WilkinsonEyre รีโนเวทโรงไฟฟ้าถ่านหินในลอนดอนที่ครั้งหนึ่งเป็นตัวแทนความรุ่งโรจน์ทางอุตสาหกรรม ให้กลายเป็นห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่พบปะที่มอบความบันเทิงให้กับผู้คนในเมืองแทน
TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ก่อนถึงการปิดตัวอย่างถาวรในปี 1983 โรงไฟฟ้าถ่านหิน Battersea Power Station เคยเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรโดยมีสถาปัตยกรรมอิฐสูงใหญ่เป็นส่วนประกอบ ตลอดช่วงชีวิตของ Battersea Power Station ตัวอาคารผ่านการเปลี่ยนแปลงและก่อสร้างเพิ่มเติมหลายครั้งโดยใช้เวลานานถึงกว่า 20 ปีนับตั้งแต่การเปิดตัวในปี 1935 ก่อนจะสำเร็จเป็นอาคารอิฐพร้อมปล่องไฟสี่ปล่องดังที่ได้กลายเป็นภาพจำในปัจจุบัน มาถึงวันนี้ Battersea Power Station เพิ่งได้รับบทบาทใหม่หลังจากปิดร้างมาเป็นเวลานานในฐานะสถานที่พบปะของชาวเมือง เมื่อโครงสร้างของอดีตโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกเปลี่ยนเป็นแลนด์มาร์คเพื่อการจับจ่าย กินดื่ม สำนักงาน และโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่แห่งใหม่ทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำเทมส์ ณ กรุงลอนดอน
ความสำเร็จในด้านสถาปัตยกรรมของ Battersea Power Station นั้น ผู้คนยกย่องให้เครดิตกับการทำงานของ Sir Giles Gilbert Scott สถาปนิกหลักของโครงการ โดยในยุคเริ่มต้นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโรงไฟฟ้านั้นเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย แรกเริ่มอาคารได้ James Theo Halliday เป็นสถาปนิกผู้วางแนวทางภาพลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในอาคารมาก่อน Scott จะเข้ามาควบคุมต่อ เช่น การเลือกให้อาคารใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการหุ้มโครงสร้างเหล็ก และเลือกใช้ปูนมอร์ตาร์เป็นสีฟาง ทั้งหมดเพื่อให้รูปลักษณ์ภายนอกของโรงไฟฟ้า ‘เป็นมิตร’ ทางสายตาแก่ผู้พบเห็นมากขึ้น ลดความเป็น ‘อุตสาหกรรม’ ของอาคารขนาดมหึมาริมแม่น้ำลง
หน้าที่ของ Scott ในขณะนั้น คือการเข้ามาจัดการกับรูปลักษณ์ภายนอกของอาคารโดยตรง อันเนื่องจากขนาดและสถานที่ตั้งของมันได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะชนอย่างแพร่หลาย ความมหึมาของอาคารยังทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ถูกผู้คนเอ่ยถึงในเชิงเปรียบเปรยกับอาคารทางศาสนา เช่น brick cathedral หรือ cathedral of power โดย Gavin Stamp นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมยังกล่าวว่า การเปรียบโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นดังมหาวิหารแห่งอำนาจนั้นสอดคล้องกับลัทธิการบูชาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแทนที่ความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอย่างก่อน Stamp ยังกล่าวว่า การออกแบบของ Scott นั้นเป็นความพยายามในการนำเสนอสภาวะความเป็นสมัยใหม่แบบที่ไม่ใช่การใช้สถาปัตยกรรมกระจกที่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ได้ใช้สถาปัตยกรรมในรูปแบบ Art Deco ในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1920 ที่ Scott เคยเดินทางไปประสบพบเห็นแทน ซึ่งทำให้ผลงานของเขาถูกสถาปนิกจำนวนไม่น้อยในยุคนั้นมองว่าบิดเบือนไปจากหลักการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยบอกว่า Scott นั้นใส่ใจการแสดงออกด้านสไตล์ของอาคารมากเกินไปแทนที่จะมุ่งสะท้อนการใช้งานพื้นฐานของอาคาร ซึ่งก็เป็นดังที่ Scott ได้ให้ความคิดเห็นต่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคของเขาไว้ว่า การลดทอนการประดับตกแต่งและการใช้องค์ประกอบที่ขาดชีวิตชีวานั้นได้แพร่กระจายไปสู่ทุกอาคารอย่างขาดการไตร่ตรอง และ Scott คิดว่าแรงเหวี่ยงของการออกแบบนั้นจะหวนมาสู่จุดสมดุลที่ที่การใช้องค์ประกอบและการประดับประดานั้นจะถูกจัดวางอย่างเหมาะสมในที่ที่มันเป็นที่ต้องการและไม่ใช่ที่อื่นใด
อย่างไรก็ตาม กาลเวลาปัจจุบันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมของ Battersea Power Station นั้นควรค่าที่จะถูกเก็บรักษาและส่งต่อ โดยในปี 1980 และปี 2007 Battersea Power Station ได้รับเลือกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ Grade II และ Grade II* ตามลำดับ จนเมื่อเดือนตุลาคมในปี 2022 ที่ผ่านมานี่เอง ที่ Battersea Power Station ได้เปิดต้อนรับผู้คนในฐานะศูนย์การค้า ที่พักอาศัย รวมถึงการเป็นสถานที่รองรับสำนักงานของ Apple แห่งใหม่ใจกลางเมือง
ก่อนการปรับปรุง โรงไฟฟ้าอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมไปมากจากการถูกทิ้งร้างมานานปี โดยหลักแล้วอาคารโรงไฟฟ้าแห่งนี้ประกอบไปด้วยโถง Turbine Hall A และ B ประกบด้านซ้ายและขวาของอาคาร อยู่เบื้องล่างและรองรับ Switch House ฝั่งละห้องรวมถึงปล่องควันสูงเสียดฟ้าทั้งสี่ โดยตรงกลางเป็นโถงใหญ่ Boiler House ที่สภาพก่อนปรับปรุงหลงเหลือเพียงกรอบกำแพงอิฐปราศจากหลังคา โครงการการปรับปรุง Battersea Power Station ที่ปรากฏล่าสุดนี้ได้ WilkinsonEyre เป็นสถาปนิกของโครงการ มีแนวคิดหลักคือการให้โรงไฟฟ้าได้เผยเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของตัวเอง ผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเดิมที่ถูกอนุรักษ์ไว้ผสมไปกับดีไซน์ใหม่ๆ ที่จะปรากฏขึ้นในทั่วทุกส่วน
หลังจากการปรับปรุง Battersea Power Station ได้ถูกแบ่งการใช้งานหลักๆ ออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ ส่วนศูนย์การค้ากินพื้นที่ชั้นล่างสุดของอาคารที่รวม Turbine Hall ซ้ายขวารวมถึงชั้นแรกของโถง Boiler House เดิมไว้ นอกจากนั้นก็มีส่วนความบันเทิงต่างๆ อย่างโรงภาพยนตร์และโถงจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ชั้นสองเหนือ Boiler House ขึ้นไป ส่วนสำนักงานของ Apple กินพื้นที่ 6 ชั้นบนสุดเหนือ Boiler House ส่วนที่พักอาศัยกินพื้นที่ 2 ส่วนคือส่วน Switch House เดิมทั้งซ้ายและขวาเหนือ Turbine Hall และอีกส่วนคือพื้นที่ส่วนหนึ่งของชั้นเหนือดาดฟ้าของส่วนสำนักงาน ต่อมาก็ยังมีการปรับปรุงห้องควบคุมเดิมทั้งสองฝั่ง ฝั่ง Control Room B กลายเป็นบาร์เครื่องดื่ม ส่วน Control Room A เป็นพื้นที่รองรับการจัดอีเวนท์ที่โดดเด่นด้วยการคงเอกลักษณ์การออกแบบห้องแบบ Art Deco และยังคงองค์ประกอบที่แสดงถึงเรื่องราวที่มาของอาคารอย่างการคงไว้ซึ่งอุปกรณ์ควบคุมต่างๆ ไว้ด้วย
แนวคิดการรักษาไว้ซึ่งองค์ประกอบเดิมแล้วนำเสนอใหม่ให้สอดคล้องไปกับงานใช้งานปัจจุบันนั้น ยังสามารถพบได้ในองค์ประกอบหลักอย่างเอกลักษณ์ของกำแพงอิฐโดยรอบ ถึงแม้อาคารจะยังคงสภาพเป็นอาคารอิฐเหมือนดังที่เป็นมาในอดีต แต่กำแพงอิฐในหลายส่วนของสถานที่นี้เกิดจากการรื้อกำแพงเดิมลงแล้วก่อสร้างใหม่แทนที่การรักษาของเก่าไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะกำแพงอิฐฝั่งตะวันตกที่สภาพก่อนปรับปรุงนั้นพังทลายลงไปเกือบหมด การออกแบบและก่อสร้างจึงเป็นการรื้ออิฐจำนวนมากออกไปแล้วสร้างใหม่ให้เหมือนเก่า ทั้งนี้ สถาปนิกยังคงความพยายามในการสื่อสารเรื่องราวของอดีตผ่านผนังอิฐในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนโถงร้านค้าที่สถาปนิกได้เผยกำแพงอิฐสูงใหญ่พร้อมให้เห็นโครงสร้างเหล็กรองรับภายในให้ผู้เยี่ยมชมได้รับรู้ที่มาที่ไปของอาคาร รวมไปถึงส่วนที่อยู่อาศัยในหลายห้อง ที่ก็มีการเปิดพื้นผิวให้เห็นผนังอิฐตามแนวคิดเดียวกันด้วย
นอกจากนั้น อีกองค์ประกอบสำคัญที่ถูกปรับปรุงโดยการคงเอกลักษณ์เดิม คือปล่องควันคอนกรีตทั้งสี่ปล่องที่ได้ถูกรื้อลงทั้งหมดเนื่องจากมีสภาพไม่เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน แล้วได้รับการหล่อขึ้นใหม่โดยให้คงรูปลักษณ์ตามอย่างในอดีต ยิ่งกว่านั้นหนึ่ง ในปล่องควันเหนือ Turbine Hall A ได้ถูกออกแบบให้เป็นปล่องลิฟท์ที่นำผู้คนขึ้นไปสู่ลานโล่ง ณ ปลายปล่องอันเป็นลานชมทัศนียภาพของเมืองลอนดอนในแบบที่มันไม่เคยถูกใช้งานในลักษณะนี้มาก่อน
การได้รับบทบาทใหม่ในฐานะสถานที่เพื่อความบันเทิงของผู้คน เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์จากการเป็นอาคารตัวแทนอำนาจและความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้อดีตโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกสวมภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะพื้นที่ที่อุทิศตนเพื่อคนทั่วไป ภาพผู้คนพบปะโดยรอบสนามหญ้าหน้าอดีตโรงไฟฟ้าสูงใหญ่ เป็นหนึ่งเครื่องยืนยันที่ดีอันหนึ่งในการให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับผู้คนผ่านสถาปัตยกรรม ที่ไม่ว่าอดีตของพื้นที่จะเคยเป็นเช่นไรมาก่อนก็ตาม