นิทรรศการ ชั่วฟ้าดินสลาย โดย ตะวัน วัตุยานำเสนอภาพของ ‘สวรรค์’ อันเต็มไปด้วยความผาสุขและสิทธิขาดในการกำจัดผู้เห็นต่าง และ ‘นรก’ ที่เต็มไปด้วยผีร้ายที่ต้องถูกถอนรากถอนโคน อันเป็นผลพวงจากโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐไทยตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: CHAT CHAIYAKUT
(For English, press here)
“บรรยากาศแห่งการเรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาคในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้เราเห็นวรรคตอนของช่องว่างทางประวัติศาสตร์ที่เป็นสายธารไหลเวียนมาครบบรรจบ…”
จากคำบรรยายช่องแรกในสูจิบัตรงานนิทรรศการที่คล้ายกับหนังสือการ์ตูนผีราคาปก 1 บาท นิทรรศการ ชั่วฟ้าดินสลาย โดย ตะวัน วัตุยา จัดแสดงอยู่ที่ XSPACE Gallery 12 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2565
พื้นที่นิทรรศการถูกแบ่งกั้นเป็นสองฟาก แสดงบรรยากาศทาง สังคม การเมือง การปกครอง ใน 2 ช่วงเวลา ด้านหนึ่งแสดงภาพยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อด้วย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เกี่ยวกับภารกิจสร้างชาติของรัฐไทย ที่เดินหน้าสื่อสารกับประชาชนในรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เรียนรู้มาจากยุทธวิธีที่ CIA ใช้ดึงมวลชนให้มีความศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย โดยเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตและเสรีภาพกับระบอบคอมมิวนิสต์ผ่านสื่อทีวีและใบปิดประกาศ ภาพบนกำแพงฝั่งโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทยน่าจะเลียนหรือตั้งใจล้อเลียน สาระในใบประกาศยุคนั้นที่ทำหน้านี้ชี้นำให้สังคมเชื่อมั่นในตัวผู้นำที่แข็งแกร่ง มีการผูกโยงเข้ากับศาสนา แต่บิดให้สนับสนุนแนวทางฝ่ายรัฐ เช่น “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ทั้งยังชูอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 งาน figurative art ของตะวันดูจะเข้ากับการนำเสนอทิศทางแนวนี้ที่ชูสีสันของเสรีภาพลวงๆ มุ่งล้างสมอง ทำให้ผู้ได้รับสาร เชื่อ ฝังใจเป็นผู้ถูกปกครองที่ดี ยึดมั่นในอุดมการณ์เดียวกันกับท่านผู้นำ
ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของกำแพงเป็นงานขาวดำ มีภาพนรก สวรรค์คล้ายภาพที่วัดไผ่โรงวัว สะท้อนบรรยากาศของประเทศที่นิยมกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายเหลือเกินจนมีคำกล่าวที่ว่า “ประเทศนี้ทุกอย่างศักดิ์สิทธิ์หมดยกเว้นกฎหมาย” ภายใต้ภาพสเก็ตช์ที่ดูราคาถูกมีความเป็นชาวบ้านสามัญ (เมื่อเทียบกับภาพฝั่งโฆษณาชวนเชื่อของรัฐยุคสงครามเย็นอีกฝั่ง) ศิลปินสอดแทรกเหตุการณ์ทางการเมืองและบรรยากาศการเรียกร้องเสรีภาพ เสียงร่ำไห้ ตะโกนด่า แสดงความโกรธแค้นต่อความบิดเบี้ยว อยุติธรรมในสังคมปัจจุบันผ่านงานสตรีทกราฟิตี้ ในยุคที่แนวคิด ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และชาตินิยมสุดโต่ง แบบที่แอคทีฟในยุคสงครามเย็น วนกลับมาอีกครั้ง ชาติ ในความหมายของฝ่ายขวามีภาพของบรรพบุรุษ อย่างชาวบ้านบางระจัน หรือ ทหารอยุธยาออกไปรบกับพม่า กล้าหาญ เสียสละ หลั่งเลือดนองแผ่นดิน ห่างไกลไปจากชาติในความหมายสากล ที่ควรชูความเท่าเทียมของมนุษย์ รักสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ศาสนา คือสถาบันสำคัญที่ห้ามลบหลู่ ต้องยึดถือ ปกป้องสุดชีวิต ในที่นี้หมายถึงองค์กรศาสนาที่สนับสนุนอำนาจรัฐ ไม่ใช่ตัวปรัชญาที่มุ่งทำความรู้ใจและเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติอย่างที่มันเป็นและดำเนินอยู่ ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ละวาง… สถาบันกษัตริย์ในความหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็คล้ายกับศาสนา กษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพ เป็นที่ยึดเหนี่ยวสูงสุด ที่ฝ่ายอำนาจมักจะโยงไปใช้จัดการกับคนที่คิดต่างให้สิ้นซากไป แทนที่จะช่วยกันเชิดชู รักษาให้เป็นองค์สัญลักษณ์ของชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
“สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่กลับสร้างเรื่องราวที่ส่งต่อมาอย่างน่าสะพรึง ในนิทรรศการนี้นำเสนอห้วงขณะของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยผ่านจิตรกรรมที่นำเสนอเรื่องราวที่มีความต่างกันอย่างสุดขั้วด้านหนึ่งนำเสนอแต่สิ่งสว่างสุขสดใสด้านหนึ่งนำเสนอสิ่งมืดมนดั่งผีชั่วร้ายที่ตามหลอกหลอนสังคมไทย ประวัติศาสตร์ที่บอบช้ำกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ที่โอบล้อมเราเป็นดั่งกวีที่ไร้ที่มาปราศจากจุดเริ่มต้นและจุดจบพร้อมที่จะวนเวียนชั่วนิรันดร์ราวกับผีร้ายที่หลอกหลอนสังคมไทย เป็นโศกนาฏกรรมแห่งความจริงที่เกิดขึ้นและเป็นคำสาปที่สิงสู่ในฝันร้ายอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย” (กฤษฎา ดุษฎีวนิช คิวเรเตอร์ของนิทรรศการ ชั่วฟ้าดินสลาย โดย ตะวัน วัตุยา)
ในบรรยากาศปัจจุบันที่ประชาชนถูกแบ่งแยกแบบหยาบๆ ออกเป็น 2 ฝั่งความคิด ฝ่ายขวาหรืออนุรักษนิยมยังคงเกลียดคอมมิวนิสต์ราวกับผีร้ายมาจากนรก แต่ดันโปรจีน แถมเชียร์ปูติน ที่คอมมิวนิสต์แท้ๆ หนำซ้ำยังเกลียดอเมริกาเพราะชอบไปให้ท้ายพวกสามกีบ ทั้งๆ ที่รับเอาวัฒนธรรม propaganda มาจาก CIA แท้ๆ เรามีฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าที่ร่วมต่อสู้ในหลายระดับทั้งเพื่อรักษาระบบให้เกิดความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น ไปจนถึงแนวทะลุฟ้ามุ่งเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบเลยก็มี ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร ทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ภายใต้กติกาที่ยอมรับร่วมกัน เห็นต่างก็เถียงกันไป ด่ากันบ้าง กัดๆ เสียดสีบ้าง อาจถึงตบตีกันบ้างในบางโอกาส ต่างก็เพื่อรักษาพื้นที่ทางความเชื่อของฝ่ายตน และช่วงชิงความนิยมจากกลุ่มคนกลางๆ ที่พร้อมสวิงไปมาได้เสมอ เรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นวิถีปกติที่เข้าใจได้
ปัญหาคือยังมีฝ่ายอำนาจนิยมที่ไม่ยอมปล่อยมือง่ายๆ พวกเขาต้องการควบคุม ชี้นำ สั่งการ ให้สังคมเป็นในแบบที่ต้องการ ไม่สนใจวิธีการ คนพวกนี้ คับแคบ ล้าหลัง แถมยังนิสัยไม่ดี!