INSIDE STUDIOS: INDONESIAN ARTISTS

หนังสือที่พาไปรู้จักกับตัวตนในแบบที่เป็นกันเองของศิลปินและสตูดิโอ 25 แห่งในอินโดนีเซีย ผ่านรูปถ่ายข้าวของกระจุกกระจิกในสตูดิโอ และ Q&A สนุกๆ ที่ให้ศิลปินตอบกันได้ตามใจ

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

Author: Alexandra Corradini
Photography: Indra Leonardi
Art Director: Ignatius Hermawan Tanzil
Graphic Design: LeBoYe
Project Coordinator: Amalia Wirjono
Red & White Publishing (Jakarta, Indonesia), 2019
314 pages
Hardback
ISBN  978-6-026-20234-5

ถ้าคุณไป Yogyakarta (เมืองทางตอนกลางของเกาะชวา อินโดนีเซีย ที่มีชื่อเล่นว่า Jogja) ในช่วงที่มี Biennale Jogja หรือว่า Art Jog ไม่ใช่แค่นิทรรศการในสถานที่จัดงานหลักเท่านั้นที่คุณจะได้ดู แต่ตามแกลเลอรี่น้อยใหญ่ที่เกลื่อนอยู่ทั่วเมืองก็มักจะจัดกิจกรรมไปพร้อมๆ กันด้วย เช่นเดียวกับศิลปินหลายคนที่เปิดสตูดิโอให้บรรดาภัณฑารักษ์ นักสะสมศิลปะ สื่อมวลชน และคนรักศิลปะ เข้าไปเยี่ยมชม ซึ่งถ้าคุณบังเอิญเดินดุ่มๆ เข้าไป (ศิลปินอินโดฯ ส่วนมากเป็นกันเองกับทุกคนอยู่แล้ว) คุณก็น่าจะได้โอกาสทำความรู้จักสถานที่ที่ใช้คิดงาน สร้างสรรค์งาน ไปจนถึงใช้ชีวิตของศิลปินชื่อดังเหล่านั้นด้วย 

และการันตีว่า การเยี่ยมชมสตูดิโอของศิลปินจะเป็นประสบการณ์ที่สนุกและพิเศษที่สุดใน art trip ของคุณ

คอนเซ็ปต์หลักของหนังสือ ‘Inside Studios: Indonesian Artists’ ก็เป็นแบบเดียวกันนี้ คือพาผู้อ่านไปรู้จักแง่มุมส่วนตัวในพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน ซึ่งแม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ออกจะเบาๆ ไม่ได้เข้มข้นเหมือนแนวคิดในแต่ละชิ้นงานของพวกเขา แต่เรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เอง กลับช่วยให้เรารู้จักชีวิตและผลงานของศิลปินได้ดีขึ้นอีก 

‘Inside Studios: Indonesian Artists’ รวมเอาเรื่องราวของสตูดิโอและศิลปิน 25 ราย เข้าไว้ด้วยกัน ศิลปินทั้งหมดผ่านเกณฑ์การคัดเลือกที่วางอยู่บนหลัก 3 ข้อ คือ หนึ่ง-ต้องเป็นศิลปินชาวอินโดฯ สอง-มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และสาม-มีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน แน่นอนว่าการคัดเลือกรายชื่อศิลปินอินโดฯ ทั้งหมดที่เข้าข่ายสามข้อนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าหายาก แต่เพราะมีเยอะมากจนไม่รู้จะเลือกใครต่างหาก

อย่างไรก็ดี สุดท้ายผู้จัดทำหนังสือก็ได้ final list ออกมา ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกที่หลากหลายทั้งในเรื่องเจเนอเรชัน สถานที่ตั้งของสตูดิโอ งานออกแบบสตูดิโอ และแนวทางการทำงาน ตั้งแต่ศิลปินอาวุโสที่สุดคือ Abdul Djalil Pirous ไปจนถึง collective รุ่นเล็กมาแรง อย่าง Tromarama ส่วนเมืองที่ศิลปินส่วนมากอาศัยและทำงานอยู่คือ Yogyakarta (เมืองหลวงทางศิลปะของอินโดฯ ที่มีศิลปินที่ทำงานประติมากรรมขนาดใหญ่ อย่าง Entang Wiharso และ Handiwirman Saputra อาศัยอยู่) และ Bandung (เมืองใกล้ๆ Jakarta ที่ศิลปินรุ่นใหญ่ Surnayo เลือกเป็นทั้งที่ตั้งสตูดิโอและ Selasar Sunaryo แกลเลอรี่เรียบคลาสสิคบนเนินเขา) แต่นอกจากนั้นก็ยังมีเมืองอื่นๆ มาแซมเพิ่มความหลากหลายด้วย อย่าง สตูดิโอของศิลปิน art performance ตัวแม่ Melati Suryodarmo ใน Surakarta

ส่วนในมุมของสถาปัตยกรรมก็หลากหลายเช่นกัน ทั้งสตูดิโอที่ดัดแปลงมาจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์เก่าของ Aditya Novali และบ้าน/สตูดิโอของ Agus Suwage ที่ได้เพื่อนสนิทของเขา Andra Matin มาเป็นผู้ออกแบบ

ในการนำเสนอเรื่องราวของศิลปินและสตูดิโอทั้ง 25 แห่ง ถูกวางอยู่บน format แบบเดียวกัน คือ ส่วนแรก-ภาพถ่ายปูเต็มหน้าหรือหน้าคู่ ที่เห็นภาพกว้างของสตูดิโอและชิ้นงานของพวกเขา ประกบกับ text อ่านง่ายๆ สบายๆ ที่เล่าถึงการไปเยือนสตูดิโอแต่ละแห่ง รวมถึงตัวตนของศิลปินจากมุมมองผู้เขียน ถัดจากนั้นเป็นภาพถ่ายหลายๆ ภาพ จัดวางเลย์เอาท์เป็นภาพเล็กๆ ที่คราวนี้เจาะลงไปในรายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในสตูดิโอ ตั้งแต่ ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น ของสะสม ต้นไม้ จักรยาน มอเตอร์ไซค์ กีตาร์ ภาพถ่ายเก่า รองเท้า เครื่องมือในการทำงาน ยา และผลงานที่อยู่ระหว่างการสร้างสรรค์ สุดท้ายแต่ละบทจะปิดด้วย Q&A สนุกๆ ที่สนุกเข้าไปอีกตรงที่คำตอบของศิลปินแต่ละคน บ้างก็อยู่ในรูปแบบลายมือ ลายเส้นขยุกขยิก (doodle) เพนต์ติ้ง หรือบางคนก็ใช้การตัดแปะ หรือแม้แต่ตัดเอาภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์มาเป็นคำตอบก็ยังมี

เมื่อพลิกอ่าน ‘Inside Studios: Indonesian Artists’ จนจบ เราก็ได้รู้ว่าประโยคที่ Alexandra Corradini ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ กล่าวไว้ในคำนำตอนต้นว่า รายละเอียดส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่พบในสตูดิโอที่ศิลปินเหล่านี้แทบจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตอาศัยอยู่ จะทำให้เรารู้จักแง่มุมของพวกเขาดีกว่าการอ่านจาก art book เครียดๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และก็ถูกต้องอีกเช่นกันที่เธอบอกว่า “ในยุคดิจิตอลเช่นนี้ เรามักหลงลืมไปว่าลายมือและลายเส้นง่ายๆ สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับคนคนนั้นได้มากแค่ไหน” 

ส่วนถ้าศิลปินคนไหนเปิดหนังสือเล่มนี้ดูแล้วจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมสตูดิโอแต่ละแห่งของศิลปินอินโดฯ กลุ่มนี้ถึงฟู่ฟ่ากันขนาดนี้ ก็ขอให้ใช้คำกล่าวของ Enin Supriyanto ภัณฑารักษ์และผู้ก่อตั้ง Rubanah Underground Hub เป็นกำลังใจในการทำงานก็แล้วกันว่า “ก่อนที่จะมีสตูดิโอใหญ่โตกันขนาดนี้ พวกเขาก็เคยดิ้นรนอยู่ในสตูฯ เล็กๆ แคบๆ ที่ตกแต่งตามมีตามเกิดกันมาแล้วทั้งนั้น”


ที่บอกไว้ก่อนเพราะไม่อยากให้เข้าใจผิดว่าหนังสือเล่มนี้ต้องการเอาสตูดิโอของศิลปินมาอวดอ้างว่าใหญ่โตขนาดไหน แต่จุดประสงค์จริงๆ คืออยากให้รู้จักพวกเขามากขึ้นมากกว่า และกว่าทั้ง 25 ศิลปินที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้จะผ่านเกณฑ์คัดเลือกสามข้อที่ว่านั้นมาได้ พวกเขาก็ทุ่มเททำงานศิลปินกันอย่างหนักหน่วง และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังคงมีศิลปะแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิต อย่างที่เราจะเห็นได้จากสถานที่ทำงานและใช้ชีวิตของพวกเขา

redandwhite.co.id
instagram.com/insidestudiosindonesia

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *