นิทรรศการที่เปิดเผยเรื่องราวปลีกย่อยในชีวิตของ จิม ทอมป์สัน ‘ราชาผ้าไหมไทย’ และมอบสิทธิให้ผู้ชมได้เลือกจดจำเรื่องราวต่างๆ ของจิม ทอมป์สันด้วยตัวเอง
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: KOBKIT THITITHANAWAT EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
“คุณรู้ไหม ตอนที่พวกเขาออกไปค้นหาเขา ก็พบซากเครื่องบินสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ลำหนึ่ง ทั้งนักบินและผู้ช่วยนักบิน เหลือแค่โครงกระดูกนั่งในเก้าอี้ควบคุม ห่างจากถนนใหญ่เพียงไม่กี่ร้อยหลา”
ข้อความข้างต้นคัดลอกจากช่วงหนึ่งของภาพยนตร์สารคดี ‘The House on the Klong’ ซึ่งฉายอยู่ที่กลางผนังห้องจัดแสดงด้านในสุดของนิทรรศการ ‘News From Yesteryear: An Insight into the James H.W. Thompson Foundation’s Archive’ แม้ข้อความดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นหรือเรื่องที่นักแสดงสนทนาอยู่ภายในเรื่อง แต่ก็เป็นส่วนที่น่าสนใจซึ่งยืนยันถึงสิ่งตกค้างของเรื่องราวส่วนเกินที่ไม่ได้ถูกตัดทิ้งจากผู้ประพันธ์ ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจจะถูกลืมไปในสถานะส่วนที่ไม่สำคัญ เช่นเดียวกันกับเรื่องราวชีวิตส่วนอื่นเป็นส่วนรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งเสริมเติมขึ้นจากเรื่องเล่าหลักของ จิม ทอมป์สัน ที่รับรู้กันโดยทั่วไป
นิทรรศการ ‘News From Yesteryear: An Insight into the James H.W. Thompson Foundation’s Archive’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 2 ตุลาคม 2565 ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โดยมี บรูโน่ เลอแมซิเยร์ นักอนุรักษ์อาวุโสประจำมูลนิธิเจมส์ เอช.ดับเบิลยู. ทอมป์สัน เป็นภัณฑารักษ์ ภายในนิทรรศการได้บอกเล่าเรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน ที่เหนือไปกว่า ‘ราชาไหมไทย’ ผ่านบางแง่มุมของชีวิตที่ยังไม่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปหรือบางบทบาทที่น่าสนใจ ด้วยข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของเขา ภาพถ่ายแบบสแนปชอต จดหมายที่เขียนด้วยมือ และของสะสมที่ถูกเก็บไว้อย่างดี ที่ส่วนใหญ่นั้นไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนจากคลังสะสมของนิธิเจมส์ เอช.ดับเบิลยู. ทอมป์สัน ซึ่งได้นำมุมมองที่ ‘สดใหม่’ เสริมด้วยความเป็นกันเองต่อผู้เข้าชม
ผ้าไหมสีเขียวมะนาว ชมพูช็อกกิ้งพิ้งค์ และสีส้มแสดถูกแขวนปล่อยจากเพดานเกือบจรดพื้น กับเรื่องราวบนผนังขาวพร้อมภาพ หนังสือ แปลนเรือนไทย (เรือนฝรั่ง?) ภาพยนตร์สารคดี และเอกสารอื่น ๆ อีกมากมาย เหล่านี้เป็นรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถเห็นได้เมื่อแทรกตัวเข้าไปท่ามกลางเรื่องราวชีวิตของ จิม ทอมป์สัน ในนิทรรศการได้ถ่ายทอดหลักฐาน ข้อมูล เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามาอ่านสิ่งที่ตาสามารถเห็นกับข้อความประกอบ ซึ่งไม่เพียงจะทำให้เข้าใจถึงเรื่องในภาพ แต่บางครั้งยังพาให้ไปไกลกว่าที่ภาพจะเล่าได้ ขยายแพร่ให้เห็นถึงบริบทรายรอบของเหตุการณ์นั้น ๆ และในนิทรรศการยังได้ฉายภาพยนตร์สารคดี ‘The House on the Klong’ ซึ่งมีส่วนภาพวิดีโอบทสัมภาษณ์ช่วงเวลาสั้น ๆ ของ จิม ทอมป์สัน ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่แทรกสลับในบางช่วง ด้วยเพียงระยะเวลาความยาวราว 1 ชั่วโมงซึ่งโดดเด่นด้วยการถ่ายทำ วิธีการเล่าเรื่อง และชวนน่าติดตามนี้ จะช่วยทำให้ได้รู้จักเรื่องราวของ ‘ราชาไหมไทย’ ที่ตั้งอยู่เป็นแกนกลางโอบล้อมด้วยแง่มุมชีวิตอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้มากยิ่งขึ้น อาทิ จิม ทอมป์สัน ในบทบาทภัณฑารักษ์ผู้นำศิลปวัตถุโบราณของไทยไปจัดแสดงหมุนเวียนในหลายพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ว่านิทรรศการในรูปแบบ Archives exhibition มักจะเรียกร้องจัดวางบทบาทให้ผู้ชมเข้ามาเรียนรู้/ รับรู้สิ่งที่นำเสนอ แต่สำหรับพื้นที่ภายในห้องแห่งนี้ได้ชวนให้ผู้เข้าชมมาร่วมสะสม คัดเลือก และ/ หรือเก็บเรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน ในขนาดกระดาษ A5 ที่แขวนอยู่ตามจุดต่าง ๆ รอบห้อง ใส่เข้าในแฟ้มเอกสารสีเขียวมะนาวขนาดย่อมที่แจกให้บริเวณโต๊ะลงทะเบียน นอกจากนั้นแล้วยังมีการแทรก QR Code ขนาดเล็กซึ่งเข้ามาช่วยเสริมและขยายข้อมูลเพิ่มเติมให้ผู้ชมสามารถติดตามและทำความเข้าใจในเรื่องราวหรือประเด็นนั้น ๆ ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และอีกหนึ่งในหลายสิ่งที่น่าสนใจของนิทรรศการคือ วัตถุจัดแสดงหมายเลข 29 ซึ่งเป็นตั่งไม้สักแกะสลักแบบสยาม ที่เขามักจะคลี่ผ้าไม้ไหมบนตั่งดังกล่าวเมื่อครั้งอยู่ที่ร้านใหม่ของเขา (พ.ศ. 2498) แต่ในขณะนี้ตั่งตัวนี้ไม่ได้ถูกใช้โชว์ผ้าไหมอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นที่นั่งซึ่งผู้เขียนกับครอบครัวผู้ชมชาวต่างชาติกำลังนั่งชมภาพยนตร์สารคดี โดยช่วงที่ผู้เขียนกำลังชมภาพยนตร์อยู่นั้นตั่งตัวนี้ก็ได้สร้างความฉงนให้กับสองผู้ชมวัยรุ่น ที่กำลังพูดคุยถามหาวัตถุจัดแสดงหมายเลข 29 ก่อนหันมาเห็นบริเวณตั่งไม้ที่แปะสติ๊กเกอร์หมายเลข 29 บริเวณมุม ซึ่งมีคนนั่งอยู่ ทั้งสองชะงักดูสักครู่และเดินผ่านไป แน่นอนว่า ตั่งตัวนี้ไม่ได้เป็นเพียงวัตถุสะสมที่นำมาตั้งวางเป็นศิลปวัตถุซึ่งรุ่มรวยด้วยความเก่าแก่และเรื่องเล่าน่าสนใจให้ได้ชมเพียงเท่านั้น แต่ยังคงสถานะการใช้งานให้คงอยู่พร้อมไปกับการเป็นวัตถุจัดแสดง พร้อมร่วมหล่อหลอมสร้างเรื่องราวไปกับบริบทที่กำลังจะถูกแต่งเติมและสร้างขึ้นใหม่ทุก ๆ วันระหว่างช่วงนิทรรศการ
นิทรรศการนี้พาผู้ชมเข้าถึงและเรียนรู้เรื่องราวทั่วไปในแง่มุมชีวิตส่วนอื่นที่น่าสนใจของ จิม ทอมป์สัน เพิ่มเติม ผ่านชุดสะสมของมูลนิธิเจมส์ เอช.ดับเบิลยู. ทอมป์สัน ที่ในอีกแง่หนึ่งได้ช่วยให้สามารถตระหนักถึงการมีอยู่ของเรื่องราวในบริบทส่วนอื่นซึ่งบางครั้งอาจเหมือนจะไม่สำคัญ แต่ก็ไม่อาจจะละเลยได้ว่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเสี้ยวหนึ่งที่ร่วมก่อร่างตัวตนหนึ่งของคน ๆ หนึ่งขึ้นมา แน่นอนว่าผู้ชมจะไม่รู้สึกขัดขืนหรือถูกบังคับให้แค่ชมและอ่านข้อความประกอบ เพราะในพื้นที่นี้ผู้ชมจะได้รับบทบาทเป็นผู้เลือกหยิบ/ เก็บและจดจำเรื่องราวด้วยตนเอง