THE RICE FIELD PROJECT

วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ชวนรำลึกถึงวัฒนธรรมการปลูกนาแบบดั้งเดิมที่หายไป และสุนทรียะหลากมิติที่เคยรายล้อมนาข้าว กับ ‘นานิเวศน์สุนทรีย์’ ผลงาน public art ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของศิลปินและชาวนาในพื้นที่

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF WIJIT APICHARTKRIENGKRAI

(For English, press here

นานิเวศน์สุนทรีย์: ความเป็นไปได้บทใหม่ที่กำลังก่อร่าง

พื้นที่นาข้าวทรงกลมล้อมรอบ ‘สระอโนดาต’ สระบัวบริเวณแกนกลางของนานิเวศ เป็นผลงานสาธารณศิลป์ของ วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ซึ่งรายรอบด้วยผืนนาสี่เหลี่ยมของชาวนา ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม นาวงกลมแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ทดลอง และสร้างสรรค์ ด้วยการบูรณาการนำศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาร่วมศึกษาพัฒนาผ่านการย้อนกลับไปสู่วิถีการทำนาในรูปแบบดั้งเดิมหรือนาประณีต ที่สูญหายไปในปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง จากการทำนาเพื่อเลี้ยงปากท้องสู่การทำนาในสถานะพืชเศรษฐกิจครบวงจร โดยมีการควบคุมดูแลตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และการซื้อขายผลผลิต หมุนเวียนเป็นวัฏจักรการผูกขาดของการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นปริมาณผลผลิตเพื่อการจำหน่าย แม้แต่ในมิติความสัมพันธ์ของชาวนาเองก็เช่นกัน ผืนนาวงกลมของวิจิตรจึงเหมือนเป็นพื้นที่หยอกล้อหมุนทวนกระแสความเป็นไปของทุ่งข้าวผืนอื่นในปัจจุบันที่อยู่รายล้อม

นาวงกลมได้เริ่มต้นลงมือทำขึ้นมาด้วยการสังเกตเห็นปัญหาในด้านต่าง ๆ ของนาข้าว อย่างระบบนิเวศ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ก่อนเลือกนำวิธีการทางศิลปะเข้ามาร่วมสนทนาผ่านมุมมอง ‘ภูมิทัศน์วัฒนธรรม’ (Cultural Landscape) ถ่ายทอดเรื่องราวของข้าวในมิติที่แตกต่างไป ศิลปินมองว่า วัฒนธรรมข้าวนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและได้สูญเสียความงามหรือสุนทรียภาพในหลาย ๆ แง่มุมลง นาวงกลมจึงไม่ใช่เพียงผืนนารูปทรงแปลกและแตกต่างจากผืนนาอื่นเท่านั้น วิจิตรอธิบายเพิ่มเติมถึงการเลือกใช้รูปแบบนาวงกลม เนื่องจากรูปทรงดังกล่าว ไม่ว่าเริ่มต้นที่จุดใดก็จะสามารถทำให้วนกลับมาในจุดนั้นได้ นอกจากนั้น รูปแบบการปลูกข้าวในพื้นที่วงกลมยังคงคำนึงถึงเรื่องความงามด้วยรูปแบบนาขั้นบันได ประกอบกับการปลูกในระยะช่วงเวลาและพันธุ์ข้าวที่แตกต่างกัน เพื่อให้ข้าวมีระดับความสูง-ต่ำและเฉดสีสันที่ไล่เรียงไปตามระยะเวลาจนเกิดเป็นความงามทางสายตา ไม่เพียงเท่านั้น เขายังใช้ ‘กระบวนการแต่งนา’ คือ การนำศิลปะการตัดกระดาษทำพวงมโหตรเข้ามาร่วมตกแต่งพื้นที่รอบท้องนาด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากความงามที่เห็นโดดเด่นทางสายตาของนานิเวศผืนนี้แล้ว มิติความงามจากการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่ไหลเวียนอยู่ภายในนาแห่งนี้ก็งดงามไม่แพ้กัน เพราะนับตั้งแต่การก่อร่างสร้างแปลงนานี้ขึ้นมา กระทั่งขั้นตอนการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การดำนา และเกี่ยวข้าว ชาวนาในพื้นที่ก็ต่างเข้ามามีส่วนร่วมลงแรงช่วยเหลือ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญความเป็นไปได้ใหม่นี้ และตลอดระยะเวลาที่นาผืนนี้ได้ตั้งอยู่ ได้มีผู้คนในหลากหลายวัยและสาขาอาชีพเข้ามาร่วมทำกิจกรรม สนทนาผ่านนาแห่งนี้ ราวกับว่ากลายเป็นพื้นที่ของการเผยแพร่และสร้างองค์ความรู้วัฒนธรรมข้าวไปพร้อม ๆ กับการเวียนไปมาของผู้คน การเกี่ยวร้อยความสัมพันธ์ของผู้คนและการพูดคุย ที่ก่อให้เกิดบรรยากาศสนุกสนาน อบอุ่น หรือผ่อนคลาย ร่วมกับความงามทางสายตาที่สร้างความอิ่มเอิบทางจิตใต นี่จึงเป็นที่มาของ ‘นานิเวศน์สุนทรีย์’ ผืนนาที่คำนึงถึงสุนทรียะในหลากมิติที่เคยอยู่รายล้อมนาข้าว ซึ่งเริ่มถดถอยความนิยมและกำลังจางหายไป

แม้ในตอนนี้ ‘นานิเวศน์สุนทรีย์’ จะไม่ได้ตั้งอยู่แล้ว แต่วิจิตรก็ยังคงขบคิดและพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับผืนนาวงกลมนี้ตลอดระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา โดยเขาเล่าว่า เขาต้องการต่อยอดให้นาวงกลมไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่เพาะปลูกข้าวอย่างโดดเดียวเช่นเดิมเท่านั้น โดยนาวงกลมที่ว่านี้จะเข้าไปร่วมอยู่กับพื้นที่อื่นอย่างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีนาวงกลมเป็นแกนกลาง รายล้อมด้วยพื้นที่ให้ความรู้ และ/หรือพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าวที่เพาะปลูกในนาวงกลม ร้านกาแฟ ตลาดสด หอศิลป์ หรือนาวงกลมที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่โรงเรียน โรงพยาบาล หรือวัด แล้วเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ สร้างกิจกรรมในรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน อาจกล่าวอย่างง่ายได้ว่า ‘นานิเวศน์สุนทรีย์’ แบบใหม่จะก่อรูปในรูปแบบของกรอบความคิดที่คำนึงถึงการเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในพื้นที่ทางการเกษตร ด้วยต้องการตอบคำถามในเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่กล่าวว่า “ใช้ไม่ได้จริง” ศิลปินจึงตั้งใจพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นภาพแนวคิดที่หลากหลายซึ่งทุกคนสามารถเบิกและนำแนวคิดนี้ไปใช้งานได้ต่อ เพื่อหวังว่าในท้ายที่สุดจะเกิดการนำเอาแนวคิดนาวงกลมไปสร้างและต่อยอดพื้นที่ขึ้นมาจริง และผู้ลงทุนสามารถหมุนเวียนสร้างรายได้จากการใช้แนวคิดนี้ อาจกล่าวได้ว่าวิจิตรต้องการสร้างพื้นที่ของการบูรณาการที่ยั่งยืน ให้ผลงานศิลปะมีส่วนช่วยสร้างรายได้และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคม

ในระดับการศึกษาและพัฒนาขั้นนี้ ศิลปินมีความสนใจทำงานร่วมกับนักออกแบบและสถาปนิก เพื่อสร้างแนวคิดและรูปแบบความเป็นไปได้ใหม่ระหว่างผืนนาที่สอดรับกับพื้นที่อื่นซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นนี้ หากท่านใดมีความสนใจ หรือมีความเห็นอยากแลกเปลี่ยน และต้องการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ ‘นานิเวศน์สุนทรีย์’ ที่กำลังที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนผ่านช่องทางที่แนบด้านล่าง แม้ ‘นานิเวศน์สุนทรีย์’ ของวิจิตรที่กำลังต่อยอดในลำดับถัดมาจะก้าวข้ามและคำนึงถึงสิ่งที่เหนือไปกว่าผืนนาเพื่อความสุนทรีย์ แต่เห็นได้ว่าเขายังคงทำงานในรูปแบบบูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์ต่างๆ ร่วมกับศิลปะ และตระหนักถึงผู้คนที่หลากหลายที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ดังกล่าวอยู่เสมอ

fb.com/toowijit

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *