GOLEM 2022 – UNCANNY

ในนิทรรศการ GOLEM 2022 – Uncanny เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมลทดลองสร้างรูปจำลองมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดจากชิ้นส่วนของสิ่งชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ลองดูกันว่าราคาที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้องจ่ายเพื่อความปรารถนาอันไร้ที่สิ้นสุดของมนุษย์นั้นมีเท่าไหนกัน

TEXT: PRAPAN JANGKITCHAI
PHOTO COURTESY OF GALLERY VER

(For English, press here

นิทรรศการเดี่ยว GOLEM 2022 – Uncanny ที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 23 เม.ย. – 19 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมานี้เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นที่ Gallery VER โดยเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คต์ GOLEM โปรเจ็คต์ทางศิลปะระยะยาวซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ.2554 และเป็นนิทรรศการภาคต่อเนื่องจากนิทรรศการ Embodying the Monster ที่จัดแสดง ณ อาคารหอศิลป์ SAC Gallery

ในนิทรรศการนี้เรืองศักดิ์นำเอา GOLEM ตำนานว่าด้วยสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นจากดินเหนียว และมีชีวิตขึ้นมาด้วยอาศัยเวทมนตร์หรือคาถาศักดิ์สิทธิ์ ทำหน้าที่คอยรับใช้ผู้เสกเป่ามนต์ในนิทานพื้นบ้านชาวยิว มาตีความใหม่ผ่านมุมมองของตนเองด้วยการสร้าง GOLEM หรือ มนุษย์จำลองรูปทรงสูงใหญ่ซึ่งรวบรวมจุดเด่น และองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ที่เชื่อว่าสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยรู้จัก

เมื่อเปิดเข้าประตูเข้ามาจากด้านหน้า ผู้ชมจะพบกับ ‘Conversations VDO’ ถัดเข้าไปด้านในเป็นห้องจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งหมด 4 ชิ้น ผลงาน ‘Species and Ashes Shelves’  เป็นชั้นวางไม้ติดผนังอัดแน่นไปด้วยเศษซาก ชิ้นส่วนสิ่งเคยมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ทั้งพืช และสัตว์จากทั่วโลกที่ศิลปินรวบรวมสะสมไว้ ทุกชิ้นเป็นเศษซากของสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏอยู่ในตำนาน เรื่องเล่า และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ว่ามีคุณสมบัติทำให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองได้ โดยมีตั้งแต่เปลือกหอย กระดูกปลา สัตว์ดอง กะโหลกสัตว์ หางปลากระเบน หนังสติ๊กที่ทำมาจากไม้ขนุน ลูกคิด และหนังสัตว์ เป็นต้น

เรืองศักดิ์ใช้ซากชิ้นส่วนที่เก็บรวบรวมสะสมมานี้เป็นจุดตั้งต้นในการสร้างมนุษย์จำลองที่สมบูรณ์ที่สุด โดยศิลปินนำเอาชิ้นส่วน เศษซากแต่ละชิ้นไปเผาจนเหลือเป็นขี้เถ้า แล้วอัดจนเป็นก้อน ก่อนจะนำไปแกะสลักเป็นอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ด้วยเครื่องกลึง CNC อันเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนอวัยวะที่มีสัดส่วนแม่นยำที่สุด ฝั่งตรงกันข้ามกับ ‘Species and Ashes Shelves’ จัดแสดงผลงานชื่อ ‘Research Reference and Finished Parts’ ชิ้นส่วนอวัยวะที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อรอนำมาประกอบต่อเข้าด้วยกันผ่านการแสดงโดยนักแสดงสามคนจากต่างสาขาอาชีพ พร้อมกับแขวนเอกสารการสืบค้นไว้ด้านบน กระดาษแต่ละแผ่นบรรจุเรื่องราว ตำนานบอกเล่าคุณวิเศษของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดตามความเชื่อจากอารยธรรมทั่วโลก ซึ่งศิลปินสืบค้นและใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างอวัยวะที่สมบูรณ์แบบที่สุด

บริเวณส่วนกลางของห้องมีการ แขวนกะโหลก และชิ้นส่วนกระดูก ‘GOLEM 2022 – UNCANNY Assemble Station’ ลอยอยู่เหนือแท่นสีขาวสองชั้น ขนาบด้วยโต๊ะสำหรับการแสดง ตาของมนุษย์จำลองผู้นี้สร้างมาจากกระดองเต่า ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อในอารยธรรมจีนที่ใช้กระดองเต่าในการทำนายอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ถัดเข้าไปด้านในสุดเป็นห้องปฏิบัติการ ‘CNC Production Station’ ที่ซึ่งศิลปินใช้แกะสลักชิ้นส่วนอวัยวะ

องค์ประกอบต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้นิทรรศการนี้กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ทางศิลปะที่ตลบอบอวลคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ขณะเดียวกันการใช้การแสดงเพื่อประกอบต่อชิ้นส่วนอวัยวะกลับทำให้นิทรรศการนี้เป็นดังสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่ซึ่งศิลปิน และนักแสดงมีสถานะเป็นผู้วิเศษทรงอาคมขลัง มาร่วมกันร่ายมนต์เสกมอบชีวิตให้ GOLEM ฟื้นตื่นขึ้นมา การนำเอาชิ้นส่วนเศษซากศพไปเผาจนเป็นขี้เถ้าแล้วนำมาแกะสลักก็ดูคล้ายกับกระบวนการการทำวัตถุมงคล และพระเครื่อง

เรืองศักดิ์ สร้าง GOLEM อมนุษย์ (Non-human) ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ โดยการแล่เนื้อเลาะกระดูกแหกแหวกเข้าไปดูอวัยวะภายในเพื่อประกอบสร้าง แปรมนุษย์ ให้กลายเป็น GOLEM ที่เหมือนมนุษย์ตั้งแต่ภายในตลอดจนรูปลักษณ์ภายนอก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่มนุษย์ เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่าเผ่าพันธุ์ที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมาในทุกองค์ประกอบ เพื่อตั้งคำถามถึงแก่นสารของความเป็นมนุษย์ และมนุษยชาติในฐานะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์หนึ่ง กล่าวคือ มนุษย์เป็นผู้อยู่เกือบ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เป็นผู้ทรงอำนาจในการสร้างเรื่องเล่า และให้ความหมายต่อสรรพสิ่ง จนสามารถสร้างต้นแบบของความสมบูรณ์แบบของสายพันธุ์ตนเองขึ้นมาได้ อีกทั้งยังมีชุดคำอธิบายถึงอวัยวะที่ดีต่าง ๆ เช่น ตาที่ดี ตับที่ดี สมองที่ดี ฟันที่ดี และริมฝีปากที่ดี รวมไปถึงวิธีการต่าง ๆ ที่จะพาสายพันธุ์ตนเองพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์เดียวที่สามารถวิวัฒนาการตนเองได้อยู่ตลอดเวลาผ่านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตรอบตัว เรืองศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงราคาค่างวดที่สิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ต้องจ่ายเพื่อเป็นฟ่อนฝืนตอบสนองไฟตัณหา ความใคร่ จริตหมกหมุ่นอยู่แต่กับตนเองของมนุษย์ พร้อมกับทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า แท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ควรเป็นอย่างไร

GOLEM ของเรืองศักดิ์จึงทั้งมีเสน่ห์ และเปี่ยมมนต์ขลัง ด้วยว่ามันเป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาของมนุษยชาติผ่านเรื่องเล่า ­­­­­­­­ที่สืบค้นมา แต่ขณะเดียวกันก็น่าขยะแขยง สะอิดสะเอียน เพราะมันคือการปรากฎรูปของความปรารถนาต่อความสมบูรณ์อันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ และความกลัวต่อความไม่สมบูรณ์แบบ และความเปราะบางของมนุษย์อย่างชัดเจนในเวลาเดียวกัน

Fb.com/galleryver

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *