art4d พูดคุยกับสุภาวี ศิรินคราภรณ์ถึงโปรเจ็คต์ล่าสุดที่เธอร่วมมือกับ ขจรศักต์ นาคปาน ในการออกแบบเครื่องประดับร่างกายโดยใช้ดินในพื้นที่โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ และคุยถึงกระบวนการออกแบบผลงานที่นำตัวตนแห่งอดีตมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF SUPAVEE SIRINKRAPORN
(For English, press here)
สืบเนื่องจากที่ art4d เคยนำเสนอผลงานของ ขจรศักต์ นาคปาน นักออกแบบสิ่งทอที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์วัสดุสิ่งทอชีวภาพที่ได้จากดิน ในผลงานชิ้นต่อมา สุภาวี ศิรินคราภรณ์ ได้ร่วมกับขจรศักต์นำดินสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีพื้นที่สูง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาใช้เป็นสารตั้งต้นการสร้างสรรค์ ซึ่งสถานที่ดังกล่าว พวกเขาพบโลงไม้บรรจุโครงกระดูกของมนุษย์ยุคสมัยโฮโลซีนจำนวนมาก อายุราว 26,000 ปีก่อนประวัติศาสตร์
การค้นพบครั้งนี้นำไปสู่ความรู้ใหม่ในการเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานที่ สามารถเชื่อมโยงรูปธรรมของอดีตสู่ผลงานที่เป็นตัวแทนแห่งปัจจุบัน ผลงานของทั้งคู่ได้รับรางวัลชนะเลิศ A’ Design Award & Competition, Italy และได้รับเชิญไปบรรยายที่อังกฤษ จัดโดย Association for Contemporary Jewellery, London
art4d ร่วมยินดีกับความสำเร็จเชิงวิชาการของนักออกแบบไทยทั้งคู่พร้อมมีบทสนทนาสั้นๆ กับ อาจารย์สุภาวีมาฝากด้วย
art4d: อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการที่เป็นจุดตั้งต้นของงานออกแบบชิ้นนี้
Supavee Sirinkraporn: ผลงานที่เราทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ที่สร้างสรรค์โดยการใช้วัตถุธาตุดินที่มาจากพื้นที่โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ผนวกกับรูปร่างของผืนแผ่นดินบริเวณดังกล่าวเพื่อสื่อสารภาพลักษณ์แห่งกาย มีสาระสำคัญอยู่ในความรู้ใหม่เรื่อง ‘สีน้ำตาล’ ที่มาจากธรรมชาติของวัสดุ ซึ่งการปรากฏเซลล์เม็ดสีเมลานิน (Melanin) มีที่มาจากกระบวนการสังเคราะห์แบคทีเรียสเตรปโตมัยซิส ซึ่งเม็ดสีเมลานินที่ได้จากดินชนิดนี้มีคุณสมบัติเดียวกับเม็ดสีเมลานิน ที่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเซลล์ของมนุษย์และทำหน้าที่กำหนดระดับความเข้มของสีผิวพรรณ ซึ่งเราคิดว่าสามารถแสดงออกถึงการรับรู้เรื่องชาติพันธ์ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
ที่มาของโครงการต้องเล่าย้อนไปถึงโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นจุดเริ่มต้น โครงการนี้ทำต่อเนื่องมา 3 ระยะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – 2563 มีศาสตราจารย์ ดร. รัศมี ชูทรงเดช จากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งทั้งหมดได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทั้งสามโครงการได้ค้นพบหลักฐานจำนวนกว่าแสนชิ้นในพื้นที่ และพบร่องรอยที่ปรากฏย้อนไปไกลถึงกลุ่มคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคไพลสโตซีนตอนปลาย (Late Pleistocene) ซึ่งนับเป็นยุคแห่งการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์มากที่สุด มีการค้นพบโลงไม้หรือที่เรียกว่า ‘โลงผีแมน’ ที่มีอายุอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์สมัยสุดท้าย มีลักษณะเป็นโลงไม้ขนาดใหญ่ หัวโลงแกะสลักเป็นรูปทรงต่างๆ พบโครงกระดูกมนุษย์ รวมทั้งพบวัตถุสำคัญที่ถูกฝังร่วมกับศพที่นับเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดสำหรับการอุทิศแด่ผู้ที่ล่วงลับ เช่น เครื่องประดับที่ทำจากโลหะสัมฤทธิ์ ลูกปัดต่างๆ เศษผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือขวานหินและโลหะ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ
การค้นพบหลักฐานสำคัญเหล่านี้ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าถ้ำโลงผีแมนคือสุสานของมนุษย์ในอดีตซึ่งแฝงด้วยความเชื่อที่ต้องสืบหาเหตุผล โดยสาระสำคัญของการศึกษาเนื้อหาของวัฒนธรรมโลงไม้ วัตถุที่ถูกค้นพบภายใน และการก่อกำเนิดความรู้ที่มาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แสดงให้เห็นถึงความเชื่อด้านพิธีกรรม ภูมิปัญญาการใช้เครื่องมือ และรสนิยมการประดับตกแต่งร่วมกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณสมบัติของเนื้อหาเหล่านี้สามารถนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของผลงานการออกแบบแฟชั่นเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ร่วมสมัย เพื่อยึดโยงผู้คนยุคปัจจุบันให้เกิดมีสำนึกแห่งการรู้คุณต่อเชื้อชาติบรรพบุรุษอันได้รับการปลูกถ่ายจากรู่นสู่รุ่นได้
art4d: อยากให้เล่าถึงกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนได้ผลลัพธ์สุดท้าย
SS: การทำงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของเนื้อหาความสำคัญของเครื่องประดับ และการแสดงออกด้วยวิธีการออกแบบและการผลิต
ในส่วนของเนื้อหา ความสำคัญของเครื่องประดับก็คือการที่มนุษย์นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีความผูกพันแนบแน่นกับการเรียนรู้ผ่านวัตถุและการประพฤติยึดมั่นในพิธีกรรม แบบแผนของการประดับตกแต่งร่างกายจึงพัฒนาเกิดเป็นวัฒนธรรมที่นิยมมาอย่างยาวนาน ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง สัมพันธ์กับบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือธรรมชาติ ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานทางโบราณคดีนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้มนุษย์ยุคปัจจุบันสัมผัสได้ถึงผลผลิตทางความงามที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ
ส่วนการแสดงออก เราจะเห็นได้ว่าคุณค่าทางภูมิปัญญาและทักษะฝีมือการประดิษฐ์วัสดุด้วยเทคนิคโบราณนั้นสอดคล้องกับความสามารถในการผลิตในแต่ละยุคสมัย ซึ่งในปัจจุบันเราเชื่อว่าเราควรเสริมสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นมรดกของชนชาติและขับเคลื่อนให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมกลายเป็นสินทรัพย์ กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงเริ่มต้นด้วยการแปลงสินทรัพย์ที่ไร้มูลค่ามาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด การคัดเลือก ’ดิน’ จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงถือเป็นการสื่อสารถึงความหมายของคำว่า ‘ต้นกำเนิด’ เพราะดินคือทรัพยากรที่ผูกพันกับมนุษย์มาช้านาน เป็นวัตถุธาตุที่แสดงออกถึงประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐาน บ้านเรือน ปรากฏให้เห็นถึงวัฒนธรรมและอารยธรรมของชุมชนต่างๆ
art4d: หลังจากได้รับรางวัล A’ Design Award & Competition แล้วจะต่อยอดต่อไปอย่างไร
SS: เราคิดว่าการออกแบบความคิดสร้างสรรค์เปรียบเสมือนอาวุธลับของคนไทย ที่กำลังจะต่อยอดไปมีหลายส่วน ซึ่งในภาพรวมก็คือการพยายามสร้างให้อัตลักษณ์พื้นถื่นเป็น Soft Power ซึ่งตรงนี้ก็ต้องการการสนับสนุนการวิจัยจากภาครัฐด้วย สิ่งนี้จะสามารถต่อยอดไปกับธุรกิจท่องเที่ยวและภูมิปัญญา และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ อย่างที่กำลังทำอยู่มีโครงการที่ได้เริ่มต้นก่อร่างจากการร่วมมือกับบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย ก็คือการนำนวัตกรรมวัสดุชีวภาพจากดินมาบวกกับเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์วัสดุสิ่งทอทดแทนที่ได้จากดิน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วย