48 HOURS IN BANGKOK | TOM DIXON

พูดคุยกับ Tom Dixon ในโอกาสที่มาเยือนไทยระหว่างกิจกรรม ‘48 Hours in Bangkok’ ถึงการทำงานแบบย้อนศรและมุมมองต่อวงการออกแบบในปัจจุบัน

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press  here)

Tom Dixon เป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่มีความเป็นมา ‘สนุกสนาน’ ที่สุด ตัวเขาเคยเรียนปั้นเซรามิก เล่นดนตรี ซ้ำยังไม่เคยวางแผนชีวิต เพราะคิดว่าทุกอย่างจะถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ กระทั่งในหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Tom Dixon ก็ยังมีบทความแนะนำตัวที่ใช้ชื่อว่า ‘Tom Dixon on Becoming a designer by accident’

ครั้งนี้ art4d มีโอกาสได้คุยกับ Dixon เนื่องในโอกาสที่เขาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2025 สำหรับงาน Tom Dixon’s 48 Hours in Bangkok ซึ่งเป็นเมืองแรกของการทัวร์เอเชียในปีนี้ พร้อมกับการเปิดตัวของ Tom Dixon Experience ใน MOTIF สาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

art4d: ช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่คุณกำลังทำอยู่ตอนนี้ได้ไหม?

Tom Dixon: คืองี้ครับ เราเป็นบริษัทที่ทำงานออกแบบสำหรับพื้นที่ในร่มเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการได้ทำงานสำหรับพื้นที่กลางแจ้งจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น คอลเล็กชันที่เรามาเปิดตัวที่กรุงเทพฯ นี้เป็นเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งชื่อ Groove

ประเด็นที่น่าสนใจของมันก็คือ ในยุโรปผู้คนต้องออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งมากขึ้นเพราะได้รับผลกระทบจากโควิดเยอะ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ outdoor เลยเป็นสิ่งที่น่าท้าทายอย่างมาก เพราะในแง่ของฟังก์ชัน มันต้องมีความทนทานกว่าปกติ ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มากขึ้น ถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่โหดสำหรับเฟอร์นิเจอร์ ความยากไม่ได้อยู่ที่การออกแบบ แต่มันอยู่ที่การหาจุดสมดุลระหว่างราคากับฟังก์ชันที่เหมาะสมเพื่อให้เฟอร์นิเจอร์สามารถใช้งานกลางแจ้งได้จริงๆ

art4d: ความหมายของชื่อ ‘48 Hours in Bangkok’ คืออะไร? ตั้งใจสื่อว่าเป็นก้าวถัดมาของ ‘24 Hours’ หรือเปล่า?

TD: จริงๆ แล้วก็ไม่เชิงนะ เราเริ่มทำ 24 Hours ตอนช่วงโควิดใช่ไหม?—เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับโควิดอีกนั่นแหละ ตอนนั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ล่วงหน้าว่าเราสามารถเดินทางไปที่ไหนได้บ้าง จนกระทั่งหนึ่งสัปดาห์ก่อนออกเดินทาง เพราะเมืองต่างๆ เปิดๆ ปิดๆ ตลอดเวลา เราเลยพัฒนารูปแบบงานที่สามารถใช้เวลาน้อยที่สุดในแต่ละเมืองแต่ได้ผลลัพธ์สูงสุด ตอนนี้พอโควิดหายไปแล้ว เราก็สามารถอยู่ได้นานขึ้นเป็นสองเท่า ขึ้นอยู่กับจำนวนอีเวนต์ที่มี บางเมืองอาจเป็น 24 ชั่วโมง บางเมืองอาจเป็น 48 ชั่วโมงก็ได้ครับ (หัวเราะ)

พรุ่งนี้ผมจะไปไต้หวัน ต่อด้วยโซล 24 ชั่วโมง จากนั้นไปโตเกียว 48 ชั่วโมง แล้วไปสิงคโปร์ 24 ชั่วโมง—มันเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์สำหรับเรา ผมคิดเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะพื้นเพของผมมาจากวงการดนตรี แนวคิดนี้ก็คล้ายกับการตระเวนทัวร์ให้ได้หลายเมืองมากที่สุด ไม่ใช่แค่เมืองหลักอย่างมิลานหรือลอนดอน แต่รวมถึงเมืองที่อาจไม่มีดีไซเนอร์ไปเยือนบ่อยๆ ด้วย เพื่อที่จะได้พบปะกับผู้คนที่ให้การสนับสนุนเราและสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันในพื้นที่ที่ให้การตอบรับเราอย่างดี

art4d: คุณเคยบอกไว้ว่า “อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม่เหมือนกับการมีเพลงฮิตติดชาร์ต มันไม่มีช่วงเวลาที่คุณจะรู้ตัวว่าคุณเป็นอันดับหนึ่ง” งั้นในฐานะดีไซเนอร์ ช่วงไหนของกระบวนการออกแบบที่คุณภูมิใจที่สุด?

TD: ผมคิดว่าคนเรามักจะรู้สึกไม่พอใจกับงานออกแบบของตัวเองตลอด ใช่ไหม? พอมันเปิดตัวแล้วเราก็จะแบบ “โอเค ฉันรู้ว่าควรทำอะไรให้ดีขึ้นกว่านี้ งั้นเริ่มใหม่เลยละกัน” เพราะฉะนั้นส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุดคืองานชิ้นต่อไปที่คุณกำลังทำอยู่เสมอ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงสนใจและมีไฟกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นปีหน้ามากกว่าปีที่แล้วเสมอครับ

แต่สุดท้ายแล้ว การได้เห็นผลงานประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน มีบางอย่างที่สำคัญสำหรับผมในกระบวนการทำงาน อย่างเช่นโคมไฟ BEAT collection นี่เป็นตัวอย่างที่ดี มันเริ่มต้นจากโปรเจกต์ที่ไม่แสวงหาผลกำไรในอินเดีย เราทำงานร่วมกับช่างโลหะที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก British Council ตอนแรกเราทำมันขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจให้เป็นสินค้าสำหรับขายได้จริงๆ แต่สุดท้ายมันกลับกลายเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสิ่งนั้นเลย แล้วมันก็ถูกลอกเลียนแบบเยอะมาก โดยเฉพาะจากจีน ผมกลับมาดูมันอีกครั้งแล้วคิดว่า “ถ้าเราลองลอกคนที่ลอกเราล่ะ?” ผมเลยเปลี่ยนวัสดุจากทองเหลืองเป็นอลูมิเนียม และปรับจากการตีขึ้นรูปด้วยมือมาเป็นการผลิตด้วยเครื่องจักรแทน ทำให้เราลดต้นทุนลงได้ และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างสุนทรียะใหม่ขึ้นมา

ของเลียนแบบส่วนใหญ่จะทำให้ดูเหมือนทองเหลือง ให้ดูเป็นโลหะมีค่า แต่แรงบันดาลใจที่แท้จริงของงานชุดนี้มาจากการลอกเลียนแบบคนที่ลอกเรา และจุดเริ่มต้นของมันคือความพยายามที่จะทำบางอย่างเพื่อช่วยเหลือช่างฝีมือโลหะ พอเวลาผ่านไป มันค่อยๆ วิวัฒนาการไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างออกไป ผมคิดว่าสำหรับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เรามักจะพยายามสร้างสิ่งที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา แต่บางครั้งการย้อนกลับไปดูสิ่งที่เคยทำ ปรับปรุง และต่อยอดมัน ก็เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกดีเหมือนกัน

art4d: ถ้าอย่างนั้นคุณคิดว่างานออกแบบ ‘ใหม่’ มีอยู่จริงหรือเปล่า? ถ้าคุณออกแบบบางสิ่งขึ้นมา มัน ‘ใหม่’ จริงๆ ไหม?

TD: ผมคิดว่าสิ่งที่ถือว่าใหม่จริงๆ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ทำให้เราสามารถสร้างรูปแบบใหม่ๆ ได้ หรือเมื่อสังคมเปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้ว การออกแบบตกแต่งภายในเป็นหนึ่งในสาขาที่เปลี่ยนแปลงช้ากว่าการออกแบบประเภทอื่นๆ ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นเรื่องดี เพราะถ้าต้องเปลี่ยนทุกหกเดือนแบบแบรนด์แฟชั่นก็คงเป็นเรื่องที่ยั่งยืนไม่ได้จริงไหม? (หัวเราะ)

สิ่งที่น่าสนใจในตอนนี้เกี่ยวกับงานออกแบบภายในคือการปฏิวัติที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีไฟ LED เรามีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น มันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น โคมไฟชาร์จไฟได้ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแบตเตอรี่และหลอดไฟเคยใช้พลังงานมากเกินไป แต่ตอนนี้มันเป็นไปได้แล้ว ดังนั้น ใช่—เราสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ และใช่—สังคมก็กำลังพัฒนาไปข้างหน้า

art4d: คุณมองอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบันอย่างไร?

TD: ในแง่ของการออกแบบ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า ซึ่งนั่นเป็นข้อดี เพราะมันมีความยั่งยืนและเป็นจังหวะที่สบายกว่าการออกแบบประเภทอื่นๆ คุณคงไม่สามารถเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ทั้งบ้านทุกปีเพื่อให้ตามเทรนด์ได้ มันเป็นอุตสาหกรรมที่มีสมดุลที่ดีระหว่างความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความคงทน ซึ่งผมค่อนข้างชอบจังหวะนี้

ผมคิดว่าการอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือแฟชั่นในตอนนี้คงเป็นเรื่องยาก เพราะคุณต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพียงเพราะต้องกระตุ้นการบริโภค มากกว่าการสร้างสิ่งที่มีรากฐานมั่นคงและมีอายุการใช้งานยาวนาน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เป็นอาชีพที่ดี เพราะมันมีองค์ประกอบของความคงทนถาวรอยู่ในตัว

art4d: คุณมีเป้าหมายอะไรสำหรับสตูดิโอของคุณในอนาคตบ้างไหม?

TD: แน่นอน ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการคิดให้รอบคอบว่าเรากำลังสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อโลกใบนี้ และต้องแน่ใจว่าเรารู้แหล่งที่มาของวัสดุ รู้กระบวนการผลิต และทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นนั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ดังนั้น ในอนาคต เป้าหมายหลักของเราคือการออกแบบสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้นและใช้งานได้นานขึ้นกว่าเดิม

art4d: ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น?

TD: Sustainable เป็นคำที่ถูกใช้จนเกร่อไปแล้ว จริงไหม? (หัวเราะ) ผมไม่คิดว่าใครก็ตามที่สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจะสามารถเรียกตัวเองว่า ‘ยั่งยืน’ ได้อย่างแท้จริง แต่ผมคิดว่าเราทำให้มันดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นได้

tomdixon.net
facebook.com/tomdixonstudio

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *