JINYUN QUARRIES

DnA_Design and Architecture ชุบชีวิตเหมืองหินรกร้าง 9 แห่งในอำเภอจินหยุน มณฑลเจ้อเจียงของประเทศจีนให้กลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมผ่านการปรับแต่งและสอดแทรกพื้นที่เดิมมากว่าสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งนี้ก็เพื่อให้สถาปัตยกรรมได้บอกเล่าประวัติศาสตร์ในท้องที่อย่างการขุดหินด้วยมือด้วยตัวมันเอง

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: DNA_DESIGN AND ARCHITECTURE

(For English, press here)

อำเภอจินหยุน ในมณฑลเจ้อเจียงของประเทศจีน นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยภูเขาน้อยใหญ่ที่สวยงามแล้ว ที่นี่ทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องการทำเหมืองหินที่ขุดด้วยมือ ซึ่งเป็นงานที่เลี้ยงปากท้องคนในพื้นที่มายาวนานกว่า 1,000 ปี และถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของท้องถิ่นเลย แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนก็หันไปหยิบจับงานประเภทอื่นๆ แทน เหมืองหินที่มีอยู่เต็มบริเวณก็ถูกปล่อยให้รกร้าง หรือไม่ก็ใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงไก่เลี้ยงปลาแทน

เมื่ออำเภอจินหยุนมีแผนการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่พอดี ทางอำเภอจึงเชื้อชวน DnA_Design and Architecture สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมในเมืองจีนให้คิดค้นวิธีพัฒนาพื้นที่เหมืองหินเก่า 9 แห่ง จากเหมืองหินในพื้นที่ที่มีอยู่กว่า 3,000 แห่ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ พร้อมเก็บรักษาวัฒนธรรมการขุดเหมืองหินด้วยมือในคราวเดียวกัน

และแผนการที่ DnA_Design and Architecture คิดค้นมาก็คือ การเปลี่ยนเหมืองหินเก่าเหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่น ห้องสมุด พื้นที่จัดการแสดง หรือพื้นที่พบปะสังสรรค์ เพื่อคนในพื้นที่และสำหรับนักท่องเที่ยวได้ใช้งาน ซึ่งสตูดิโอเลือกใช้วิธีการออกแบบด้วยการปรับเปลี่ยนเหมืองเหล่านี้ด้วยการใส่องค์ประกอบเข้าไปหรือขัดสีฉวีวรรณของเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แทนที่จะก่อสร้างอาคารเข้าไปใหม่ทั้งหมด ซึ่งสถาปนิกมองว่า จะเป็นจากการพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบที่พบเห็นได้อยู่ทั่วไปในประเทศจีนที่เน้นความฟู่ฟ่าจน ‘over-design’ คล้ายกับจะไปสร้าง Disneyland อย่างไรอย่างนั้น

Jinyun Quarries 8

จนถึงตอนนี้ เหมืองหินที่อยู่ในแผนการพลิกฟื้นของ DnA_Design and Architecture ก็เสร็จสมบูรณ์ไป 3 แห่งจาก 9 แห่งแล้ว แห่งแรกคือเหมืองหินหมายเลข 8 ที่สตูดิโอปรับเปลี่ยนเส้นทางและบันไดที่คนงานเคยใช้ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับนั่งเล่นอ่านหนังสือ มีปรับปรุงงานแสงสว่าง และเสริมใส่ชั้นหนังสือ ที่นั่ง พร้อมด้วยราวกันตกลวดลายไม้เข้าไป ซึ่งกลมกลืนกันเป็นอย่างดีกับพื้นผิวสีน้ำตาลส้มของเหมืองหิน

Jinyun Quarries 8

Jinyun Quarries 8

เหมืองหินหมายเลข 9 ถูกพลิกโฉมเป็นพื้นที่สำหรับการแสดง เนื่องจากผนังของเหมืองหินทั้งสองข้างที่เอียงเข้าหากันและมีลักษณะโค้งเว้าแบบโพรงถ้ำนั้น มีประโยชน์กับการขยายเสียงเวลาเกิดการแสดงพอดิบพอดี เหมืองหินนี้มีการใส่พื้นที่เวทีแสดงเป็นเวทีพื้นเรียบ รวมถึงมีพื้นที่รับชมการแสดงที่เป็นพื้นกดระดับ ด้านข้างโอบล้อมด้วยราวกันตกไม้ที่มีการเก็บซ่อนวัสดุดูดซับเสียงด้านหลัง ลดความก้องกังวานของเสียงภายใน

Jinyun Quarries 9

Jinyun Quarries 9

Jinyun Quarries 9

Jinyun Quarries 9

ส่วนแห่งสุดท้ายคือเหมืองหินหมายเลข 10 เหมืองนี้ใช้เป็นพื้นที่แสดงกระบวนการการขุดเหมืองหินด้วยมืออย่างชาวบ้านเคยทำกันมาแต่เก่าก่อน สถาปนิกสร้างอัฒจันทร์เพื่อให้ผู้ชมนั่งดูการขุดเหมือง ซุ้มทางเข้าเหมืองที่สถาปนิกออกแบบไว้ยังมีฟังก์ชันช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกำแพงเหมืองอีกด้วย

นอกเหนือจากเหมืองอีก 6 แห่งที่จะได้รับการพลิกฟื้นใหม่ในอนาคต โครงการนี้ก็มีแผนจะสร้างศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว ร้านอาหาร รวมถึงสวนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ท้องถิ่นในบริเวณทางเดินที่เชื่อมเหมืองหินทั้ง 9 แห่งไว้ด้วยกัน หวังว่าเมื่อแผนการเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ พื้นที่เหมืองหินจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ดังเช่นที่มันเคยเป็นในอดีต

Jinyun Quarries 9

designandarchitecture.net

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *