มิตร ใจอินทร์ แฝงเรื่องราวของพุทธศาสนา ความผูกพันของเขาต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงพื้นหลังทางการเมืองของประเทศไทยที่ยังไม่ไปไหนเสียที ผ่านนิทรรศการที่เต็มไปด้วยงานศิลปะหลากสีสัน
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
นิทรรศการ Dreamday โดย มิตร ใจอินทร์ นำเสนอผลงานบางส่วนจากนิทรรศการ Dreamworld ที่จัดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้วที่ Ikon Gallery สหราชอาณาจักรและผลงานที่สร้างขึ้นใหม่ คิวเรตโดย กิตติมา จารีประสิทธิ์ แห่ง MAIIAM Contemporary Art Museum เชียงใหม่ และ Melanie Pocock แห่ง Ikon Gallery ผลงานในนิทรรศการมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือในห้องนิทรรศการหลัก และ บางกอก อพาร์ทเม้นท์ (Bangkok Apartment, 2565) ผลงานศิลปะขนาดจิ๋วจากวัตถุเหลือใช้ 74 ชิ้น ในห้องแสดงงานที่สอง
แสงบอกทาง (โคมไฟ) และหินบอกเขต (marking stone) เหล่านี้แตกต่างจากศิลปะทั่วไปตรงที่มันถูกสร้างขึ้นมาแจกจ่ายให้กับผู้ชมฟรีๆ ในเงื่อนไขเดียวว่าเขาเหล่านั้นที่ได้งานศิลปะไปจะต้องนำไปจัดแสดงต่อและเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม (ต้องถ่ายรูปเป็นหลักฐานด้วย) ศิลปินยืมไอเดียนี้มาจากใบเสมาของศาสนาพุทธที่ว่าด้วยการปักหลักเขตแดนทำพิธีกรรมทางศาสนาในบริบทโลกศิลปะ การเพิ่มจำนวนของ “ศิลปะเสมา” เหล่านี้ (ที่ศิลปินให้สัมภาษณ์ว่าจะทำอีกให้ถึง 1,000 ชิ้น!) ก็คงเป็นไปเพื่อการขยายขอบเขตของโลกศิลปะในประเทศไทย
กลับมาดูผลงานในห้องจัดแสดงหลักกันบ้าง ไอเดียเกี่ยวกับศาสนาพุทธซ่อนตัวอยู่ในสีสันชวนฝัน ความหยาบ หยุ่น และสะเก็ดสีบนผลงาน ศิลปินพูดถึงกระบวนการทำงานศิลปะ การทำสมาธิ และการเยียวยาตัวเองในโลกอันแสนจะยุ่งเหยิงไว้บน wall text และสำหรับในคนดูชาวไทยชั่วโมงนี้ ท่ามกลางความเน่าเฟะบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมในไทย ความตั้งใจจะ ‘ชำระล้างความซบเซา หรือบาดแผลอันเจ็บปวดแก่ผู้ชม’ ด้วยผลงานอย่าง Dream Tunnel, 2021 นั้นฟังดูไม่เกินจริงเลยแม้แต่นิดเดียว
‘สี’ ในงานศิลปะของมิตร ใจอินทร์ ยังหมายความไปได้ไกลกว่าเรื่องพุทธศาสนา พาเลทสีที่ศิลปินใช้อ้างอิงกลับไปถึงความผูกพันของเขาต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทย และความหลากหลายของชาติพันธ์ หรือสีในฐานะวัสดุและวัตถุ (ประติมากรรม) และถ้าอ้างอิงกลับไปยังผลงานชิ้นก่อนๆ ของศิลปิน (Junta Monochromes, 2018) รวมถึงนิทรรศการเปิดตัว Gallery VER ในปี 2016 (Wett Exhibition) ละก็ ประกอบกับความคลุมเครือของศิลปะร่วมสมัย ปฏิเสธได้ยากว่าผลงานในนิทรรศการครั้งนี้สลัดตัวไม่หลุดจากความหมายเชิงสัญลักษณ์ของ ‘สี’ ในการเมืองไทย
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ‘สี’ ที่ว่านี้อาจหมายถึงขั้วเหลือง – แดง ของกลุ่มก้อนอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ในวันนี้ ตอนนี้ เรานึกถึงแต่สีแดงที่สาดลงบนตัวของ ตะวัน และแบม ก่อนที่เธอทั้งสองจะเอาอิสรภาพของตัวเองไปแลกกับอะไรที่อยู่เหนือกว่าเรื่องการเมืองนั่นคือความยุติธรรม …
นิทรรศการ Dreamday ชวนให้คนดูฝันถึงวันที่ดีกว่า แต่ทุกๆ ครั้งที่ผลงานศิลปะถูกใช้ (ถ่ายรูป) เป็นแบคกราวน์เก๋ๆ ของภาพถ่ายที่อัพโหลดบน social media กลับเป็นเครื่องยืนยันว่าแบคกราวน์ทางสังคมในประเทศไทยยังวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ เหมือนกับลูปสีที่วนเวียนไม่จบสิ้นในแกนกลางของ Untitled (Scroll), 2021 ที่ตั้งอยู่กลางห้องนิทรรศการแห่งนี้
Dreamday โดยมิตร ใจอินทร์ จัดแสดงที่ Jim Thompson Art Center ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ บทความนี้เขียนขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2023 วันสุดท้ายของกิจกรรมยืนหยุดขัง 112 ชั่วโมง บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข่าวดีจะมาถึงก่อนที่นิทรรศการนี้จะจบลง