ในคอลัมน์ VIEWS โดยอาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์ ครั้งนี้ อาจารย์ต้นข้าวมาแนะนำ Monadnock สตูดิโอจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่นำเสนอสถาปัตยกรรมอันเต็มไปด้วยความซับซ้อนหากแต่ไม่ขัดแย้ง ผลงานหลายชิ้นของพวกเขามีความโดดเด่นที่การตัดกันของสีสัน การแสดงรอยต่อวัสดุ รูปทรงอาคารที่แปลกตา เพื่อช่วยให้การใช้สอยที่หลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
TEXT: TONKAO PANIN
PHOTO COURTESY OF MONADNOCK EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ออฟฟิศที่มีชื่อฟังดูออกจะประหลาดนี้ เป็นออฟฟิศสถาปนิกจากเมืองร็อตเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งก่อตั้งโดย Job Floris และ Sandor Naus ในปี 2006 ซึ่งก็นับเป็นเวลาไม่นานนัก แต่หลังจากที่ทั้งสองเริ่มทำงานด้วยกันไม่นาน งานของ Monadnock ก็เริ่มเป็นที่สนใจ และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่งก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า อะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้งานของ Monadnock มีลักษณะพิเศษ จนเป็นที่จดจำ และผลงานจากออฟฟิศเล็กๆ นี้ ต่างจากออฟฟิศใหม่ๆ ในยุโรปที่ตรงไหน
ในขณะที่ภาพความเรียบน้อย ตรงไปตรงมา และการพยายามตอบโจทย์ประโยชน์ใช้สอยอย่างสูงสุด ของออฟฟิศอย่าง Lacaton & Vassal ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่เราคุ้นตา จากสถาปนิกรุ่นกลาง ที่ผ่านการทำงานหลากหลาย ซึ่งแม้โจทย์และเนื้อหางานแต่ละงานจะมีความแตกต่างกัน แต่ทิศทางในการทำงานของสถาปนิกรุ่นกลางในยุโรป หลายๆ ออฟฟิศที่เราคุ้นเคย ก็มักจะมีลักษณะร่วมกันบางอย่าง ที่ทำให้เราจัดหมวดหมู่ของงานเหล่านั้นได้ไม่ยาก
แต่แน่นอนว่า สถาปนิกรุ่นกลาง ที่ทำงานมากันเกือบยี่สิบปี หรือกว่านั้นในยุโรป ไม่ใช่สถาปนิกกลุ่มเดียวที่มีผลงานเป็นที่รู้จัก นอกจากผลงานที่เรียบน้อยตอบโจทย์การใช้สอยอย่างตรงไปตรงมา ก็ยังมีการทำงานจากสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ที่พยายามค้นหาวิธีการสื่อสาร หรือแสดงออกในรูปแบบที่แตกต่างออกไป และ Monadnock ก็เป็นหนึ่งในออฟฟิศ ที่พยายามค้นหาช่องทางในการสื่อสารผ่าน รูปแบบ รูปทรง และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
แต่แน่นอนว่า ความหมายของการสื่อสาร ที่ออฟฟิศอย่าง Monadnock ใช้นั้น ไม่ใช่การสื่อสารผ่านการอ้างอิงภาพจำ หรือการใช้ Reference จากภายนอก ที่เป็นการหยิบยืมเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือจากเนื้อหาทางสถาปัตยกรรม เหมือนที่สถาปนิกในยุค Post-Modern ใช้ แต่ผลงานของ Monadnock เป็นการผสมผสานระหว่างความตรงไปตรงมาของผังพื้น รูปทรง และ Configuration เหมือนที่สถาปนิกรุ่นกลางในยุโรปใช้เป็นเครื่องมือ เข้ากับวิธีการสื่อสารที่มีลักษณะเฉพาะตัว
การแสดงออกในงานของ Monadnock ที่มีลักษณะเฉพาะตัวนี้ เป็นการพยายามสื่อสารผ่านเนื้อหาทางสถาปัตยกรรม ที่ไม่เรียบน้อย แต่นำเสนอความซับซ้อนที่ไม่ขัดแย้ง จนเรียกได้ว่า เป็นความซับซ้อนที่กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันของรูปทรง วัสดุ หรือสีสัน ที่มีคุณสมบัติตรงกันข้าม แต่เมื่อรูปทรงและวัสดุเหล่านั้นมาทำงานร่วมกัน มันยังคงความโดดเด่นของตัวมันเอง ในลักษณะที่ไม่ขัดแย้งกับรูปทรงและวัสดุอื่น ซึ่งลักษณะเฉพาะในงานของ Monadnock นี้ เห็นได้ชัดที่สุดในงานออกแบบบ้านพักอาศัย เช่นบ้านหลังเล็กที่เมือง Einhoven ที่ดูจากภายนอก ก็มีรูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ แต่ภายในความตรงไปตรงมาของรูปทรงภายนอก เราจะพบความซับซ้อน ของพื้นที่ การเชื่อมต่อทางสถาปัตยกรรมที่เน้นให้เราเห็น “ตะเข็บ” ในการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นผนัง พื้น คาน เพดาน ประตู หน้าต่าง ที่ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นการจับแพะชนแกะ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว เราจะค่อยๆ พบว่า ความแตกต่างเหล่านี้ มันเป็นความแตกต่างที่กลมกลืน มากกว่าขัดแย้ง
สำหรับงานสาธารณะที่มีสเกลใหญ่ขึ้น อย่างอาคารสำนักงาน สำหรับบริษัทเซรามิก เก่าแก่อย่างบริษัท Royal Tichelaar นั้น Monadnock ไม่ได้ใช้วิธีการสร้างความซับซ้อนด้วยความแตกต่างของวัสดุและองค์ประกอบ เหมือนในบ้านพักอาศัย ในการทำงานกับพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ต้องการความคล่องตัวในการใช้งานและการปรับเปลี่ยน อย่างพื้นที่ทำงาน ห้องประชุม หรือพื้นที่ warehouse ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก Monadmock เลือกสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของภาพรวม ภายในที่มีความเรียลขรึม ขาว สว่าง โปร่งเบา แต่ใช้ความแตกต่างระหว่างความหนักของผนังปิดล้อม และความเบาลอยของเพดาน ที่ทำจากผ้าขาวนวลซึ่งเป็นผ้าธรรมดาๆ ที่ใช้สำหรับการบุท่อระบายอากาศทั่วๆ ไป โทนสีที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะพื้น ผนัง เพดาน ทำให้ฟังก์ชั่นที่แตกต่างกันมาก อย่างพื้นที่ทำงานและ warehouse กลายเป็นเรื่องราวเดียวกัน ในขณะที่รูปลักษณ์ภายนอกของอาคารนั้นที่มีสีสันฉูดฉาดนั้น แตกต่างจากภายในอย่างสุดขั้ว ทำให้ภาษาทางสถาปัตยกรรมของ Monadnock นั้น ไม่ใช่ภาษาที่มาจากทิศทางเดียวกันทั้งอาคาร แต่เป็นการทำงานร่วมกันของความแตกต่าง ที่ก่อให้เกิดการสื่อสารของอาคารที่เล่าเรื่องราวเดียวกัน ในคนละแง่มุม
ภายใต้การใช้สอยที่หลากหลายในแต่ละโปรเจกต์ งานของ Monadnock จึงดูเหมือนเป็นการพยายามตอบโจทย์เฉพาะตัวในแต่ละสถานการณ์ ด้วยการสร้างภาษา ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวงานสถาปัตยกรรมโดยตรง เป็นภาษาที่ไม่ต้องการการอ่านและการตีความ แต่ก่อให้เกิดความเข้าใจด้วยสัญชาติญาณการรับรู้ธรรมดาๆ และการเข้าไปใช้สอยพื้นที่ในชีวิตประจำวันจริงๆ