FORMS OF BELIEF

Phra Sati | Photo courtesy of Qualy

ลองดูกันกับ 4 ผลงานดีไซน์ที่ได้อิทธิพลจากความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อตอบโจทย์คนรักดีไซน์สายมู

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

คงเป็นเพราะการใช้ชีวิตในเมืองไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อย่างสะพานกลับรถลอยฟ้าที่จู่ๆ ถล่มลงมาทับรถข้างล่างหรือสถานการณ์เศรษฐกิจที่แปรปรวนจากภาวะโรคระบาด จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยหลายคน (ที่ไม่เฉพาะคนเลือดกรุ๊ปบี) จะคลั่งไคล้กับการบูชาของขลัง หรือการเสริมดวง ในปี 2022 LINE ประเทศไทยเปิดสถิติออกมาว่า มีคนใช้ฟีเจอร์เช็คสีเสื้อมงคลมากถึง 30,000 ครั้งต่อวัน และมีคนตักบาตรออนไลน์มากขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

อาจารย์ณีรนุช แมลงภู่ (Neeranooch Malangpoo) อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สนใจประเด็นความเชื่อทางศาสนาและสังคม เคยอธิบายปรากฎการณ์ที่คนไทยหันมามูเตลูว่า เป็นการหาที่พึ่งในชีวิตในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่ไม่แน่นอน ในช่วงหลังทศวรรษ 90s ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มถดถอย คนหันไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อหวังความมั่งคั่งในชีวิต และเมื่อโลกให้คุณค่ากับการเป็นผู้ประกอบการ การออกจากงานประจำเพื่อเป็นเจ้านายตัวเอง ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ที่อยู่กับความไม่แน่นอน การมูเตลูจึงบูมขึ้นมา¹

ที่ผ่านมา มีดีไซเนอร์จำนวนมากทีเดียวที่หยิบเอาความเชื่อมาเป็นหัวเชื้อสร้างสรรค์ผลงาน ครั้งนี้ art4d เลยขอรวบรวม 4 ผลงานดีไซน์น่าสนใจที่ได้อิทธิพลจากความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เผื่อใครจะได้แรงบันดาลใจ หรือได้หลักยึดใหม่ๆ ในการออกแบบบ้าง 

PAJJEK Collection

PAJJEK | Photo courtesy of Mutay

คิดจะไหว้พระ ก็ต้องมีหิ้งเอาไว้ตั้งพระให้เหมาะสมและสวยงาม PAJJEK คือหิ้งพระหน้าตาร่วมสมัยจากแบรนด์ Mutay โดยชื่อ PAJJEK มีที่มาจากคำว่าปัจเจก ที่หมายถึง เฉพาะตัว หรือเฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้นหิ้งพระนี้เลยเป็นหิ้งสำหรับวางงานพุทธศิลป์หรือพระพุทธรูปแบบองค์เดี่ยว ผลงานประกอบด้วยตัวฐานไม้และที่ครอบแก้วขุ่น เปลี่ยนภาพลักษณ์หิ้งพระให้เป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ MUJI ยังไงยังงั้น 

facebook.com/Mutaybrand

Cloudy

WK.studio คือสตูดิโอที่โดดเด่นกับการปั้นองค์เทพเจ้าเซรามิกหลากหลายในหน้าตาคิ้วท์ๆ นอกจากตัวเทพเจ้าแล้ว WK.studio ก็หยิบเอากระถางธูป องค์ประกอบที่อยู่คู่ทุกการบูชา มาพลิกโฉมเป็น Cloudy กระถางธูปพร้อมขาแมวสุดน่ารักเช่นกัน สตูดิโอตั้งใจให้ Cloudy เอาไปใช้งานเป็นของตกแต่งก็ได้ หรือจะเอาไปจุดธูปจริงๆ ก็เหมาะ แต่ถ้าใครไม่อยากจุดธูปเพราะกลัวเรื่องกลิ่นควัน สตูดิโอก็ออกแบบให้ใน Cloudy มีธูปและควันทิพย์ลอยปุดๆ สร้างบรรยากาศเหมือนกำลังมีควันจริงๆ ทำไมของบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะต้องมีท่าทีเคร่งขรึมเสมอไปล่ะ

instagram.com/wk.studio_th

Cloudy | Photo courtesy of Wk.studio

พระสติ

Phra Sati | Photo courtesy of Qualy

ถือเป็นงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดงานหนึ่งใน Bangkok Design Week 2022 เลยก็ว่าได้ สำหรับ พระสติ ผลงานที่แบรนด์ Qualy เอาเศษพลาสติกจากของเหลือใช้ เช่น ถุงฟอยล์ ถุงพลาสติก ฝาขวดน้ำ มาดัดแปลงเป็นพระเครื่อง เปลี่ยนจากของดาษดื่น เป็นของมีค่าที่ไม่น่าทิ้งขว้าง

ผลงานยังเชื่อมโยงแนวคิดเรื่องวัฏสังสาร การเวียนว่าย ตายเกิดในศาสนาพุทธ เพียงแต่คราวนี้ ไม่ใช่ชีวิตหรือวิญญาณที่เกิดใหม่ แต่เป็นเศษพลาสติกที่เกิดใหม่แทน พระสติถูกสร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมผ้าป่า Design Week’ โดยคนที่นำเงินไปบริจาคช่วยเหลือองค์กร มูลนิธิต่างๆ ในกิจกรรม ก็จะได้รับพระสติกลับไปเป็นที่ระลึก

facebook.com/qualydesign

Balloon Ganesha

Balloon Ganesha | Photo courtesy of Sukerthing

รูปทรงที่ดูเบา แต่หนักแน่นไปด้วยความศรัทธาคือคำบรรยายเท่ห์ๆ ที่ Sukerthing เกริ่นไว้สำหรับ Balloon Ganesha รูปปั้นองค์พระพิฆเนศที่เหมือนทำมาจากลูกโป่ง แต่จริงๆ เป็นการหล่อเรซิ่น

Balloon Ganesha เกิดจากแรงผลักดันของ Sukerthing ที่อยากสร้าง ART TOY ขึ้นมาสักแบบหนึ่ง และดีไซเนอร์ก็ลงเอยกับพระพิฆเนศ เพราะเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ และมีโอกาสทางการตลาด หน้าตาขององค์พระที่ดูเหมือนลูกโป่งดัดไม่มีผิด มาจากการศึกษากับนักดัดลูกโป่งอย่างจริงจังเลยว่าสามารถดัดลูกโป่งให้เป็นฟอร์มพระพิฆเนศอย่างที่เราเห็นกันได้หรือเปล่า เมื่อศึกษาได้ต้นแบบเรียบร้อย ดีไซเนอร์ก็เอาไปขึ้นรูปด้วยโมเดลสามมิติ ทำการปริ้นต์ต้นแบบสามมิติออกมา และนำไปหล่อเรซิ่น

Balloon Ganesha | Photo courtesy of Sukerthing

ในผลงาน Balloon Ganesha ก็ไม่ได้มีแค่องค์พระพิฆเนศเท่านั้น แต่ยังมีหนูมุสิกะ องค์บริวารตัวกระจิดริดของพระพิฆเนศติดสอยห้อยตามมาด้วย นอกจากวัสดุเรซิ่นแล้ว Sukerthing ยังผลิตองค์พระในวัสดุอื่นๆ เช่น เซรามิก สแตนเลส และในอนาคตก็จะมีบรอนซ์อีกด้วย

facebook.com/sukerthing

ถ้าผลงานชิ้นไหนเข้าตา ก็สามารถไปติดตามที่หน้าเพจหรือเว็บไซต์ของบรรดานักสร้างสรรค์ได้ คราวนี้ก็ไม่ต้องพึ่งแต่สีเสื้อมงคล หรือวอลล์เปเปอร์นำโชคแล้ว สาธุ

¹ sanook. (2565). ทำไมคนไทยเป็น “สายมู” เพิ่มมากขึ้น?. วันที่ค้นข้อมูล 15 กุมภาพันธ์ 2566, จาก sanook.com/news/8641818

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *