมือนการทดลอง method กับทีมช่างชุดนี้เป็นครั้งแรกเลย แต่ละคนเจอปัญหาอะไรมา ก็คุยกัน ช่วยกัน และหาทางแก้กันไปทีละจุดไป

Lan Din Project

Lan Din Project

art4d: คือมีช่างเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการออกแบบตั้งแต่โปรเจ็คต์แรกเลย 

PI: โปรเจ็คต์ลานดิน แทบจะไม่มีกระบวนการออกแบบแบบทั่วไปเลย  อีกนิดจะเข้าข่าย self-built architecture แล้ว เราจำได้ว่าเอารูปโครงเหล็กหรือตัวโครงแบบ structure ไปคุยกับลูกค้า  โดยที่ไม่ได้คุยกับเขาเลยว่าเหล็กนี้จะงามอย่างไร (หัวเราะ) คุยแค่ว่าจะสร้างอย่างไร  มันคือการทำงานภายใต้ข้อจำกัดทางการเงินล้วนๆ  คุยกันว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมีภาระค่าใช้จ่ายยังไง วัสดุแต่ละอย่างมีเรขาคณิตและ Order ทางเศรษฐศาสตร์ยังไง ทำงานในระยะเวลาเท่าไหร่ที่ช่างจะไม่เข้าเนื้อ  สิ่งที่จะเกิดตรงหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นการทดลองคุยงานโดยไม่ใช้แบบพรีเซนต์ครั้งแรก และเป็นการสังเกตความคาดหวังและผลลัพธ์ของอาคารผ่านกระบวนการทำงานลักษณะนี้ด้วย

art4d: ช่างชุดนี้ทำอะไรได้บ้าง 

PI: ทำได้หมดเลย แต่เขาก็จะมี sub-contract ของเขาแบบช่างๆ เช่น ทีมนี้เป็นทีมงานโครงเหล็ก งานผนังเบา งานเปียก งานโครงสร้างทั่วไป อะไรแบบนั้น ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การดูแลของคุณลุง เขาไม่ใช่ผู้รับเหมานะ เป็นอารมณ์หัวหน้าช่าง เป็นคนมารับบรีฟจากเรา คุยกันในจุดที่ต้องทดลอง เขาไม่ใช่ลูกจ้างเราด้วยนะ เรียกว่าเป็นช่างที่เป็นส่วนหนึ่งของ Sher Maker ดีกว่า เพราะเราทำงานเท่าๆ กัน 

ทางเหนือเขาใช้คำว่าสล่าในการเรียกแทนผู้ชำนาญ ครูช่าง หรือคนเก่งๆ อย่างช่างไม้ ที่เราเห็นในภาพเหนือก็จะถูกเรียกว่าสล่า เป็นเหมือนการยกย่องความชำนาญของเขา แต่ช่างของเราก็ยังเรียกกันเองว่าลุงช่างนะ ไม่ได้เยินยออะไรกัน (หัวเราะ)

ส่วนตัวเราว่าคนทำงานที่เป็น maker และ builder team ทุกคนควรได้รับการยกย่องและควร normalize สิ่งนี้ในวงการการออกแบบด้วย ไม่ใช่ว่าไปตรวจไซท์แล้วปฏิบัติต่อเขาอีกอย่าง ปฏิบัติต่อลูกค้าอีกอย่าง อันนี้เราว่าน่าสะอิดสะเอียน  ช่างเหล่านี้คือคนที่ทำให้สิ่งที่อยู่ในความคิด หรือในภาพเรนเดอร์ของเหล่านักออกแบบที่เกิดขึ้นจริงด้วยมือของเขา เราว่าควรต้องมองคนทำงานเหมือนกันให้เท่ากัน

art4d: ถ้ากระบวนการเป็นการออกแบบผ่านการลงมือทำ แล้ว Design decision ในเชิง architecture มันอยู่ตรงไหนในกระบวนการทั้งหมด

PI: อยู่ด้วยกันตั้งแต่เริ่มงาน ข้อสังเกตหนึ่งจากการลองใช้วิธีการทำงานรูปแบบนี้ คือการร่วมกันตัดสินใจ ฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใจได้ เราจึงต้องใช้วิธีการอธิบายให้คนที่อยู่คนละศาสตร์สามารถเข้าใจในครั้งเดียวได้เสียก่อน วิธีการของเราก็คือการรวบกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การออกแบบตัวอาคารไปจนถึงการก่อสร้างให้เป็นเนื้อเดียวกัน เวลาไปคุยกับลูกค้าหรือคุยกับช่าง มันก็จะออกมาเป็นประเด็นเดียวที่เข้าใจได้ในทันที มันจะไม่ถูกแบ่งว่าอันนี้คือ ภายใน ภายนอก หรือตรงนี้เป็นโครงสร้าง ตรงนี้เป็นผนัง มันจะต้องถูกมองให้เป็นเรื่องเดียวกันให้ได้ ฟังดูแล้วมันอาจเป็นวิธีการที่ค่อนข้างเสี่ยงเหมือนกัน แต่มันก็เป็นวิธีการของเราที่อยากจะลองทำดู ซึ่งโดยปกติมันเป็นไปได้ด้วยการที่มันเป็น contract ทั้งดีไซน์และคอนสตรัคชั่นรวมกัน ซึ่งโดยกระบวนการมันทำให้เราต้องทำการบริหารงานก่อสร้างเพิ่มเติมเข้ามาด้วยนอกเหนือจากการทำงานออกแบบ

PTT Saraphi Project

PTT Saraphi Project

art4d: ถ้าอย่างนั้นกระบวนการนี้มันเป็นไปได้ไหมในงานที่คุณไม่ได้สร้างเอง

PI: มีหลายงานที่เราไม่ได้สร้างเอง โดยเฉพาะโปรเจ็คต์ที่ไม่ได้อยู่ในเชียงใหม่ เช่นบางโปรเจ็คต์เราได้ไซต์อยู่ที่สุราษฎร์ธานี หรือโปรเจ็คต์สเกลใหญ่ๆ อย่างของ ปตท. เราก็ต้องใช้ผู้รับเหมาเจ้าอื่น แต่เมื่อใดก็ตามที่เป็นโปรเจ็คต์เล็กไปจนถึงกลาง เราจะพยายามทำกันเอง เพราะโดยธรรมชาติมันสนุกกว่า แต่ถ้าถามว่ากระบวนการออกแบบที่เราทำ มันเป็นวิธีเดียวกันนะ คือมันมีการออกแบบ material mock-up ตั้งแต่ช่วงดีไซน์แรกๆ อย่างเช่นบางโปรเจ็คต์ที่เราสนใจนำสีของดินในเชียงใหม่มาใช้กับงานเคลือบ การศึกษาเนื้อสีหรือการทดลองต่างๆ มันก็จะถูกทดลองมาตั้งแต่แรกๆ   หรือหากเป็นงานที่ไม่ได้ควบคุมงานก่อสร้างเองเราพบว่าการที่เราทำการบ้านงานทั้งหลังทั้งในเชิงกรรมวิธีการก่อสร้าง วัสดุ และภาษามาในคราวเดียวมันทำให้ลูกค้าสามารถร่วมตัดสินใจไปด้วยกันได้ด้วย ซึ่งมันก็เป็นกระบวนการปกติที่คนทำงานออกแบบควรทำการบ้านมาให้ดีในทุกโครงการ ไม่เกี่ยวว่าต้องทำงานกับช่างตัวเองเท่านั้นถึงจะทำได้

PTT Saraphi Project

อีกอย่างหนึ่งเลยคือเราจะใช้วิธีคุยกันบนพื้นฐานของวัสดุจริงๆ เพื่อให้เจ้าของโครงการเข้าใจประสบการณ์เชิงพื้นที่คร่าวๆ อาจจะมีแบบประกอบเป็น isometric หรือ SketchUp แล้วเราก็เอาวัสดุจริงๆ ที่เป็นม็อคอัพเข้าไปคุย เช่น ถ้าเราต้องทำ facade สิ่งที่เราทำก็คือทำม็อคอัพเข้าไปคุยเลย อันนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่เรารวมกันเข้าไปในกระบวนการออกแบบ ทำให้เขารับรู้ว่าจะออกมาเป็นประมาณไหน อาคารจะถูกห่อหุ้มด้วยอะไร ได้ฟีลลิ่งแบบไหน

เราว่าประเด็นหลักในการสื่อสารเชิงออกแบบคือ  ทำให้เข้าใจตรงกัน โดยไม่สปอยล์ ลูกค้า สปอยล์ในที่นี้หมายถึงเราจะไม่ตามใจลูกค้าจนเกินไป  ให้เขาทำความเข้าใจกระบวนการที่ได้มาซึ่งอาคารสักหลัง ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ร่วมแบบหนึ่งในชีวิตคนนะ  จะดีจะร้ายก็ควรอยู่ด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ใช่จ่ายเงินซื้อจบ แบบนั้นไปซื้อบ้านจัดสรรง่ายกว่า แล้วก็การสปอลย์ในอีกความหมายก็คือการเปิดเผยเนื้อหาของอาคารให้เขารู้ไปซะทุกอย่างก่อนจะสร้าง เหมือนทำ realistic render ให้ดูทุกซอกทุกมุมจนเคยชิน โครงการไหนเลี่ยงได้เราจะเลี่ยงนะ เราว่ามันไม่มีความน่าค้นหา ความตื่นเต้นซึ่งการได้มา หรือการเติบโตทางประสบการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าอีกแล้ว มันเหมือนคุณรู้ตอนจบของหนังและคุณกลัวที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่ๆในชีวิต ซึ่งเราไม่อยากทำงานแบบนั้นและไม่อยากให้ลูกค้ามีประสบการณ์แบบนั้น  เราว่าสถาปัตยกรรมเป็นงานเชิงประสบการณ์นะ ไม่ใช่แค่โปรดักต์ทางการอยู่อาศัย เราว่ากระบวนการคิดมันอยู่ในสิ่งเหล่านี้

PTT Saraphi Project

art4d: เหมือน Design Process ของสตูดิโอมันบังคับให้เกิดการพัฒนาในเชิง material โดยอัตโนมัติ

PI: ส่วนใหญ่เราจะคิดตั้งแต่ Scheme แรกเลยว่าจะใช้อะไร ถ้าบอกว่าอยากได้ผนังทึบตัน และผนังทึบตันนั้นจะเป็นอะไร สิ่งที่ได้ออกมาจะเป็นยังไง เราจะคุยให้จบตั้งแต่ตอนนั้นเลย ไม่ใช่ดึงอะไรขึ้นมาจาก SketchUp แล้วจะใช้อะไรดี อยากทำงานให้จบทีเดียวตั้งแต่ครั้งแรก  ไม่อยากทำงานตัดแปะ เลือกเอาวัสดุหรูๆแพงๆ มาแปะๆ ส่งลูกค้า  เราคิดว่าวิธีการทำงานแบบนี้คืองานออกแบบที่คับแคบและดูถูกลูกค้านะ

Wood and Mountain Project

Wood and Mountain Project

art4d: แล้วถ้าอย่างนั้นคุณสื่อสารเรื่องบรรยากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคิดว่าเป็นจุดร่วมที่แข็งแรงมากของงานทุกชิ้นของคุณกับเจ้าของโครงการได้อย่างไร

PI: เราเข้าใจแบบนี้ว่า จริงๆ สถาปัตยกรรมมันคือสิ่งที่จะต้องถูกวางอยู่บนที่ใดที่หนึ่งบนโลก พอบรรยากาศมันนามธรรมมากๆ เราจะใช้วิธีค่อยๆ ชวนเขาคุย เช่น คุณคิดว่าไซต์ของคุณเป็นยังไง ต่อให้เขาเห็นภาพ rendering ก็ตาม ถ้าเขาไม่เข้าใจพื้นที่ของเขา สุดท้ายก็อาจจะสื่อสารไม่เข้าใจกัน หรือมองกันไปคนละแบบ เราจะไม่เคยบอกว่าตรงนี้มันจะออกมาดียังไง ไม่ได้บอกว่าตรงนี้จะสวยจะสว่างยังไง เราจะไม่ใช้วิธีโน้มน้าวใจมากๆ เราจะพยายามทำให้เขาเข้าใจพื้นที่ของเขามากที่สุดก่อน แต่สุดท้ายถ้าเขาบอกว่าจินตนาการไม่ออกจริงๆ เพราะมันคือนามธรรมมากๆ เราอาจจะบอกเขาว่าลองนึกถึงสิ่งนี้ อะไรแบบนั้น จะคุยไปเรื่อยๆ ชวนคิดไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะเข้าใจ การคุยกับลูกค้าแบบนี้ไม่ใช่การนำเสนอแต่ฝ่ายเดียวแต่เป็นการชวนสร้าง Narrative รูปแบบนึงขึ้นมาด้วยกันผ่านสภาพแวดล้อมบนไซต์

Khiankhai Home

Khiankhai Home

เราเคยตั้งคำถามนะว่างานออกแบบที่ดีคืออะไร ไม่ได้บอกว่าเรางานออกแบบที่ดีนะ เรายังห่างไกล ยังต้องฝึกฝนต้องศึกษาอีกมาก แต่ถ้าให้ตอบในเวลานี้คือคนทำงานออกแบบต้องมีความเป็นมนุษย์  ในที่นี้ไม่ใช่ morality หรืออะไรทำนองนั้น แต่ความเป็นมนุษย์ในฐานะคนออกแบบคือความสามารถในการหยิบเอาสิ่งที่มันสัมพันธ์กับ ชีวิต จิตใจ หรือความมีหัวจิตหัวใจ ที่เชื่อมโยงกับคนออกมาในงานให้ได้  เราว่าอันนี้ทำให้คน นึงต่างจาก algorithm ใน Pinterest นะ ถ้าเป็นงานสถาปัตยกรรมการเข้าใจสภาวะบรรยากาศ  และนำมันมาเป็นองค์ประกอบนึงในงานได้ เราว่าคนที่เข้าไปในพื้นที่จะรู้สึกได้ว่ามันมีความพิเศษอยู่

Khiankhai Home

art4d: เข้าใจว่างานของคุณคงมีสเกลงานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การที่รับสตาฟเข้ามาเพิ่มซึ่งทำให้ไม่ได้ไปลงมือทำเอง ตรงนี้ในเชิง material practice มันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 

PI: ตรงนี้น่าสนใจ คือเราได้มีโอกาสคุยกับสถาปนิกหลายๆ คนในเชียงใหม่ พูดถึงหน้าบ้านหลังบ้านของการบริหารออฟฟิศกันซึ่งเราก็เข้าใจนะว่าการมีลูกน้องมันทำให้งานดีไซน์มันไม่ได้ออกมาเป็นดีไซน์จริงๆ อย่างที่เคยเป็นแล้ว เพราะจะเป็นงานดีไซน์เซอร์วิส หรือในแง่ธุรกิจมากกว่า ตอนนี้เราวางให้ออฟฟิศของเรามีสตาฟไม่เยอะ เราเลือกทำงานในสเกลที่เราสนใจจริงๆ ถึงแม้วันหนึ่งอาจจะต้องมีสตาฟเพิ่มขึ้นตามสเกลของงาน แต่ ปัจจุบัน ก็ยังอยากให้เป็นแบบนี้อยู่ เรามีความตั้งใจจริงๆที่อยากทำงานลักษณะแบบนี้ด้วยทีมที่คล่องตัว  อยากมีชีวิตหลังเลิกงานได้ ทำงานอดิเรกอย่างอื่น ได้อ่านในสิ่งที่สนใจ ได้เดินทางท่องเที่ยว เราจะใช้ชีวิตแบบได้ใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นเราจะคงสเกลของสตูดิโอให้เป็นแบบนี้ และจะรับงานเท่าที่สนใจจะทำจริงๆ เท่านั้น

art4d: กลับมาคุยเรื่องเมืองบ้าง แวดวงสถาปนิกหรือภาพรวมของงานออกแบบในเชียงใหม่เป็นอย่างไรในมุมมองของคุณ

PI: เราว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีสตูดิโอเฉพาะทางเยอะมาก ทั้งสถาปนิก และ maker สายต่างๆ เป็นเมืองที่มีคนที่หมกมุ่นกับสิ่งที่ตัวเองสนใจเยอะมากนะ เราอยากเห็นศักยภาพของคนตัวเล็กๆ ที่ได้ทำอะไรที่ตัวเองสนใจจริงๆ เรามองตัวเองเป็นประชากรโลกนะ เวลาจะทำงานหรือศึกษาเรื่องอะไร เราจะทำให้เลนส์ของการเป็น world citizen ที่พำนักอยู่ใน local area แบบนี้คือการเซทค่ากลางมาตรฐานของผลงานให้ดี ให้ตั้งใจทำงาน ให้มันไปนอกประเทศ ไม่ใช่ว่ายวนอยู่แค่ทำงานหาเงินกับคนในพื้นที่แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนหรือมองเห็นคนตัวเล็กด้วยกันในแบบที่ควรจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่องานออกแบบร่วมกันเลย  เราเลยจะมีความรู้สึกหงุดหงิดนิดหน่อยเวลาเห็นองค์กรรัฐที่สนับสนุนงานออกแบบทำงานแบบขอไปที ผลาญงบภาษีพวกเราไปปีต่อปี ทั้งๆ ที่ควรจะทำให้ดีได้ตั้งนานแล้ว

art4d: แล้วกรุงเทพฯ ล่ะ

PI: กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีนะ ลองคิดดูจะมีประเทศไหนในโลกอีกที่ระบบขนส่งมวลชนไปกระจุกอยู่ที่จังหวัดเดียวแบบนั้นแต่ท้ายที่สุดประชาชนก็ยังต้องมีชีวิตที่ต้องเดินหลบท่อบนฟุตบาท เราอิจฉานะ เราอยู่เชียงใหม่จะไปไหนแต่ละทีก็ต้องเป็นรถตัวเองเท่านั้น เลยบอกไงว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าเมืองมันอนุญาตให้คนรุ่นใหม่ได้โงหัวขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะทำให้คนเราสิ้นหวังต่อตัวเองได้ทุกเมื่อ ขอให้โชคดี

shermaker.com

facebook.com/shermake

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *