NIEMEYER PAVILION AT CHÂTEAU LA COSTE

Chateau la Coste - Provence - France

‘เส้นโค้ง’ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ในผลงานทุกชิ้นของ Oscar Niemeyer ไม่เว้นแม้แต่ผลงานชิ้นนี้ที่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขา ลองดูแนวคิดเบื้องหลัง Pavilion ที่สะท้อนแนวคิดการใช้เส้นโค้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดของ Niemeyer ที่ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม

TEXT: WICHIT HORYINGSAWAD
PHOTO: STÉPHANE ABOUDARAM / WE ARE CONTENT(S) EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

“I am not attracted to straight angles or to the straight line, hard and inflexible, created by man. I am attracted to free-flowing, sensual curves. The curves that I find in the mountains of my country, in the sinuousness of its rivers, in the waves of the ocean, and on the body of the beloved woman. Curves make up the entire universe, the curved universe of Einstein.” – The Curves of Time

ในช่วงบั้นปลายชีวิตหลายครั้งที่ให้สัมภาษณ์ Oscar Niemeyer (1907-2012) มักอ้างถึงประโยคด้านบนที่เป็นบทเปิดหนังสืออัตชีวประวัติ The Curves of Time (2000) ที่เขียนขึ้นมาเพื่อบันทึกความทรงจำที่เขามีต่อผู้คน สถานที่ เรื่องราวของชีวิตผู้คนต่างๆ รอบๆ ตัว และการทำงานสถาปัตยกรรม ดูเหมือนว่า ‘เส้นโค้ง’ น่าจะเป็นสาระสำคัญของงานสถาปัตยกรรมที่เขาพยายามสรรค์สร้างมันขึ้นมา ซึ่งสำหรับเขาแล้วงานสถาปัตยกรรมนั้นเกิดจากจินตนาการของสถาปนิกแต่ละคนที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้น เขาไม่ค่อยชอบถกเถียงเรื่องทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมกับใครเพราะเชื่อว่าในการสร้างงานสถาปัตยกรรมนั้นการกำหนดแนวคิดในการทำงานก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของสถาปนิกแต่ละคนจะสรรค์สร้างความงามขึ้นมา สำหรับเขาแล้ว น้ำหนักของเรื่อง ‘ความงาม’ (beauty) นั้นสำคัญมากกว่าประโยชน์ใช้สอย (function) และเรื่องอื่นๆ ของสถาปัตยกรรม

Casa das Canoas (1953) I Photo courtesy of Fundação Oscar Niemeyer

ในปี 1953 Max Bill (1908-1994) ซึ่งเป็นสถาปนิกรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งหลังจากที่ได้รับเชิญให้ไปที่บราซิล ซึ่งเป็นการบันทึกเนื้อหาที่เขาได้ไปพูดที่ The University of São Paulo บทความนั้นมีชื่อว่า Architect, Architecture and Society (1953) ซึ่งวิจารณ์งานของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในบราซิลว่าให้น้ำหนักกับเรื่องรูปทรงและความเป็นปัจเจกมากกว่าจะสนใจเรื่องประเด็นทางสังคมต่างๆ ว่าตัวสถาปัตยกรรมนั้นควรมีหน้าที่เข้าไปดูแลเรื่องจัดการเรื่อง human walfare ซึ่ง Max Bill เชื่อว่าเป็นประเด็นที่สำคัญในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในโลกตะวันตก ซึ่งเขามีความเชื่อว่าสถาปนิกควรทำงานออกแบบเพื่อรับใช้สังคมในแง่นี้

สำหรับ Oscar Niemeyer ถึงแม้เขาเป็นฝ่ายซ้ายและสนับสนุนความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคฝ่ายซ้ายในบราซิล แต่เขามีความเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมนั้นไม่ค่อยมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่าไหร่ (ซึ่งฟังแล้วอาจจะย้อนแย้งหากเราพิจารณาจากความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองของความเป็นบราซิลใหม่ (New Brazil) จากผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมของใน Brasilia (1960)) สำหรับเขาแล้วการเมืองเป็นเรื่องของการปฎิวัติ เรื่องของการจัดตั้ง เรื่องของการออกไปเรียกร้องกันบนท้องถนนเสียมากกว่า

Niemeyer pavilion at Château La Coste l Photo: Stéphane Aboudaram / We Are Content(s)

ในหนังสือประกอบนิทรรศการ Oscar Neimeyer: A Legend of Modernism (2003) เขาได้เขียนบทความสั้นๆ My Architecture (2003) เนื้อหาในบทความนี้ เขาแบ่งยุคของงานสถาปัตยกรรมของตัวเองออกเป็น 5 ยุค โดยงานในช่วงแรก คือ ‘Pampulha’ เป็นยุคที่เขาตั้งใจต่อต้านความเป็นเหลี่ยม ความเป็นกล่องที่ก่อตัวขึ้นจากความเป็นเหตุเป็นผลในโลกของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เขาเริ่มสนใจเส้นโค้งในงาน และเริ่มต้นใช้คอนกรีตในการทำงานออกแบบ และพัฒนาไปสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับ sculptural freedom และการใช้คอนกรีตแบบไปให้สุดข้อจำกัด ของมันในช่วง ‘From Pampulha to Brasilia’ และ ‘Brasilia’ ไปจนถึงช่วงที่เขาสนใจเทคนิคทางวิศกรรรมทางด้านโครงสร้างและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง ‘Work Overseas’ และ ‘New Building’ หากลองดูผลงานของเขาไม่ว่ายุคไหน แน่นอนว่าเส้นโค้งนั้นยังอยู่ในความสนใจของเขาตลอดเวลา

และในปีนี้เองพาวิลเลียนหลังล่าสุดในโครงการ Château La Coste ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาคารหลังสุดท้ายที่ Oscar Niemeyer ได้ sketch เอาไว้ (ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2012) ได้สร้างแล้วเสร็จหลังจากใช้เวลาในการทำงานออกแบบและก่อสร้างกว่า 11 ปี ตัวอาคารเป็นพาวิลเลียนหลังใหม่ท่ามกลางพื้นที่ของไร่องุ่น ที่รายล้อมไปด้วยผลงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกและศิลปินชั้นนำที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของสถาปนิกอย่าง Richard Rogers, Renzo Piano, Tadao Ando, Kengo Kuma, Frank Gehry และ Jean Nouvel รวมถึงผลงานของศิลปินอย่าง Richard Serra, Tom Shannon, Ai Weiwei, Hiroshi Sugimoto และ Louise Bourgeois

Niemeyer pavilion at Château La Coste l Photo: Stéphane Aboudaram / We Are Content(s)

Niemeyer pavilion at Château La Coste l Photo: Stéphane Aboudaram / We Are Content(s)

กระบวนการในการทำงานออกแบบชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการที่ Jair Valera ซึ่งเป็นสถาปนิกที่ทำงานกับ Oscar Neimeyer มาอย่างยาวนาน เดินทางไปที่ Château La Coste ในปี 2010 เพื่อเลือกที่ตั้งของตัวพาวิลเลียนก่อนที่จะกลับมาคุยแลกเปลี่ยนกับ Oscar Neimeyer ที่ออฟฟิศ จนพัฒนากลายมาเป็นภาพสเก็ตให้ Paddy McKillen ผู้ก่อตั้งโครงการนี้เลือก จากทางเลือกที่ได้นำเสนอไป 4-5 แบบ และในการไปเยือน Oscar Neimeyer ที่สตูดิโอของเขาที่ชายหาด Copacabana ที่อยู่ในเมือง Rio de Janeiro ในปี 2011 Oscar Neimeyer ได้อธิบายถึงที่มาของฟอร์มอาคารหลังนี้ว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก “ทรวดทรงของผู้หญิง” (the female form) ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีที่มาของแรงบันดาลใจก็ไม่ค่อยจะต่างไปจากงานสถาปัตยกรรมอีกหลายงานที่เขาเคยออกแบบเอาไว้

Niemeyer pavilion at Château La Coste l Photo: Stéphane Aboudaram / We Are Content(s)

Niemeyer pavilion at Château La Coste l Photo: Stéphane Aboudaram / We Are Content(s)

Niemeyer pavilion at Château La Coste l Photo: Stéphane Aboudaram / We Are Content(s)

Niemeyer pavilion at Château La Coste l Photo: Stéphane Aboudaram / We Are Content(s)

ด้วยลักษณะของพาวิลเลียน ที่ประกอบไปด้วยฟอร์มปิดรูปทรงกระบอกซึ่งภายในใช้เป็น auditorium ขนาด 80 ที่นั่งที่เชื่อมต่อกับอาคารเรือนกระจกที่มีผนังโค้งโดยรอบที่มีโครงสร้างของเสาเรียงขนาดไปกับตัวผนัง ด้วยความเรียบง่ายของตัวโครงสร้างที่ไม่หวือหวาอาจจะทำให้เรานึกไปถึงงานที่เขาเคยทำในช่วงแรก (Pampulha) อย่างงานอย่าง Casa do Baile (1943) และงานออกแบบบ้านของเขาเองอย่าง Casa das Canoas (1953) ฟอร์มรูปทรงกระบอกที่เชื่อมอาคารส่วนที่โค้งว้าวที่เราเห็นเสาเรียงรายอยู่หลังกระจกโค้งใสอาจจะทำให้เรานึกถึงเสากลมทีเรียงรายรับกับ corridor ของทางเดินผ่านสวนและวิวของทะเลสาบที่มีลักษณะโค้งรูปเคลื่อนที่เชื่อมที่เชื่อมตัวอาคารหลักเขากับพื้นที่ของโรงอาหารของ Casa do Baile ในขณะผนังกระจกของตัวอาคารทางด้านทิศเหนือด้วยฟอร์มโค้งสะบัดไปชนกับรูปทรงปิดของผนังสีขาวทรงกระบอกของพื้นที่ส่วน auditorium และการยื่นหลังคาของโครงสร้างออกไปนอกแนวผนังกระจกบริเวณสระน้ำทำให้เกิดจังหวะที่แยกจากกันระหว่างหนังและแนวหลังคาโค้งอาจจะทำให้เรานึกถึงวิธีเดียวกันนี้ที่เขาเคยทำไว้ที่ Casa das Canoas

Casa do Baile (1943) I Photo: Gabriel Fernandes

Casa das Canoas (1953) I Photo courtesy of Fundação Oscar Niemeyer

Casa das Canoas (1953) I Photo: Julian Weyer

ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบผลงานชิ้นนี้กับผลงานชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมาของ Oscar Niemeyer พาวิลเลียนหลังนี้อาจจะไม่ใช่งานที่น่าสนใจมากนัก โดยเฉพาะถ้าพิจารณาลักษณะของโครงการมีลักษณะที่เป็นโครงการทางวัฒนธรรมที่ทำเพื่อการค้าในโลกทุนนิยม ซึ่งหากดูจากการทำงานต่อเนื่องมาอย่างยาวนานด้วยความเชื่อทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายของเขา งานออกแบบส่วนใหญ่มักจะเป็นงานประเภท พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย อนุสรณ์สถาน หรือไม่ก็อาคารทางสถาบันต่างๆ เป็นส่วนมาก จะพบว่าไม่บ่อยนักที่เขาจะทำงานในโครงการที่มีลักษณะอย่างโครงการนี้ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นผลงานที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ในฐานะผลงานชิ้นสุดท้ายของสถาปนิกสำคัญคนหนึ่งที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

oscarniemeyer.org.br

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *