ศูนย์การค้ารีโนเวทใหม่จาก Central Pattana ที่ตั้งใจจะเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรให้กับผู้คนในย่านรามอินทราด้วยคอนเซ็ปต์ ‘Everyday Good Vibes’
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ศูนย์การค้านั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายตัวของเมืองที่กระจายตัวออกจากย่าน CBD มากขึ้น และผู้บริโภคที่ต้องการจับจ่ายใช้สอยในละแวกที่อยู่อาศัยของตัวเอง ไม่ต้องเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง เช่นเดียวกับย่านรามอินทรา ย่านที่เต็มไปด้วยผู้อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ ทั้งบ้านเดี่ยว หมู่บ้าน ชุมชน คอนโดมิเนียม ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอนจากการกำลังมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเนื่องในโอกาสที่เซ็นทรัล รามอินทราอยู่คู่กับย่านนี้มายาวนานถึง 30 ปี เซ็นทรัลพัฒนา จึงได้ทำการพลิกโฉมศูนย์การค้าเซ็นทรัล รามอินทราให้กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของย่าน มาพร้อมคอนเซ็ปต์ Everyday Good Vibes ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตครบครันในทุกวันของคนย่านรามอินทรา ด้วยดีไซน์ที่มอบพื้นที่สีเขียวและงานออกแบบที่เปลี่ยนให้ ‘ศูนย์การค้า’ เป็นพื้นที่ที่มากกว่าแค่การจับจ่ายใช้สอย หากแต่รองรับการใช้ชีวิตในทุกๆ วันของทุกๆ คน
ด้วยความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน งานออกแบบจึงตั้งใจให้ไม่หวือหวา แต่เรียบง่ายและสร้างความรู้สึกเป็นมิตรและเข้าถึงได้ง่าย ในส่วนภายนอกอาคาร ทีมสถาปนิก ARbay เลือกใช้วัสดุเมทัลชีท ลายไม้เป็นวัสดุหลักในการสื่อสาร และนำเสนอผ่านเส้นกรอบของทางเข้าอาคารที่มีลักษณะคล้ายกับหน้าจั่วบ้านในบริเวณทางเข้า โครงสร้างของ façade มีลักษณะโครงเหล็กสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมาจากอาคารเก่า ซึ่งด้านบนของ façade นั้นได้มีการเว้นช่องไว้เพื่อปลูกไม้เลื้อยที่จะค่อยๆ ไต่ลงมาตาม façade ในอนาคต ซึ่งในอนาคต ต้นไม้เหล่านี้ก็จะค่อยๆ เติบโตห่อหุ้มตัวอาคารเอาไว้ เพื่อทำหน้าที่มอบบรรยากาศธรรมชาติให้กับชุมชนนั่นเอง
ในส่วนของพื้นที่ภายใน จุดเด่นของอาคารเซ็นทรัล รามอินทรา แต่เดิมก็คือส่วน atrium ที่มีความสูงแตกต่างกันถึงสามจุด เซ็นทรัลพัฒนา จึงเน้นสร้างบรรยากาศภายในที่แตกต่างกันไปให้เกิดเอกลักษณ์ขึ้นในแต่ละ atrium เริ่มจากเมื่อเข้าสู่อาคารจาก plaza ด้านหน้า จะเข้าสู่โถงแรกที่มีความสูง 4 ชั้นในชื่อ ‘House atrium’ ซึ่งเป็นโถงอเนกประสงค์ที่แม้จะมีความโอ่โถง แต่ก็นำเสนอบรรยากาศอันเป็นมิตรผ่านการใช้วัสดุหลักคือไม้ร่วมกับเลือกใช้ฝ้าเพดานที่มีลักษณะสะท้อนแสง ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โถงนี้ได้รับการประดับประดาด้วยตุ๊กตากระต่ายสีชมพูน้อยใหญ่ ในคอนเซ็ปต์ Rabbit Wall เพื่อสร้างบรรยากาศการต้อนรับปีกระต่ายในเทศกาลปีใหม่
ถัดมาในส่วนกลางของอาคาร โถงที่สูงตั้งแต่ชั้น LG ถึงชั้น 4 ที่กินความสูง 6 ชั้น ในชื่อ ‘Sky Atrium’ เป็นพื้นที่ที่สื่อสารถึงอัตลักษณ์ของตัวห้าง ทั้งด้วยจอ LED ตรงกลางที่แสดงภาพของกิจกรรมหรือเทศกาลต่างๆ ในแต่ละช่วง ร่วมกับการตกแต่งอันเน้นการใช้สีชมพูเป็นหลักที่สื่อถึงการมาถึงอันใกล้ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู อีกทั้งทางสัญจรหลักทั้งลิฟท์และบันไดเลื่อนที่ถูกขับเน้นด้วย Skylight ด้านบน ก็ทำให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของผู้คนที่ขึ้นลงตลอดเวลา ภาพของผู้คนที่แต่งตัวสบายๆ ที่เดินกันขวักไขว่ก็เป็นเหมือนภาพแทนของกิจกรรมและผู้คนที่ได้เข้ามาใช้งานอาคารแห่งนี้ในฐานะ ‘Third Place’ ของผู้คนในละแวก
เมื่อเดินมาถึงด้านในสุด พื้นที่ก่อนถึงอาคารจอดรถมีลักษณะคล้ายกับสวนหย่อมภายในอาคาร ด้วยโถงในชื่อ ‘Tree atrium’ ที่มีความสูง 4 ชั้นอันเริ่มต้นตั้งแต่ชั้น LG ถึงชั้น 2 เน้นการมอบพื้นที่สีเขียวให้กับบรรยากาศพื้นที่ของ food patio ในชั้น LG ที่เป็นหนึ่งในชั้นที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดยไม้ยังคงเป็นวัสดุที่ปรากฏชัดเจนอยู่ทั้งในส่วนองค์ประกอบอาคารบนฝ้าและเสา และส่วนงานตกแต่งภายในอย่างโต๊ะหรือเก้าอี้ นอกจากนี้ สีสันขององค์ประกอบต่างๆ ยังมีการคุมโทนให้มีความรู้สึกอบอุ่นล้อไปกับต้นไม้ที่ประดับในทั้งพื้นที่ เช่น พื้น Terrazzo เบาะเก้าอี้ที่มีสีเขียว รวมถึงไฮไลท์หลักในจุดนี้อย่างต้นไม้กลางโถงที่โผล่เรือนยอดออกมาให้เห็นลางๆ เมื่อมองจากชั้น 1 อันทำหน้าที่เป็นจุดดึงสายตาและให้ผู้ใช้งานได้มีโอกาสเดินเข้าไปสำรวจ
หากมองการใช้งานในแต่ละชั้น เดิมทีร้านรวงต่างๆ นั้นไม่ได้มีการแยกหมวดหมู่ไว้อย่างชัดเจน การรีโนเวทครั้งนี้จึงเป็นการจัดเรียงสินค้าและบริการในแต่ละชั้นให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยในสามชั้นแรกที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดจะถูกใช้สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานหลักของอาคาร เริ่มต้นที่ชั้น LG ที่เป็นศูนย์อาหาร ชั้น G ที่เชื่อมกับทางเข้าที่เป็นส่วนของ Lifestyle fashion และชั้น 1 ที่เป็นส่วนกีฬา ชั้นอื่นๆ ก็ยังประกอบด้วยชั้น 2 ที่เป็นส่วน IT ชั้น 3 และชั้น 4 ที่เป็นส่วนร้านอาหาร ซึ่งในชั้น 4 นี้ก็ได้มีส่วนพิเศษอย่าง ‘Dessert Zone’ ที่เป็นพื้นที่นั่งเล่นที่เน้นการออกแบบ Interior เป็นพิเศษ ทั้งสีสันของชมพูพาสเทลบนต้นไม้ประดับและเฟอร์นิเจอร์ เส้นสายโครงสร้างของ Kiosk ต่างๆ หรือแม้แต่โคมไฟที่มีลักษณะคล้ายโคนไอศครีม เปลี่ยนให้ชั้นบนสุดของห้างกลายเป็นจุดเช็คอินที่สามารถใช้งานได้อย่างอิสระในเวลาเดียวกัน
ควบคู่ไปกับร้านค้าต่างๆ ในฝั่ง Plaza ในส่วนของ Central Department Store เองที่อยู่ติดกันก็ได้มีการจัดวางส่วนสินค้าต่างๆ แต่ละชั้นที่ตรงกับหมวดหมู่ของฝั่ง Plaza โดยมีลูกเล่นที่เพิ่มมาคือการออกแบบที่ใช้สีน้ำเงินและสีแดงเป็นหลักภายใต้คอนเซ็ปต์มวยไทย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสนามมวยลุมพินีทิ่อยู่ไม่ไกลอันเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คเสน่ห์ของย่านรามอินทรา องค์ประกอบต่างๆ ของสนามมวย อาทิ มงคล กระสอบทราย เวทีมวย จึงปรากฏอยู่ในทุกๆ ส่วนพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนให้มีความร่วมสมัยพร้อมทั้งถ่ายทอดผ่านวัสดุธรรมชาติอย่างจักสาน ซึ่งองค์ประกอบในแต่ละชั้นก็มีความแตกต่างกันเล็กน้อยก็ช่วยให้ space ไม่น่าเบื่อ และทำให้ผู้ใช้งานสนุกที่จะได้ลองสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว
นอกเหนือจากงานออกแบบตัวอาคารทั้งภายนอกและภายในแล้ว การพยายามเชื่อมโยงกับคนภายนอกยังปรากฏใน plaza ด้านหน้าอาคารที่เต็มไปด้วยม้านั่งรอบพื้นที่สีเขียว พื้นที่ส่วนนี้ได้ถูกใช้สำหรับเป็นลานโปรโมชั่นในช่วง event ต่างๆ นอกเหนือจากนั้น พื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ ความตั้งใจละรายละเอียดในงานออกแบบทั้งหมดนี้ เปลี่ยนให้ เซ็นทรัล รามอินทรา ไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์การค้า สำหรับโอกาสพิเศษที่นานๆ ครั้งจะมาใช้สักที หากแต่เป็นเพื่อนบ้านอันเป็นมิตรที่ผู้คนในย่านรามอินทราสามารถเดินเข้าออกได้อย่างสบายใจในทุกๆ วัน