โชว์รูมของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้อย่าง Moonler ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ Sher Maker ออกแบบให้เป็นเหมือนกล่องที่เรียบง่ายเพื่อถ่ายทอดคุณค่าของไม้ ‘จามจุรี’
TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ช่วงต้นปี 2022 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ของ Moonler ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ภูวนาถ ดำรงพร เจ้าของพาชมด้วยตัวเองอย่างเป็นกันเอง ในตอนนั้นนอกจากความตื่นตาตื่นใจกับท่อนซุงไม้จามจุรีขนาดใหญ่ผิดกับขนาดไม้ชนิดอื่นๆ ตามโรงไม้ทั่วไปที่วางกองอยู่ในโรงงาน ยังได้เห็นทีมช่างไม้จำนวนมากที่กำลังง่วนกับการผลิตอย่างพิถีพิถันเป็นขั้นเป็นตอนในแต่ละส่วนของโรงงานที่เราเดินชม จนออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้จามจุรีที่เนี๊ยบและมีความหนาและลวดลายของไม้จามจุรีเป็นเอกลักษณ์ ระหว่างที่เดินชมไม่ไกลจากโรงงานเราสะดุดตากับอาคารทรงจั่วที่กำลังก่อสร้างอยู่และเห็นช่างกำลังใช้เกรียงฉาบที่ทำขึ้นเองทำการฉาบผนังอยู่ไกลๆ โดยมารู้ทีหลังว่าอาคารหลังนี้เตรียมไว้เป็นโชว์รูมจัดแสดงที่ยังขาดอยู่ในพื้นที่โรงงาน Moonler ที่ออกแบบโดย Sher Maker สถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงในพื้นที่แอ่งเชียงใหม่นี้เช่นกัน
จุดเริ่มต้นของโชว์รูมหลังนี้เกิดมาจากเมื่อปี 2019 ทาง TCDC ต้องการจับคู่ผู้ประกอบการกับนักออกแบบเพื่องาน Chiang Mai Design Week ช่วงปลายปีด้วยการสร้าง Pavilion จึงเป็นการพบและร่วมงานกันครั้งแรกของ Moonler และ Sher Maker จากที่ทาง Moonler ตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองอยู่ที่เชียงใหม่แต่แทนที่จะใช้ไม้เศรษฐกิจที่นิยมทั่วไปในภาคเหนือกลับเลือกไม้จามจุรีซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมและไม่ได้อยู่ในสายตาเท่าไม้ชนิดอื่นๆ ด้วยความที่ภูวนาทเองมีพื้นฐานเรียนมาทางวิศวกรรมและชื่นชอบในเรื่องการทำ R&D อยู่ตลอด จึงได้ปรับปรุงกระบวนทำงานจนได้ผิวไม้จามจุรีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ได้ทาง Furniture Designer มือดีอย่าง รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ มาเป็นดีไซเนอร์ที่ปรึกษาเพื่อทำให้ภาพจำของแบรนด์แข็งแรงขึ้น
งาน Design Week ในครั้งนั้น การออกแบบ Pavilion ถูกนำเสนอเป็นกล่องสีดำเรียบง่ายที่ดูปิดจากภายนอก เมื่อเข้าไปภายในแทนที่จะมีเฟอร์นิเจอร์จัดแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับมีเฟอร์นิเจอร์อยู่ชิ้นเดียว ที่เปิดหลังคาออกโล่งเห็นกิ่งก้านของต้นจามจุรีที่ทำหน้าที่เป็นฝ้าเพดานเพื่อให้เกิดภาพความเชื่อมโยงของแบรนด์ที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนภายใต้ชื่องานในตอนนั้นว่า Jamjuree Pavilion ซึ่งจริงๆ แล้วการทำ Pavilion ที่เรียบง่ายและพื้นที่จัดแสดงของน้อยนั้นสุ่มเสี่ยงต่อความเข้าใจของผู้คนทั่วไปและวัดผลตอบรับได้ยาก แต่ Moonler ก็เลือกที่จะทำตามที่ทีมสถาปนิกและดีไซเนอร์เสนอ เพื่อให้เกิดภาพจำของแบรนด์ที่แข็งแรง เพื่อที่ในอนาคตจะปรับปรุงต่อยอดหรือทำงานร่วมกับดีไซเนอร์คนอื่นก็สามารถทำได้โดยง่ายและชัดเจน
แม้หลังจากจบงาน Chiang Mai Design Week ทั้งภูวนาท รัฐธีร์ และทาง Sher Maker ก็ยังมีการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยจัดการปรับปรุง flow ของการทำงานภายในโรงงานเฟอร์นิเจอร์อยู่หลายปี จนถึงช่วงเวลาที่ทาง Moonler คิดอยากที่จะทำโชว์รูมแสดงผลงานจริงจังโดยเลือกที่ตั้งเป็นที่ดินข้างๆ ที่ซื้อเตรียมไว้สำหรับการขยายโรงงานออกไปในอนาคต โดยมีโปรแกรมอาคารเบื้องต้นขนาด 200-300 ตารางเมตร ซึ่งเมื่อเทียบขนาดอาคารกับขนาดเฟอร์นิเจอร์ปกติที่ทาง Moonler ทำที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่จะเห็นได้ว่าอาคารนี้จริงๆ มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เพื่อคุมค่าก่อสร้างให้อยู่ในงบประมาณและถือเป็นการก่อสร้างเฟสแรกเพื่อขยายต่อไปในอนาคต สิ่งนี้สะท้อนมาที่การวางผังของอาคารที่เรียบง่ายโดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ โถงหลักจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ โถงทางเข้า และระเบียงที่เตรียมไว้ต่อขยายอาคาร
เนื่องจากอาคารต้องทำหน้าที่เหมือนกล่องเปล่าที่เป็นฉากรองรับการหมุนเวียนการจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ พื้นที่โถงหลักจึงถูกออกแบบมาให้เรียบง่ายและให้ช่างในพื้นที่สามารถทำได้ด้วยเทคนิคการก่อสร้างทั่วไป เช่นผนังก่ออิฐมวลเบาฉาบปูน การมุงด้วยหลังคา Metal Sheet และด้วยความที่สถาปนิกอยากจะนำเสนอไม้จามจุรีที่เป็นจุดขายของทาง Moonler มาใช้ในองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งในอาคาร จึงมาจบที่การทำเฟรมไม้จามจุรีภายในโถงจัดแสดงผ่านภาษาที่เรียบง่ายแต่ยืดหยุ่นพอสำหรับการหมุนเวียนแสดงเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งทำหน้าที่แบ่งพื้นที่และการเข้าถึงเป็นส่วนๆ ได้ โดยท่อนไม้จามจุรีนี้ใช้ดีเทลการเข้าไม้ของทาง Moonler เองที่เป็นดีเทลการเข้าเดือยไม้แบบเฟอร์นิเจอร์ที่ขยาย scale ขึ้นมาเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของการใช้ไม้จามจุรีที่เป็นท่อนซุงจึงสามารถใช้การเข้าเดือยไม้ขนาดใหญ่แบบนี้ได้ ส่งผลให้เส้นสายของโครงไม้จามจุรีที่เห็นนั้นเรียบและรอยต่อแนบสนิท รวมถึงทำหน้าที่เป็นจุดซ่อน lighting ไม่ให้เห็นแหล่งกำเนิดแสงไว้ด้านบนเพื่อกระจายแสง ไม่เน้นการ spot ไฟเป็นจุดๆ ในส่วนทางเข้านั้นไม่ได้ออกแบบให้เข้าถึงตัวห้องโถงจัดแสดงในทันที แต่ออกแบบให้โถงทางเข้าแยกออกมาเพื่อทำหน้าที่แจกคนไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของอาคาร เมื่อเดินเข้าไปจะเจอกับ courtyard ที่เปิดหลังคาเห็นท้องฟ้าซึ่งเรารู้ได้ทันทีว่าได้แรงบันดาลใจต่อยอดมาจาก Jamjuree Pavilion 2019
ในส่วนพื้นที่ระเบียงที่เตรียมไว้ต่อขยายอาคาร ซึ่งปัจจุบันใช้สำหรับนั่งพักหรือตั้งโชว์ตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์ outdoor ในมุมนี้เราจะเห็นต้นจามจุรียักษ์ที่ถูกล้อมมาเป็นปลายตาร่วมกับต้นจามจุรีที่หว่านเมล็ดปลูกไว้ในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตอาจมีการออกแบบต่อขยายพื้นที่ระเบียงนี้ออกไปเพื่อล้อกับต้นจามจุรีและอาคารใหม่ที่ยังไม่ได้สร้างเพื่อเตรียมพื้นที่ที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของแบรนด์ในอนาคต
เมื่อมองจากภายนอกเราจะเห็นอาคารนี้เป็นทรงจั่วขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางทุ่งนามีฉากหลังเป็นโรงงานที่อยู่ข้างๆ แม้อาคารนี้ไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่แต่ด้วยมวลอาคารทำให้รู้สึกว่าอาคารหลังนี้มีความใหญ่กว่าปกติเพราะถูกออกแบบมาเพื่อให้รับรู้สเปซและมองจากข้างในเป็นหลัก ในจุดนี้สถาปนิกออกแบบให้ผนังอาคารมี texture ที่ช่วยย่อยความรู้สึกใหญ่ของอาคาร ด้วยการใช้ผนังทำ texture ปูนฉาบ โดยเลือกเส้นตั้งที่ scale ใกล้เคียงกับเส้นสาย Metel Sheet ของหลังคา โดยเทคโนโลยีใช้ laser cut ผลิตเกรียงฉาบลายนี้ขึ้นเอง และเลือกที่จะปล่อยพื้นผิวเป็นผิวธรรมชาติของปูนฉาบ ไม่ทาสีทับ
พัชรดา อินแปลง จาก Sher Maker เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโปรเจ็คต์นี้คือการได้เห็นโอกาสของไม้จามจุรีในเชิงการเป็นวัตถุดิบของสถาปัตยกรรม ซึ่งยังสามารถนำมาทำอะไรได้อีกมากมาย เพราะได้เห็นว่าการนำไม้จามจุรีมาใช้โดยผ่านการผลิตแบบโรงงานและการติดตั้งอย่างเป็นระบบสามารถทำได้จริง ส่วนสำหรับทาง Moonler เองเมื่อมี โชว์รูมที่ชัดเจน เหล่าดีไซเนอร์ก็เริ่มเห็นและบอกปากต่อปากถึงการมีพื้นที่ของแหล่งวัตถุดิบที่ท้าทายขีดจำกัดใหม่ๆ อย่างไม้จามจุรีที่มีความเป็นซุงและมีหน้าตัดไม้ที่ใหญ่ เป็นโอกาสใหม่ๆ ให้ดีไซเนอร์ได้สนุกมากขึ้น ก่อนจากกัน พัชรดา เล่าทิ้งท้ายกับว่าโปรเจ็คต์นี้ไม่โปรเจ็คต์ที่จบเป็นโปรเจ็คต์ๆ ไป แต่การได้ช่วยพัฒนาแบรนด์ผู้ประกอบการอย่าง Moonler นั้นมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องระยะยาวตั้งแต่การได้เริ่มรู้จักกัน เข้าไปช่วยปรับโรงงาน ได้ทำโชว์รูมและยังติดตามงานช่วยเหลือกันไปเรื่อยๆ เป็นความสัมพันธ์ที่น่าประทับใจระหว่างผู้ออกแบบและแบรนด์ผู้ว่าจ้าง ในพื้นที่เชียงใหม่ ที่เราคิดว่าเต็มไปด้วยความเป็นไปได้อีกมหาศาลเช่นเดียวกัน