METRO ART : THE INSPIRING DISTRICT

art4d พูดคุยกับ วิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ถึงที่มาที่ไปและเป้าหมายในอนาคตของ art space แห่งใหม่ ที่ตั้งใจเป็นสถานปล่อยของสำหรับศิลปินไทยรุ่นใหม่

TEXT: KAMOLTHIP KIMAREE
PHOTO COURTESY OF METRO ART

(For English, press here

ศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนความเป็นไปและเรื่องราวในแต่ละยุคสมัยได้อย่างแยบคาย หลายครั้งที่ศิลปะนั้นมีอิทธิพลต่อสังคมและสร้างแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ในแต่ละเหตุการณ์สำคัญได้อย่างทรงพลัง ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ทางศิลปะและแกลเลอรี่ต่างๆ ถือได้ว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้วงการศิลปะในบ้านเราคึกคักมากขึ้นจากพลังสร้างสรรค์ของศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์นี้เองทำให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ผู้ดูแลระบบการเดินรถไฟฟ้า MRT (สายสีน้ำเงินและสีม่วง) และบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ (BMN) ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาและพื้นที่จัดกิจกรรมในระบบรถไฟฟ้า เล็งเห็นถึงศักยภาพของ ‘พื้นที่ทางศิลปะ’ จึงเป็นที่มาของ Metro Art : The Inspiring District ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา art4d พูดคุยกับ วิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ถึงที่มาที่ไปของ Art Space แห่งใหม่ที่รถไฟใต้ดินสถานีพหลโยธินแห่งนี้

วิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN)

art4d: ทำไมถึงคิดที่จะสร้าง Art Space ขึ้นที่สถานีรถไฟใต้ดิน 

WITSUWAT AMKAPHET: ผมเห็นเยาวชนสนใจเรื่องของศิลปะมากขึ้น ในหลายๆ พื้นที่มีนิทรรศการศิลปะแสดงอยู่ เราเห็นความสามารถของเยาวชนไทยที่แสดงออกในพื้นที่ต่างๆ และมองว่าเรามีพื้นที่เยอะในระบบรถไฟฟ้าของเรา เราก็เลยคิดว่าเราอยากทำพื้นที่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ต่อเยาวชนหรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบงานศิลปะ เป็นการสร้างโอกาสและมอบโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ ซึ่งมีศิลปินไทยที่มีความสามารถเยอะมากๆ และเราก็พิจารณาในเชิงผลงานและเห็นว่าถ้าเราสร้างพื้นที่ตรงนี้เป็น art destination หรือ art community ก็น่าจะมีศิลปินที่สนใจมาร่วม หรือใครที่มีของแต่ไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยเราก็อยากหยิบยื่นโอกาสให้น้องๆ กลุ่มนี้ เลยเป็นที่มาของ art destination ตรงนี้ และเราโฟกัสที่ศิลปินไทยเป็นหลัก 

art4d: เห็นว่าเปิดให้มีการซื้อขายผลงานในพื้นที่ด้วย คุณมีวิธีการจัดการตรงนี้ต่างหรือเหมือนกับแกลเลอรีศิลปะอื่นๆ ยังไง

WA: จริงๆ การซื้อขายจะเป็นศิลปินซื้อขายเองเลย เราไม่มีรายได้จากตรงนี้ ผลงานที่ขายตรงนี้ก็คือเก็บเข้ากระเป๋าเลย อย่างที่บอกว่าเรามอบและสร้างโอกาสให้กับศิลปินรุ่นใหม่เพื่อมาแสดงฝีมือ และในแง่ของความเป็นมีเดียเราก็ช่วยโปรโมทผลงานว่าแต่ละคนมีความสามารถแบบไหนยังไงในช่องทางต่างๆ ของเราทั้งออนไลน์และมีเดียในระบบรถไฟฟ้า

art4d: เรียกได้ว่าเป็นงานบุญ ไม่ได้เอามูลค่าทางเศรษฐกิจหรือผลกำไรมาเป็นตัวตั้ง

WA: เป็นงานการกุศลมาก เรามองว่าเป็นการช่วยปั้นศิลปินรุ่นใหม่ให้มีโอกาสทางอาชีพที่ดี ให้มีชื่อเสียงเหมือนศิลปินแนวหน้าของไทย ศิลปินที่เราเชิญมาร่วมงานจะไม่ใช่คนที่เป็นตัวท็อปแล้ว แต่เป็นคนที่เป็นดาวรุ่งรุ่นใหม่ อย่างศิลปินที่เป็นไฮไลต์ของซีรีส์แรกนี่จะเป็น PRJ และ The Jum ซึ่งเป็นแนว Street Art  ถ้าพูดในแง่ของ core business เราเลยคือเราเดินรถและทำรายได้จากค่าโดยสารเป็นหลัก เราไม่ได้กำไรจากการปล่อยเช่าพื้นที่ สิ่งที่เราทำนี้เราถือว่าเรา add value ให้ผู้โดยสารระหว่างทาง ตามแท็กไลน์ของเราก็คือ Happy Journey with BEM อย่างสถานีพหลโยธินนี้เราให้มี Art destination แต่ขณะเดียวกันในสถานีอื่นๆ ก็มีอย่างอื่นแล้วแต่คาแร็กเตอร์ของพื้นที่นั้นๆ

art4d: จัดการกับพื้นที่ยังไงในแง่ของฟังก์ชัน

WA: เราทำให้เป็นพื้นที่นิทรรศการหมุนเวียน แต่ว่าภาพรวมก็คือศิลปินเค้าเป็นเจ้าของสเปซ พื้นที่จะแบ่งเป็นสองฝั่งคือฝั่ง South กับ North ผลงานก็จะมาทั้งในรูปแบบ wall paint แบบ sculpture หรือตัวคาแร็กเตอร์ ต่างๆ ที่อยู่ในห้องจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็น inspiring space ที่เป็นการสอนศิลปะในเชิงไลฟ์สไตล์ สอนเสร็จมี certificate มอบให้ ในขณะที่โถงกลางจะเป็นตลาดศิลปะตรงพื้นที่ทางเดินโดยเป็นพวก DIY ซึ่งตลาดนี้จะมีธีมที่เราจัดแต่ละอาทิตย์คอนเซ็ปต์ไม่เหมือนกัน หรือแต่ละเดือนก็จะมีคอนเซ็ปต์ต่างกันไป ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เราก็ไม่คิดค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน เพราะเราอยากส่งเสริมให้เกิดเป็น community ขึ้นมา

art4d: มีการคัดเลือกศิลปินอย่างไร

WA: เราทำงานร่วมกับ curator มืออาชีพ และในช่วงของศิลปินของแต่ละซีรีส์เราจะจัดให้มี signature event  ในสามเดือนก็จะมีหนึ่งครั้ง เป็นงานสนุกๆ มีดนตรี มีการเสวนา สร้างเน็ตเวิร์ค ในลักษณะ meet & greet ด้วย

art4d: คุณคิดว่าพื้นที่ศิลปะในลักษณะนี้จะส่งผลต่อคนในเมืองอย่างไร

WA: ผมมองว่าศิลปะไม่ทำร้ายใคร มันอยู่ที่ว่าเราไปเสพศิลปะในรูปแบบไหนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแขนงไหนก็ตาม การมีพื้นที่จะทำให้เราได้เสพบรรยากาศ ได้เห็นของจริง ไม่เหมือนกับตอนที่เริ่มทำโปรเจ็คต์นี้ในช่วงโควิดที่คนเสพศิลปะได้เฉพาะออนไลน์ และที่สำคัญคือเดินทางสะดวกแน่นอน

bmn-mrt.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *