THE RED HOUSE

บ้านกลางชนบทอังกฤษโดย David Kohn Architects ที่มีหน้าตาคล้ายสถาปัตยกรรมในยุค Arts and Crafts Movement แต่กลับเต็มไปด้วยองค์ประกอบร่วมสมัยทั้งการจัดเรียงอิฐ เส้นสายสีเขียวสะดุดตา และผังที่เชื่อมต่อกันทุกห้อง

TEXT: KAWIT KOUDOMVIT
PHOTO: WILL PRYCE

(For English, press here

ภาพเนินหญ้าสีเขียว กระท่อมอิฐ ฝูงแกะ และหย่อมก้อนเมฆ เป็นภาพจำที่ฝังแน่นสำหรับเขตชนบทของอังกฤษ ยิ่งโดยเฉพาะแคว้น Dorset ในภาคทางตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเหตุให้เจ้าของบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองหลวง หลงใหลและย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่นี่ หลังจากใช้เวลาสำรวจหาที่ดินเป็นเวลานาน จนได้มาพบกับเนินทุ่งหญ้าที่ขนาบด้วยถนนกรวดนำทางไปแปลงที่ดินที่ทอดตัวเป็นแนวยาวคล้ายพระจันทร์เสี้ยว กว่าสิบปีที่ครอบครองเนินแห่งนี้ เปลี่ยนสำนักงานออกแบบก็หลายแห่ง บ่มเพาะโจทย์จนได้ที่ สุดท้ายได้มาพบกับ David Kohn จาก David Kohn Architects ที่เคยร่วมงานกันปรับปรุงแกลเลอรีย่าน Mayfair ในลอนดอน จนได้บทสรุปเป็น The Red House หลังนี้

The Red House vs The Red House

ที่ย่าน Bexleyheath บริเวณชายขอบกรุงลอนดอน ท่ามกลางบ้านหน้าตาดาษดื่น มีบ้านเก่าแก่หลังหนึ่งสร้างด้วยก้อนอิฐสีแดง มีหลังคาจั่วทรงสูง พร้อมปล่องควันอันโตที่แทงทะลุหลังคา เป็นภาพปรากฏเดียวกันกับเวลาเด็กน้อยต้องวาดรูป ‘บ้านในภาพจำ’ ของเขา บ้านนี้สร้างขึ้นระหว่างช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในยุคที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟู จนเกิดการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่ดึงสายงานการผลิตกลับสู่มือศิลปินและนักออกแบบและปฏิบัติต่อผลผลิตเหล่านั้นในเชิงงานหัตถกรรมแทนที่จะโยนงานให้เครื่องจักรในระบบโรงงานอุตสาหกรรม โดยชายชื่อ William Morris ผู้บุกเบิก Arts and Crafts Movement เจ้าของ The Red House in Bexleyheath หลังนี้

บ้านหลังนี้เป็นวัตถุพยานหนึ่งของ Arts and Crafts Movement โดย Morris ออกแบบร่วมกับสถาปนิก Phillip Webb ผู้ซึ่งเขาเคยฝึกงานด้วย ก่อนจะกลายเป็นเพื่อนกันภายหลัง นอกจากภาพจำของงานออกแบบที่มีลายดอกไม้ใบไม้ที่อ่อนช้อยชวนให้นึกถึงงานหัตกรรมอันละเอียดอ่อนแล้ว ใจความสำคัญอีกสิ่งหนึ่งของ Art and Crafts Movement คือ Utilitarianism

จาก London ถึง Dorset

ในแง่สถาปัตยกรรม การออกแบบที่มองเห็นประโยชน์ของที่ว่างและการใช้งานเป็นสำคัญเหนือสิ่งประดับตกแต่ง ภายใต้แนวคิดเชิง Utilitarianism ได้ถูกต่อยอดมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้ยึดกับภาพลักษณ์หรือลวดลายอีกต่อไป หนึ่งวัตถุหลายอรรถประโยชน์กลายมาเป็นพื้นฐานในงานออกแบบร่วมสมัย เช่นเดียวกับการออกแบบและวางผังบ้าน The Red House ของ David Kohn Architects ที่ชนะรางวัล Royal Institute of British Architects (RIBA) House of the Year 2022 หลังนี้ อาคารสองชั้นพื้นที่ใช้สอยรวม 252 ตารางเมตร ภายในบรรจุด้วย 4 ห้องนอนพร้อมห้องน้ำ 2 ห้องนั่งเล่น ครัว และพื้นที่เก็บของสถาปนิกจัดวางผังโดยอาศัย core pod 6 หน่วยมาใช้เพื่อกันแบ่งพื้นที่ชั้นล่าง โดย pod เหล่านี้ภายในบรรจุการใช้งานต่างกัน เช่น ห้องส้วม ลิฟท์ หรือห้องเก็บของ เพื่อลดความรกของพื้นที่โดยยังคงความเป็น open plan ของการวางผังชั้นล่าง ลักษณะการวางผังเช่นนี้เรียกว่า ‘Enfilade’ หรือระบบการเอาห้องต่อกันโดยไม่อาศัยประตู ซึ่งเป็นที่นิยมในสถาปัตยกรรมยุโรปสมัยหนึ่ง โดยสถาปนิกนำภาษาสถาปัตยกรรมนี้มาต่อยอด โดยพื้นที่ที่ถูกแบ่งโดย core pod ต่างๆ นั้นยังคงเชื่อมต่อกันโดยโถงทางเดินยาวตลอดเหนือจรดใต้ของบ้าน สถาปนิกวางกำแพงให้ยื่นเข้ามาในทางเดินโดยเหลื่อมกัน เมื่อสังเกตจากผังพื้นอาคารจะดูขัดตา ชวนให้รู้สึกไม่สมประกอบแต่เมื่อวางสายตาลงมาในมุมมองจริง ความรู้สึกไม่สมประกอบกลับถูกชดเชยด้วยความลื่นไหลจากพื้นที่นึงไปยังพื้นที่นึง โดยไม่แบ่งเป็นห้องปิด ทั้งยังบรรจงสร้าง ’มุม’ (niche) ใช้งานต่างๆทดแทนขึ้นมา โดยสถาปนิกอธิบายว่า “มุมเหล่านี้ทรงพลังกว่าการกั้นห้องเสียอีก” นอกจากนี้ความเหลื่อมกันของผนังนั้นดึงดูดสายตาให้ชวนมองเข้าไปในแต่ละด้านกลายเป็นเหตุของความลื่นไหลทางพื้นที่ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ในระบบเรขาคณิตของการวางผัง ส่วนมุมเหล่านี้ได้ผสานรูปทรงกระบอกเข้ากับกรอบอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เกิดเป็นส่วนเว้าและนูนในแต่มุม เปิดขยายพื้นที่ใช้งานให้เต็มจำนวนมากขึ้น ทั้งโต๊ะอาหาร บันได และราวแขวนเสื้อพร้อมที่วางรองเท้าก่อนเข้าและออกจากบ้าน

1st and 2nd Floor Plan

พื้นที่ห้องนอนใหญ่บนชั้นสองนั้น เน้นย้ำความสามารถในการผสานรูปทรงเรขาคณิตของสถาปนิกได้อย่างดี ส่วนผนังโค้งทรงกระบอกเมื่อบรรจบกับหลังคาลาดเอียง กลายมาเป็นมุมที่ฝ้าโค้งลงมาเหมือนผืนผ้าที่ย้อยลงมา ราวกับงานประติมากรรมที่แกะสลักผ้าจากของแข็งเช่นหินอ่อนให้กลายเป็นคลื่นที่คล้อยไปตามสรีระร่างกาย

อิฐแดงกับเส้นสีเขียว

‘Ordinary yet quirky, extravagant although utilitarian’ เป็นคำโปรยของบ้านหลังนี้ โดย Taro Tsuruta หนึ่งในกรรมการผู้ตัดสินรางวัล RIBA House of the Year 2022 ภาพภายนอกอาคารที่เหมือนกับถอดแบบมาจากภาพวาดเด็กน้อยที่ดูเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นรายละเอียดที่มีทั้งอิฐที่แปะเรียงในแพทเทิร์นที่ต่างกันเพื่อเน้นผนังโค้งและระบุตำแหน่งของพื้นที่ใช้สอยภายในที่ต่างกันด้วย หน้าต่างทรงกลมที่อยู่ดีๆก็โผล่มารับท่อน้ำฝนที่ถูกทาด้วยสีเขียว ซึ่งหากสังเกตุจากรูปด้านอาคารจะเห็นภาษาการออกแบบที่หนักไปทางงานออกแบบกราฟิกเสียมากกว่า นอกจากนี้ขอบหน้าต่างสีเขียวกลับชวนให้นึกถึงอาคารที่ออกแบบโดย Charles Francis Annesley Voysey สถาปนิกและนักออกแบบในยุค Arts and Crafts Movement เช่นเดียวกัน ราวกับว่า The Red House หลังนี้เป็นลูกผสมของสถาปัตยกรรมฉบับ Arts and Crafts กับร่างของกระท่อมพื้นถิ่นแถบชนทบอังกฤษ ที่ออกมาร่วมสมัยและเตะตาผู้คนที่เห็นอาคารหลังนี้จากภายนอกไม่น้อย ไม่นับรวมถึงการเจาะช่องหน้าต่างทางทิศเหนือที่ตั้งใจออกแบบให้คล้ายใบหน้าคนอีกด้วย

กลิ่นอายของบ้านหลังนี้ยังเป็นสัญลักษณ์สะท้อนของอาคารพื้นถิ่นที่ลักษณะสถาปัตยกรรมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและอากาศ โดยชายคายื่นยาวช่วยกันแดดจัดในฤดูร้อน โถงทางเข้าที่เว้าลึกเข้ามาป้องกันการสูญเสียความร้อนในหน้าหนาว การวางผังตอบรับกับการถ่ายเทอากาศที่ดี วัสดุก่อสร้างที่ใช้เกือบทั้งหมดมาจากบนเกาะอังกฤษเอง รวมถึงแรงงานช่างฝีมือก็เช่นกัน นอกจากรายละเอียดในการออกแบบที่ถูกคิดมาแล้ว รายละเอียดในการก่อสร้างก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน วัสดุก่อสร้างอาจจะดูไม่หรูหราแต่ในชั้นเชิงงานช่างแล้วซับซ้อนไม่น้อยเลยทีเดียว เช่นรูปแบบและรอยต่อของอิฐที่ต่างกันทั้งแนวตั้ง แนวนอน และที่เรียงโค้ง การบรรจบกันของส่วนที่ฉาบปูนและไม่ฉาบปูนเพื่อโชว์แนวอิฐ ไปจนถึงอิฐก่อหลังม้านั่งในส่วนเว้าเล็กๆก่อนเข้าบ้านที่ดันขึ้นไปรับส่วนยื่นบนชั้นสอง ที่ท้าทายแรงโน้มถ่วงอยู่มากทีเดียว

อาจกล่าวได้ว่า The Red House in Dorset เป็นเหมือนกับบันทึกประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่รวบรวมอดีต ผ่านมุมมองของ David Kohn Architects ที่ปักหมุดของปัจจุบัน และกำลังจะประกาศทิศทางในอนาคตของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยผ่านอาคารนี้ดังเช่น Willam Morris และ Phillip Webb ได้เคยทำมา

davidkohn.co.uk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *