PINGTAN BOOK HOUSE

นอกเหนือจากการเป็นห้องสมุดเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเปิดโลกกว้างไปกับหนังสือแล้ว ห้องสมุดที่ออกแบบโดย Condition_Lab และ UAL Studio แห่งนี้ยังช่วยให้เด็กๆ ได้ซึมซับกับรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ดูสุ่มเสี่ยงจะสูญหายไปในทุกๆ วันอีกด้วย

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: ZHAO SAI EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ห้องสมุดคือพื้นที่ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้และเปิดมุมมองตัวเองให้กว้างขวางขึ้นผ่านการโลดแล่นเข้าไปในโลกของตัวหนังสือ สำหรับ Pingtan Book House ห้องสมุดในโรงเรียนประถมในอำเภอผิงถัน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน นอกจากห้องสมุดนี้จะเป็นพื้นที่เปิดโลกให้กับเด็กๆ แล้ว มันยังเป็นพื้นที่ให้พวกเขาซึมซับกับรูปแบบอาคารพื้นถิ่น ที่ดูสุ่มเสี่ยงจะสูญหายไปในทุกๆ วันด้วย

Photo: Chen Xiaotie

Pingtan Book House เป็นผลงานการออกแบบที่ Condition_Lab หน่วยออกแบบและวิจัยภายใน School of Architecture, Chinese University of Hong Kong (CUHK) และ UAL Studio หน่วยออกแบบและวิจัยภายใน School of Architecture and Urban Planning, Guizhou University ร่วมปลุกปั้นกับช่างไม้ท้องถิ่น ชาวบ้าน และผู้บริหารโรงเรียนประถมผิงถัน ห้องสมุดเป็นอาคารไม้สามชั้นที่ตั้งอยู่อย่างกลมกลืนและถ่อมตัวกับอาคารเรียนที่ขนาบข้างๆ แต่ถึงอย่างนั้น ตัวอาคารก็ยังโดดเด่นออกมาด้วยกรอบบานหน้าต่างสี่เหลี่ยมที่มีการวางแผ่นโพลีคาร์บอเนตในมุมเฉียงแตกต่างกัน สร้างมิติของแสงตกกระทบที่หลากหลาย อย่างกับอาคารเป็นปริซึมก้อนใหญ่ที่มีหลายเหลี่ยมหลายมุมสะท้อนแสงอย่างไรอย่างนั้น

Photo: Zhao Sai

Photo: Zhao Sai

ความเป็นอาคารโครงสร้างไม้ของห้องสมุด ก็ทำให้อาคารแตกต่างไปจากอาคารคอนกรีตโดยรอบอีกด้วย Condition_Lab ใช้ไม้สนหนามจีน เป็นวัสดุก่อสร้างห้องสมุด ซึ่งเป็นวัสดุที่ชาวดง ชนกลุ่มน้อยในผิงถันสรรค์สร้างบ้านเรือนของตัวเอง ตัวโครงสร้างห้องสมุดถอดแบบมาจากโครงสร้างบ้านไม้ท้องถิ่นที่เรียกว่า Ganlan แต่มีการปรับเปลี่ยนดีเทล เช่น กำแพง หน้าต่าง พื้น ให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น Condition_Lab หวังว่า อาคารนี้จะทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีค่า ผ่านการเข้ามาสัมผัสใช้งานจริงๆ และช่วยเก็บรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ ในยุคที่การก่อสร้างด้วยไม้ ค่อยๆ ถูกทดแทนด้วยคอนกรีต

Photo: Zhao Sai

Photo: Zhao Sai

รายละเอียดของพื้นที่ภายในทั้งหมดได้รับการออกแบบให้เป็นเนื้อเดียวกันผ่านการออกแบบบันไดสองตัวที่หมุนวนพันกันรอบแกนกลางมุ่งไปสู่ด้านบนสุด โดยรอบบันไดรอบล้อมด้วยหนังสือที่แทรกตัวอยู่ในชั้นสี่เหลี่ยม หน้าตาสัมพันธ์ไปกับเฟรมหน้าต่างสี่เหลี่ยมที่เปิดมุมมองออกไปยังสนามกีฬาของโรงเรียนและวิวแม่น้ำที่อยู่ข้างหลัง เฟรมสี่เหลี่ยมที่อยู่ชั้นล่างสุดก็ออกแบบให้เปิดโล่ง ที่ทำให้เด็กๆ สามารถไต่ขึ้นมาแล้วลอดเข้าอาคารไปได้เลย บันไดในอาคารก็ดูแล้วไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ทางเดินอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ให้เด็กๆ นั่งเล่นอ่านหนังสืออย่างสบายอารมณ์เหมือนกัน ตัวแกนกลางของบันไดก็ไม่ได้เป็นแกนทึบ แต่เป็นแกนโปร่งที่เปิดให้เด็กๆ แวบมองกันได้ระหว่างชั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการออกแบบเส้นราวกันตกเป็นลวดลายเส้นตั้ง ป้องกันไม่ให้บรรดาหนูๆ ผู้ซุกซนตกบันได

Pingtan Book House Floor Plan

 

Pingtan Book House Section

Photo: Zhao Sai

จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ Condition_Lab ก็เคยออกแบบห้องสมุดในลักษณะที่คล้ายคลึงกันเช่นนี้มาก่อน นั่นก็คือห้องสมุด Gaobu Book House ที่อยู่ห่างไปทางต้นน้ำประมาณ 10 กิโลเมตร และก็มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันก็คือ เป็นการสร้างสรรค์งานออกแบบใหม่ โดยอ้างอิงมาจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และเป็นห้องสมุดที่สร้างไว้ให้เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ได้เรียนรู้และเห็นโลกกว้างผ่านหนังสือ หวังว่าห้องสมุดทั้งสองนี้จะเป็นประโยชน์จริงๆ กับทั้งเด็กเอง และกับชุมชนอย่างที่สถาปนิกตั้งใจ

Photo: Zhao Sai

Photo: Zhao Sai

condition-lab.com

fb.com/condition.lab

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *