art4d พูดคุยกับ อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ผู้บันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองนอกประวัติศาสตร์กระแสหลัก ผ่านการ ‘เก็บ’ ข้าวของเครื่องใช้ที่ดูธรรมดา หากแต่บรรจุไว้ด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของคนธรรมดา
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF KINJAI CONTEMPORARY except as noted
(For English, press here)
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่คนไทยตื่นตัวทางการเมืองกันมากเสียทีเดียว เว็บไซต์ mobdatathailand.org ที่สำรวจและติดตามการชุมนุมในประเทศไทยเปิดข้อมูลออกมาว่า แค่เพียงปี 2564 ปีเดียว มีการชุมนุมมากกว่า 1,516 ครั้งใน 70 จังหวัด
ถึงเอฟเฟ็กต์ที่เกิดการเคลื่อนไหวจะยังคงสั่นสะเทือนจนรับรู้และสัมผัสได้โดยไม่ยาก แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหวนั้นต่างกัน เพราะมันอาจจะเจือจางไปตามกาลเวลาได้ หากไม่ถูกเก็บบันทึกเอาไว้
เพื่อให้ประวัติศาสตร์ไม่เลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย อานนท์ ชวาลาวัณย์ (Anon Chawalawan) จึงเริ่มโปรเจ็คต์พิพิธภัณฑ์สามัญชน พิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีห้อง ไม่มีตึก มีแต่ฐานทัพหลักบนเพจเฟซบุ้คและเว็บไซต์ ที่เก็บรวมรวมและแสดงข้าวของจากการชุมนุมทั้งในยุคปัจจุบัน ไปจนถึงอดีต เป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่ย้ำเตือนให้เราไม่ลืมว่า เราเคยผ่านอะไรมาบ้าง
หลังจากที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้จัดนิทรรศการครั้งใหญ่ขึ้นที่ Kinjai Contemporary ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราจึงไปพูดคุยกับอานนท์ เพื่อทำความรู้จักกับพิพิธภัณฑ์สามัญชนรวมไปถึงนิทรรศการที่เกิดขึ้น พร้อมเรียนรู้ว่า อะไรคือความเชื่อที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาทำโปรเจ็คต์นี้
บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นในห้องอันเงียบงัน ที่เซ็งแซ่ไปด้วยน้ำเสียงแห่งการต่อสู้ของผู้คนซึ่งเปล่งออกมาจากวัตถุที่อานนท์เก็บรวบรวมไว้
art4d: พิพิธภัณฑ์สามัญชนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
Anon Chawalawan: เราเรียนปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์ เราเห็นว่า ตอนเรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ เนื้อหาที่เราเรียนเราก็จะเรียนแต่การเมืองของคนระดับ Icon ก็คือ พระมหากษัตริย์ก็ดี ขุนนางชนชั้นสูงก็ดี พอมันเป็นการเมืองในระบบใหม่ก็มีนายกรัฐมนตรี มีนายทหารดังๆ เราก็จะรู้จักคนเหล่านี้ รู้ว่าคนเหล่านี้ทำอะไร
แล้วเราก็สงสัยว่าประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาเป็นยังไง ทำไมมันไม่ถูกเขียนบันทึก ไปดูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหรือพิพิธภัณฑ์ตามจังหวัดต่างๆ เขาก็จะมีเรื่องวัฒนธรรม อาหารการกิน เกิดแก่เจ็บตายว่าเป็นอย่างไร แต่มันไม่เล่าเลยว่ามิติทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างไร
art4d: มิติทางการเมืองของประชาชนในที่นี้หมายถึงอะไร
AC: หมายถึงว่าคนในพื้นที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร เขามีส่วนร่วมกับการเมืองอย่างไรเพราะลำพังแค่ผู้นำประเทศหรือพวกคนสำคัญเนี่ย ก็ไม่สามารถจะพาประเทศนี้ไปไหนได้ ถ้าไม่มีไพร่ ไม่มีแรงงาน ไม่มีอะไรเหล่านี้
ยกตัวอย่างจังหวัดขอนแก่น ในช่วงปราบกบฏบวรเดช อัยการที่นั่นก็มีบทบาททางการเมืองคือนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามหลวงเพื่อเตือนคณะราษฎร เพื่อจะเตือนคณะรัฐบาลราษฎรว่า เฮ้ย จะมีกบฏบวรเดชมานะ แต่ว่าเรื่องนี้ไม่มีในพิพิธภัณฑ์ที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งๆ ที่มันน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองประวัติศาสตร์ การเมืองภาพใหญ่โดยตรงเลย
art4d: ก็เลยเกิดไอเดียทำพิพิธภัณฑ์สามัญชนขึ้นมา
AC: ใช่ สมมติ 10 ปีข้างหน้ารัฐสภารองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถ้าไม่มีการเก็บบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เราจะไม่รู้เลยว่าก่อนที่กฎหมายจะรับรองเนี่ย กลุ่ม feminist จัดชุมนุมกันหนักหนาเท่าไหร่ มีแคมเปญอะไร ก็เลยเกิดไอเดียว่า เราน่าจะเก็บรักษาสิ่งที่ขบวนการเหล่านี้ทำเอาไว้ เพื่อทำให้คนธรรมดาสามัญมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์
art4d: ทำไมถึงเลือกเก็บเรื่องราวความเคลื่อนไหว ด้วยการเก็บข้าวของ
AC: เพราะข้าวของมันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน และมันจะบันทึกอารมณ์ หรือความรู้สึกของคนเอาไว้ อย่างเช่นป้ายที่เขียนว่า “ถ้าการเมืองดี แม่กูคงมีเครื่องล้างจาน” อะไรอย่างนี้ มันก็บันทึกอารมณ์ความรู้สึกของคนยุคนี้ที่ไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เขาไม่ได้มองนะว่าต้องรอเป็นผู้ใหญ่ก่อนนะถึงค่อยมายุ่งการเมือง ไม่ใช่เลย ถ้าการเมืองไม่ดี ชีวิตเขาก็ไม่ดี ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ผู้อำนาจพยายามจะปฏิเสธ ผู้มีอำนาจเขาก็จะบอก เด็กมีหน้าที่เรียน ก้มหน้าก้มตาเรียนไป ขยันไป แล้วก็จะได้ดี แต่สุดท้ายเรียนแทบตาย กู้กยศ. มารับเงินเดือน 15,000 อะไรอย่างนี้
และคนในขบวนการเคลื่อนไหวเขามักมองของอย่างเช่นป้ายว่ามันก็คือแค่ป้ายอันนึง แต่คุณลองจินตนาการดูนะ ถ้าวันหนึ่งสิ่งที่เขาเคลื่อนไหวมันสำเร็จ ป้ายเหล่านั้นมันคือประวัติศาสตร์เลย และถ้าเราไม่เก็บไว้มันก็หายไป
หรือของอีกอย่างก็คือหนังสือพิมพ์เก่าๆ เช่นหนังสือพิมพ์ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ตอนที่มันออกมาใหม่ๆ เราอาจคิดว่ามันไม่ได้มีค่า แล้วเอามันไปเช็ดกระจก แต่ตอนนี้มันเป็นของที่ล้ำค่ามาก หาไม่ได้อีกแล้ว
art4d: เริ่มเก็บของมาตั้งแต่เมื่อไหร่
AC: จริงๆ ก็เก็บมานานแล้ว แต่เริ่มทำแบบเป็นเรื่องเป็นราวช่วงปี 2561 หลังจากการเดินรณรงค์ We Walk ที่ขอนแก่น ตอนนั้นเราเห็นผ้าใบสีขาวที่ให้คนเอาเท้าจุ่มสีมาย่ำแล้วเราอยากได้ แต่ก็ปากหนัก กะว่าเดี๋ยวค่อยติดต่อขอทีหลัง ปรากฎว่าวันหลังไม่มีจริง เพราะถามใครก็บอกไม่เจอแล้ว คนเป็น activisit เขาจะเน้นบุกไปข้างหน้า แต่เราเห็นความสำคัญของการเก็บ ก็เลยเริ่มทำจริงจัง ตอนนี้หน้าด้านแล้ว ถ้าเจออะไรน่าสนใจก็ขอเลย
art4d: ส่วนใหญ่คุณไปเก็บข้าวของต่างๆ มาได้อย่างไร
AC: บางอันก็ซื้อ อย่างเช่นเสื้อยืด หนังสือเก่า บางอันก็มีคนให้มา บางทีคนจะทักมาที่เพจพิพิธภัณฑ์สามัญชนแล้วบอกเราว่า เขามีของนะ เอาไหม พอเราบอกว่าเอาปุ๊บ เขาก็ส่งมาเลย แต่ของส่วนใหญ่มาจากการซื้อ เราก็ของบจากสถาบันต่างชาติ มาสนับสนุนการซื้อของบ้าง เช่น Internaltional Institute of Social History จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเราเคยไปฝึกงานกับเขามาก่อน และเขาก็กำลังเก็บของจากการชุมนุมในเมืองไทยด้วย เราก็ช่วยเขาเก็บของและทำบัญชีข้อมูลส่ง
art4d: มีวิธีตัดสินใจยังไงว่าของอันนี้เราควรเก็บ
AC: ดูว่าของมันสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ ไหม หรือเลือกจากมุมมองของเราว่ามันเด็ด มันโดน หรือเปล่า แต่เราก็พยายามเลือกของจากทุกๆ ฝั่ง คุณไม่สามารถรับรู้เรื่องราวของคนเสื้อแดงได้อย่างครบถ้วน ถ้าคุณไม่รู้จักกปปส. สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะชอบหรือจะเกลียด มันส่งผล มันมีผลซึ่งกันและกัน มันอยู่โดยปราศจากอีกฝั่งไม่ได้ เรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถพูดโดยปราศจากเรื่องราวของคนอีกกลุ่มหนึ่งได้
art4d: ตลอดการทำงานมีอุปสรรคอะไรระหว่างทางบ้างหรือเปล่า
AC: งานนี้มันไม่ได้เป็นงานเต็มเวลา เราแบ่งมาทำจากการทำงานประจำวัน มันก็เลยจัดการลำบาก แล้วงานนี้มีแค่เรากับผู้ช่วยแค่สองคน แต่ต้องทำหลายอย่างมาก ต้องพยายามถ่ายรูปของ ทำสารบบ ลงข้อมูลในเว็บไซต์กับเพจ facebook หรืองานติดต่อสื่อสาร แต่มันก็เน้นย้ำให้ผมเห็นเลยว่างานทุกงานมีคุณค่า สำนักงานหรือองค์กรใหญ่ๆ บางที่เขาอาจมองว่าคนทำงานแอดมินหรือส่งของไม่ได้มีความสำคัญอะไร แต่งานทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน ถ้าขาดใครคนใดคนหนึ่งไป มันเป็นปัญหากระทบกันหมด
แต่งานนิทรรศการ ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History’ ที่แกลเลอรี Kinjai Contemporary เนี่ย ถ้าไม่ได้ทีมแกลเลอรีนี่ตาย เพราะว่าผมก็มีข้อกำจัดเรื่องงบ เรื่องคน แต่เขามาช่วยผมเยอะมาก รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่นๆ ในงานด้วย
art4d: ไหนๆ พูดถึงนิทรรศการนี้แล้ว ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าที่มาที่ไปเป็นยังไงบ้าง
AC: นิทรรศการนี้เหมือนเป็นการจินตนาการว่าถ้าพิพิธภัณฑ์สามัญชนมันมีหน้าตา ตัวตน จริงๆ มันจะเป็นยังไง ตอนแรกเราคุยกับแกลเลอรีหนักมากเลยว่าจะเอาธีมอะไร ตอนแรกจะจัดช่วงต้นปีแล้วตั้งชื่อใหญ่โตเลยว่า New Year Revolution เอามาจากชื่อมวยปล้ำ (หัวเราะ) สื่อในแง่ของการรวมปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย แต่ทางแกลเลอรีบอกว่าของแสดงพี่มันมีหลายประเด็นนะ เพราะฉะนั้นพี่ไม่ต้องคิดธีมอะไรหรอก แค่เล่าเลยว่าถ้าพิพิธภัณฑ์พี่มีตึกมันจะเป็นยังไง
ในนิทรรศการก็จะจัดพื้นที่ไว้เป็นส่วนๆ ตามเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น หรือตามลักษณะของ อย่างเช่นห้องชั้น 2 ก็จะแสดงเสื้ออย่างเดียวเลย ส่วนชั้นบนก็แบ่งมุมตามเหตุการณ์ แต่ถ้าสังเกตจริงๆ จะเห็นว่า display เหตุการณ์ข้างล่างมันเชื่อมโยงกันนะ มุม 6 ตุลาฯ กับมุมเรื่องจ่านิวมันเรื่องเดียวกันเลย คือการใช้กำลังทำร้ายกัน เราเห็นภาพคนแขวนคอที่สนามหลวง พอคุณมองมาอีกฝั่งก็เห็นเสื้อเปื้อนเลือดตัวจริงก็จ่านิวอยู่ นี่แหละมันคือความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ มันคือสิ่งที่บอกว่าเราอยู่ในวังวน คำถามต่อไปหลังจากดูนิทรรศการจบคือ เฮ้ย เราควรจะพ้นจากวังวนนี้ได้หรือยังวะ?
art4d: คุณว่านิทรรศการนี้มีความพิเศษอย่างไรบ้าง
AC: งานนี้เป็นการจัดนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทำแล้ว ก่อนหน้านี้มีแต่ไปจัดเล็กๆ ตามที่ต่างๆ หรือมีแกลเลอรีมาขอเอาของเราไปจัดแสดง
แล้วนิทรรศการนี้มันมีความใหม่อยู่เสมอ มันมีของใหม่เข้ามาเพิ่มเป็นระยะๆ บางทีผมไปค้นเจอมาแล้วก็เอามาเพิ่ม หรือมีคนส่งของมาให้ นั่นแปลว่ามันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่จบแล้ว แต่มันคือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่
ในทางหนึ่งผมก็รู้สึกว่ามันน่าหดหู่นะ เพราะอะไร เพราะเรื่องแบบนี้เราอยากให้มันเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว เรายังเถียงเรื่องคนเท่ากัน เลือกตั้งยังไง เรื่องจับคนติดคุก เถียงกันมานานพอแล้ว ถ้านิทรรศการของผมมันร่วมสมัย มันก็แปลว่าเรายังอยู่ในวังวนเฮงซวยกันอยู่ไง ผมเลยรู้สึกว่าอยากให้มันเป็นอดีต แล้ววันนี้เราไปคุยกันเรื่องอื่น เราแค่มาย้อนดูมันในฐานะสิ่งเลวร้ายที่มันเคยเกิดขึ้นแล้วเราจะไม่ทำอีก
art4d: การจัดนิทรรศการในโลกออฟไลน์มันสำคัญอย่างไร เพราะสมัยนี้คนก็ดูรูปในอินเตอร์เน็ตได้
AC: ผมมองว่า การได้เห็นของจริงเนี่ย มันเรียนรู้ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการที่คุณเลื่อนเห็นหน้าจอ อารมณ์มันก็ต่างกัน เหมือนการดูภาพ Mona Lisa จริงๆ ที่พิพิธภัณฑ์ Lourve มันก็ไม่เหมือนกับตอนดูบนมือถือ มันอยู่ตรงหน้าเลย มันไม่เหมือนกันแน่นอน
และของในโชว์ของผมบางอันผมให้จับได้ ไม่ได้แปะป้ายด้วยว่าห้ามจับ เพราะเรารู้สึกว่าการสัมผัสด้วยมือมันจะเติมเต็มความรู้สึก มันไม่ใช่แค่ใช้ผัสสะแค่ตา แต่ของบางอันที่เรารู้สึกว่ามันเปราะบางจริงๆ ก็จะทำที่ครอบไว้ อย่างเช่นหนังสือเก่าที่พร้อมจะยุ่ยคามือ
art4d: มีฝันไว้บ้างหรือเปล่าว่าในอนาคตอยากเห็น ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ เป็นอย่างไร
AC: ฝันเหรอ ก็อยากมีแกลเลอรีเล็กๆ คล้ายๆ กับงานที่ Kinjai เราก็จัดนิทรรศการถาวรเอาไว้ แล้วก็มีจัดเวียนตามธีม มีพื้นที่ให้คนทำกิจกรรม แต่มันคงไม่ได้เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีหรือ 10 ปีนี้นะ เพราะเรายังไม่มีทรัพยากรหรือมีเงินพอ
museum เนี่ย หลักๆ มันเป็นกิจการของคนรวยหรือภาครัฐที่เอาเงินมาลงทุน แต่เป็นการลงทุนเพื่อหวังผลบางอย่างที่ไม่ใช่เม็ดเงิน สำหรับรัฐ museum ก็เป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาทางสังคม แต่ปัญหาคือ museum ของผมเนี่ย ฝ่ายความมั่นคงอาจจะมองว่าจะสนับสนุนทำไม ได้ประโยชน์อะไร แต่ผมมองว่าสุดท้ายแล้ว คุณต้องไม่ลืมว่าพลเมืองคุณไม่ได้แค่ใช้ชีวิตของแต่ละคนไป เขามีส่วนในการขับเคลื่อนความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่ของประเทศด้วย ถ้าคุณบอกว่าประเทศไทยเรายิ่งใหญ่ ไอ้ความยิ่งใหญ่เหล่านั้นมันก็มาจากมดงานแต่ละคนที่ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ลืมไม่ได้