art4d พูดคุยกับกุลธิดา ทรงกิตติภักดีถึงเรื่องราวเส้นทางชีวิตตั้งแต่การเป็นสถาปนิกคนเดียวจากทั้งโลกที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโปรแกรมฝึกงานของ Renzo Piano Building Workshop และความท้าทายล่าสุดอย่างการเปิดออฟฟิศของตัวเองในประเทศไทยในชื่อ HAS design and research
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF HAS DESIGN AND RESEARCH EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
จากปารีสในฐานะสถาปนิกเพียงคนเดียวจากใบสมัครนับพันที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโปรแกรมทุนฝึกงานของ Renzo Piano Building Workshop ไปยังฮ่องกงและจีนในฐานะ Senior Architect และอีกหลายวาระในฐานะอาจารย์ curator นิทรรศการ และนักเขียน กุลธิดา ทรงกิตติภักดี เป็นสถาปนิกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์เข้มข้นในหลากหลายรูปแบบและบทบาท ตอนนี้เธอกำลังก้าวเข้าสู่ความท้าทายใหม่ในชีวิต กับการเปิดออฟฟิศในประเทศไทยของตัวเองที่ชื่อ HAS design and research ร่วมกับพาร์ทเนอร์เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ซึ่งได้ฝากผลงานไว้แล้วทั้งในประเทศไทย และประเทศจีน
art4d มีโอกาสได้พูดคุยถึงเส้นทางจนถึงวันนี้ของเธอ
art4d: ในหนังสือ ‘ตึก ตึก โป๊ะ จังหวะชีวิต สถาปนิก ทุนเปียโน สู่แดนมังกร’ คุณเคยเขียนไว้ว่าตอนแรกที่บ้านไม่สนับสนุนให้เรียนสถาปัตยกรรมด้วยซ้ำ แล้วคุณมาลงเอยกับการเรียนด้านนี้ได้อย่างไร
Kulthida Songkittipakdee: ทัศนคติของพ่อแม่ในสมัยนั้นมักคิดว่า เรียนคณะสถาปัตย์ฯ งานหนัก เงินน้อย แต่เราเองก็รู้ตัวว่าอยากเป็นสถาปนิกตั้งแต่สิบขวบ ตอนนั้นเราไปเที่ยวบ้านญาติ แล้วเห็นญาติที่เรียนคณะสถาปัตย์ฯ ทำงานส่งอาจารย์ พอเห็นก็รู้สึกว่ามันคือสิ่งที่อยากทำ เราชอบศิลปะ ชอบวาดรูป ชอบประดิษฐ์ ชอบอ่านนิยาย sci-fi ชอบความคิดสร้างสรรค์ที่มัน based on ความเป็นจริง ตั้งแต่นั้นมาก็บอกพ่อแม่ตลอดว่าอยากเป็นสถาปนิก เรียกว่าดื้อ ดื้อจะทำในสิ่งที่ชอบ
จากนั้นก็มุ่งมาเส้นทางนี้ตลอด แล้วก็สอบติดคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ลึกๆ เขาก็ดีใจที่เราติดจุฬาฯ แต่ก็ยังกังวลเรื่องการทำงานกับการเรียนที่เหนื่อย จำได้เลยมีประโยคหนึ่งตอนเอ็นท์ติด พ่อพูดประมาณว่า ‘เธอเลือกทางของตัวเองแล้ว ลำบากแค่ไหนก็ต้องอดทน’ เราเลยตั้งใจว่าต้องไปให้สุด อย่ามาท้อถอย การไม่สนับสนุนในตอนแรกมันเลยเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ถึงความฝันที่ตั้งใจไว้
สุดท้ายเรียนจบ ได้เกียรตินิยม มีงานทำ พ่อแม่เขาก็ไม่กังวลอะไรแล้ว เหมือนเป็นการพิสูจน์ว่าเราถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เขาน่าจะเห็นพลังเราในตอนนั้นว่าอยากเป็นอาชีพนี้จริงๆ
ตอนที่ได้ทุนไปฝึกงานที่ Renzo Piano Building Workshop (RPBW) ที่ปารีส ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตและเป็นผลลัพธ์ของความตั้งใจ พอที่บ้านรู้ข่าว เขาภูมิใจมากและพูดกับเราว่า ‘เธอมาถูกทางแล้วนะ’ จากตอนแรกที่เขาไม่เห็นว่าเราจะอยู่ในเส้นทางนี้ได้ สุดท้ายเขาก็ยอมรับว่าเธอเลือกถูกแล้วที่มาทางนี้
art4d: คุณผ่านการทำงานมาหลากหลายบริบทมาก ตั้งแต่ประเทศไทยหลังคุณเรียนจบ ไปถึงที่ RPBW ที่ฝรั่งเศส รวมไปถึงที่ฮ่่องกงและจีน ได้เห็นความแตกต่างและได้เรียนรู้อะไรบ้าง
KS: แต่ละที่ต่างกันมากในรูปแบบการทำงาน (หัวเราะ) เริ่มต้นคือหลังเรียนจบทำที่ A49 โชคดีที่จังหวะที่เราเข้าไปได้ทำโปรเจ็คต์ต่างๆ ในช่วงการทำงานที่ต่างกันพอดี คือได้ทำตั้งแต่ concept stage เขียนแบบก่อสร้าง พัฒนาแบบ คุยกับวิศวกร ไปดู site หน้างานจนอาคารที่ออกแบบแล้วเสร็จ โดยตอนนั้นเป็นอาคารสเกลเล็ก มันก็ทำให้เราเห็นภาพรวมของการสร้างสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งขึ้นมาในเมืองไทย
แล้วเราก็สมัครทุนไปฝึกงานกับ Renzo Piano ที่ฝรั่งเศสและได้รับเลือกเพียงคนเดียวจากผู้สมัครทั่วโลก ที่ RPBW ตอนนั้นเราได้ทำอาคารสเกลใหญ่กับทีมที่ใหญ่ขึ้น และครอบคลุมตั้งแต่ช่วงออกแบบเบื้องต้น กับการออกแบบรายละเอียด ทุกคนในทีมจะมีบอร์ดของตัวเอง เป็นบอร์ดแสดงงานว่าเราทำอะไรอยู่ใน 1 อาทิตย์ เพื่อคุยกับคนในทีม พอครบอาทิตย์ ทั้งทีมจะรีวิวงานกับพาร์ทเนอร์ ครบเดือน คุณ Renzo มาปารีสก็จะรีวิวภาพใหญ่โปรเจ็คต์ทั้งหมด มันทำให้เห็นภาพรวมของงาน และเห็นว่าแต่ละคนเขามีสไตล์การศึกษางานที่ต่างกัน เพราะคนในบริษัทมาจากหลากหลายเชื้อชาติมาก
ระยะเวลาในแต่ละโปรเจ็คต์ก็จะนานถ้าเทียบกับตอนอยู่ไทย แต่ละครั้งแต่ละ stage จะมีช่วงระยะเวลาให้สถาปนิกได้ศึกษารายละเอียดเข้มข้น ลงรายละเอียดเยอะ พอ present ลูกค้าก็เสนองานกันเป็นวันเลย เพราะทุกคนศึกษามาแน่นมากในแต่ละจุด
พอย้ายมาทำงานที่ฮ่องกง ก็มาทำกับบริษัทชื่อ Rocco Design Architects Associates ซึ่งคุณ Rocco Yim ถือเป็น master architect คนหนึ่งที่นั่น การทำงานที่นี่แนวคิดทั้งหมดจะต้องเคลียร์ ชัดเจน ต้องบอกให้ได้ว่า ขั้นตอนที่ 1 ก่อนจะมา 2 คืออะไร และทำไมถึงได้เป็น 3 เราก็ได้เรียนรู้วิธีการคิด การประมวลผลที่ตรงไปตรงมา และเริ่มขยับบทบาทมาดูภาพรวมของงานจัดการโปรเจ็คต์ ทำ detail แบบละเอียด และประสานงานกับที่ปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อให้อาคารสร้างเสร็จสมบูรณ์
จากนั้นมีเหตุให้ต้องย้ายเมืองก็ได้โอกาสไปทำออฟฟิศอเมริกา NBBJ สาขาเซี่ยงไฮ้ เป็นบริษัทสุดท้ายก่อนออกมาเปิดออฟฟิศของตัวเอง จากประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาและความทุ่มเทในการทำงานที่เจ้านายมองเห็น เราก็ก้าวหน้าเร็วมากได้ทำงานในระดับ senior เป็นหัวหน้าทีมออกแบบ เลื่อนขั้นเป็นตำแหน่ง Associate ที่มีอายุน้อยที่สุดของบริษัท โปรเจ็คต์ที่ทำสเกลใหญ่มากเป็นแสนตารางเมตร ทำตั้งแต่ประกวดแบบจนถึงก่อสร้างจบ
สิบกว่าปีกับการทำงานในต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เราได้เห็นกระบวนการทั้งหมดกว่าสถาปัตยกรรมจะเกิดขึ้น เลยทำให้เรารู้ขั้นตอนว่ากว่าอาคารหนึ่งหลังจะสร้างสำเร็จในแต่ละประเทศมันมีความยากลำบากอย่างไร คือถ้าเราไปแตะนิดหน่อย ดูแค่วิธีคิดเขา เราคิดว่ามันยังไม่ได้เรียกว่าเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศนั้นจริงๆ
art4d: หลังจากนั้นทำไมคุณถึงเลือกมาเปิดออฟฟิศของตัวเอง
KS: เราเป็นคนที่มุ่งมั่นกับการทำงานในวิชาชีพนี้มาก ยิ่งทำยิ่งได้เรียนรู้ บางทีเจองานยากก็ท้อแต่ท้อแล้วก็ลุกมาสู้ต่อ และการอยู่ต่างประเทศตัวคนเดียว ทำให้ 90% ของเวลาในชีวิตมันคืองานเลย พอมาถึงจุดที่ทุกอย่างมั่นคง
เราก็เริ่มกระโจนหาความท้าทายใหม่ ตอนแรกเริ่มจากการไปสอนวิชาสตูดิโอออกแบบให้กับมหาวิทยาลัย Xi’an Jiaotong-Liverpool (XJTLU) เป็นมหาวิทยาลัย Liverpool ของอังกฤษมาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่จีน พอไปสอนก็พบว่าชอบสอน ชอบถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน พอดีกันกับพาร์ทเนอร์ชาวไต้หวัน คุณเจอร์รี่ ที่ทำงานกับ Kengo Kuma มาหลายปี ออกแบบอาคารในจีนสร้างเสร็จไปแล้วหลายหลัง เขาสนใจศึกษาค้นคว้าสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มาชวนให้เราค้นคว้าร่วมกันกับเขา จนต่อยอดเป็นงานเขียน เป็นนิทรรศการ เราก็รู้สึกว่ามันถึงเวลาที่เราจะเริ่มทำอะไรที่ต่างไปจากการทำงานในออฟฟิศเดิม ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ HAS design and research
สรุปสั้นๆ ก็คือ จุดเริ่มต้นของ HAS คือการหันกลับมามองสถาปัตยกรรมในบ้านเกิดของตัวเอง กลับมาค้นคว้าเรื่องราวสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเมืองไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเริ่มต่อยอดไปเรื่องอื่น
art4d: ทำไมคุณถึงสนใจกลับมาศึกษาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
KS: ตอนที่คุณเจอร์รี่ เขาเริ่มศึกษาข้อมูล เขาก็ถามคำถามเราหลายคำถาม แต่บางทีเราก็ไม่รู้ เราเป็นคนไทยแต่ไม่เห็นรู้เลย บางทีเขารู้มากกว่าเราด้วยซ้ำ มันน่าจะเริ่มจากพื้นฐานการศึกษาของเราที่ไม่เคยเรียนว่าสถาปัตยกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างไร เนื้อหาที่เรียนส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้จากโลกตะวันตก พอมาทำงานก็ไม่มีใครพูดถึงว่าจะเอาความเป็นท้องถิ่นของไทยมาใช้อย่างไร คนส่วนใหญ่ไปสนใจเทรนด์สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่นไปซะมาก
ทีนี้เราก็เลยเริ่มไปศึกษาดูประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตั้งแต่ช่วง modern architecture แล้วปะติดปะต่อกับประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองสมัยนั้น ทำให้เข้าใจภาพรวมได้ว่าที่อาคารหน้าตาอย่างนี้มีที่มาจากอะไร อิทธิพลแนวความคิดตะวันตกส่งผลอย่างไรกับสถาปัตยกรรมในบ้านเราปัจจุบัน แล้วก็ไม่ได้ดูเฉพาะแค่ในไทย แต่ก็ค้นคว้าประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่าพัฒนาการเป็นอย่างไร
การคิดวิเคราะห์ที่มาที่ไปเหล่านี้ก็กลายมาเป็นแนวทางของ HAS design and research คือพอเราเป็นสถาปนิกทำงานในวิชาชีพทุกวัน บางทีเราไม่ได้กลับมาคิดหรือวิเคราะห์ดูว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันคืออะไร หรือสิ่งที่อยู่รอบตัวมันมีที่มาอย่างไร โปรเจ็คต์ของเราเลยมักจะเริ่มจากการตั้งคำถามจากประเด็นที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว แล้วก็เอามาใช้ในการออกแบบ
art4d: เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าคุณเอาแนวทางเหล่านี้มาใช้กับการออกแบบอย่างไร
KS: อย่างเช่นงาน Phetkasem Artist Studio งานนี้เกิดจากความสนใจของบริบทอาคารทาวน์เฮาส์หรือตึกแถวที่มักจะใช้วัสดุท่อหรือกล่องโลหะเป็นวัสดุหลักของรั้วหน้าอาคาร แต่กลับไม่มีใครใช้วัสดุนี้ในมุมมองอื่น เราก็เลยทดลองทำรั้วโลหะในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม โดยให้รั้วกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แทนการกั้นขอบเขตแบบที่เคยเป็นมาแต่เดิม Museum of Modern Aluminum Thailand ก็มาจากความสนใจในโลหะเหมือนกัน มาจากป้ายโฆษณาบนถนนราชพฤกษ์ที่เป็นถนนหน้าอาคาร เราเห็นว่าเป็นถนนที่รถวิ่งเร็วมาก แล้วตรงนี้ก็มีป้ายโฆษณาที่ทำจากวัสดุโลหะเต็มไปหมด แต่กลับไม่เห็นว่าวัสดุโลหะเหล่านั้นจะช่วยให้ป้ายโดดเด่นได้อย่างไร เราเลยทดลองนำโลหะมาเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้อาคารโดดเด่น แตกต่าง เป็นการสร้างความสนใจให้กับสิ่งที่คนไม่ได้สนใจ
หรืออย่างโปรเจ็คต์ที่จีน The Glade Bookstore ที่ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือทั่วไปแต่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เราเริ่มจากประเด็นที่ว่าจะนำวัฒนธรรมเข้ามาในพื้นที่นี้อย่างไร โดยที่สื่อความเป็นเมืองฉงชิ่งที่ร้านหนังสือตั้งอยู่ เราเลยเอาคาแร็กเตอร์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เป็นบ้านใต้ถุนสูงเข้ามาใส่ในการออกแบบภายใน แต่เราก็ไม่ได้ใช้วัสดุพื้นถิ่นตรงๆ เพื่อจำลองภาพโบราณเหล่านั้น เราเลือกใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติผ่านการใช้งานของพื้นที่ โดยเป็นการสื่อลักษณะของท้องถิ่นในรูปแบบสมัยใหม่แทน
art4d: เห็นว่าคุณมักจะเอาความเป็นท้องถิ่นมาตีความใหม่บ่อยๆ คุณมองว่าการสร้างสิ่งใหม่มันสำคัญอย่างไร ในขณะที่บางคนอาจจะเลือกเก็บตัวตนท้องถิ่นแบบดั้งเดิมไว้ เพราะกลัวมันจะสูญหาย
KS: เรามองว่ามันคือพัฒนาการ ถ้าเราเอาของเก่ากลับมาใช้เหมือนเดิม มันก็จะไม่มีพัฒนาการของสถาปัตยกรรมเกิดขึ้น และการสร้างรูปแบบใหม่ๆ มันก็ช่วยเปิดโลก หรือสร้างจินตนาการให้กับผู้คนเราชอบทำงานที่สามารถเปิดประเด็นใหม่ๆ หรือทำให้มุมมองที่คนมีต่อสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ เปลี่ยนไป อย่างเช่น Botanica Meditation Centre พื้นที่สมาธิในสวนส่วนตัวของบ้าน ที่เจ้าของบ้านอยากเปิดให้คนในหมู่บ้านมาใช้ได้ มันก็เป็นการเปลี่ยนจากพื้นที่สวนส่วนตัว กลายเป็นสวนที่คนภายนอกรู้สึกมีส่วนร่วมด้วย อีกงานหนึ่ง Casa de Zanotta ที่เมืองเหอเฟย์ งานนี้เราก็เปลี่ยนข้อจำกัดของพื้นที่ที่มีเสามากมายในอาคาร ให้กลายมาเป็นเรื่องราวในการออกแบบ โดยออกแบบให้เสาเหล่านี้มีลักษณะเหมือนหินที่ถูกตัดไปมา เหมือนกับธรรมชาติท้องถิ่นในมณฑลนี้ที่มีภูเขามากมาย
art4d: จำกัดสเกลโปรเจ็คต์ที่รับหรือเปล่าว่าต้องเป็นโปรเจ็คต์สเกลไหน
KS: ไม่ได้จำกัดสเกลเลย ถ้าพรุ่งนี้ลูกค้ามาบอกว่า ผมอยากให้คุณสร้างตึกสูง เราก็อยากทำ แต่ตอนนี้สเกลโปรเจ็คต์ที่เรารู้สึกควบคุมได้ และสบายใจในการทำ ก็จะเป็นขนาดเล็ก และขนาดกลาง แต่เราก็จะมีงานสะท้อนแนวความคิดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวิวัฒนาการของเมืองและนำเสนอมุมมองของ HAS ผ่านการออกแบบที่ต้องการเปิดประเด็นใหม่ๆ ให้กับเมือง เช่น ผลงาน Bangkok Civic Center ที่เราศึกษาวิวัฒนาการตึกสูงในไทย ไปจนถึงการเป็นอาคารศูนย์รวมของพื้นที่สาธารณะ ธรรมชาติ กิจกรรมเมือง และคมนาคม เพื่อสื่อถึงความเป็นศูนย์กลางเมืองอย่างแท้จริง หรืองาน Hua Lamphong Field ที่เราร่วมวาดภาพฝันของพื้นที่หัวลำโพง 121 ไร่ ว่าจะสร้างกิจกรรมใหม่ให้กับเมืองและใช้ประโยชน์อาคารอนุรักษ์ในพื้นที่ทั้งหมดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้คนได้อย่างไร
art4d: ทำไมคุณถึงสนใจทำงานในบทบาทอื่นๆ ด้วย เช่นการเป็นนักเขียน การเป็น curator นิทรรศการ
KS: เราเป็นคนชอบหาโอกาส แล้วพอได้โอกาสก็จะทำมันให้ดีที่สุด เรื่องการเขียน จริงๆ เป็นคนชอบเขียนตั้งแต่เด็ก มาเป็นนักเขียนจริงจังเริ่มมาจากตอนไปอยู่ต่างประเทศสมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คให้เราได้โพสอะไรต่อมิอะไร ค่าโทรศัพท์ก็แพง เลยใช้การเขียน จดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้มา และก็อยากถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้เหมือนเราด้วย ก็เริ่มเขียนบทความลง art4d จากนั้นก็เขียนหนังสือ ‘ตึก ตึก โป๊ะ’ ที่บันทึกเล่าประสบการณ์การเป็นสถาปนิกในต่างแดนของตัวเอง
หลักๆ เราก็ทำงานในบทบาทสถาปนิก มีเวลาว่างก็เขียนเล่าเรื่องสิ่งที่สนใจไปลงนิตยสารต่างๆ แล้วมันก็มีจังหวะช่วงที่เริ่มค้นคว้าสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราก็เริ่มเขียนในรูปแบบวิชาการมากขึ้น และได้เป็นบรรณาธิการรับเชิญให้กับนิตยสารไต้หวันชื่อ Taiwan Architecture (TA) ที่พูดถึงสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในไทย แล้วก็ได้โอกาสทำนิทรรศการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยที่เซี่ยงไฮ้ เป็นนิทรรศการขนาดเล็กกลางเมือง และต่อยอดไปทำเป็นนิทรรศการขนาดใหญ่ที่กวางโจว ไปจนถึงการเป็นบรรณาธิการรับเชิญให้กับนิตยสารสถาปัตยกรรมหัวอื่นๆ ในจีนตั้งแต่นั้นมา
art4d: บทบาทเหล่านี้มันส่งเสริมการทำงานเป็นสถาปนิกของคุณหรือเปล่า
KS: มากเลย เพราะมันช่วยให้ทบทวน คิด วิเคราะห์ งานสถาปัตยกรรมที่เราทำว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่อย่างนั้นมันจะทำไปโดยที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจน ทำให้เรามี critical thinking อยู่ตลอดเวลา
art4d: จากประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา คุณคิดว่าพอมีข้อสรุปไหมว่าสถาปัตยกรรมที่ดีควรเป็นอย่างไร
KS: ในยุคนี้เราเห็นเทรนด์ที่สถาปนิกจะต้องเอาผลงานไปประกวด ประกวดแล้วได้รางวัล เราก็ตั้งคำถามนะว่าสุดท้ายแล้วรางวัลมันเป็นสิ่งที่กำหนดได้จริงหรือเปล่าว่าสถาปัตยกรรมอันนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่ดี จริงๆ แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคน บางคนบอกว่าดี แต่บางคนก็อาจจะว่าไม่ นิยามของสถาปัตยกรรมที่ดีน่าจะอยู่ที่ความมุ่งหมายของสถาปนิกมากกว่าว่าต้องการออกแบบให้สถาปัตยกรรมเหล่านั้นได้เปิดประเด็นอะไรให้กับเมือง ต่อยอดความคิด เพิ่มคุณค่าให้กับผู้ใช้อาคารและสร้างจินตนาการให้แก่คนที่เดินผ่านไปมาได้หรือไม่ ถ้าสถาปนิกไม่คิดอะไรแบบนั้นเราก็รู้สึกว่าสถาปัตยกรรมก็จะกลายเป็นแค่วัตถุชิ้นหนึ่งที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพียงเท่านั้นเอง