ATELIER LIU YUYANG ARCHITECTS

กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ Jenchieh Hung จาก HAS design and research พาเราไปรู้จักกับอีกหนึ่งสถาปนิกในจีนที่โดดเด่นด้วยผลงานที่มุ่ง ‘ฟื้นฟู’ เมืองและชนบทผ่านกระบวนการสมานเมืองและสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกันทั้งมิติกายภาพและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

TEXT: KULTHIDA SONGKITTIPAKDEE & JENCHIEH HUNG
PHOTO COURTESY OF ATELIER LIU YUYANG ARCHITECTS EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ประเทศจีนกลายเป็นหมุดหมายใหม่ให้กับนักออกแบบทั่วโลกเดินทางมาแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมตั้งแต่ยุค 2000s เราจึงพบบริษัทสถาปนิกหลายสัญชาติที่เข้ามาลงทุนเปิดสาขาในเมืองเศรษฐกิจหลัก อาทิเช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กว่างโจว และ เฉิงตู เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสถาปนิกชาวจีนอีกหลายท่านที่จบการศึกษาและมีประสบการณ์การทำงานจากต่างประเทศเดินทางกลับมายังบ้านเกิดเปิดบริษัทออกแบบของตนเองจนมีชื่อเสียงในปัจจุบัน ในช่วงเวลานั้นเองมีสถาปนิกท่านหนึ่งที่มีพื้นภูมิต่างจากท่านอื่นมาแสวงหาโอกาสในประเทศจีนเช่นกัน หลิว หยู่หยาง (Liu Yuyang) สถาปนิกชาวไต้หวันได้รับการศึกษาในสหรัฐอเมริกาด้านการออกแบบเมืองจาก University of California San Diego และสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิตจาก Harvard Graduate School of Design เขาเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ Rem Koolhaas และร่วมเขียนหนังสือ Great Leap Forward ในปีค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการก้าวกระโดดและการพัฒนาเมืองในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลที่จีน อันประกอบด้วยเมืองกว่างโจว เซินเจิ้น และจูไห่ เป็นต้น ด้วยพื้นฐานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเมืองและสถาปัตยกรรม รวมถึงการให้ความสนใจในงานค้นคว้าวิจัยและการทำงานในวิชาชีพ เขาได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ที่ The Chinese University of Hong Kong (CUHK) และก่อตั้ง Atelier Liu Yuyang Architects (ALYA) ที่ฮ่องกงในปีค.ศ. 2004 ก่อนจะย้ายมาปักหลักที่เซี่ยงไฮ้ในปี 2007 จวบจนปัจจุบัน

หลิว หยู่หยาง (คนที่สองจากขวา) หนึ่งในทีมสถาปนิกออกแบบผังแม่บทโครงการพัตนาพื้นที่โล่งริมแม่น้ำฮวงผู่ฝั่งตะวันออก ร่วมกับ หลิว อี้ชุน (Liu Yichun) จาก Atelier Deshaus (คนที่สามจากขวา) และ เรม โคลฮาส (Rem Koolhass) I Photo courtesy of ALYA

การย้ายถิ่นฐานหลายครั้งหลายคราได้หล่อหลอมมุมมองต่างๆ ในวิชาชีพสถาปนิกและการพัฒนาเมืองของหลิว หยู่หยาง ผสานการทดลองทางสถาปัตยกรรมและความซับซ้อนของบริบทเมืองในรูปแบบพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างยั่งยืน หนี่งในตัวอย่างผลงานยุคแรกในระดับจุลภาคแต่สร้างภาพใหม่ในระดับมหภาคของเมืองอย่าง Shanghai Nanjing Rd. Pedestrian Kiosks (ค.ศ. 2009) ซุ้มให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่มีพื้นที่เพียง 4.5 ตรม. ทั้งหมด 12 หลัง กระจายตัวทุก 100 เมตร บนถนนคนเดินหนานจิง ซึ่งเป็นถนนประวัติศาสตร์และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเมืองเซี่ยงไฮ้ตลอดความยาว 1 กิโลเมตร โดยทำหน้าที่ต่างกันไปตามแต่ละตำแหน่ง แบ่งออกเป็นการใช้สอยเชิงสาธารณะ อาทิเช่น ศูนย์ให้ข้อมูลการท่องเที่ยว ที่จำหน่ายของที่ระลึก ลอตเตอรี่ โทรศัพท์สาธารณะ ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ ตู้เอทีเอ็มของธนาคาร และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ขณะที่บางซุ้มแสดงตัวในรูปแบบเชิงพาณิชย์ประชาสัมพันธ์สถานที่หรือสินค้าของผลิตภัณฑ์ โดยมีรูปทรงอยู่ 2 แบบ คือแบบหกเหลี่ยมและแบบวงรีที่มีขนาดต่างกันตามจำนวนคนใช้งาน และตำแหน่งช่องเปิดต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามตำแหน่งที่ตั้ง กรุด้วยยูนิตกระจกซึ่งมีลวดลายสะท้อนความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์อาร์ตเดโคที่รายล้อมรอบถนน และมีแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาส่งกำลังไฟให้กับแสง LED ของซุ้มในตอนกลางคืน ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมาซุ้มเหล่านี้นอกจากจะเป็นพื้นที่หยุดพักชั่วคราว สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของอาคารโดยรอบที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในแต่ละยุคสมัย ยังกลายเป็นต้นแบบใหม่ของการสร้างภูมิทัศน์เมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและส่งเสริมการประหยัดพลังงานให้กับเมืองอีกด้วย

ตำแหน่งและโปรแกรมของซุ้มทั้ง 12 หลัง ตลอดความยาว 1 กิโลเมตร บนถนนคนเดินหนานจิง เมืองเซี่ยงไฮ้ I Photo courtesy of ALYA



Kiosk 5 Lottery

รูปทรง 2 แบบของซุ้ม แบบหกเหลี่ยมและแบบวงรี กรุด้วยยูนิตกระจกซึ่งมีลวดลายสะท้อนความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์อาร์ตเดโครอบถนน I Photo: Jeremy

Kiosk 6 Information I Photo: Zhonghai Shen

แบบผังพื้นและแบบขยายรายละเอียดในการติดตั้งของซุ้มรูปทรงวงรี

เมื่อแต่ละเมืองของประเทศถูกพัฒนาอย่างเต็มสูบ ในปีค.ศ. 2011 รัฐบาลจีนได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ในชนบท จึงมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากการพัฒนาเมืองไปสู่การฟื้นฟูชนบท ส่งเสริม “วิถีชีวิต” ของคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่หลากหลายเพื่อเสนอแนวคิดใหม่ๆ สู่วัฒนธรรมชั้นสูง กลยุทธ์นี้ได้ส่งผลมาในวงการออกแบบจีนอย่างเห็นได้ชัดจากหัวข้องาน Venice Biennale ที่ประเทศจีนนำไปจัดแสดงในปีค.ศ. 2016 ‘Back to the Ignored Front’ การกลับไปส่วนหน้าที่ถูกละเลย เป็นการค้นคว้าและรวบรวมประเพณีของอดีตที่มีอยู่อย่างยาวนาน และตั้งคำถามถึงอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่เราเริ่มเห็นผลงานของสถาปนิกจีนปรากฏในพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติหรือแทรกไปกับบริบทของอาคารเก่าที่สร้างขึ้นโดยคนท้องถิ่น Xingping Yunlu Resort (ค.ศ. 2015) และ Yunlu Resort Yoga Pavilion & Pool (ค.ศ. 2018) ของหลิว หยู่หยาง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการชุบชีวิตพื้นที่ในชนบท ที่ได้รับรางวัล Gold medal for ARCASIA Award for Architecture ในปี ค.ศ. 2019 รีสอร์ทบูติกเชิงนิเวศนี้ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านระหว่างเมืองกุ้ยหลินและหยางซั่ว แวดล้อมด้วยภูมิทัศน์อันสวยงามของแม่น้ำหลี่

ภาพถ่ายมุมบนของโครงการ Xingping Yunlu Resort เฟสแรกเป็นการปรับปรุงบ้านไร่เก่าแก่ 5 หลัง เพิ่มด้วยพื้นที่ร้านอาหารและส่วนรับรองแขก I Photo: Shengliang Su

ภาพถ่ายในส่วนร้านอาหารและบรรยากาศโดยรอบ I Photo: Shengliang Su

ภาพโมเดลจำลองแสดงลักษณะของการใช้วัสดุท้องถิ่นและวัสดุใหม่ที่สอดแทรกเข้ามา I Photo courtesy of ALYA

โครงการนี้แบ่งเป็น 2 เฟสด้วยกัน เฟสแรกเป็นการปรับปรุงบ้านไร่เก่าแก่ 5 หลัง เพิ่มด้วยพื้นที่ร้านอาหารและส่วนรับรองแขก ส่วนเฟสที่ 2 เป็นอาคารส่วนกลางบนเชิงเขาที่รองรับกิจกรรมโยคะและสระว่ายน้ำ ซึ่งการออกแบบโครงการนี้นั้นต้องใช้แนวทางที่แยบยลในการผสานความใหม่และลักษณะดั้งเดิมของอาคารที่ไม่สร้างความแปลกแยกให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่นเนื่องจากยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่ใกล้เคียง รวมถึงลักษณะธรรมชาติ ทัศนียภาพและพันธุ์ไม้ที่ต้องรักษาให้ได้มากที่สุด ศาลาโยคะในเฟสที่ 2 จึงเริ่มจากการวางอาคารที่ขนานไปกับความชันของพื้นที่โดยเก็บรักษาต้นสบู่เบอร์รี่ (Sapindus) ท้องถิ่นไว้ในส่วนสระว่ายน้ำ มีผนังเหล็กทึบทรงโค้งและเสาเหล็กรูปตัว A รองรับหลังคาเหล็กขนาด 6 x 20 เมตร และผ้าใบโปร่งแสงป้องกันรังสียูวีแทนการใช้กระจก เกิดเป็นพื้นที่กำกวมระหว่างภายในภายนอกที่ไม่สามารถแยกจากกันได้

ภาพถ่ายมุมบนของโครงการ Yunlu Resort Yoga Pavilion & Pool เฟสสอง อาคารส่วนกลางบนเชิงเขาที่รองรับกิจกรรมโยคะและสระว่ายน้ำ I Photo: Fangfang Tian

ขณะที่การปรับปรุงพื้นที่รกร้างและเสื่อมโทรมในเขตชานเมืองก็ถูกฟื้นฟูควบคู่ไปพร้อมกัน โครงการสวนสาธารณะอ้ายเธ่อริมน้ำ Riverfront Aite Park (ค.ศ. 2015), โครงการออกแบบพื้นที่โล่งริมแม่น้ำฮวงผู่ฝั่งตะวันออก Huangpu River East Bund Riverfront Open Space Design (ค.ศ. 2018) และสวนสาธารณะร้อยปีเฉาหยาง Caoyang Centennial Park (ค.ศ. 2020) ที่หลิว หยู่หยาง ออกแบบนั้น เป็น 3 ตัวอย่างชัดเจนของการฟื้นฟูเมืองด้วยการออกแบบผ่านองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่สมานกายภาพเมืองเข้าด้วยกัน สวนสาธารณะอ้ายเธ่อแต่เดิมคือพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยกองขยะจากสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแผนแม่บทการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำบนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างเขตที่พักอาศัยและโรงงานในย่านเจียติ้ง ชานเมืองทางเหนือของเซี่ยงไฮ้ วิธีการกำจัดขยะบนพื้นที่เดิมนั้นต้องควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายในการขนย้าย สถาปนิกจึงใช้แนวทางที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยประสิทธิภาพในการชุบชีวิตพื้นที่โดยใช้กล่องลวดตาข่ายที่เรียกว่า กำแพงเกเบี้ยน (Gabion Wall) บรรจุซากวัสดุก่อสร้างที่ถูกทิ้ง ซ้อนเรียงกันเป็นขั้นก่อเป็นผนังสูง 5 เมตร สร้างพื้นที่โอบล้อมใหม่ให้กับกิจกรรมในสวนได้อย่างมีเอกลักษณ์และปลุกจิตสำนึกการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนในคราวเดียวกัน 

ภาพมุมมองการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณทางเข้าสวน I Photo: Siyu Zhu

ภาพสเกตซ์แสดงแนวความคิดวิธีการกำจัดขยะบนพื้นที่เดิม โดยใช้กล่องลวดตาข่ายที่เรียกว่า กำแพงเกเบี้ยน (Gabion Wall)

ในส่วนของโครงการปรับปรุงทัศนียภาพริมแม่น้ำฮวงผู่ แม่น้ำสายหลักของเซี่ยงไฮ้ที่แบ่งเมืองออกเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก เป็นหนึ่งในนโยบายการปรับปรุงพื้นที่อุตสาหกรรมของเมืองทางฝั่งตะวันออกที่เดิมเป็นโรงงานข้าวขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้คน โดยการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำทั้งสองฝั่งในรูปแบบยุทธศาสตร์ ‘การอยู่ร่วมกันระหว่างภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์กับภูมิทัศน์ใหม่’ เก็บรักษาซากส่วนที่เหลือของภาพอุตสาหกรรมเดิม การออกแบบในพื้นที่นี้ถูกควบคุมด้วยความสูงของกำแพงกันน้ำ สถาปนิกจึงเริ่มต้นศึกษาจากรูปตัดของพื้นที่ในการกำหนดระดับความสูงร่วมกับการวิเคราะห์พื้นที่โดยละเอียด และกำหนดระดับต่างๆ เช่น ทางลาดสีเขียว ทางเดิน ขั้นบันได และลาน ขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่กิจกรรมใหม่สอดแทรกเข้าไป เช่น การขี่จักรยาน การวิ่งจ๊อกกิ้ง และการเดิน ตอบสนองต่อธีมของผังแม่บทเมื่อต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมของ ‘ศิลปะ+ประจำวัน+กิจกรรม’ สร้างความสมบูรณ์และต่อเนื่องให้กับเมือง

ภาพถ่ายมุมสูงของโครงการปรับปรุงทัศนียภาพริมแม่น้ำฮวงผู่ฝั่งตะวันออก แสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบใหม่ที่ถูกสอดแทรกไปในพื้นที่เดิม I Photo: Fangfang Tian

ไดอะแกรมแสดงการเชื่อมต่อของกิจกรรมและพื้นที่ในแต่ละระดับ

ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของพื้นที่ที่เสมือนเป็นแหล่งรวมของ “ศิลปะ+ประจำวัน+กิจกรรม” I Photo: Fangfang Tian

อีกตัวอย่างหนึ่งของการปรับปรุงพื้นที่ที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกโครงสร้างของเมืองแยกเมืองออกจากกัน เกิดเป็นองค์ประกอบใหม่ในการผสานกันระหว่างเมืองด้วยการออกแบบ โครงการสวนสาธารณะร้อยปีเฉาหยาง ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงสร้างรางขนส่งสินค้าเดิมที่มีความยาว 1 กิโลเมตร กว้าง 10-15 เมตร ย่านผู่ถัวทางตะวันตกเฉียงเหนือของเซี่ยงไฮ้ โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ถูกเปลี่ยนการใช้งานเป็นตลาดกลางแจ้ง แต่เนื่องจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่าพื้นที่นี้ถูกปิดตั้งแต่ปี 2019 และโดนปล่อยทิ้งร้าง จนทางเขตมีนโยบายปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสวนสาธารณะแนวใหม่ที่สามารถเข้าถึงได้ในหลายระดับจากบริบทโดยรอบเชื่อมพื้นที่ทิศเหนือและใต้เข้าด้วยกัน เพื่อให้สวนแห่งใหม่นี้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนซึ่งแวดล้อมไปด้วย ที่พักอาศัย โรงเรียน และออฟฟิศ ประกอบกับข้อจำกัดของเวลาโครงการนี้ใช้เวลาออกแบบและสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 ปี หลิว หยู่หยาง ได้นำเสนอรูปแบบการเชื่อมต่อพื้นที่ผ่านการลดและยกระดับโดยแบ่งเป็น 10 โซน สอดแทรกลานกิจกรรม พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ สนามเด็กเล่น พื้นที่ออกกำลังกาย และสวนเข้าด้วยกัน เลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อการก่อสร้างที่รวดเร็วและเพิ่มความน่าสนใจด้วยสีสันโทนสว่างที่แปรผันไปกับระดับและพื้นที่ของแต่ละโซนเพื่อสร้างภาพใหม่และนำความสดใสกลับมายังชุมชน 

ไดอะแกรมแสดงการเชื่อมต่อของกิจกรรมและพื้นที่ในแต่ละระดับกับความสัมพันธ์ของบริบทโดยรอบในโครงการสวนสาธารณะร้อยปีเฉาหยาง

ภาพถ่ายมุมสูงของโครงการสวนสาธารณะร้อยปีเฉาหยางสร้างกิจกรรมใหม่ให้กับบริบทสองข้างทาง I Photo: Runzi Zhu

ภาพถ่ายพื้นที่จัดนิทรรศการ ที่ใช้สีสันแบ่งพื้นที่ในแต่ละระดับเพื่อสร้างภาพใหม่และนำความสดใสกลับมายังชุมชน I Photo: Runzi Zhu

ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของพื้นที่ในแต่ละระดับ I Photo: Runzi Zhu

แน่นอนว่าการฟื้นฟูเมืองและชนบทในจีนยังคงดำเนินต่อไปตราบเท่าที่งานออกแบบจะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตให้ผู้คนและนำพาชีวิตใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังกลับมายังพื้นที่เหล่านั้น การสมานเมืองและสถาปัตยกรรมในผลงานออกแบบของ หลิว หยู่หยาง นอกจากจะเริ่มจากวิสัยทัศน์ของหน่วยงานผู้ดูแลเมืองและพื้นที่แล้ว ในฐานะสถาปนิกและนักออกแบบเมือง เขาได้ต่อยอดแนวทางในการฟื้นฟูโดยยังคงไว้ซึ่งร่องรอยของพื้นที่เดิม ประนีประนอมกับชุมชนและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ประสานภาพใหม่กับกิจกรรมที่ต้องการในปัจจุบันเพื่อเติมเต็มอนาคตให้กับผู้คน คงน่าสนใจไม่น้อยเมื่อวันหนึ่งข้างหน้าเราจะเห็นกายภาพของเมืองในประเทศจีนถูกฟื้นฟูสมานรวมเป็นเนื้อเดียว เมื่อวันนั้นมาถึงวันที่การฟื้นฟูไม่จำเป็นอีกต่อไป ภาพของเมืองในอุดมคติที่เกิดขึ้นจะสะท้อนรากเหง้าของเมืองที่มีอยู่เดิมได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของสถาปนิกและนักออกแบบเมืองว่าจะเชื่อมโยงภาพที่เคยมีเหล่านั้นให้คงอยู่ไว้ได้อย่างไร เราจึงจะมีเมืองในอนาคตที่ให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ถึงอดีตที่เคยเป็น

alya.cn

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *