CHIANG MAI DESIGN WEEK 2022

Mango Art Festival under the theme ‘Treasure Discovered’

รับชมบรรยากาศงาน Chiang Mai Design Week (CMDW) ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ภายใต้ธีมงาน ‘Local Rise-Action สร้างสรรค์ ท้องถิ่น เติบโต’ พร้อมตั้งคำถามกับแนวคิดอย่างเช่น ความยั่งยืน ว่าจะสามารถปรับใช้กับบริบทท้องถิ่นอย่างเมืองเชียงใหม่ได้อย่างไร

TEXT & PHOTO: MONTHON PAOAROON

(For English, press here

ในช่วงอาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมถ้าเราได้เดินเล่นในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ จะได้พบกับภาพผู้คนถือแผ่นพับแผนที่เดินทะลุไปมาตามซอกซอยแคบๆ โดยมีจุดหมายตาเป็นกล่องหรือป้ายสัญลักษณ์แสดงพื้นที่จัดงานเทศกาลที่วางกระจายตามจุดต่างๆเมือง เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้อาจจะเห็นคนกำลังนั่งทำ Workshop พูดคุยเสวนาในสตูดิโอเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอีเว้นท์ ในพื้นที่ชุมชนเองก็มีคุณลุงคุณป้าคนในชุมชนช่วยกันจัดงานออกร้านขายของ ผู้ประกอบการ ศิลปิน เหล่าคนทำงานสร้างสรรค์และนักศึกษาเอาผลงานที่ทำมาร่วมจัดแสดงทั้งในสตูดิโอของตัวเองและพื้นที่จัดแสดงชั่วคราวที่สร้างขึ้นอย่างสวยงามและปรับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกปี ภาพเหล่านี้เป็นภาพคุ้นตาที่แสดงว่าเชียงใหม่กำลังอยู่ช่วงในเทศกาลงานออกแบบ Chiang Mai Design Week (CMDW) ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 มีกิจกรรมที่หมุนเวียนตลอดช่วงเวลา 9 วันเต็มต่อเนื่องตั้งแต่เช้าถึงค่ำ แม้ในปีก่อนหน้าจำนวนคนอาจจะไม่มากนักจากการระบาดโควิด แต่ด้วยสถานการณ์ที่ผ่อนคลายขึ้นในปีนี้ทำให้เราได้เห็นภาพผู้ร่วมงานที่กลับมาคึกคักขึ้นอย่างชัดเจนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ภายใต้ธีมงานของปีนี้ ‘Local Rise-Action สร้างสรรค์ ท้องถิ่น เติบโต’ ที่ตั้งคำถามกับแนวคิดใหญ่ที่ใช้ขับเคลื่อนโลกอย่างเช่นความยั่งยืน ว่าจะสามารถปรับใช้กับบริบทท้องถิ่นอย่างเมืองเชียงใหม่ได้อย่างไร

ในปีนี้ประเด็นเกี่ยวกับอาหารเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญจากการจัดนิทรรศการหรือมีเวิร์คชอปมาบ้างแล้วในปีก่อนหน้า ‘Gastro Economy’ นิทรรศการหลักที่อาคาร TCDC ที่พาเราไปรู้จักโอกาสของการกินเพื่อกู้โลก ถ่ายทอดเรื่องราวว่าอาหารควรจะมีถิ่นกำเนิดและการปลูกในท้องถิ่นและกินตามฤดูกาล ความเป็นธรรมของระบบที่ผู้ปลูกได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมและผู้กินรู้แหล่งที่มารวมถึงโอกาสของธุรกิจอาหารและการกินในอนาคต ในพื้นที่เดียวกันยังมีกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวกับอาหารเช่น เวิร์คช็อปเกี่ยวกับอาหาร นิทรรศการแสดงวัฒนธรรมการหมักดองเครื่องดื่มท้องถิ่นในชื่อ Thai Local Spirit และ Lunch&Learn นิทรรศการแสดงการบริหารจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียนต้นแบบขนาดเล็ก นอกจากนี้ในประเด็นเดียวกันพื้นที่นอกเมืองที่โหล่งฮิมคาวยังมีอีเว้นท์ Green Farm Kitchen มีการจัดเสวนาการออกร้านของเกษตรกรรวมถึงแบรนด์ที่คิดถึงความยั่งยืนที่ทำให้เราเห็นผลิตภัณฑ์และได้พูดคุยกับผู้ผลิตสีเขียวตัวจริงทั้งขนาดธุรกิจเล็ก-ใหญ่ เป็นที่น่าดีใจว่าเราเห็นแนวโน้มของอาหารในแง่มุมมองที่ดีขึ้นไม่ใช่เพียงแค่การกินดีอยู่ดีอย่างเดียวแต่สามารถต่อยอดในมุมเศรษฐกิจทั้งระบบตั้งแต่เกษตรกรถึงผู้บริโภคและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนขึ้นด้วย

Green Farm Kitchen, Green your food festival, โหล่งฮิมคาว

ถ้าติดตามงาน Design Week มาตลอดทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ของเมืองอย่างเช่นอาคารของเอกชนที่ไม่ถูกใช้งานหรือพื้นที่สาธารณะที่มีศักยภาพมาปรับปรุงให้มาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดงาน อย่างในปีนี้บริเวณโกดังมัทนา เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ Home Coming ซึ่งเป็นนิทรรศการหลักที่ได้นำนักสร้างสรรค์สาขาต่างๆ ที่มีทักษะเฉพาะตัวเชี่ยวชาญแตกต่างกันมาออกแบบในโจทย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีสำหรับท้องถิ่น อย่างนิทรรศการ Local Cabinets ทำตู้เก็บของที่ตีความจากชุมชนต่างๆในเชียงใหม่ และ Local Composites การทดลองวัสดุผสานจากท้องถิ่นที่สามารถหาได้ง่าย ราคาถูกและย่อยสลายได้เพื่อเป็นแนวทางให้คนดูในการต่อยอดต่อไป ร่วมกับอีกหนึ่งไฮไลท์คือนิทรรศการศิลปะของ NFT Art Con2022 การเสวนาการออกร้าน NFT Workshop และนิทรรศการศิลปะ Crypto หรือข้ามไปที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ที่เราสามารถเยี่ยมชมแกลเลอรีศิลปะเสมือนจริง Virtual Art Gallery ที่สนับสนุนโดย ปตท. ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามนำศิลปะและเทคโนโลยีมาผสมผสานใกล้ชิดกับท้องถิ่น

Home Coming Exhibition

Locating the locals

นอกจากพื้นที่กิจกรรมหลักบริเวณอาคาร TCDC เชียงใหม่ ย่านช้างม่อย และลานสามกษัตริย์แล้ว กิจกรรมยังกระจายตัวไปตามสตูดิโอนักสร้างสรรค์ทั่วเมืองเชียงใหม่ สถานที่ของเอกชน ตลาด และในชุมชน ที่ร่วมกันจัดเวิร์คชอปและอีเว้นท์ของตัวเองในช่วงเดียวกัน ทำให้ภาพพื้นที่ของงาน CMDW2022 นั้นดูกว้างกินพื้นที่ทั้งในและนอกเมือง อย่างเช่น Mango Art Festival ในธีม ‘Treasure Discovered’ ที่จัดแสดงคู่ขนานไปกับงานเทศกาลออกแบบ โดยเราสามารถเดินชมงานศิลปะร่วมสมัยที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่สวนขนาดใหญ่ ใต้ถุนหมู่ยุ้งข้าว และยังมีการจัดแสดงภายในโกดังเก็บเฟอร์นิเจอร์เก่าของ De Siam Antiques Chiangmai ให้บรรยากาศเดินชมงานที่แปลกใหม่ที่งานศิลปะซ่อนตัวอยู่กับเฟอร์นิเจอร์เก่าจำนวนมากหรือนิทรรศการเกี่ยวกับการคงคุณค่าสถาปัตยกรรมที่จัดที่ Kalm Village ที่ยกโมเดล, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนบ้านเก่าของจริงมาให้ชมกันแบบ 1:1 และยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นในเขตชุมชนเมืองเก่าเชียงใหม่โดยคนในชุมชนเองที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลในปีนี้ เช่นเวิร์คช็อปและตลาดชุมชนที่วัดชมพูในชุมชนช้างม่อย งานกิ๋นหอม ต๋อมม่วน อีเว้นท์ประจำปีของชุมชนควรค่าม้าที่จัดต่อเนื่องมาหลายปีที่มีเป้าหมายเพื่อนำงานศิลปะเข้ามาพัฒนาชุมชนโดยมีแม่งานเป็นป้าๆ ที่อาศัยในชุมชนเอง หรือกิจกรรมน่ารักๆ ที่แทรกเข้าไปในพื้นที่ชุมชนอย่าง มาหา…สนุก TAM:DA การนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างงานศิลปะดอกไม้ประดิษฐ์แต่งสวนคืนชีวิตสีสันสดใสให้ทั้งกับของที่เคยเป็นขยะ ปักแสดงลงบนแปลงร่วมกับพืชผักกินได้ที่ทาง CEA พัฒนาพื้นที่สีเขียวร่วมกับชุมชนในบริเวณสะพานข้ามคลองแม่ข่าย่านช้างม่อย ที่คนในพื้นที่ใช้เดินผ่านไปมาประจำและอยู่ในเส้นทางที่คนใช้เดินชมงาน CMDW

The community workshop and market at Wat Chomphu in the Chang Moi community

ในระยะหลังนี้อาจจะด้วยเหตุผลเพราะเชียงใหม่มีฐานของการต่อยอดธุรกิจสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาอื่นๆ ของปีที่ไม่ใช่ช่วงเทศกาลการออกแบบ เราจะเห็นเหล่านักสร้างสรรค์ คนในภาคธุรกิจ และคนในชุมชนเมืองเชียงใหม่มีการตั้งกลุ่มทำงานร่วมกัน ทำงานข้ามสาขา หรือจัดอีเว้นท์ร่วมกันอยู่ตลอด แม้ตัวกิจกรรมจะมีขนาดไม่ใหญ่แต่ก็ทำออกมาได้น่าสนใจตรงประเด็นกับผลงานตัวเองในงบประมาณที่ไม่เยอะโดยที่ไม่ต้องรองานเทศกาลใหญ่และฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงสิ้นปี ทำให้ตอนนี้เมืองมีงานอีเว้นท์เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ให้ได้เที่ยวชมหมุนเวียนตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น CMDW ก็ยังเป็นเวทีใหญ่และช่วงเวลาพิเศษที่นำเหล่าผู้คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และผู้คนที่เกี่ยวข้องมารวมตัวกัน ทั้งยังเป็นพื้นที่ทดลองเปิดตัวนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ที่หน้าจับตา ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเมืองอย่างน่าชื่นชม

chiangmaidesignweek.com/cmdw2022
fb.com/chiangmaidesignweek

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *