AMERICAN STANDARD DESIGN AWARD 2022

ร่วมหาคำตอบกันว่า ‘ห้องน้ำ’ ในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรได้บ้าง ผ่านผลงานทั้งสี่ที่ชนะเลิศในโครงการ American Standard Design Award (ASDA) 2022 ทั้งสองประเภทได้แก่ Residential Bathroom Space Design และ Hospitality Bathroom Space Design

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: DON AMATAYAKUL EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

สถานการณ์โรคระบาดนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กับผู้คน นอกจากการปรับเปลี่ยนในวิถีชีวิต เช่น การทำงานหรือเรียนหนังสือกันที่บ้านแล้ว แนวคิดของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หลายคนกลับมาให้ความสนใจเรื่องสุขอนามัย และธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปโดยเฉพาะกับการใช้ชีวิตในเมือง

จากวิถีชีวิตและแนวคิดของผู้คนที่ไม่เหมือนเดิม LIXIL ผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำและที่อยู่อาศัย จึงชวนดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาขบคิดกันว่า ‘ห้องน้ำ’ ในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรได้บ้าง ในโครงการ American Standard Design Award (ASDA) 2022 โครงการที่เปิดรับไอเดียออกแบบพื้นที่ห้องน้ำจากนักศึกษาและดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรง

Teeragiat Sukyoo (Left) and Somyos Winagnkhamfa (Right) l Photo: Don Amatayakul

“American Standard ให้ความสำคัญกับการสร้างงานออกแบบที่มีประโยชน์ เราเชื่อว่าการร่วมมือกับนักออกแบบรุ่นใหม่จะช่วยให้เราเห็นภาพของห้องน้ำในอนาคตที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ เพราะว่าพวกเขาจะเป็นนักออกแบบมืออาชีพรุ่นถัดไปในอนาคต” ออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ บริษัท  ลิกซิล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำเอเชียแปซิฟิก (LWT APAC) พูดถึงที่มาการประกวดในครั้งนี้

Audrey Yeo – Leader, Thailand, LWT APAC – LIXIL Asia l Photo: Don Amatayakul

ASDA ปี 2022 แบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ Residential Bathroom Space Design (การออกแบบพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ำของที่พักอาศัย) และ Hospitality Bathroom Space Design (การออกแบบพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ำของโรงแรม) โดยแต่ละประเภทก็มีทั้งระดับนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ผู้ชนะระดับ นักศึกษาของทั้งสองประเภทการแข่งขัน ก็จะเป็นตัวแทนไปประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) อีกด้วย หลังจากผ่านกระบวนการการคัดสรรอย่างเข้มข้นจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการก็ได้โฉมหน้าของผู้ชนะเลิศออกมา ซึ่งผลงานของนักศึกษาไทยก็โดดเด่นเตะตากรรมการเวทีระดับเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย

Photo: Don Amatayakul

‘Passive Cleaned Toilet The most cleaned toilet’

ผลงานชนะเลิศประเภท Hospitality ระดับนักศึกษา จาก ธีรเกียรติ สุขอยู่

Passive Cleaned Toilet The most cleaned toilet by Teeragiat Sukyoo l Photo courtesy of ASDA 2022

เพราะว่าห้องน้ำเป็นทั้งพื้นที่ขับถ่าย ทั้งชำระล้างร่างกาย ก็คงไม่แปลกนักถ้าห้องน้ำจะเป็นหนึ่งในห้องที่สกปรกที่สุด จากการเห็นความสำคัญของสุขอนามัยโดยเฉพาะในยุค New Normal ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ต่าง หันมาใส่ใจ ธีรเกียรติ สุขอยู่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงออกแบบห้องน้ำสำหรับโรงแรมที่ยกเอาสุขอนามัยและความสะอาดเป็นหัวใจสำคัญ แถมชูแนวคิดเรื่องห้องน้ำที่ช่วยรักษาความสะอาดได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงการทำความสะอาดเพียงอย่างเดียว

“ผู้ใช้แต่ละคนมีวิธีใช้ห้องน้ำที่ต่างกัน บางคนอาจไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการรักษาความสะอาดในห้องน้ำ ผมมองว่าถ้าเราต้องการลดความสกปรก ห้องน้ำก็น่าจะออกแบบให้รักษาความสะอาดด้วยตัวเองได้ด้วย” ธีรเกียรติเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดในการออกแบบ

Teeragiat Sukyoo l Photo: Don Amatayakul

ธีรเกียรติจัดผังพื้นของห้องน้ำตามความถี่ของการใช้งาน โดยเอาส่วนอ่างล้างมือวางไว้ติดกับประตูทางเข้า เพื่อให้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้เลย ถัดเข้ามาด้านในจะเป็นโถสุขภัณฑ์และห้องอาบน้ำที่มีการทำผนังกระจกเคลือบฟิล์มทองแดงกั้นไว้ ป้องกันการกระจายตัวของแบคทีเรียไปพื้นที่อื่นๆ เวลาอาบน้ำหรือการกดชักโครก ฟิล์มทองแดงที่เคลือบกระจกไว้ก็มีคุณสมบัติช่วยลดเชื้อโรคที่เกาะเกี่ยวตามกระจกอีกทาง อ่างอาบน้ำวางอยู่ชิดริมหน้าต่างเพื่อเติมเต็มบรรยากาศในการอาบ กระจกหน้าต่างบริเวณนี้สามารถปรับให้มีความฝ้า สร้างความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้งาน

Passive Cleaned Toilet The most cleaned toilet by Teeragiat Sukyoo l Photo courtesy of ASDA 2022

Passive Cleaned Toilet The most cleaned toilet by Teeragiat Sukyoo l Photo courtesy of ASDA 2022

ไม่เพียงแค่นั้น ธีรเกียรติยังสอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาในงานออกแบบอีก ธีรเกียรติใช้สีขาวเป็นสีหลักของห้องน้ำ เพราะเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสะอาด และเป็นสีที่ช่วยกระจายความสว่างให้เข้าห้องได้อย่างทั่วถึง แม้ว่าจะมีพื้นที่ให้แสงเข้ามาน้อยก็ตาม กระเบื้องภายในห้องเป็นกระเบื้องขนาดใหญ่ ลดร่องยาแนวซึ่งเป็นบริเวณที่เชื้อโรคเข้าไปสะสม มีการใช้วัสดุที่มีความใสและสะท้อนแสงเพื่อลดความคับแคบของห้อง และใช้แสงไฟโทนอุ่นที่เน้นส่องลงบริเวณขอบริมของวัตถุเพื่อให้ไม่รบกวนสายตาของผู้ใช้งาน ที่อ่างล้างมือก็มีการติดตั้งระบบกรองน้ำแบบหยาบ ผู้ใช้งานสามารถนำน้ำที่ได้จากการกรองไปใช้งานต่อได้ เช่น รดน้ำต้นไม้ เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ตอบโจทย์เป็นอย่างดีกับโลกยุคปัจจุบันที่เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม จากรายละเอียดของผลงานที่คิดมาเป็นอย่างดีนี้ จึงไม่แปลกใจที่ผลงานจะเข้าตาคณะกรรมการระดับเอเชียแปซิฟิกจนได้รางวัล Asia Pacific Grand Prize Winner มาครอง

เติม เต็ม’

ผลงานชนะเลิศประเภท Residential ระดับนักศึกษา จาก สมยศ เวียงคำฟ้า

Term Tem by Somyos Winagnkhamfa l Photo courtesy of ASDA 2022

“ช่วงโควิด ผมอยู่แต่ในหอพักกับเพื่อน พอมีหลายคนอยู่ด้วยกันแต่ละคนก็มีความต้องการใช้พื้นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ห้องพักก็เป็นห้องแคบๆ ผมเลยลองคิดดูว่า แล้วเราจะทำห้องน้ำให้เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนได้ไหม ทำอย่างอื่นได้ไหม เติมเต็มความต้องการของคน”

สมยศ เวียงคำฟ้า เผยถึงที่มางานออกแบบของเขาที่ทำให้ห้องน้ำในห้องพักยุคนี้ที่มีขนาดอันเล็กแคบ เป็นมากกว่าพื้นที่สำหรับอาบน้ำ หรือขับถ่าย แต่เป็นพื้นที่ที่โอบรับการใช้งานที่หลากหลายของผู้ใช้งาน

Somyos Winagnkhamfa l Photo: Don Amatayakul

ห้องน้ำที่สมยศออกแบบถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ โซนแห้ง ได้แก่ พื้นที่โถสุขภัณฑ์ และ โซนเปียก ได้แก่ พื้นที่ล้างมือและโซนอาบน้ำ แต่ละส่วนก็สอดแทรกฟังก์ชันที่สนับสนุนการใช้งานเพิ่มเติมของผู้ใช้ ส่วนโถสุขภัณฑ์ สมยศติดตั้งไม้ติดผนังที่พับลงมาเป็นชั้นวางของได้ รองรับคนที่ต้องการนั่งทำงาน ฝั่งตรงข้ามมีบริเวณที่นั่งพักผ่อนที่มีโทรทัศน์ซ่อนไว้อยู่ด้านหลัง รวมถึงมีผนังไม้ที่พับลงมาเป็นโต๊ะเครื่องสำอางด้วย

Term Tem by Somyos Winagnkhamfa l Photo courtesy of ASDA 2022

บริเวณโซนเปียก สมยศเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้งานด้วยการใส่เครื่องซักผ้าและการใส่ราวแขวนเสื้อผ้าอาบน้ำและที่วางของไว้ด้านบน นอกจากนี้ก็มีการใส่ต้นไม้เทียมเข้าไปสร้างบรรยากาศอันผ่อนคลายให้กับคนใช้งาน

Term Tem by Somyos Winagnkhamfa l Photo courtesy of ASDA 2022

สมยศเลือกใช้สีในห้องในโทนอบอุ่นที่มี contrast ระหว่างกันน้อย ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย และสีที่ดูกลมกลืนกันก็ช่วยให้ห้องน้ำอันเล็กแคบดูกว้างขวางมากขึ้นอีกทาง

TERM TEM by Somyos Winagnkhamfa l Photo courtesy of ASDA 2022

“เมื่อก่อนคนอาจไม่คิดว่าห้องน้ำจะเป็นพื้นที่พักผ่อน หรือเป็นพื้นที่ทำงานได้ แต่ผมอยากเสนอว่า ห้องน้ำพื้นที่เล็กๆ ก็ทำประโยชน์ได้เยอะ และช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน”

‘Lets Nature In’

ผลงานชนะเลิศประเภท Hospitality ระดับบุคคลทั่วไป จาก พีรพล สุทธิมรรคผล

Let’s Nature In by Peerapon Suthimakphol l Photo courtesy of ASDA 2022

พัฒนาการของโลกส่งผลให้มนุษย์คุ้นชินกับการอยู่อาศัยในกล่องอาคารที่ตัดขาดไปจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งมนุษย์ก็เคยอยู่อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ และไม่ได้มองว่าแสงแดด สายลม สายฝน เป็นสิ่งแปลกปลอม พีรพล สุทธิมรรคผล เสนอผลงานออกแบบห้องน้ำ “Let’s Nature In” เพื่อเชื่อมสัมพันธ์มนุษย์เข้าไปหาธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง

Let’s Nature In by Peerapon Suthimakphol l Photo courtesy of ASDA 2022

พีรพลออกแบบให้ห้องน้ำแวดล้อมด้วยบรรยากาศของธรรมชาติ ตัวห้องน้ำออกแบบให้มีความโปร่งเพื่อโอบอุ้มความเป็นธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีการไล่ความทึบความโปร่งของวัสดุตามลำดับพื้นที่การใช้งาน เพื่อสร้างทิวทัศน์ที่แตกต่างกันเวลาเดินภายในห้องน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นการตอบรับกับฟังก์ชันการใช้งาน เช่น ผนังส่วนอ่างล้างมือที่มีความทึบเพื่อซ่อนงานระบบ

Let’s Nature In by Peerapon Suthimakphol l Photo courtesy of ASDA 2022

Let’s Nature In by Peerapon Suthimakphol l Photo courtesy of ASDA 2022

“วิกฤติโรคระบาดทำให้เราเห็นว่าสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอีกต่อไปแล้ว” พีรพลว่า “เราก็เกิดคำถามว่าแล้วห้องน้ำที่เคยเป็นแบบปิดมันจะเหมาะสมอยู่อีกหรือเปล่า เราเลยทดลองออกแบบห้องน้ำแบบเปิด เพื่อรับแสงธรรมชาติเข้ามาฆ่าเชื้อโรค เพื่อให้ลมเข้ามาพัดผ่านร่างกาย เราไม่ต้องคอยเช็ดคอยล้างตลอดเวลา เป็นการใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วยชะล้าง”

Peerapon Suthimakphol l Photo: Don Amatayakul

‘The Emulsion: Definitions for Borrowable Space’

ผลงานชนะเลิศประเภท Residential ระดับบุคคลทั่วไป จาก กันต์ เลาหวณิช

The Emulsion: Definitions for Borrowable space by Kan Laohavanich l Photo courtesy of ASDA 2022

พื้นที่พักอาศัยในคอนโดเดี๋ยวนี้เหมือนจะมีขนาดเล็กลงทุกที ทั้งแต่ละห้องก็ถูกใช้งานไปหลายรูปแบบมากกว่าที่ชื่อเดิมของมันเคยกำหนดไว้ ห้องนั่งเล่นกลายเป็นทั้งที่ทำงาน ที่กินข้าว แถมยังเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งกับห้องอื่นๆ อย่างห้องนอน กันต์ เลาหวณิชเลยตั้งคำถามว่า แล้วห้องน้ำจะทำหน้าที่อื่นๆ และเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนอื่นได้อีกไหม ผ่านผลงาน The Emulsion: Definitions for Borrowable Space

กันต์ทลายกำแพงที่เคยห้อมล้อมห้องน้ำให้กลายเป็นห้องน้ำแบบเปิด เพิ่มพื้นที่ให้กับห้องพักที่มีขนาดคับแคบ ผังของห้องน้ำได้รับการออกแบบให้มีส่วนอาบน้ำเป็นแกนกลาง โดยมีส่วนสุขภัณฑ์และส่วนล้างมืออยู่ล้อมรอบ ส่วนสุขภัณฑ์หันหน้าเข้าสู่ด้านปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว ส่วนอ่างล้างมือจัดวางเชื่อมต่อกับที่พัก เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้งานบ่อย และกระตุ้นให้คนรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือไปในตัว ฝ้าและพื้นถูกออกแบบให้เป็นยูนิตที่ซ้อนทับกันได้ ผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวหรือสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ตามอย่างที่ใจอยากได้อย่างง่ายดาย

The Emulsion: Definitions for Borrowable space by Kan Laohavanich l Photo courtesy of ASDA 2022

“ผมมองว่าความเป็นส่วนตัวของห้องน้ำเป็นเพียงความเคยชินอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปได้ตลอดตามรูปแบบการใช้งาน และคิดว่าในฐานะนักออกแบบ เราสามารถนำเสนอแนวคิดที่คิดว่ามันอาจทำให้ชีวิตของผู้ใช้งานดีขึ้น แม้ว่ามันจะหลุดไปจากความเคยชินของคนในสังคมก็ตาม” กันต์กล่าวถึงเบื้องหลังการออกแบบงานนี้

The Emulsion: Definitions for Borrowable space by Kan Laohavanich l Photo courtesy of ASDA 2022

The Emulsion: Definitions for Borrowable space by Kan Laohavanich l Photo courtesy of ASDA 2022

นับว่าไอเดียห้องน้ำจากนักออกแบบรุ่นใหม่ทั้งหลายต่างเป็นไอเดียที่น่าสนใจและสอดคล้องกับโลกที่ผันเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในตอนนี้มากเลยทีเดียว แม้ว่าการประกวดในปีนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ทางโครงการก็บอกกับเราว่าจะมีแผนจัดการประกวดในปีถัดๆ ไปอย่างแน่นอน น่าติดตามเหมือนกันว่าในการประกวดครั้งต่อไปนี้ เราจะเห็นแนวคิดห้องน้ำอันสร้างสรรค์และสดใหม่อะไรโผล่มาบ้าง

fb.com/AmericanStandardThailand

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *