CAMPAIGN SIGN CONTEST

นอกเหนือจากความโดดเด่นในการออกแบบป้ายหาเสียงของผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. พ.ศ. 2565 แต่ละคน สิ่งที่น่าสนใจในปีนี้อีกหนึ่งอย่างคงเป็นการที่แต่ละฝั่งพากันแข่งขันออกแบบป้ายหาเสียงให้เล็กที่สุดบนทางเท้า วีร์ วีรพร ชวนให้เราขบคิดอย่างจริงจังถึงประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกในไทยอย่างป้ายหาเสียงที่ยึดครอง ‘พื้นที่ทางเท้าสาธารณะ’

TEXT & PHOTO: WEE VIRAPORN

(For English, press here

ช่วงนี้บรรยากาศของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ กำลังคึกคัก ป้ายหาเสียงเริ่มกลับมายึดครองพื้นที่บนทางเท้าอีกครั้ง

ในตลอดช่วงชีวิตของผู้เขียนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการสื่อสารทางการเมืองผ่านป้ายหาเสียงมาตลอด จากการนำเสนออย่างตรงไปตรงมาด้วยภาพถ่ายของผู้สมัครชัดๆ พร้อมหมายเลขตัวใหญ่ๆ ก็ค่อยๆ พัฒนาให้มีชั้นเชิงมากขึ้นตามหลักการทำโฆษณา รวมถึงการใช้ข้อความประกอบ ที่เป็นมากกว่าการ “แนะนำตัวผู้สมัครให้ผู้ชมได้รู้จักหน้าตา” โดยเพิ่มความหมายแฝงเข้าไปผ่านการจัดท่าทางของแบบ หรือการคัดเลือกภาพมาประกอบตัวบุคคล ให้ผู้ชมเข้าใจได้ถึงบุคลิก แนวคิด สไตล์การทำงานของผู้สมัคร โดยไม่ต้องอธิบายด้วยคำพูดยืดยาว ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่า นี่คือคนทำงานจริง, นี่คือคนรุ่นใหม่ที่พร้อมลุย, นี่คือคนใจซื่อ มือสะอาด พร้อมทำงานเพื่อประชาชน เป็นต้น

พร้อมกับเทคโนโลยีการผลิตป้ายที่ก้าวหน้าขึ้น ในราคาที่ถูกลง และความคุ้นชินกับการสื่อสารทางการตลาดผ่านสื่อกลางแจ้งที่มากขึ้นของประชาชน ป้ายที่ถูกออกแบบอย่างตั้งพิถีพิถัน ทั้งการใช้สีสันและการเลือกแบบตัวอักษรตามระบบการสร้างแบรนด์จึงกลายเป็นมาตรฐานที่ผู้สมัครทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อสร้างความจดจำให้ได้มากที่สุด

นอกจากการเฝ้าสังเกตของตนเอง ผู้เขียนมีโอกาสถามความเห็นของนักออกแบบกราฟิกที่มีชื่อเสียงระดับโลก ต่อป้ายหาเสียงในกรุงเทพฯ ระหว่างการสัมภาษณ์มาแล้วสองครั้ง

เมื่อปี 2008 Mark Farrow มองว่าป้ายของผู้สมัครคนหนึ่งที่แสดงท่าทีขึงขัง ชี้หน้าผู้ชมนั้นดูน่าสนใจ และโดดเด่นกว่าคนอื่น (ผู้เชียนมองว่าเป็นวิธีการเดียวกับโปสเตอร์ I want YOU for U.S. Army ที่เป็นภาพลุงแซมรณรงค์ให้สมัครเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1)

ในปี 2011 Jonathan Barnbrook กล่าวว่า “นักการเมืองทั่วโลกเหมือนกันตรงที่ใช้โฟโตชอปเยอะไปหน่อย คนไม่ออกมาใช้สิทธิ์เพราะคิดว่าการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องของเขา ภาพของนักการเมืองหน้าตาขึงขังใส่สูทมันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชน”

อาจจะด้วยเพราะวิชาชีพและความสนใจของผู้เขียน ทำให้ที่ผ่านมาโฟกัสเรื่องความเปลี่ยนแปลงของการออกแบบสื่อสารบนพื้นที่ป้าย แม้แต่สื่อก็ให้ความสำคัญกับตรงนั้น แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งนี้ บทสนทนาและกระแสสังคมกลับพุ่งไปยังรูปแบบของป้ายที่ไม่กีดขวางการสัญจรของคนเดินเท้า ทั้งเสียงตำหนิ ชื่นชม เคลมว่าใครทำก่อน และปรับแก้อย่างรวดเร็วเพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อ ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่า แล้วทำไมป้ายหาเสียงในกรุงเทพฯ จึงต้องเป็นป้ายในลักษณะที่เราคุ้นเคยกันนี้? และอะไรทำให้สังคมหันมาสนใจที่รูปแบบของป้ายมากกว่าการออกแบบเนื้อหาบนป้าย?

เมื่อศึกษาจากข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำป้ายหาเสียง มีการระบุขนาดการปิดประกาศที่ใกล้เคียงขนาด A3 ส่วนขนาดของป้ายค่อนข้างจะใกล้เคียงกับ 120 x 240 ซม. ที่เป็นขนาดมาตรฐานของวัสดุเช่นไม้อัด ดังนั้น รูปร่างและขนาดของป้ายหาเสียง ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นการพิมพ์ลงบนไวนิลขึงด้วยโครงไม้ จึงเป็นการคิดจากมุมมองผู้ผลิต ที่ต้องการได้พื้นที่สื่อสารมากที่สุด จากการผลิตสื่อที่เหลือเศษน้อยที่สุด ซึ่งฟังดูสมเหตุสมผล

แต่ปัญหาคือ แม้มาตรฐานผังเมืองรวม พ.ศ. 2549 กำหนดให้ทางเท้าในพื้นที่ย่านที่อยู่อาศัย ต้องความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตรให้คนเดินสวนได้ แต่จากการสำรวจของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี เมื่อปี 2559 พบว่าความกว้างเฉลี่ยของทางเท้าใน 34 พื้นที่ของกรุงเทพฯ พบว่ามีความกว้างของทางเท้าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.03 เมตรเท่านั้น (นั่นแปลว่า ขนาดป้ายหาเสียงที่กว้างที่สุดเท่าที่กฎหมายอนุญาตนั้นกว้างกว่าค่าเฉลี่ยของทางเท้าเสียอีก) นอกจากนั้นยังมีสิ่งกีดขวางอีกมากมาย รวมถึงสภาพพื้นผิวทางเท้าที่อาจจะชำรุดจนไม่สามารถเดินได้ง่ายในสถานการณ์ปกติ เมื่อมีป้ายหาเสียงที่มีขนาดกว้างกว่าความกว้างเฉลี่ยของทางเท้าวางลงไปอีก จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพหรือคลิปวีดีโอแสดงความยากลำบากของประชาชนที่ต้องเดินหลบป้ายหาเสียง หรือผู้พิการนั่งรถเข็นที่ต้องหลบลงไปบนถนนในบางช่วง

จากความทรงจำอันเลือนรางในวัยเด็ก ผู้เขียนเคยเห็นป้ายหาเสียงของผู้ว่ากรุงเทพฯ ท่านหนึ่งที่วางภาพลักษณ์สมถะ ใช้เสื้อหม้อห้อมที่เป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายประจำของเขามาประกอบกับป้ายเป็นหุ่นไล่กา และยังมีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ในสมัยที่แล้วท่านหนึ่งแปะเบอร์บนถังขยะแล้วเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นป้ายหาเสียง โดยอ้างว่านอกจากไม่สร้างขยะเพิ่มแล้วยังเป็นการมอบสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับพื้นที่อีกด้วย นั่นแปลว่าหากออกแบบป้ายโดยไม่คำนึงถึงแต่การได้พื้นที่มากที่สุด ก็ย่อมทำได้เช่นกัน

ที่ผ่านมารัฐไทยมักจะผลักปัญหาเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นเรื่องระดับปัจเจก แต่ไม่เคยคิดถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น ติดป้ายเตือนให้ขับรถอย่างระมัดระวังในจุดอันตราย ทำให้ประชาชนอาจจะไม่ตั้งคำถามว่าถนนตรงนั้นออกแบบมาดีพอที่จะทำให้คนทั่วไปสามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยหรือยัง? เราโทษคนขับจักรยานยนต์สวนเลนจนเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ตั้งคำถามว่ามีจุดกลับรถห่างกันมากเกินไปจนทำให้ผู้ขับขี่หลายคนยอมเสี่ยงอันตรายแลกกับความสะดวกหรือไม่

การออกแบบเมืองกรุงเทพฯ โดยคิดถึงรถยนต์เป็นหลัก ทำให้เรามีสะพานลอยตามแยกต่างๆ ตามด้วยการโทษคนที่ไม่ข้ามสะพานลอย โดยอาจจะลืมนึกไปว่า ไม่ใช่ทุกคนจะแข็งแรงพอที่จะเดินขึ้นสะพานลอยได้ การทรัพยากรที่ใช้ไปในการทำถนนให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่คนเดินเท้าลำบากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ? รวมถึงป้ายหาเสียงในรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นชินนั้นทำเพื่อสื่อสารกับคนขับรถ โดยลืมคิดถึงคนเดินถนนไปหรือไม่?

การตั้งคำถามย้อนกลับไปยังความเหมาะสมของสิ่งที่เห็นมาจนเป็นความเคยชิน การมองปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เป็นบรรยากาศของสังคมในยุคนี้อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันในทุกภาคส่วน ราวกับเป็นการตระหนักรู้ของประชาชนทั้งรุ่น บางทีการที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ หันมาใส่ใจการออกแบบป้ายหาเสียงที่รบกวนคนเดินเท้าน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการทำป้ายที่หน้ากว้างแคบลง แต่ความสูงเท่าเดิม หรือการทำป้ายที่เตี้ยลง แต่จงใจติดให้สูงขึ้นจนพ้นระดับศีรษะของคนเดินถนน อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีของการคำนึงถึงประชาชน คนเดินถนน มากกว่ารถยนต์ จึงเป็นการมองปัญหาจากกรอบความคิดใหม่ เป็นการตั้งโจทย์ทางการออกแบบที่คิดถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง (ในขณะเดียวกันก็ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ผลิตด้วย เรียกว่า win-win) แม้ว่านี่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รายละเอียดตรงนี้ก็สะท้อนทัศนคติของผู้สมัครที่เสนอตัวให้ชาวกรุงเทพฯ เลือกมาบริหารดูแลเมืองได้เป็นอย่างดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *