NENDO SEES KYOTO

สำรวจคุณค่าในของเก่าไปกับ Sato Oki นักออกแบบชาวญี่ปุ่นจากสตูดิโอ nendo ที่ร่วมมือกับช่างศิลปหัตถกรรมศาสตร์ต่างๆ ในเมืองเกียวโต นำของเก่าล้ำค่าทั้ง 9 ชิ้น มาตีความด้วยสายตางานออกแบบร่วมสมัย ในนิทรรศการ NENDO SEES KYOTO
 

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF NENDO except as noted

(For English, press here

Sato Oki นักออกแบบและสถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอ nendo ซึ่งเป็นนักแปรเปลี่ยนวิธีของสิ่งต่างๆ รอบตัวให้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวิธีสร้าง วิธีใช้ ไปจนถึงวิธีที่เรามองเห็นและพิจารณาสิ่งเหล่านั้น จัดนิทรรศการ NENDO SEES KYOTO ร่วมกับเหล่าช่างฝีมือและสตูดิโอผู้ชำนาญงานฝีมือของเกียวโตดั้งเดิมทั้งหมด 7 แห่ง โดยนิทรรศการบางส่วนจะจัดขึ้นในพระราชวังนิโนะมารุ (Ninomaru-goten) ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของปราสาทนิโจ

Nijo – jo Castle l Photo: Takumi Ota

แนวคิดที่ Sato ใช้ ถือว่าเป็นการเปิดโลกอีกใบหนึ่งโดยไม่ต้องเดินไปไหนไกล เพียงแค่คิดถึงสิ่งรอบตัวให้ลึกลงและรอบด้านมากขึ้น หากเป็นวัตถุเล็กๆ ก็หยิบมาหมุนดูให้ครบทุกมุม หากเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ก็พาตัวเองเดินให้รอบ แล้วนำไอเดียใหม่เข้ามาผสานกับของที่มีอยู่เดิมภายใต้โจทย์ที่ตั้งไว้ ดังเช่นผลงานในชุด NENDO SEES KYOTO ทั้งหมดนี้

Nijo – jo Castle l Photo: Takumi Ota

Ishidansu: หินเก่าและไม้แกะสลักใหม่ โดย Arata Nishikawa 

Ishidaru l Photo: Takumi Ota

Ishidaru l Photo: Takumi Ota

ธรรมชาติและความสงบเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสวนสไตล์ญี่ปุ่น จากความต้องการชักนำสวนให้เข้ามาอยู่ภายในห้องที่อยู่อาศัย นักจัดสวนจึงเลือกหินซึ่งแต่ละก้อนมีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ทว่ายังคงคาแรคเตอร์ความนิ่งเอาไว้ และใช้วัสดุที่พบเห็นได้ทั่วไปในอาคารอย่างไม้สนมอนเทอเรย์ที่ผ่านการแกะสลักจนมีพื้นผิวภายนอกเหมือนหินอย่างน่าทึ่ง มาประกอบกันจนดูราวกับเป็นวัตถุชิ้นเดียว ทั้งยังเพิ่มลิ้นชักอันเล็กที่เน้นย้ำคุณสมบัติเฟอร์นิเจอร์ที่ความรู้สึกของความเป็นพื้นที่ภายในอาคารอีกด้วย

Teppun: กระบวนการเก่าและเทคโนโลยีใหม่ โดย Sherry Huang

Teppun l Photo: Takumi Ota

Teppun l Photo: Takumi Ota

แจกันเกิดมาเพื่อส่งเสริมดอกไม้ ขับเน้นความสวยงามจากก้านไล่เรียงไปถึงกลีบดอกหลากสีสัน ภายใต้เงาของบุปผานั้นมีโครงแข็งแกร่งช่วยประคอง ผิวไทเทเนียมโค้งที่บิดเป็นรูปร่างแจกัน ถูกขึ้นรูปด้วยเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) ผสมผสานกับกรรมวิธีซ่อมแซมหม้อต้มชาในพิธีชงชาแบบดั้งเดิมบนส่วนผิวหน้า ให้ผู้ที่สัมผัสได้รับความรู้สึกจากผงเหล็กที่ใส่ลงไปในแลคเกอร์และลวดลายจากแปรงรวงข้าวได้อย่างดี

Yuikou: ธูปเดิมและไอเดียใหม่ โดย Yukiko Tomotsune

Yuikou l Photo: Takumi Ota

เมื่อความสวยงามปรากฏเบื้องหน้าสายตา กลิ่นหอมพลันลอยอ้อยอิ่งมาใต้จมูก ผลงานชิ้นนี้กำลังเรียกร้องประสาทสัมผัสทั้ง 2 อย่างจากผู้เข้าชม nendo นึกคิดวิธีผูกเงื่อนเชื่อมต่อธูปหอมเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อรอยไหม้เดินทางมาถึงจุดที่บรรจบ ควันธูปจะเกิดเป็นกลิ่นใหม่ ก่อนที่กลิ่นแรกจะถูกเผาไหม้จนหมดสิ้นและคงเหลือเพียงกลิ่นถัดไป โดยระยะเวลาของกลิ่นจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบและจำนวนเงื่อน นอกจากนี้ตัวธูปหอมแต่ละกลิ่นยังมีสีสันสดใสน่ารัก หากวางลงบนกระถางธูปซึ่งมีพื้นหลังเป็นลวดลายสไตล์ญี่ปุ่นบนขี้เถ้า ก็ยิ่งสร้างความเจริญตาได้เป็นอย่างดี

Fuu-Raijin: ภาพเก่าและการแสดงออกแบบใหม่ โดย Yuumi Abe 

Fuu-Raijin l Photo: Takumi Ota

นิทรรศการนี้นำภาพวาดคลาสสิกเทพวายุและเทพอัสนีมาตีความใหม่บนฉากไม้ฮิโนกิที่ขึ้นโครงเป็นตารางไร้สิ่งปกปิด โดยมีบางส่วนบนแนวไม้ที่บิดเบี้ยวราวกับปรากฏการณ์ 3 มิติ ทว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตาจากไม้ในระนาบเดียวกันทั้งสิ้น ฉากทางซ้ายมือถ่ายทอดท่วงท่าอันบิดผันขณะประโคมกลองของเทพอัสนี ส่วนฉากทางขวาแสดงเส้นโค้งของถุงใส่ลมที่โป่งพองของเทพวายุ ที่น่าอัศจรรย์ไปกว่านั้น ฉากไม้ทั้ง 2 ชิ้นใช้เพียงเทคนิคต่อไม้แบบโบราณของเกียวโตที่เรียกว่าเกียวซาชิโมโนะ (Kyo-Sashimono)’ จึงไม่ต้องใช้กาว สกรู หรืออุปกรณ์ช่วยยึดจับใดๆ ทั้งสิ้น

Sunafuki: ภาชนะเก่าและเทคนิคใหม่ โดย Yuto Suzuki

Sunafuki l Photo: Takumi Ota

 ถ้วยใส่ผงชาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับพิธีชงชา ผลงานชุดนี้ประกอบด้วยถ้วยใส่ผงชา 4 ใบที่ผ่านกระบวนการเคลือบเงาลงรักแบบดั้งเดิม ส่วนที่แตกต่างคือการทำถ้วยใส่ผงชาปกติจะวาดลวดลายด้วยการเติมในขณะที่ถ้วยชุดนี้ใช้การกร่อน

Sunafuki (砂吹き) มีความหมายตรงตัวว่าการพ่นทรายขัดผิว ลวดลายฤดูกาลเกิดจากการพ่นทรายลงบนถ้วยที่เคลือบเรียบร้อยแล้วเป็นเวลานานอย่างอดทน โดยแต่ละใบใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน เริ่มต้นจากดอกซากุระ (ใบไม้ผลิ)’ ที่เห็นเนื้อไม้ชัดเจน, ‘คลื่น (ร้อน)’ ที่เห็นชั้นรองพื้น, ‘ใบเมเปิ้ล (ใบไม้ร่วง)’ ที่เห็นสีดำปนแดงของชั้นนอก จนถึงลายที่ตื้นที่สุดอย่างเกล็ดหิมะ (หนาว)’ ตามลำดับ

Hyouri: วัตถุเก่าและโครงสร้างใหม่ โดย Arata Nishikawa, Yosuke Matsushita และ Sherry Huang

Hyouri l Photo: Takumi Ota

Hyouri l Photo: Takumi Ota

แม้จะดูเปราะบาง แต่โคมไฟกระดาษของเกียวโตก็มีความแข็งแรงและคงทนสูงเนื่องจากมักใช้กับบริเวณภายนอกบ้าน ความน่าสนใจของของชิ้นนี้มาจากโครงไผ่อันเป็นต้นกำเนิดความแข็งแรงนี้นี่เอง ทาง nendo และทีมออกแบบตั้งใจเปลี่ยนความมั่นคงแข็งแรงให้กลายเป็นความยืดหยุ่น โครงไผ่รูปวงแหวนที่ทำหน้าที่เป็นกระดูกของโคมไฟถูกเพิ่มข้อต่อ 8 จุดต่อวง ส่งผลให้โคมไฟสามารถพลิกกลับด้าน รวมถึงยืดหดเปลี่ยนรูปร่างได้หลากหลายยิ่งขึ้น

Junwan: ถ้วยชาเก่าและการทดลองใหม่โดย Takahiro Fukino, Arata Nishikawa และ Yushiro Yamanaka 

Junwan l Photo: Takumi Ota

Junwan l Photo: Takumi Ota

แก้วน้ำที่ดื่มน้ำ คือแนวคิดที่ทางทีมออกแบบใช้สร้างสีสันให้กับถ้วยชาแบบราคุยากิ (楽焼) ในผลงานชุด NENDO SEES KYOTO มีหม้อต้มชาและถ้วยเก็บผงชา ดังนั้นเห็นจะขาดถ้วยชาเสียไม่ได้ ราคุยากิคือวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาโดยไม่ใช้แป้นหมุนขึ้นรูป ถ้วยที่ออกมาจึงมีลักษณะไม่สมมาตรและมีรอยแตกไม่ซ้ำใคร เมื่อนำมารวมกับแนวคิดที่กล่าวไปข้างต้นด้วยการปล่อยให้ถ้วยแต่ละใบดูดซึมเครื่องดื่มของตัวเอง ถ้วยชาเหล่านี้ก็ยิ่งน่าสนใจเพราะความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด

Koumyo: ความศรัทธาเก่าและเทคโนโลยีใหม่ โดย Sayaka Ito, Suheyl Onal, Takahiro Fukino, Mizuki Kasai 

Koumyo Kiyomizu-dera Temple l Photo: Takumi Ota

Koumyo Kiyomizu-dera Temple l Photo: Takumi Ota

ผลงานชุดนี้เป็นชุดที่มีจำนวนชิ้นมากที่สุดใน NENDO SEES KYOTO เป็นการจัดแสดงไฟในวัดคิโยมิซุโดยกล่าวถึงการสำแดงร่างของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้มี 11 พักตร์ 1,000 กร(กวนอิมพู่สัก) ทั้ง 33 รูปแบบ ตามคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมันตมุขปริวรรต จึงจัดทำเป็นโคมไฟทั้งสิ้น 33 โคม ทั้งนี้ยังตั้งใจใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการทำให้โคมไฟทั้งหมดไร้สายและสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ เพื่อสื่อสารถึงพลังงานไร้รูปลักษณ์ในพื้นที่สวดภาวนาอีกด้วย

Nissoudan: มุมเก่าและวิธีมองใหม่ โดย Mizuki Kasai, Daisuke Maeda

Nissoudan l Photo: Takumi Ota

Nissoudan l Photo: Takumi Ota

เดิมประตูตะวันตกของวัดคิโยมิซุเป็นสถานที่สำหรับทำสมาธิตามวิถี ‘Nissoukan’ ภาพทิวทัศน์ยามเย็นแสนสวยงามจับตาเมื่อทอดสายตาออกมาจากในวัด ช่วยกระตุ้นเตือนถึงภาพสวรรค์อันบริสุทธิ์ เผชิญหน้ากับภายในใจตนเองขณะมองท้องฟ้าด้วยสติมั่นคง ทว่าภายหลังไม่มีใครให้ความสนใจที่จะเดินขึ้นมาบริเวณนี้อีก ทำให้วัตถุประสงค์ดั้งเดิมเลือนหายไป การตั้งกระจกสะท้อนท้องฟ้าในนิทรรศการนี้ทำขึ้นเพื่อรื้อฟื้นวิถีปฏิบัตินี้กลับคืนมา ส่วนที่พิเศษคือกระจกบนบันไดทั้ง 38 ขั้นถูกติดตั้งผ่านการเช็คมุมที่หน้าสถานที่จริงให้คนที่ยืนอยู่ด้านล่างสามารถมองเห็นท้องฟ้าทิศตะวันตกได้โดยไม่ต้องขึ้นไปด้านบน

ถึงแม้ว่างานในชุด NENDO SEES KYOTO จะไม่ได้จัดแสดงรวมอยู่ในที่เดียวกัน กลิ่นอายของแนวคิดก็ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ชัดเจน ความตั้งใจฟื้นฟูและอนุรักษ์งานฝีมือและวัฒนธรรมในท้องถิ่นตามสไตล์ nendo ที่ช่างสังเกตและทำงานอย่างสนุกสนานเสมอ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านฝีมือช่างผู้ชำนาญการได้ยอดเยี่ยม

ในสมัยนี้ความเก่ากำลังถูกเหล่านักออกแบบดึงกลับมาในฐานะต้นตอของปัจจุบัน การหันกลับไปสำรวจรากเหง้าและวัตถุเดิมๆ ด้วยมุมมองของผู้อยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน สามารถขยายขอบเขตได้กว้างไกลเกินคาดคิด นิทรรศการ NENDO SEES KYOTO เกิดขึ้นมาเพื่อเกียวโต น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งถ้าหากเราสามารถเห็นนิทรรศการในลักษณะนี้ในสถานที่ใกล้ตัวในบ้านเราว่าจะมีรูปร่างหน้าตา และลักษณะอย่างไร

nendo.jp

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *