ป้ายกำกับ: Hospitality
AMY JAKUBOWSKI
art4d ชวน Amy Jakubowski มาสนทนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรม hospitality ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
THE STANDARD, BANGKOK MAHANAKHON
โรงแรมที่ฉีกกรอบโรงแรมเดิมๆ ด้วยการผนวกงานศิลปะ ดนตรี แฟชั่น และดีไซน์ที่จัดจ้านเข้ามาเพื่อให้คนที่อยู่ในโรงแรมรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด พร้อมสโลแกนว่า “Anything but standard”
THE INTERIOR | SCOPE LANGSUAN
สำรวจการออกแบบภายในของโครงการ SCOPE Langsuan ที่ออกแบบโดย Thomas Juul-Hansen อันเต็มไปด้วยความความหรูหรา ประณีต และความใส่ใจในรายละเอียดในทุกจุดแม้ว่าจะเล็กแค่ไหนก็ตาม
TEXT: JINTAWACH TASANAVITES
PHOTO COURTESY OF SCOPE LANGSUAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
SCOPE หลังสวน ได้รวบรวมและคัดสรรนักออกแบบที่มีชื่อเสียงในระดับโลกตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เพื่อสะท้อนความตั้งใจที่จะสร้างมาตรฐานระดับสากลให้กับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการ ทีมงานได้เลือก Thomas Juul-Hansen สถาปนิกชาวเดนมาร์กผู้อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ให้รับหน้าที่ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมภายในของโครงการนี้ และถึงแม้ว่านี่จะเป็นโปรเจ็คต์แรกในเอเชียของเขา แต่ Thomas Juul-Hansen มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับโลกของงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในอันหรูหราในหลายโครงการ และอยู่เบื้องหลังการออกแบบโครงการที่พักอาศัย โรงแรม งาน retail และงานในเชิงพาณิชย์ในระดับไฮเอนด์ ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายในนิวยอร์กและลอนดอน หนึ่งในตัวอย่างคือโครงการสูง 75 ชั้น One57 ซึ่งนับเป็นที่พักอาศัยที่มีราคาสูงที่สุดในนิวยอร์ก
งานของ Thomas Juul-Hansen มีรายละเอียดที่อยู่เหนือกาลเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความ sensitive หรือความไวต่อการตอบสนอง ในมิติของการออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากบริบทของพื้นที่ การเลือกและจัดการวัสดุที่มีความละเอียดลออ และการออกแบบในรายละเอียดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเจาะจงสำหรับโครงการหรือสถานที่นั้นๆ “ผมเชื่อว่าความหรูหราเป็นภาษาสากล ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมกันของคุณภาพของแสง ที่ว่าง การใช้งาน และวัสดุ” Thomas ตอบคำถาม art4d ด้วยความมั่นใจเมื่อถูกถามว่าสำหรับเขาแล้วความหรูหรามีคำจำกัดความว่าอย่างไร “ในภาพรวม คำจำกัดความของความหรูหราในกรุงเทพฯ จึงไม่ต่างจากในนิวยอร์กหรือลอนดอน”
การวางผังในงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในของ SCOPE หลังสวน ได้รับการจัดลำดับการเข้าถึงบนพื้นฐานของการเดินทางของผู้อยู่อาศัย เริ่มต้นตั้งแต่ทางเข้าที่ล็อบบี้ชั้น 1 ที่โอ่โถง โดดเด่นด้วยแชนเดอเลียที่ทำจากหินโมราสีชมพู (Pink onyx) ซึ่ง Thomas เป็นผู้ออกแบบขึ้นใหม่ให้เข้ากับปริมาตรพื้นที่และการตกแต่งโดยรวมของทั้งส่วนล็อบบี้ ตัดกับเคานเตอร์ concierge หินอ่อนสีเขียวในรูปทรงที่เสมือนงานประติมากรรม ในเวลาเดียวกัน ความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ได้รับความสำคัญในการออกแบบ โดยทางสัญจรของผู้อยู่อาศัยและของพนักงานได้รับการออกแบบให้แยกส่วนกัน เพื่อให้พื้นที่ส่วนกลางนั้นเป็นพื้นที่ที่เงียบสงบ ไม่แออัด รู้สึกไม่รีบร้อน และรู้สึกเป็นส่วนตัว เมื่อผ่านส่วนล็อบบี้เข้ามาภายใน ลิฟต์ส่วนตัวจะพาผู้อยู่อาศัยเข้าสู่ห้องพักของตัวเองโดยตรง โดยแต่ละห้องมีขนาดที่ผ่านการออกแบบมาจนมั่นใจว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยอย่างสะดวกสบาย ตั้งแต่ 83-436 ตร.ม. และความสูงของพื้นถึงฝ้าเพดานที่ 3.5 และ 4 เมตร มิติของขนาดและความสูงที่ได้รับการออกแบบอย่างละเอียดนี้สร้างความรู้สึกของการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่โอ่โถง ให้ความรู้สึกของการอยู่อาศัยภายในบ้านเดี่ยว ที่อยู่บนวิวและความหรูหราของการอยู่อาศัยใจกลางเมือง
ในมิติที่ลึกลงไปอย่างเรื่องความรู้สึกในสเปซ Thomas อธิบายเพิ่มเติมถึงแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากการมาเยี่ยมเยือนมหานครแห่งนี้ว่า “สำหรับผมแล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งแสงสว่างและความปลอดโปร่ง เป็นเมืองที่ให้ความรู้สึกของสภาพอากาศแบบร้อนชื้นที่เกิดจากความสว่างจากแสงแดดและสภาพอากาศที่โปร่งเบา ผมจึงเลือกใช้วัสดุและสีสันที่ให้ความรู้สึกสว่างและโปร่งสบายเพื่อสะท้อนถึงคุณลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้ของกรุงเทพฯ” ความรู้สึกเหล่านี้สามารถสัมผัสได้ทันทีเมื่อเข้ามาถึงภายในโครงการ โดยเฉพาะภายในห้องพักที่ไม่เพียงมีพื้นที่กว้างขวาง แต่ยังรวมไปถึงบานหน้าต่างที่ความสูงจากพื้นจรดฝ้าเพดานที่ช่วยเติมเต็มพื้นที่ด้วยแสงธรรมชาติ ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุและชุดสีในโทนสว่างที่สร้างความปลอดโปร่งและชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ภายใน ในความรู้สึกอบอุ่นอ่อนโยนและเรียบร้อยสะอาดตา
ในส่วนของงานเฟอร์นิเจอร์ SCOPE เลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่หลอมรวมฟังก์ชันการใช้งานชั้นเลิศเข้ากับรูปลักษณ์ที่สวยงามอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะในส่วนครัวที่เลือกใช้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจากเยอรมนีอย่าง Gaggenau และ Bulthaup ที่มีรายละเอียดของความคิดอยู่ในทุกจุดของการออกแบบ ยกตัวอย่างเช่นส่วนท้อปเคาน์เตอร์ที่ทำจากหินทัชมาฮาลควอตไซต์สีขาวนวลและสีงาช้าง แผ่นหินเนื้อเดียวกันทั้งผืนนี้ช่วยมอบทั้งความสวยงาม พร้อมทั้งปกป้องการดูดซับน้ำทุกรูปแบบ ผู้อยู่อาศัยจึงสามารถใช้งานได้อย่างไร้กังวลว่าสีสันจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาจากการเปรอะเปื้อนและการใช้งานหนัก บริเวณโถงทางเข้า ตั้งแต่ทางเข้าห้องไปจนถึงห้องนั่งเล่นนั้นได้รับการออกแบบให้มีแนวตู้และชั้นสำหรับใช้เป็นที่เก็บของได้อย่างเหลือเฟือ พร้อมทั้งตู้รองเท้าที่ได้รับการออกแบบให้สามารถเก็บรองเท้าได้กว่าร้อยคู่ขึ้นไป รวมไปถึงเป็นที่ตั้งที่เรียบร้อยของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อย่างเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า ในส่วน walk-in closet เลือกใช้แบรนด์ LEMA จากอิตาลี โครงตู้เสื้อผ้ารูปตัว U นี้ตั้งอยู่ถัดจากห้องน้ำที่มีขนาดกว้างขวางกรุด้วยหินอ่อนสีขาวล้วน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์อีกหลายชิ้นที่ Thomas เป็นผู้ออกแบบขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง บนความใส่ใจในรายละเอียดสูงสุด “ผมได้เรียนรู้ว่าประสบการณ์การอยู่อาศัยทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยการผลิตเฟอร์นิเจอร์แบบสั่งทำพิเศษให้เข้ากันกับสภาพแวดล้อมภายในของพื้นที่” เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นภายในห้อง อย่างเช่นโต๊ะทำงาน ชั้นวางโทรทัศน์ และงาน built-in ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับโครงการนี้โดย Thomas โดยเฉพาะ
ระดับของความประณีต และความใส่ใจในรายละเอียดในทุกจุดแม้ว่าจะเล็กแค่ไหนก็ตามโดยผู้ออกแบบระดับสากลนี้ ช่วยยืนยันคำจำกัดความของความหรูหราที่ SCOPE Langsuan ให้มาตรฐานเอาไว้ได้อย่างไม่มีข้อสงสัย
THE ARCHITECTURE | SCOPE LANGSUAN
สัมผัสความหรูหราที่เป็นแบบเฉพาะตัวสำหรับกรุงเทพมหานครในงานสถาปัตยกรรมของโครงการ The SCOPE Langsuan ที่ออกแบบโดย Kohn Pederson Fox Associates (KPF) อันเต็มไปด้วยท่าทีสุภาพและนอบน้อมในแบบไทยๆ
TEXT: JINTAWACH TASANAVITES
PHOTO COURTESY OF SCOPE LANGSUAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
Kohn Pederson Fox Associates (KPF) คือบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในระดับนานาชาติ และมักจะเป็นชื่อแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นเมื่อกลุ่มลูกค้านึกถึงงานอาคารสูงที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรม KPF เป็นที่รู้จักจากการออกแบบที่ล้ำสมัยด้วยรูปทรงที่โดดเด่นเฉพาะตัว สร้างแลนด์มาร์คให้กับมหานครมากกว่า 35 แห่งทั่วโลก และถึงแม้ว่าผลงานของบริษัทจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น สิ่งที่ทุกโครงการมีร่วมกันอยู่เสมอก็คือฟังก์ชันการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และการวางผังที่ยอดเยี่ยมไปพร้อมๆ กับการมีรูปลักษณ์อันสง่างาม ดังที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมของ SCOPE Langsuan ซึ่ง KPF ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม
งานสถาปัตยกรรมของ SCOPE Langsuan นอกจากจะสะท้อนถึงมาตรฐานในการออกแบบในระดับสากลของ KPF แล้ว ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการออกแบบที่เน้นความสุภาพและนุ่มนวล เป็นความเรียบง่ายที่อยู่บนพื้นฐานของความพอดี “ความหรูหราฟุ้งเฟ้อแบบโจ่งแจ้งนั้นไม่ยากเลยที่จะออกแบบ แต่มันอาจเป็นการทำลายความตั้งใจทั้งหมดของโครงการแห่งนี้ ที่ต้องการนำเสนอความหรูหราในรูปแบบที่เงียบสงบ เรียบง่าย ไม่วิบวับแวววาว ไม่เรียกร้องความสนใจจนเกินงาม เราพยายามออกแบบให้ทุกองค์ประกอบคงความสงบและเรียบง่ายเอาไว้ให้มากที่สุด” Trent Tesch หัวหน้าผู้ออกแบบและผู้รับผิดชอบโครงการได้กล่าวกับ art4d แนวทางการออกแบบงานสถาปัตยกรรมและการจัดองค์ประกอบของโครงการนี้จึงอยู่บนพื้นฐานของความหรูหราที่เรียบง่าย ที่มีองค์ประกอบที่โดดเด่นซ่อนอยู่ด้วยการออกแบบพื้นผิวของอาคารที่ใช้ผืนกระจกที่ค่อยๆ ลาดเอียงอย่างนุ่มนวล สอดประสานกับจังหวะของกรอบหน้าต่างอะลูมิเนียม สร้างเป็นระนาบของริ้วคลื่นที่มีชีวิตชีวาและเป็นธรรมชาติในเวลาเดียวกัน บนพื้นฐานของโครงสร้างที่เรียบง่ายและสง่างาม “เปลือกอาคารที่ค่อยๆ พับไปมานั้นให้ความสำคัญมากในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของอาคารสูงให้อยู่ในสเกลมนุษย์ สร้างความรู้สึกเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกับสเปซของอาคารได้มากขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับพื้นผิวอาคารที่เรียบสนิทที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับอาคารสำนักงาน” Trent กล่าวเพิ่มเติม
ในภาพรวม ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้แบ่งเป็นสามระดับชัดเจนบนความสูงที่ค่อยๆ ไล่เรียงขึ้นไปจากระดับถนนหน้าโครงการ สะท้อนความสวยงามของจังหวะและสัดส่วนของโครงสร้าง ในส่วนของห้องพักนั้นโดดเด่นด้วยแนวริ้วผนังกระจกเป็นองค์ประกอบสำคัญดังที่กล่าวข้างต้น และในส่วนของแกนกลางอาคารที่เป็นพื้นที่ทางเดินและส่วน Service ต่างๆ นั้นใช้ผนังกระจกพิมพ์ลายเน้นให้เห็นความแตกต่างของฟังก์ชัน และทำหน้าที่ทอนสเกลให้อาคารดูเป็นอาคารสูงที่สง่างาม กระจกสุญญากาศเหล่านี้มีคุณภาพพิเศษ ด้วยความหนาถึง 8 มิลลิเมตร และเป็นกระจก Low-E ซึ่งมีคุณสมบัติถ่ายเทความร้อนต่ำ ทำหน้าที่หลักในการปกป้องผู้อยู่อาศัยจากความร้อนและสภาพอากาศที่สุดโต่งของกรุงเทพฯ และในขณะเดียวกันก็มีความใสและคุณสมบัติของการสะท้อนเฉพาะตัวที่เอื้อให้ผู้อยู่อาศัยชมทิวทัศน์ของเมืองได้อย่างชัดเจน และมีความเป็นส่วนตัวจากสายตาของผู้คนภายนอกในยามค่ำคืน
กลยุทธ์ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของ SCOPE Langsuan ของ KPF นั้นสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและสง่างาม ที่เกิดจากวิธีการที่เรียบง่ายอย่างการแบ่งสัดส่วนของอาคารออกเป็นสามส่วนที่สะท้อนถึงการใช้งานพื้นที่ภายใน และเทคนิคการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบระบบผนังกระจกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หลักการที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมานี้รังสรรค์เส้นสายที่งดงามให้กับตัวอาคาร ทั้งเมื่อมองจากภายในและเมื่อมองกลับมาจากภายนอก และที่สำคัญที่สุดคือการจัดการกับเรื่องสเกลของอาคารผ่านเทคนิคการใช้วัสดุนั้นได้สร้างท่าทีที่สุภาพนอบน้อมและเชื้อเชิญแบบไทยๆ ที่สอดประสานไปกับบริบททางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน “ผมนึกภาพอาคารนี้ไปตั้งอยู่ที่อื่นไม่ออกเลย ผมรู้สึกว่ามันคือความหรูหราที่เป็นแบบเฉพาะตัวสำหรับกรุงเทพมหานครเท่านั้น” Trent กล่าวปิดท้าย
THE EXPERIENCE OF LUXURY | SCOPE LANGSUAN
The SCOPE Langsuan นำเสนอมิติใหม่ของความหรูหรา ผ่านการให้คุณค่ากับคุณภาพของสเปซพร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการระดับโลก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ‘เวลา’ ในทุกนาทีของผู้อาศัยจะถูกใช้ไปอย่างมีความหมาย
TEXT: JINTAWACH TASANAVITES
PHOTO COURTESY OF SCOPE LANGSUAN
(For English, press here)
มูลค่าและคุณค่าของโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในระดับ segment บนนั้นล้วนถูกพิจารณาผ่านปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องทำเลที่ตั้ง การเลือกใช้วัสดุ เอกลักษณ์ของโครงการ หรือชื่อเสียงของแบรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่วิถีชีวิตของผู้คนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เอื้อให้วิถีชีวิตของผู้คนมีความยืดหยุ่นขึ้น และหยิบยื่นโอกาสให้ผู้คนใช้เวลาอยู่ในที่พักอาศัยมากกว่าที่เคยเป็นมา ส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับบ้านมีความหมายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และความเป็นมากกว่าพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยในปัจจุบันนั้น เรียกร้องให้การออกแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคปัจจุบันต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในระดับบนนั้นเผชิญกับความท้าทายของการออกจากผลักดันขอบเขตในการออกแบบเดิมๆ ออกไปอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับการค้นหานิยามหรือนวัตกรรมที่โครงการใหม่ๆ ควรจะมอบให้กับกลุ่มลูกค้า ในปัจจุบันที่การเลือกใช้วัสดุหรือข้าวของราคาแพงเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของโครงการนั้นกำลังถูกตั้งคำถามอย่างเข้มข้น มิติของความหรูหราได้ก้าวห่างออกจากมิติของมูลค่าที่แสดงออกผ่านทางกายภาพของวัตถุ และเคลื่อนที่เข้าสู่คุณสมบัติอันเป็นนามธรรมหรือมิติในเชิงคุณค่าอย่างเช่นเรื่องเวลา คุณภาพของสเปซ และประสบการณ์ที่มีความหมายอย่างแท้จริงกับผู้อยู่อาศัย อาจกล่าวได้ว่าการสร้างสรรค์ความหรูหราในนิยามใหม่นี้คือการสร้างความสมดุลระหว่างดินแดนของมูลค่าและคุณค่า และการนำเสนอประสบการณ์ของพื้นที่อยู่อาศัยในทำเลที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ และในขณะเดียวกันก็อาจจะหาไม่ได้อีกแล้วอย่างหลังสวน การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่มีไม่มีคำถามในเรื่องของคุณภาพในระดับสากล เพื่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่จะคงมูลค่าอยู่เหนือกาลเวลา ของโครงการ Scope หลังสวน คือความพยายามในการสร้างความสมดุลนี้ให้เกิดขึ้นในทุกแง่มุม
“เวลาคือความหรูหราที่แท้จริง” Forth Bagley หัวหน้าทีมจาก KPF (Kohn Pedersen Fox) ปรึกษาด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมให้กับโครงการ Scope หลังสวน กล่าวอย่างไม่ลังเล “เมื่อเราพิจารณาถึงมิติของเวลาที่สร้างขึ้นจากงานสถาปัตยกรรม มันหมายถึงการออกแบบพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเติมพลังกายพลังใจ ได้ใช้ความคิด เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดเวลาอันมีค่า นี่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มพัฒนาผังและกำหนดโปรแกรมการใช้งานต่างๆของอาคารกับเจ้าของโครงการ”
ในขณะเดียวกัน ทีมงาน KPF ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับการสร้างลำดับขั้นของการเข้าถึง ซึ่งส่งผลกับการรับรู้และการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกพักผ่อนและเป็นส่วนตัวในทันทีที่ผู้อยู่อาศัยก้าวเท้าเข้าไปภายในโครงการ องค์ประกอบทางการออกแบบในภาพรวม ที่จะได้รับการกล่าวถึงในเชิงลึกต่อไปในซีรีส์งานเขียนนี้ ทำงานสอดประสานกันในการสร้างความรู้สึกสงบสุข เพื่อสร้างพื้นที่ที่นำมาซึ่งความสงบเป็นส่วนตัว และให้ผู้พักอาศัยได้ใช้เวลาอย่างผ่อนคลาย ปราศจากสิ่งรบกวนจากภายนอกอย่างแท้จริง ‘เจ้าของร่วมของโครงการ Scope หลังสวน คือกลุ่ม International Premium เราเชื่อว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่เลือกพักในโรงแรมที่ดีที่สุดเมื่อเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก” Forth บอกกับ art4d “ความคาดหวังต่างๆที่พวกเขามีภายหลังจากการได้เข้าไปสัมผัสพื้นที่และประสบการณ์เหล่านี้ด้วยตนเอง จึงเพิ่มมากขึ้นเมื่อพวกเขาเลือกบ้านของตัวเอง ประสบการณ์เหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับจากพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองเช่นเดียวกัน”
ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ได้รับความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบของโครงการนี้ก็คือการให้บริการเสริมต่างๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องการดูแลที่พักอาศัยในแต่ละวัน เพื่อช่วยประหยัดเวลาอันมีค่า ซึ่งมีผลต่อสมดุลที่ดีในการใช้ชีวิต และเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ‘เวลา’ ทุกนาทีถูกใช้ไปอย่างมีความหมาย บนพื้นที่กว่า 2,500 ตารางเมตรของโครงการได้รับการออกแบบให้มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการระดับโลกที่สร้างความมั่นใจว่าประสบการณ์การอยู่อาศัยของเจ้าของโครงการนั้นจะมีความสะดวกสบายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นบริการจอดรถ การดูแลสัมภาระตลอด 24 ชั่วโมง และบริการอื่นๆ ในระดับเดียวกับการเข้าพักในโรงแรมชั้นเลิศ
เส้นแบ่งระหว่างการออกแบบประสบการณ์ของการอยู่อาศัยกับความรู้สึกของการพักผ่อนเมื่อเดินทางกำลังจางลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้อยู่อาศัยในเมืองที่มีวิถีชีวิตที่ตารางเวลาอัดแน่นไปด้วยการทำงานและกิจกรรมต่างๆ ทีมงานระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังโครงการ Scope หลังสวนแห่งนี้ล้วนตระหนักดีว่า ทิศทางที่พวกเขาเลือกในการออกแบบนั้นล้วนเป็นไปเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมั่นใจได้ว่า ประสบการณ์ที่พวกเขาจะได้รับจากการใช้เวลาอยู่อาศัยที่นี่นั้น จะเป็นประสบการณ์ที่แตกต่าง และมีความหมายอย่างแท้จริง
KLOEM HOSTEL
TIDA AWARDS 2019
BEST OF PRESERVATION DESIGN
INTEGRATED FIELD (IF)
Read More