WHAT DOES MATTER?

นิทรรศการที่พาเราสำรวจ 25 สิ่งสำคัญในการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และความเป็นไปฉบับย่อของอุตสาหกรรมกราฟิกไทยในรอบ 20 ที่ผ่านมา ผ่านสายตาของ Pink Blue Black & Orange (PBB&O)

TEXT: PIYAPONG BHUMICHITRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

ลองพิมพ์ถาม Chatbot AI ว่ามีอะไรบ้างที่สำคัญสำหรับการทำสตูดิโอออกแบบกราฟิกให้ประสบความสำเร็จในประเทศไทย เป็นความสำเร็จแบบไม่ละทิ้งตัวตนของตัวเอง AI ให้คำตอบมา 3 ข้อ พร้อมเหตุผลสนับสนุนในแต่ละข้อ หนึ่งคือ มีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างสตูดิโอกับลูกค้าและระหว่างนักออกแบบด้วยกันเอง สองคือ ให้ความสำคัญกับ culture และเทรนด์ที่เกิดขึ้น แถมมีบอกด้วยว่าควรเข้าใจอารมณ์ขันของคนไทย อย่างสุดท้ายที่ AI บอกว่าสำคัญสุดก็คือ การรักษาตัวตน ความเป็นเราเป็นเฉพาะเราที่หาที่อื่นไม่ได้ และควรรู้วิธีรักษาสมดุลระหว่างตัวเลขทางธุรกิจกับความอินในงานที่ทำ อย่าให้อย่างใดอย่างหนึ่งมันมากเกินไป

นิทรรศการนี้ตั้งใจแนะนำให้สาธารณชนให้รู้จักกับงานออกแบบที่ได้รับรางวัล DEmark สาขางานออกแบบกราฟิกและสาขางานออกแบบอินทีเรีย Pink Blue Black & Orange ได้แสดงผลงานในสเปซที่ Department of Architecture Co. เป็นผู้ออกแบบห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำตอบของ Chatbot AI อ่านแล้วก็รู้สึกว่าก็จริงแฮะ คำตอบไม่ผิดแบบนี้ใช้ตอบได้เกือบทุกประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะความเป็นจริงแล้ว การเปิดและรันสตูดิโอออกแบบกราฟิกให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ทิ้งตัวตนของตัวเอง และให้มีชีวิตยืนยาวมากกว่า 20 ปี ในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องทั่วไปขนาดนั้น 

โลโก้นิทรรศการที่ออกแบบโดย สยาม อัตตะริยะ Design Director ของ PBB&O ที่ตั้งคำถามกับผู้ดูตั้งแต่โลโก้ที่ใส่ชื่อนิทรรศการลงไปบนเครื่องหมายคำถามในแบบที่คำว่า MATTER จัดเรียงตัวอักษรแบบไม่สอดคล้องกับ 2 คำก่อนหน้า – จนต้องถามตัวเองเลยว่าการจัดเรียงตัวอักษรแบบนี้มัน Matter มั้ย?

สยาม อัตตะริยะ และทีมนักออกแบบรุ่นปัจจุบันของ Pink Blue Black & Orange (2023)

นิทรรศการ What Does Matter? 25 Things that Matter Us as Designers ที่จัดโดย Pink Blue Black & Orange (PBB&O) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, DEmark และ Bangkok Design Week 2023 ที่ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จนถึง 4 มีนาคม 2566 นั้นนอกจากเป็นนิทรรศการ retrospective ครั้งแรกของ PBB&O ที่ทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์ฉบับย่อของการทำงานของพวกเขาแล้ว นิทรรศการนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นจดหมายเหตุฉบับย่อของอุตสาหกรรมการออกแบบกราฟิกในประเทศไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ถือเป็นการพูดเกินไปนัก

สิ่งสำคัญในช่วงครึ่งหลังของเนื้อหานิทรรศการเป็นเรื่องนามธรรมกว่าช่วงครึ่งแรก หลายหัวข้อและผลงานแต่ละโปรเจ็คต์ที่แสดงในส่วนนี้ทำให้เราเห็นสิ่งที่ PBB&O ให้ความสำคัญมากก็คือ stakeholders งานแต่ละโปรเจ็คต์ของพวกเขา

PBB&O เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 25 ปีที่แล้วด้วยการรับออกแบบสิ่งพิมพ์ แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปเป็นการออกแบบสื่อสารในหลายแขนงทั้งงานออกแบบนิทรรศการ งาน interactive แบรนด์ดิ้ง วิดีโอ แอนิเมชั่น ดิจิทัล และอีกหลายอย่างที่จะได้เห็นผลงานที่ผลิตออกมาจริงๆ จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการนี้ 

โดยที่ผลงานแต่ละโปรเจ็คต์นั้นถูกจับให้อยู่ในความสำคัญแต่ละอย่าง รวม 25 ความสำคัญที่มีผลต่อการออกแบบของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่นอารมณ์ขันในส่วนนี้หยิบเอางานออกแบบนิทรรศการ อุตสา ฮา กรรม (Humour Business) ที่จัดที่ TCDC ‘ความสนุกก็แสดงงานออกแบบที่ดูก็รู้เลยว่าสนุก อย่างบูธที่งานสัปดาห์หนังสือหรือคาแร็คเตอร์มนุษย์อวกาศที่ทำให้บริษัทพลังงานสีสันจัดแสดงงานออกแบบปฏิทินและงานที่ใช้สีที่จัดจ้านหลายโปรเจ็คต์ไว้ด้วยกันการสร้างเซอร์ไพรส์โชว์งานออกแบบผลิตภัณฑ์ของสตูดิโอที่ให้ลูกค้าช่วงปีใหม่ที่ทำทั้งผลิตภัณฑ์และแพคเกจที่เปิดมาก็จะเจอความประหลาดใจกำลังดี และความประทับใจครั้งแรกพวกเขาก็คัดเลือกนามบัตรที่ออกแบบให้ลูกค้าหลายรายมาแสดง พร้อมทั้งไม่ลืมโชว์นามบัตรของพวกเขาเองให้เราเห็นว่าใส่ใจในการสร้าง first impression มากขนาดไหนในนามบัตร 

นามบัตรของนักออกแบบและพาร์ทเนอร์ของ PBB&O ที่แทนแต่ละคนด้วยสี และถ้ามองหยดสีบนนามบัตรแต่ละใบให้ดี ก็จะเห็นใบหน้าของนักออกแบบคนนั้นๆ แทรกอยู่ด้วย

นอกจากทำให้เห็นเทรนด์ของสี ของเทคนิคในงานกราฟิกและภาพประกอบแล้ว ปฏิทินที่รวบรวมมาแสดงในหัวข้อนี้ช่วยให้เราเห็นกระแสความนิยมและความเชื่อว่านี่คือภาพลักษณ์ที่ดีที่ต้องสื่อสารต่อสังคมจากองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยในปีนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

25 ความสำคัญที่ PBB&O เลือกมาใส่ไว้ในนิทรรศการนั้นมีทั้งสิ่งที่มองเห็นชัดด้วยตาเปล่าและสิ่งที่เป็นนามธรรมในแบบที่แต่ละคนที่เข้าชมก็จะตีความแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และความเชื่อของแต่ละคน ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของ PBB&O และทำให้เกิดการอัพสกิลในการรับงานของพวกเขาก็คือ การทดลอง ซึ่งผลงานที่พวกเขาใช้การทดลองแบบไม่ห่วงหน้าพะวงหลังแต่ขอให้ออกมาดีอย่างที่ตั้งใจก็คือ งานออกแบบ Key Visual ให้กับ Creativity Unfold ปี 2015 ในธีม SHIFT เร็วทันคิด พลิกโอกาส ที่จัดโดย TCDC สมัยอยู่ที่เอ็มโพเรียม ที่ถือได้ว่างานภาพ 2D กึ่ง 3D ที่เป็น Key Visual หลักนั้นเกิดจากการทดลองเพื่อหาความเป็นไปได้ที่ออกมาลงตัวที่สุด โดยใช้เทคนิคที่สตูดิโอไม่เคยทำมาก่อน และสุดท้ายก็ออกมาได้อย่างที่ตั้งใจ จบโปรเจ็คต์นั้นเลยทำให้ PBB&O แทบไม่เคยปฏิเสธงานบริการใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำกันมาก่อนในโปรเจ็คต์ถัดๆ ไปที่มีมาให้ลองอะไรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

โปรเจ็คต์ที่ unlock สกิลของ PBB&O และเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาขยับขยายการให้บริการที่มากกว่างานออกแบบสิ่งพิมพ์

ที่ไม่อยากให้พลาดสำหรับการเข้าชมนิทรรศการนี้ก็คือ ผลงานที่วางอยู่บนโต๊ะขนาดใหญ่ด้านหน้าบอร์ด Introduction ของนิทรรศการ ที่หลายชิ้นที่นำมาแสดงเป็นวัตถุทรงคุณค่าทางด้านงานพิมพ์ในแต่ละยุคสมัย ช่วยให้เราเห็นว่า PBB&O ให้ความใส่ใจกับการเก็บผลงานของที่ผลิตแล้วของตัวเองมากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นปกอัลบั้มวง Boy Thai ที่ถือเป็นการออกแบบอัตลักษณ์ให้วงดนตรีไทยที่ตั้งใจไม่ใช้ความเป็นไทยเดิมอย่างเครื่องดนตรีไทย สไบหรือชฏามาเป็นองค์ประกอบในตราสัญลักษณ์ หรือแม้แต่การเลือกพรีเซนต์ผลงานด้วยการนำภาพที่ถ่ายด้วยฟิลม์สไลด์มาวางไว้บนโต๊ะสไลด์ให้ดูว่าในยุคสมัยหนึ่งที่ยุคดิจิทัลยังมาไม่ถึงเขาดูผลงานกันผ่านโต๊ะสไลด์ 

ผลงานหลายชิ้นที่ PBB&O เก็บไว้ด้วยการบันทึกบนฟิล์มสไลด์นำมาแสดงในนิทรรศการนี้ด้วยการวางไว้บนโต๊ะฉายสไลด์ ที่ 20 ปีก่อนถือเป็นเรื่องปกติ

บางส่วนของผลงานหาดูได้ยากจัดแสดงบนโต๊ะขนาดใหญ่ด้านหน้านิทรรศการ

ทั้ง 25 ความสำคัญ โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่ว่า อะไรก็สำคัญทั้งนั้น ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า มีอยู่อย่างหนึ่งที่จริงๆ แล้ว PBB&O ให้ความสำคัญมากๆ และดูเหมือนว่าน่าจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในแทบจะทุกโปรเจ็คต์ช่วง 10 ปีหลังของพวกเขาก็คือ Stakeholder ที่เกี่ยวข้องในแต่ละงาน ตั้งแต่นักออกแบบในทีม นักวาดภาพประกอบ ลูกค้าระดับปฏิบัติการ ลูกค้าระดับผู้บริหาร ทั้งเอกชนและราชการ ซัพพลายเออร์ โรงพิมพ์ รวมไปถึง Stakeholder ที่อยู่ในวงกว้างกว่าแค่แต่ละงานนั่นก็คือวงการออกแบบกราฟิกของไทย ซึ่งแน่นอนว่าการผลิตรายการ Mind Your Buisness ที่ออกอากาศเป็นประจำทุกสัปดาห์ของพวกเขาคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของการให้ความสำคัญกับ Stakeholder 

อัตลักษณ์ของรายการ Mind your Business รายการที่ออกอากาศเป็นประจำทุกสัปดาห์ในหลายๆ platform ออนไลน์ นำเสนอมุมมองของนักออกแบบและผู้คนที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย

งานออกแบบโปสเตอร์ที่นำมาแสดงในโซนนี้ส่วนมากเป็นงานไม่แสวงหาผลกำไร ไม่ใช่งานเชิงพาณิชย์และเป็นความร่วมมือที่พวกเขามักมีส่วนร่วมกับอีเวนท์งานออกแบบกราฟิกทั้งในและต่างประเทศ

25 ความสำคัญของ Pink Blue Black & Orange ในนิทรรศการ What Does Matter? ไม่ควรจบอยู่แค่นิทรรศการระยะเวลาสั้นๆ ใน Bangkok Design Week ปีนี้เท่านั้น ผู้เขียนอยากเห็นการนำเนื้อหาและผลงานที่ถูกแสดงแปรรูปไปอยู่ในมีเดียที่ใครก็สามารถดู อ่าน และทำความเข้าใจจากที่ไหนก็ได้ในราคาที่ให้ความสำคัญกับนักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไปที่อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศผ่านงานออกแบบกราฟิกไทยในยุคสมัยอื่นนอกจากหนังสือ สิ่งพิมพ์สยาม ของเอนก นาวิลมูล 

pinkblueblack.com
facebook.com/pinkblueblackorange
youtube.com/@MindYourBusiness
facebook.com/mind.your.design.business

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *