WITH OR WITHOUT GLASS

วรา จิตรประทักษ์ จาก Plan Architect พาเรามองการใช้กระจกให้เต็มประสิทธิภาพที่มากกว่าแค่เรื่องความสวยงามผิวเผิน และบอกเล่าถึงการใช้วัสดุนี้อย่างที่ควรจะเป็นในสถาปัตยกรรมแบบร้อนชื้นของประเทศไทย

TEXT: WARA JITHPRATUCK
PHOTO COURTESY OF PLAN ARCHITECT

(For English, press here

‘เมื่อโลกนี้ไม่มีกระจก’ น่าจะเป็นการเกริ่นนำที่ดีในการย้อนไปนึกถึงสถาปัตยกรรมที่ยังไม่มีกระจก เพื่อกลับมาตระหนักถึงคุณสมบัติพิเศษของกระจกที่ทุกวันนี้กลายเป็นวัสดุทั่วไปในการก่อสร้าง จนการเลือกใช้ในปัจจุบันค่อนข้างละเลยถึงหน้าที่และประโยชน์ที่แท้จริงของการใช้กระจกในอาคาร

Justice Hotel

หากมองย้อนนึกถึงบ้านไทยโบราณสมัยที่ยังไม่มีกระจก ลักษณะของช่องเปิดจะเป็นหน้าต่างไม้ เวลาที่ปิดหน้าต่าง ก็จะไม่มีแสงธรรมชาติเข้ามาได้ อาจจะมีลอดเข้ามาได้บ้างก็เป็นแสงสลัวๆ เวลาที่เปิดหน้าต่างแล้วเกิดฝนตกหนักลมแรง ต่อให้มีการยื่นชายคาก็ตามก็อาจจะมีฝนสาดเข้ามาในเรือนได้ ยิ่งบ้านพื้นถิ่นบางภูมิภาค จะมีช่องเปิดบนเรือนน้อยมาก เวลาอยู่ในเรือนตอนกลางวันที่ข้างนอกแดดร้อนแรง แต่ภายในเรือนกลับมืดสลัว ไม่ร้อนเท่าอากาศภายนอก การใช้ชีวิตช่วงกลางวันส่วนใหญ่ของการอยู่อาศัยในเรือนพื้นถิ่นเหล่านี้ จึงออกมาใช้ชีวิตกันที่ชาน ระเบียง พื้นที่ semi-outdoor ต่างๆ จนถึงพื้นที่ใต้ถุนเรือนที่มีแสงธรรมชาติพอเพียงและเย็นสบายกว่าเวลากลางวัน ซึ่งหากเราจำลองวิถีชิวิตในปัจจุบัน ย้อนไปใช้ในเรือนพื้นถิ่นสมัยนั้นแม้จะมีความงามของแสงสลัว แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันได้ทั้งหมด เมื่อนึกย้อนไปในลักษณะนี้ เราจะเข้าใจถึงคุณสมบัติของกระจกได้ชัดเจนขึ้น การกันฝนกันลมที่รุนแรง กั้นพื้นที่เพื่อความปลอดภัย กันเสียงรบกวนและมลภาวะที่ไม่พึงประสงค์ แต่ยังสามารถเปิดมุมมองออกไปภายนอกได้ ได้รับแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง ได้มองออกไปเห็นวิวสวยๆ นี่จึงนับเป็นคุณวิเศษของกระจกที่ไม่มีวัสดุใดเทียบได้

Bangkok Prep II Block D

ในการออกแบบกระจกในงานสถาปัตยกรรมนั้น คุณสมบัติพิเศษโดยตรงของกระจกนั้นเกี่ยวกับการมองเห็น ทั้งความใสที่ทำให้มองเห็นทะลุออกไปยังสภาพแวดล้อมโดยรอบ การสะท้อนเห็นสภาพแวดล้อมเข้ามาบนระนาบกระจก การเปิดรับแสงธรรมชาติ การเห็นมิติของแสงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา กระจกจึงเปรียบเสมือนช่องทางผ่านทำให้สถาปัตยกรรมมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกนั่นเอง แม้ต้นกำเนิดของสถาปัตยกรรมจะเกิดมาเพื่อป้องกันสภาพแวดล้อมภายนอกที่รุนแรงเกินสภาวะน่าสบายในการอยู่อาศัยของมนุษย์ในมิติต่างๆ แต่การเชื่อมต่อพื้นที่ภายในภายนอกก็ยังเป็นมีความจำเป็นในการสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์เชิงจิตวิญญานมากขึ้น โดยพื้นฐานที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือความงามและสุนทรียภาพของที่ว่างนั้นๆ

AIS Contact Center Development & Training Arena

ในมุมหนึ่งการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอกโดยมีการปิดกั้นไปด้วยจึงเปรียบเสมือนความพยายามที่จะเอาชนะข้อจำกัดต่างๆที่ขัดแย้งกันอย่างมากขึ้นเรื่อยๆตามแต่ละยุคสมัย เราต้องการการปกป้องสูงสุดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ แต่ก็ต้องการมองออกไปภายนอกให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ทำให้เราเห็นวิวัฒนาการในการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างต่างๆเพื่อมาตอบโจทย์ความขัดแย้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการด้านโครงสร้างจากระบบผนังรับน้ำหนักที่ต้องการผนังทึบหนาๆเพื่อรับน้ำหนักอาคารทำให้เปิดช่องหน้าต่างได้ไม่กว้างมากนัก เปลี่ยนมาเป็น โครงสร้างเสาคานที่ลดขนาดผนังทึบให้เหลือเพียงแค่เสาบางๆ เปิดโอกาสให้เปิดช่องหน้าต่างได้กว้างมากขึ้น จนถึงการที่ผนังกระจกหรือแผงหน้าต่างๆ หลุดออกมา เป็นอิสระจากแนวเส้นโครงสร้างอาคารเป็นแผงกระจก curtain wall แบบที่เห็นในตึกสูงๆ หรือโถงสูงๆในปัจจุบัน การพัฒนาคุณสมบัติกระจกเองที่เพิ่มความแข็งแรงจนสามารถเพิ่มขนาดความกว้างความยาวได้แทบจะไม่มีขีดจำกัด ทำให้มิติที่ว่างในปัจจุบันที่เชื่อมต่อความรู้สึกกับพื้นที่ภายนอกได้ชนิดที่เรียกว่าแทบจะไร้รอยต่อ แต่ยังสามารถป้องกันสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างเด็ดขาด ทั้งความร้อนอบอ้าวภายนอก ฝุ่นและมลพิษต่างๆ เสียงรบกวนวุ่นวายของมหานคร แต่ตัดภาพมายังพื้นที่ภายในที่เงียบสงบ เย็นสบายด้วยเครื่องปรับอากาศ มองเห็นวิวภายนอกได้กว้างขวางแบบไร้รอยต่อ ที่ว่างเหล่านี้จึงเป็นเหมือนการคัดสรรเฉพาะสำหรับผู้คนที่ถูกเลือก เท่านั้น ดังนั้นภาพของกระจกที่แทนค่าความทันสมัยและโก้หรูที่เกิดจากมิติการมองเห็นที่สร้างความรู้สึกพิเศษนำมาสู่ภาพจำทางสถาปัตยกรรมของตึกกระจกระฟ้า โถงกระจกสูงที่ทำให้เรารู้สึกถึงความต่อเนื่องจากภายในภายนอกแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ภาพจำต่างๆเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ทุกมุมโลกคาดหวังให้เกิดขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความทันสมัยของสังคมนั้นๆ

แต่หากมองอีกมุมหนึ่งการตัดขาดจากสภาพแวดล้อมภายนอกจริงๆที่มีทั้ง ความร้อน มีกระแสลม มีสรรพเสียงจากสภาพแวดล้อม ตลอดจนมลภาวะต่างๆ และคัดสรรเอาแต่ความงามทางทัศนียภาพภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว ก็เป็นการตัดขาดมนุษย์ออกจากสภาพแวดล้อมเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุเชิงลึกที่ทำให้เกิดการคิดแยกส่วนจนถึงการขาดจิตสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสภาพแวดล้อมโดยรวมในปัจจุบัน ดังนั้นหากการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมสามารถเอื้อให้เกิดการสร้างสมดุลของความรู้สึก และสะท้อนทิศทางการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมโดยไม่ตัดขาดจนเกินไป ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นได้ก็น่าจะเป็นแนวทางการออกแบบที่เอื้อให้เกิดจิตสำนึกและการตระหนักถึงปัญหาแบบองค์รวมได้ทางหนึ่งด้วย ท่ามกลางภูมิอากาศร้อนชื้นรุนแรงแบบบ้านเรา การเปิดรับวิวภายนอก และการเปิดรับแสงธรรมชาติมากๆ ตามแบบอย่างการออกแบบที่ว่างตามแบบประเทศเมืองหนาวที่เป็นต้นตำรับการพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้กระจกที่เราซึบซับผ่านการศึกษาสถาปัตยกรรมกระแสหลัก ตลอดจนการรับสื่อต่างๆก็อาจเกิดข้อเสียหรือปัญหาการใช้งานตามมาได้หากไม่พิจารณาการเปิดรับทั้งสองอย่างๆรอบด้าน เนื่องจากการเปิดรับทั้งแสงและวิวนั้นจะตามมาด้วยความร้อนปริมาณมาก ยิ่งถ้าเกิดบนผนังอาคารด้านในทิศทางที่รับแดดมากๆ จนเราจะสังเกตุเห็นปัญหาได้บ่อยครั้งจากการใช้งานจริงที่ไม่ตรงภาพฝันของสถาปนิกที่นึกถึงที่ว่างสวยๆ แดดสวยๆ เปิดรับวิวกว้างๆ ผู้คนใช้งานกันท่ามกลางแสงที่สาดเข้ามาในอาคารตามรูปทัศนียภาพที่คิดไว้ แต่ในชีวิตความเป็นจริงเราจะเห็นการปิดม่าน การหาวัสดุทึบแสงมาตั้งบังหน้าต่าง ไว้ ตลอดจนการตั้งร่มกันแดดภายในอาคารที่มีการเปิดช่องแสงบนหลังคาลงมามากเกินไปเป็นต้น

Singapore International School of Bangkok Thonburi – phase II

ในความจริงแล้วด้วยความที่แสงแดดบ้านเราค่อนข้างแรง ดังนั้น การเปิดช่องหน้าต่างจึงไม่จำเป็นต้องมีปริมาณมากเกินไปก็สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติที่พอเพียงกับการใช้งานภายในแล้ว รูปแบบการทำงานร่วมกันของช่องหน้าต่าง ขนาดพอดีๆ ไม่ใหญ่มากเพื่อลดปริมาณความร้อนที่จะเข้าสู่อาคาร ร่วมกับการใช้ผนังทึบที่มีคุณสมบัติกันความร้อนสูง ตัวอย่างเช่นอาคารโบสถ์วิหารตามวัดที่มีผนัง หนา เจาะช่องหน้าต่างเป็นช่องๆ เวลาเราอยู่ภายในก็จะรู้สึกเย็นสบายกว่า รวมถึงการใช้กระจกร่วมกับการออกแบบอุปกรณ์กันแดดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นชายคาของหลังคาจากผนังไปมากๆ ให้เกิดร่มเงาบนหน้าต่าง หรือการมีแผงกันแดดเส้นตั้งเส้นนอนตามแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นประยุกต์แบบที่ปรมาจารย์ในยุคที่อาคารโมเดิร์นเข้ามาในไทยใหม่ๆได้เริ่มบุกเบิกเอาไว้ สามารถเห็นร่องรอยจากตึกเก่าในยุคนี้อย่างตึกแถว อาคารสาธารณะต่างๆ ที่จะถือว่าใหม่มากในยุคนั้น แต่ดูเป็น อาคารขนาดกลางๆ และออกจะเก่าๆ จากมุมมองในปัจจุบัน รวมถึงการใช้กระจกร่วมกับระบบเปลือกอาคารสองชั้น หรือ double skin ที่ถ้าใช้ให้ดีก็แก้ปัญหาการใช้งานจนถึงการบำรุงรักษาอาคารในระยะยาวได้อีกด้วย ระบบเปลือกอาคารต่างๆเหล่านี้คือความพยายามแก้ปัญหาความร้อนที่เข้ามามากเกินไปจากช่องหน้าต่างๆบนผนังอาคาร

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีการพัฒนากระจกที่ก้าวไกลแบบที่สถาปนิกที่ออกแบบตึกเองก็ยังตามไม่ค่อยทัน ทำให้กระจกสมัยใหม่สามารถป้องกันความร้อนเข้ามาภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การพึ่งพาแต่คุณสมบัติของกระจกอย่างเดียวก็ดูจะเป็นการผลักภาระการออกแบบและการใช้งบประมาณการก่อสร้างไปอย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากกระจกคุณภาพสูงๆเองก็แลกมากับค่าใช้จ่ายที่มากตามมาด้วย ในการออกแบบเปลือกอาคารที่เหมาะสมร่วมกับการเลือกใช้คุณสมบัติกระจกอย่างเหมาะสมจึงน่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาเปลือกอาคารที่เหมาะสมและยั่งยืนกว่าสำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมในเขตร้อนชื้นแบบบ้านเรา ดังนั้นจึงควรเกิดการชักชวนและเชิญชวนกันให้กลับมาคิดคำนึงถึงความจำเป็นที่แท้จริงของการใช้กระจก เพื่อให้เกิดการใช้กระจกในอาคารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของวัสดุ เหมาะสมกับการใช้งานจริง ก้าวพ้นผ่านมายาคติในการใช้กระจกที่ผูกติดมากับความรู้สึกทันสมัย ความโก้หรูที่เกินกว่าคุณค่าความเป็นจริง เป็นมายาคติส่วนเกินที่หลุดลอยออกไปจากคุณค่าที่แท้จริงไปแล้ว ทำให้การใช้กระจกในฐานคิดดังกล่างจะเกิดการใช้ในจุดที่ไม่จำเป็นมากเกินไป จนทำให้เกิดการแก้ปัญหาต่างๆตามมาภายหลัง รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ในการก่อสร้างที่มากเกินความจำเป็นด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าวัสดุกระจกจะมาพร้อมคุณสมบัติพิเศษที่ยากจะหาวัสดุอื่นใดมาเสมอเหมือน แต่การใช้ก็ต้องแลกมากับการลงทุนที่สูง เพราะค่าวัสดุกระจกนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่แพงที่สุด

Sindhorn Kempinski Hotel

การเปิดใจทั้งฝั่งผู้ออกแบบและฝั่งเจ้าของอาคาร ที่เกิดจากความเข้าใจพื้นฐานการออกแบบที่ถูกต้อง เป็นการออกแบบอาคารที่แก้ปัญหาและเกิดประโยชน์ในระยะยาว ไม่เป็นเพียงเรื่องของสไตล์หรือแฟชั่นของรูปด้านอาคาร การยอมเปิดใจรับรูปแบบ ความเป็นไปได้ใหม่ๆของรูปแบบสถาปัตยกรรม ที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่เป็นการออกแบบตามภาวะข้อจำกัดตามสถานการณ์ของแต่ละงานที่เกิดขึ้นจริง เกิดเป็นผลลัพธิ์เฉพาะตัวที่มีความจำเพาะเจาะจงของแต่ละอาคาร การไม่มีมายาคติหรืออคติไปเองก่อนของการใช้รูปแบบวิธีการในยุคก่อนว่าเป็นของโบราณไม่ทันสมัย แต่หากเราเข้าใจแก่นของการแก้ปัญหาโดยวิธีการต่างๆนั้น เราก็สามารถประยุกต์ใช้มาออกแบบให้เกิดรูปแบบที่สื่อสารความทันสมัย การสะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กรต่างๆที่มีความคำนึงถึงภาพรวมที่เป็นองค์รวมมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางร่วมสมัยที่จะเกิดผลลัพท์ที่น่าสนใจและยั่งยืนกว่าการยึดติดกับภาพจำของความทันสมัยที่ลอกตามๆ กันมา จนกลายเป็นสถานการณ์ที่ทุกที่ทั่วโลกมีอาคารที่เป็นตัวแทนความทันสมัยหน้าตาคล้ายๆกันจนแยกความเฉพาะเจาะจงของถิ่นที่ไม่ออก การขาดอัตลักษณ์ที่นับวัน จะสะท้อนออกมาในแง่มุมทางสังคมต่างๆ และน่าจะกลายเป็นแนวโน้มการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆในอนาคตต่อไป การเลือกใช้กระจกอย่างเหมาะสมจึงไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การออกแบบนั้นๆ

เราไม่ควรเลี่ยงการออกแบบพื้นที่ว่างดีๆ ที่เกิดความงามจากแสงธรรมชาติสวยๆ การเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอก ให้เราใกล้ชิดและเข้าถึงธรรมชาติได้มากขึ้น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตดีๆให้เกิดขึ้นในอาคาร แต่การคำนึงถึงมิติอื่นๆประกอบอย่างรอบด้าน ก็จะทำให้สถาปัตยกรรมชิ้นนั้นๆยั่งยืนและมีประโยชน์สมฐานะกับการใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างอาคารแต่ละครั้ง ดังนั้น การเลือกใช้เทคโนโลยีกระจกที่เหมาะสมในจุดที่แสดงศักยภาพของวัสดุได้เต็มที่ ร่วมกับแนวทางการออกแบบเพื่อความยั่งยืน จึงอาจจะเป็นกุญแจสำคุญในการออกแบบการใช้กระจกที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป การเกิดข้อคิดดังกล่าวทั้งกับวงการสถาปนิกด้วยกันเอง จนถึงสังคมวงกว้าง น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องไม่หลงอยู่กบภาพจำสวยๆของอาคารต่างประเทศที่ขาดการยึดโยงกับลักษณะเฉพาะของถิ่นที่ตั้งอาคาร จนกลายเป็นความน่าเสียดายจากการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

fb.com/planarchitect

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *