TOMOHIKO YAMANASHI

Tomohiko Yamanashi | Photo: Don Amatayakul

art4d ชวนโทโมฮิโกะ ยามานาชิ สถาปนิกจากบริษัท Nikken Sekkei มาพูดคุยถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบของเขาทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม ความยั่งยืน รวมถึงบทบาทของสถาปนิกในอนาคตท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นหัวข้อที่ใหญ่ที่สุดของทศวรรษนี้

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท TOTO สุขภัณฑ์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดงานบรรยาย “Breaking The Norm” เพื่อให้สอดคล้องต่อวิสัยทัศน์และนโยบายของบริษัทฯ ที่จะ “สร้างสรรค์การใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น” รวมถึงเป็นสะพานเชื่อมในการส่งผ่านวัฒนธรรมและความคิดของสถาปนิกและนักออกแบบ โดยเชิญคุณ โทโมฮิโกะ ยามานาชิ สถาปนิกผู้มากความสามารถจากบริษัท Nikken Sekkei ที่มีผลงานอันโดดเด่นและได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมาย ทั้ง NBF Osaki Building (former SONY City Osaki, 2011), HOKI Museum (2010), Mokuzai Kaikan (2009) มาพูดคุยถึงแง่มุมและวิธีคิดในงานสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้น

Photo courtesy of TOTO

เนื่องในโอกาสนี้ art4d จึงได้ชวนคุณยามานาชิมาพูดคุยถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบของเขาในหลากหลายมุมมอง ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ความยั่งยืน รวมถึงบทบาทของสถาปนิกในอนาคตท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นหัวข้อที่ใหญ่ที่สุดของทศวรรษนี้

Photo courtesy of TOTO

art4d: ในปัจจุบัน เรามักจะเห็นว่าสถาปัตยกรรมนั้นต่างมุ่งเน้นไปยังเรื่องของการแสดงออกวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันออก รวมถึงผลงานของคุณบางชิ้น เช่น HOKI Museum หรือ Toho Gakuen School of Music นั้นก็ต่างเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นทั้งในมิติของบริบทและประวัติศาสตร์ ซึ่งสำหรับคุณแล้ว ‘สถาปัตยกรรม’ และ ‘วัฒนธรรม’ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

Tomohiko Yamanashi: จริงๆ แล้วสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงอยู่กับศิลปะและวัฒนธรรมอยู่แล้วอย่างแยกกันไม่ขาด แต่ผมต้องการให้งานของผมมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะผมเชื่อมั่นว่านับจากนี้ไปวัฒนธรรมควรจะเกิดขึ้นจากเหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์

Toho Gakuen School of Music (2014) Photo by Harunori Noda

ในความเห็นผม สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ต้องอธิบายได้ตามตรรกะและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ แต่เราก็ไม่ใช่พุ่งเป้าไปที่เรื่องของวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์มันอาจจะเป็นภาพใหญ่ที่ครอบกระบวนการทั้งหมด แต่มันจะมีจุดเล็กๆ ที่พลิกให้ตรรกะทางความคิดตรงนั้นเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย อาจจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ บริบท กิจกรรมของผู้คน ผมเชื่อว่าจุดเล็กๆ นั้นแหละคือวัฒนธรรม

Hoki Museum (2010) Photo by Harunori Noda

ผมไม่อยากให้ยึดติดกันว่า วัฒนธรรมนั้นเป็นจุดตั้งต้นของสถาปัตยกรรม แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการทำงานทั้งสองฝั่ง เพราะสถาปัตยกรรมเองก็ก่อให้เกิดวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน สองสิ่งนี้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น อย่างงานของผมเอง แม้ว่าผมจะทำงานจากตรรกะและเหตุผลอย่างไร แต่แน่นอนว่าด้วยความที่มันถูกสร้างขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ผลลัพธ์มันก็จะมีความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปโดยปริยายอยู่แล้ว จริงๆ ผมไม่อยากให้ยึดติดกับการนำวัฒนธรรมมาเป็นแกนหลักมาก เพราะสุดท้ายพอเราสร้างงานที่ดีขึ้นมาในพื้นที่นั้นได้ มันก็จะต่อยอดกับวัฒนธรรมไปเอง

art4d: คุณคิดว่าอะไรคือลักษณะเด่นที่แตกต่างกันของสถาปัตยกรรมในไทยและญี่ปุ่น

TY: ลองดูที่เรื่องอย่างประตูหน้าต่างก็ได้ ญี่ปุ่นนั้นมีทั้งช่วงที่หนาวและช่วงที่ร้อน เพราะฉะนั้นประตูบานเลื่อนมันเลยเกิดขึ้นเยอะแล้วก็มีหลายรูปแบบมากๆ ในสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น แต่อย่างเมืองไทยเราจะเห็นได้ว่าร้อนทั้งปี ช่องเปิดอย่างหน้าต่างเลยมีการออกแบบให้เปิดปิดเพื่อรับแสงได้ แต่สถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น ประตูบานเลื่อนสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างประณีต และใช้บานประตูเป็นหน้าต่างเพื่อรับแสงเข้ามาเลย สิ่งที่น่าสนใจคือ สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นจะเน้นให้ความสำคัญกับความมืดในยามค่ำคืน แต่คนไทยจะให้ความสำคัญกับเงาในตอนกลางวัน

art4d: จากผลงานต่างๆ ของคุณทั้ง Lazona Kawasaki Toshiba Building, NBF Osaki Building และ Mokuzai Kaikan อะไรคือวิธีคิดในการออกแบบอาคารสำนักงานต่างๆ

TY: ถ้าลองจินตนาการดู เราจะเห็นว่าอาคารสูงคือตึกที่มีแก้วครอบอยู่ ทำให้เราถูกกั้นออกจากโลกภายนอก แต่ว่าอาคารทั้งสามอาคารนี้ ตัวเปลือกของอาคารจะถูกออกแบบให้ผู้คนสามารถออกมาแล้วสัมผัสกับสภาวะภายนอกได้ ด้วยการให้ façade เป็นพื้นที่ใช้งานภายนอกไปด้วยเลย เช่น ระเบียง หรือ “เอ็นกาวะ (engawa)” พื้นที่ชานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น จาก façade กระจกหนา 8 มิลลิเมตร เราก็เปลี่ยนให้กลายเป็น façade กว้าง 2 เมตรที่ทำหน้าที่เป็นชานไปในตัวด้วยเลย ซึ่ง façade กว้าง 2 เมตรตรงนี้ถึงฟังแล้วจะดูเหมือนเปลือง แต่เพราะเราดันโครงสร้างเสาออกไปข้างนอก ทำให้พื้นที่ข้างในมีความโล่งและใช้งานได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

NBF Osaki Building (2011) Photo by Harunori Noda

อีกทั้งผมยังให้ความสำคัญกับ space แล้วก็ material มากๆ แล้วบางทีเวลาเราดูตัวสถาปัตยกรรมจากภาพ เราอาจจะเห็นได้แค่รูปทรง แต่ว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผัสสะเรื่อง สัมผัส ความรู้สึก แล้วก็รวมไปถึงเรื่องกลิ่น ถ้าอย่างกรณีของ Mokuzai Kaikan มันจะมีกลิ่นหอมที่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาและกาลเวลาของมัน เวลาที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นแล้วสามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นที่มีความเฉพาะตัว

art4d: แล้วการมาถึงของโรคระบาดโควิดทำให้คุณได้เจอแง่มุมใหม่ๆ ในการออกแบบอาคารสำนักงานบ้างหรือเปล่า

TY: ผมแอบสังเกตว่าพวก partition ที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น ประตูหรือหน้าต่างบานสไลด์จะกลายเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงโควิด เพราะมันทำให้เราสามารถปรับแต่ง space ได้ตามสถานการณ์ ซึ่ง partition ที่สามารถเคลื่อนได้พวกนี้แต่เดิมเป็นสิ่งธรรมดามากในญี่ปุ่น แต่กลับกันเรากลับมองว่าองค์ประกอบเหล่านี้ไม่เหมาะกับในอาคารสูงต่างๆ โรคระบาดมันทำให้เรากลับมาคิดอีกครั้งว่าจริงๆ แล้วองค์ประกอบง่ายๆ พวกนี้มันดีและมีประโยชน์มากแต่เรากลับมองข้ามมันไป

Jimbocho Theater (2007) Photo by Harunori Noda

art4d: คุณมีมุมมองอย่างไรต่อคำว่า ‘ความยั่งยืน’ แล้วสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างเข้ามีบทบาทต่อเรื่องนี้อย่างไร

TY: อาจจะต้องเท้าความกันก่อนว่า ‘sustainable’ หรือความยั่งยืนนั้นคือการพยายามคงสภาวะปัจจุบันให้เหมือนเดิมและไม่แย่ไปกว่านี้ แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมมันแย่ไปแล้ว ผมเลยคิดว่า ‘sustainable’ อย่างเดียวเนี่ยคงไม่พอ มันควรจะต้องกลายเป็น ‘regenerative’ หรือการฟื้นฟูระบบนิเวศควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสถาปนิกคงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยตรงในภาพรวม แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้เลย เราสามารถนำนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาประยุกต์ใช้เข้ากับอาคารของเราได้ไม่มากก็น้อย เช่นในอาคาร NBF Osaki Building (2011) ที่มีการใช้ façade เป็น Bio Skin ในการควบคุมความร้อนรอบตัวอาคารเพื่อลดภาระของเครื่องปรับอากาศลง รวมถึงลดการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Phenomenon)

art4d: สุดท้ายนี้ สำหรับคุณ บทบาทของสถาปนิกในศตวรรษนี้ต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมควรจะเป็นอย่างไร

TY: สมมติว่าอยู่ดีๆ มีนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเข้ามาแก้ปัญหาทั้งหมดให้ดีขึ้นได้ มันก็อาจจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ทันที แต่ด้วยความที่ว่ามันยังไม่มี เราทุกคนเลยมีหน้าที่ช่วยกันไปก่อนคนละไม้คนละมือ รวมถึงอาชีพอย่างสถาปนิกด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าการช่วยกันเล็กๆ น้อยๆ มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ทั้งใบ แต่สิ่งที่เป็นผลตามมามันคือ ‘นวัตกรรม’ เพราะนวัตกรรมมันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ มันต้องทดลองกันเป็นหมื่นๆ คน ผ่านการลองผิดลองถูกไม่รู้จบ จนมีแค่หนึ่งคนที่เจอหนึ่งนวัตกรรม เพราะฉะนั้นความพยายามทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้มวลมนุษยชาติสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมหนึ่งอย่างขึ้นมาได้ จากความพยายามนับหมื่นครั้ง

Photo: Don Amatayakul

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *