TAIWAN DESIGN EXPO’21 IN CHIAYI – CITY AS HOME

ไปสำรวจงานออกแบบจากประเทศไต้หวัน พร้อมทั้งหาคำตอบว่า เมืองที่เป็นดั่ง ’บ้าน’ ของเรานั้นควรจะเป็นอย่างไร กับนิทรรศการ Taiwan Design Expo’21 in Chiayi ที่จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘City as Home’ ในเมืองเจียอี้ เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของไต้หวันเพื่อให้งานออกแบบกระจายตัวไปในระดับท้องถิ่น 

TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: NAPAT CHARITBUTRA EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ วันแรกที่เริ่มเขียนต้นฉบับนี้ในเมืองไถหนาน เป็นเวลาเดียวกันที่กรุงเทพฯ Bangkok Design Week 2022 กำลังระดมสมองดีไซเนอร์มาช่วยกัน “คิดสร้างทางรอด” (หัวข้องานปีนี้) ในวันที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 10,000 คน สำหรับไต้หวันดูเหมือนว่าพวกเขาจะ move on ไปเรื่องอื่นแล้ว เพราะ Taiwan Design Expo 2021 จัดโดย Industrial Development Bureau, Ministry of Economic Affairs และ TDRI (Taiwan Design Research Institute) ครั้งที่ผ่านมาในเมืองเจียอี้ (Chiayi) พูดถึงประเด็นที่สุดแสนจะโรแมนติกอย่าง City as Home

Photo: Napat Charitbutra

Chiayi City เป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของไต้หวัน ที่มีพื้นที่แค่ 6 ตารางกิโลเมตร เล็กมากชนิดว่ามีพื้นที่น้อยกว่าย่าน Shihlin (ที่มี Night Market ดังๆ) ในไทเปเสียอีก เมืองนี้มีประชากร 266,005 คน และมีคนติด COVID-19 รวมกัน แค่ 10 คน ตั้งแต่ปี 2019

Photo: Napat Charitbutra

Photo: Napat Charitbutra

ความเล็กของเมืองทำให้เทศกาลกระจายตัวทั่วถึง Taiwan Design Expo 2021 in Chiayi – City as Home แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ Scale of Home, Spirit of Home และ Memory of Home โดยใช้สถานที่สำคัญในเมืองเป็นที่จัดแสดงอย่างเช่น Chaiyi Cultural and Creative Industries Park, Chiayi Art Museum ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ (ขนาดเมืองเล็กๆ อย่างเจียอี้ยังมีมิวเซียมงานศิลปะ คิดดูละกัน!) หรือเรือนจำเก่า

เริ่มต้นด้วย Chiayi City: Another Way of Living นิทรรศการนี้พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเจียอี้ ด้วยการเอาข้อมูลพื้นฐานของเมืองอย่างเช่น จำนวนประชากร สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่เมือง ประสิทธิภาพทางระบบสาธารณสุข ฯลฯ มา visualize ให้เข้าใจได้ง่าย และด้วยความที่ธีมปีนี้เกี่ยวกับ “บ้าน” ใครกันล่ะจะรู้จักเมืองตัวเองได้ดีเท่ากับเจ้าบ้านชาวเมืองเจียอี้

คิวเรเตอร์ของนิทรรศการนี้คือ Brian Huang ชาวเมืองเจียอี้ซึ่งปัจจุบันเป็น Executive Editor แห่ง VERSE Magazine กลับบ้านครั้งนี้ เขาเชิญชวนเพื่อนเก่าที่ทำงานสร้างสรรค์อยู่ในเมืองเจียอี้กว่า 20 คน มาร่วมกันนำเสนอเมืองบ้านเกิด ประเด็นที่น่าสนใจคือการคำนึงว่าผู้ชมงานนั้นไม่ได้มีแต่นักท่องเที่ยว แต่รวมถึง “ชาวเมือง” เจียอี้เองด้วย และนี่นำมาสู่การตีความบ้านเกิดตัวเองด้วยสายตาที่ fresh กว่า

Photo: Napat Charitbutra

Brian Huang มองเจียอี้ผ่าน criteria อย่าง speed, time และ scale ชีวิตคนเมืองในระยะรัศมี 6 กิโลเมตร นั้นหมายถึงธุระปะปังต่างๆ สามารถทำเสร็จได้ในเวลาเพียง 15 นาที คิวเรเตอร์ยกเอา ร้านหนังสืออิสระ ตลาดเก่า บ้านเก่า ข้าวไก่งวง สวนสาธารณะ สถานีรถไฟ ถนนและวงเวียน และผู้คน ขึ้นมาเป็นพระเอกของนิทรรศการ ความเจ๋งอย่างนึงของนิทรรศการนี้คือการใช้ text ไม่เปลือง ความยาวคำอธิบายที่ยาวมากสุดก็แค่ 5 บรรทัด (คนไทยอ่านสบายๆ) ทำให้ผู้คนมีเวลาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในนิทรรศการ เราเห็นคนไปหยิบเอาใบเสี่ยงทายจากตู้ไม้ เดินไปอ่านคำทำนายที่บอร์ดนิทรรศการ ก่อนจะออกเดินทางไปเยี่ยมชมบ้านเก่าในเมืองเจียอี้

Photo: Napat Charitbutra

เจียอี้เดินได้เดินดี ด้วยความเร็วเฉลี่ย 5 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงในการเดินของคนทั่วไปทำให้สายตามองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ดีขึ้น และถ้ามองดีๆ มองลึกๆ ก็จะได้เห็นเลเยอร์ประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับอยู่บนภาพทิวทัศน์ข้างทาง

Photo: Napat Charitbutra

Photo: Napat Charitbutra

เจียอี้เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน (ประมาณ 300 ปี) ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเมืองที่อยู่บริเวณเชิงเขา Alishan พอดิบพอดี ระหว่างปี 1895 – 1945 ที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครอง การพัฒนาต่างๆ นาๆ จึงเกิดขึ้นในเมืองนี้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป่าไม้ ยุครุ่งเรืองของเมืองจบลงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อญี่ปุ่นคืนเกาะไต้หวันให้กับรัฐบาลไต้หวันในขณะนั้น (ROC) 

การพัฒนาอย่างฉับพลันในเวลาเพียง 50 ปี ทิ้งร่องรอยมหาศาลไว้กับเมือง ทั้งผังเมืองสมัยใหม่ อาคารสถานีรถไฟโมเดิร์นแห่งแรกในไต้หวันและเส้นทางรถไฟ สถาปัตยกรรมไม้ (มีบ้านไม้ถึง 6,000 หลัง เรียกได้ว่าเป็น capital of wooden architecture ของประเทศไต้หวัน) Brian Huang กล่าวไว้ในบทความที่เขาเขียนและตีพิมพ์ใน VERSE ว่า ถ้าหากเดินไปตามถนนที่แตกแขนกออกไปจากวงเวียนศูนย์กลางเมือง เราจะเจอเข้ากับตึกแถวจากหลากหลายสมัย ทั้งตลาดเก่า หรือร้านหนังสืออิสระที่ซ่อนตัวอยู่ในอาคารเก่าแก่ ในรอบ 6 ปี ที่ผ่านมา อาคารเหล่านั้นก็ทยอยกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่หลบออกจากเมืองใหญ่กลับมายังเจียอี้ ปรับปรุงอาคารเก่าแก่เป็นคาเฟ่  ผับ บาร์ แกลเลอรี่ ฯลฯ ช่วยสร้างสีสัน เป็นเสน่ห์และวิถีชีวิตร่วมสมัยแก่เมือง ตรงนี้เองที่งานออกแบบเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงคนปัจจุบัน ให้กลับไป (หรือกลับมา?) มองประวัติศาสตร์ คุณค่าเชิงวัฒนธรรมของเมืองอีกครั้ง ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับการคิวเรตเทศกาลครั้งนี้

Photo courtesy of Taiwan Design Expo 2021 in Chiayi – City as Home

ไปต่อกันที่นิทรรศการ Factory of the Middle อาคารถัดมา ชั้นบนของอาคารนี้เป็น select shop ดีไซน์โปรดักท์จากเมืองเจียอี้ คัดเลือกโดย Ordinary Editorial Room (สื่อออนไลน์ท้องถิ่นของเมือง) ร่วมกับ MUGENERATION และ Hunter Goods & Co., ส่วนชั้นล่างเปิดเป็นพื้นที่จัดแสดงงานออกแบบใหม่ถอดด้ามอย่างระบบนำทาง และการสื่อสารใหม่ของเมืองเจียอี้ แต่ก็ไม่วายมีบอร์ดสอบถามความคิดเห็นจากผู้ชม “คิดว่า font อะไรเหมาะกับเมือง?” “คำอธิบายใดบ่งบอกถึงตัวตนเจียอี้ได้ดีที่สุด” หรือ “คิดว่าใช้สีอะไรดี?” แน่นอนว่ามีคนมาตอบและให้ความเห็นกันล้นหลาม

Photo: Napat Charitbutra

Photo: Napat Charitbutra

Taiwan Design Expo 2021 ครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีในการเปิดตัวรถบัสใหม่ 22 คัน ที่จะมาแทนที่รถดีเซลเก่าทั้งหมดที่ไม่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองเท่าไหร่ด้วยขนาดของเมืองที่เล็กจนคนมักจะเดินหรือใช้รถส่วนตัวกัน รถบัสไฟฟ้านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ก็ถูกออกแบบมาอย่างใส่ใจเพื่อเด็กและคนแก่โดยเฉพาะ เส้นทางการเดินรถถูกกำหนดให้วิ่งผ่านโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการสำคัญ เป็นรถชานต่ำ และบางคันถูกจัดไว้เพื่อการท่องเที่ยว ก็คงต้องรอดูกันไปว่ารถบัสที่ว่านี้จะได้รับความนิยมจากชาวเมืองเพียงใด แต่ที่แน่ๆ คือมันลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์สู่บรรยากาศเมืองไป 100% ทันที

Photo courtesy of Chiayi City Government

อาคารสำคัญอีกแห่งคือ Chiayi Sawmill สถานที่จัดนิทรรศการ ALISHAN in Our Memories – Alishan Forest Railway Exhibition ซึ่งโฟกัสที่ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมป่าไม้ของเจียอี้ ทั้งเส้นทางรถไฟที่วางตัวลัดเลาะไปตามเทือกเขาซึ่งมีเอาไว้เพื่อขนลำเลียงท่อนซุงลงมาจากเขา (ถ้าเป็นประเทศไทยเราก็คงใช้วิธีล่องแม่น้ำลงมา) ซึ่งปัจจุบันกลายร่างมาเป็นเส้นทางรถไฟท่องเที่ยว ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ และความอุดมสมบูรณ์ของภูเขาแห่งนี้ เราเห็นความพยายามในการจำลองประสบการณ์ “ป่าๆ” ทั้งการใช้เสาไลท์ติ้งสูงชลูดขึ้นไปจรดเพดาน หรือการออกแบบกลิ่นป่าให้อบอวลอยู่ในห้องจัดแสดง (มี essential oil ขายด้วย)  

ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมป่าไม้ในอดีตถูกนำเสนอด้วยภาพถ่ายเก่า และด้วยตัวอาคารจัดแสดงเอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือความเจริญจากอุตสาหกรรมที่ว่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการเบ่งบานทางศิลปะวัฒนธรรมของเจียอี้ ที่นี่เป็นบ้านเกิดของศิลปินอย่าง Chen Cheng-Po (1985 – 1947) จิตรกรคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ผลงานภาพวาดสีน้ำมัน Street of Chiayi , 1927 (หรือ Street of Kagi) เป็นงานศิลปะชิ้นแรกในไต้หวันที่ได้ไปจัดแสดงที่ Imperial Art Exhibition ที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นในเมืองเองยังมีนิทรรศการที่เรียกว่า Government Art Exhibition จัดขึ้นตั้งแต่ปี 1938 อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นมูฟเมนต์ทางศิลปะที่สำคัญในเมืองนี้ และนี่คือ ground สำคัญในการเกิดขึ้นของโปรเจ็คต์ Chiayi Art Museum

Chiayi Art Museum ปรับปรุงจากอาคารโรงงานยาสูบเก่าของเมืองที่สร้างขึ้นในปี 1936 โดย M.H.Wang Architects and Associates และ Studiobase Architects สถาปนิกโครงการรักษาอัตลักษ์ของอาคารเดิมไว้ พร้อมๆ กับแทรกองค์ประกอบ และวัสดุที่ร่วมสมัยเข้าไปในโครงสร้างเดิม เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ให้สอดรับกับโปรแกรมและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในช่วง 10 วันของเทศกาล ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2021 – 2 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา มิวเซียมแห่งนี้จัดแสดงนิทรรศการ Beneath the Surface ว่าด้วยการค้นหาสัญญะแห่งความทรงจำของเมือง ทั้งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็น

Photo: Napat Charitbutra

Photo: Napat Charitbutra

มีอีกหลายงานที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น ++ Design School โรงเรียน design thinking ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างงานออกแบบและการพัฒนาเมือง หรือ Jail Hostel ที่จัดขึ้นในคุกเก่าของเจียอี้ รวมๆ แล้วเรียกได้ว่า Taiwan Design Expo ครั้งนี้ เป็นการทำ branding ให้กับเมืองเจียอี้ไปในตัว ไม่แน่ใจว่าในสายตาของคนไต้หวันหลังจากดูงานนี้จบแล้วคิดยังไงกัน แต่สิ่งที่เราคิดว่าดีคือภาพต่างจังหวัดใน “อุดมคติ” ที่ถูกฉายในครั้งนี้ไม่ได้โรแมนติกเบอร์ใหญ่ หรือสโลว์ไลฟ์แบบในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่เน้นไปที่การทำให้เมืองนั้น “อยู่ได้จริง” จริงอยู่ที่ไต้หวันก็เช่นกันที่หนุ่มสาวต้องออกจากบ้านเกิดไปทำงานในเมืองใหญ่อย่างไทเป ไถจง หรือเกาสง แต่ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีตัวเลือกหลายทาง สะดวกสบาย และค่อนข้างตรงเวลา สำหรับคนหนุ่มสาวเหล่านี้ถ้าจะมีบ้านสักหลังช่วงปั้นปลายชีวิตที่เจียอี้ มันก็พอจะเป็นไปได้

ลืมบอกไปว่าชื่อเมือง Chaiyi ยังพ้องเสียงกับคำว่า Jia () ที่แปลว่า “บ้าน” ในภาษาจีนด้วย!

Photo courtesy of Taiwan Design Expo 2021 in Chiayi – City as Home

Photo courtesy of Taiwan Design Expo 2021 in Chiayi – City as Home

facebook.com/Taiwandesignexpo

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *