ชมชน ฟูสินไพบูลย์ พาเราไปทำความรู้จักกับ ‘ตึกหุ่นยนต์’ ก่อนที่หน้าตาอาคารจะเปลี่ยนไป และชวนให้เราเห็นความสำคัญของอาคารในฐานะอาคารจากประเทศ ‘โลกที่ 3’ ที่ท้าทายแนวคิดการออกแบบในวงการสถาปัตยกรรมโลก
TEXT: CHOMCHON FUSINPAIBOON
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวโครงการการปรับปรุงตึกหุ่นยนต์ บนถนนสาทรใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคาร UOB (ประเทศไทย) หรือเดิมคือสำนักงานใหญ่ของธนาคารเอเชียสร้างแรงกระเพื่อมในวงการศิลปะ สถาปัตยกรรม และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอยู่ไม่น้อยเนื่องด้วยมีข้อมูลเกี่ยวกับแบบปรับปรุงในส่วนของเปลือกอาคารและรูปด้านอาคารที่ทำให้กลุ่มบุคคลและบุคคลหลายท่านแสดงความเป็นห่วงผ่านสื่อโซเชียล ว่าอาจทำให้รูปลักษณ์ของตึกหุ่นยนต์เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ตึกหุ่นยนต์อีกต่อไป
ผู้สันทัดกรณีในวงการดังกล่าวได้เรียกร้องผ่านสื่อให้สาธารณชนเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตึกหุ่นยนต์ โดยทุกท่านชี้ให้เห็นความสำคัญของตึกหุ่นยนต์ โดยเห็นพ้องกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า แต่สิ่งที่หลายท่านอาจยังเห็นต่างกันอยู่ในตอนแรกคือเมื่อว่าด้วยยุคสมัยและรูปแบบของตึกหุ่นยนต์แล้ว ตึกหุ่นยนต์เป็น “สถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ (Postmodern Architecture)”1 หรือ “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture)”2 กันแน่ โดยล่าสุดจดหมายเปิดผนึกจากคณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเก็บข้อมูลและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นไทย (docomomo Thai) ได้ระบุว่าตึกหุ่นยนต์เป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็น “ยุคเปลี่ยนผ่าน” จาก Late Modernism สู่ Postmodernism3 บทความนี้ชวนผู้อ่านมาอภิปรายประเด็นดังกล่าว และต้องการชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวของตึกหุ่นยนต์มีความสัมพันธ์กับบทบาทและสถานะของสถาปนิกไทยในบริบทโลกอย่างไร
เป็นการยากที่จะระบุว่าตึกหุ่นยนต์เป็น “สถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่” หรือ “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่” กันแน่ และเหตุแห่งความยากที่ทำให้มันเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็น “ยุคเปลี่ยนผ่าน” นี้ อาจน่าสนใจกว่าการพยายามระบุว่ามันเป็นอะไร ตึกหุ่นยนต์ออกแบบและก่อสร้างในช่วงปี 1983 ถึง 1986 เพื่อเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารเอเชีย (UOB ควบรวมกิจการธนาคารเอเชียในปี 2005) สถาปนิกผู้ออกแบบคือ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา หากเริ่มพิจารณายุคสมัยที่มันถูกสร้างขึ้น และรูปแบบของสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ชิ้นสำคัญในช่วงนั้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จะพบว่าเป็นช่วงที่แนวคิดสมัยใหม่นิยมทางสถาปัตยกรรม (Modernism) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าเบื่อ ไร้ลักษณะเฉพาะ เพราะเน้นมาตรฐานสากลแห่งประโยชน์ใช้สอยมากเกินไป เมื่อพิจารณาเฉพาะเจาะจงมาที่สถาปัตยกรรมของสำนักงานใหญ่ธนาคารในประเทศไทย จะพบว่าธนาคารหลัก 2 ธนาคารอย่างธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพเพิ่งเปิดสำนักงานใหญ่ (1981) เป็นตึกระฟ้าที่ออกแบบตามแนวคิดสมัยใหม่นิยมทั้งคู่ จะต่างกันตรงที่ว่าสถาปนิกของสองอาคารนั้นมีแนวคิดเกี่ยวกับการปรับรูปแบบสมัยใหม่นิยมจากตะวันตกให้เหมาะกับภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยต่างกัน อาคารแรกจึงเป็นเป็นกล่องกระจกแต่อีกอาคารมีกันสาดคอนกรีตเป็นเปลือกอาคารชั้นนอก4 สำหรับธนาคารเอเชีย ซึ่งเป็นธนาคารขนาดเล็กกว่า แต่มีผู้บริหารที่เป็นนายธนาคารรุ่นใหม่ ต้องการให้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่แสดงออกถึงยุคใหม่แห่งการธนาคารที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการพัฒนาบริการ และมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง คำถามจึงมีอยู่ว่าแนวคิดสถาปัตยกรรมใหม่ๆ แนวไหน ควรถูกนำมาใช้ในการออกแบบสำนักงานใหญ่แห่งนี้
แนวคิดใหม่แนวทางหนึ่งที่ออกมาท้าทาย Modernism ในยุคนั้นถูกเรียกด้วยชื่อที่อิงกับสิ่งที่มันท้าทาย ว่าเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) ตัวอย่างงาน Postmodern สำคัญๆ ในระดับโลก ได้แก่ ตึกระฟ้าในนิวยอร์ก อย่างตึก AT&T (1984) ซึ่งสถาปนิก Philip Johnson และ John Burgee ออกแบบโดยประยุกต์ใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมคลาสสิคตะวันตกจากอดีต ทั้งซุ้มโค้ง (arch) ในส่วนฐาน และจั่ว (pediment) ในส่วนยอด ท้าทายตึกระฟ้ากล่องกระจกเรียบๆ จำนวนนับไม่ถ้วนที่เน้นประโยชน์ใช้สอยจนเริ่มถูกมองว่าน่าเบื่อส่วนตัวอย่างสำคัญในประเทศไทยในแนวทางนี้ ได้แก่ ศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซ่า (1984) ที่สถาปนิก รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมคลาสสิค โดยเฉพาะหัวเสากรีกแบบไอออนิก (Ionic) มาสื่อความหมายถึงความหรูหราอลังการ และสามารถโน้มน้าวเจ้าของธุรกิจห้างร้านให้มาซื้อพื้นที่ขายในห้างและจ่ายเงินดาวน์ 100% ก่อนสร้างอาคารได้เป็นผลสำเร็จ โดยก่อนหน้านั้นมีการออกแบบครั้งแรกไปแล้วตามแนวทาง Modernism แต่ไม่มีใครสนใจซื้อพื้นที่เลย5
สำหรับแนวทาง Modernism ในช่วงเวลานั้นใช่ว่าจะหยุดพัฒนา แต่ปรากฏว่ามีสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่เรียกว่า High-tech เกิดขึ้น อาคารที่เป็นตัวอย่างสำคัญของรูปแบบนี้ ได้แก่ Pompidou Centre (1977) ที่กรุงปารีส ออกแบบโดยทีมสถาปนิกที่นำโดย Renzo Piano และ Richard Rogers และ ธนาคาร HSBC สำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง (1986) ออกแบบโดย Fosters Associates อาคารเหล่านี้มีลักษณะเด่นจากการวางโครงสร้างหลักและงานระบบไว้ขอบนอกอาคาร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ที่ว่างใช้สอยภายในยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้สะดวก โดยโครงสร้าง องค์ประกอบ และระบบประกอบอาคารต่างๆ ที่แสดงตัวให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยรูปทรงที่แสดงการรับแรงจริง หรือสีสันสดใสนั้นส่วนใหญ่ทำจากวัสดุอุตสาหกรรมอย่างเหล็กโลหะอื่นๆ และกระจก โดยออกแบบเป็นพิเศษ ก่อสร้างในโรงงาน และนำมาประกอบติดตั้งที่พื้นที่ก่อสร้าง6 ที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (1977) ที่ ดร.สุเมธ ชุมสาย ออกแบบให้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของห้องปาฐกถาใหญ่ยื่นออกมากว่า 15 เมตรเพื่อเน้นทางเข้าอาคาร และใช้โครงถักเหล็กและผนังกระจกบนโครงเหล็กห่อหุ้มห้องจัดแสดงหลัก รวมถึงการแสดงให้เห็นงานระบบในหลายๆ ส่วนของอาคาร ก็ถูกจัดให้เป็นสถาปัตยกรรม High-tech ในหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเล่มสำคัญของโลกอย่าง Sir Banister Fletcher’s a History of Architecture ฉบับพิมพ์ปี 1987 ด้วย7 นับได้ว่าเป็นตัวอย่างงานสถาปัตยกรรม Modern งานแรกจากประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้
อันที่จริง งานสถาปัตยกรรม Modern จากทวีปเอเชียเพิ่งได้รับการบรรจุในหนังสือเล่มสำคัญนี้ครั้งแรกในฉบับปี 1975 เท่านั้น ซึ่งในครั้งนั้นมีเพียงงานจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนฉบับตีพิมพ์ในปี 1987 ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 19 นั้นเป็นครั้งแรกที่มีงานจากประเทศในเอเชียอื่นๆ ในจำนวนจำกัด เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และไทย8 ข้อสังเกตในข้อเท็จจริงนี้ก็คือสถาปัตยกรรม Modern ถูกมองว่าเป็นผลผลิตของสังคมตะวันตกที่สังคมนอกโลกตะวันตก ซึ่งเป็น “คนอื่น” รับไปปรับใช้ แนวคิดแบบมีศูนย์กลางที่โลกตะวันตกแบบนี้จึงมองว่าเป็นการยากที่สถาปัตยกรรม Modern นอกโลกตะวันตกจะมีคุณภาพดี พิเศษ หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ งานที่ได้รับการคัดเลือก หากไม่ได้ออกแบบโดยสถาปนิกตะวันตกอย่างงานของ Le Corbusier ในอินเดีย หรืองานของ Louis Kahn ในบังคลาเทศแล้ว ก็ต้องเป็นงานที่อ้างอิงกับแนวทางที่เป็นนวัตกรรมในโลกตะวันตกอย่างสถาปัตยกรรม High-tech ของ ดร.สุเมธ ที่สุดท้ายแล้วทั้งหมดนี้ก็ยังถูกระบุว่าเป็นงาน “ในส่วนภูมิภาค”(regional) ที่เป็นสาขาย่อยออกไปจากงานต้นฉบับในโลกตะวันตก เพราะต้องมีการปรับให้เหมาะกับข้อจำกัดของพื้นที่นั้นๆ เช่นในกรณีนี้คือการใช้คอนกรีตเป็นส่วนใหญ่เพราะประเทศเหล่านี้ไม่สามารถใช้เหล็กในปริมาณมากได้ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ
ในบริบทของสถาปัตยกรรมโลกและในประเทศไทยดังกล่าว รวมถึงสถานะของสถาปนิกจากประเทศไทยและเอเชียตามที่อภิปรายไปนั้น ตึกหุ่นยนต์ได้ปรากฏตัวขึ้น และแนวความคิดในการออกแบบตึกหุ่นยนต์ก็ไม่สามารถถูกจัดให้อยู่ในประเภท Postmodern หรือ Modern ได้ง่ายๆ เหตุเพราะปรากฏว่าแนวความคิดในการออกแบบตึกหุ่นยนต์เป็นการตั้งคำถามและโต้ตอบกับแนวความคิดใหม่ในช่วงนั้นทั้งสถาปัตยกรรม High-tech และหลังสมัยใหม่แบบประวัติศาสตร์นิยม (Postmodern Classicism) นี่อาจเป็นครั้งแรกที่มีงานของสถาปนิกไทยขึ้นสังเวียนไปท้าทายงานระดับโลก!
ในหนังสือ Robot Bank : A Statement in Post High-Tech ธนาคารหุ่นยนต์ สถาปัตยกรรมยุคต่อจากวิทยาการสูง9 ตีพิมพ์โดยธนาคารเอเชียในปี 1987 โดยมีบริษัทสถาปนิกของ ดร.สุเมธ ชุมสาย เป็นผู้เรียบเรียงเนื้อหา ได้อธิบายว่าตึกหุ่นยนต์เป็นสถาปัตยกรรมยุค “ต่อจากวิทยาการสูง” หรือ “Post High-tech” เพราะมีลักษณะล้ำหน้าทันสมัย แต่ก็ดูเป็นมิตรกับสาธารณชน ซึ่งผู้เขียนระบุว่าเป็นคุณลักษณะที่ล้ำไปกว่าความงามของเทคโนโลยี จักรกล และโครงสร้าง ของสถาปัตยกรรม High-tech อย่างธนาคาร HSBC สำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกงที่สร้างเสร็จในปีเดียวกัน หรือ Pompidou Centre ที่กรุงปารีสที่สร้างเสร็จก่อนไม่ถึง 10 ปี
เนื้อหาในหนังสือเล่มเดียวกันยังประกอบด้วยบทความที่ถอดเทปจากปาฐกถาของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เรื่อง Why the Robot? ซึ่งต่อมาได้นำไปตีพิมพ์เป็นบทความชื่อ “Building Study : Bank of Asia, Bangkok” ลงในนิตยสาร Mimar ซึ่งเป็นนิตยสารทางสถาปัตยกรรมเล่มสำคัญของเอเชียในสมัยนั้น10 ในบทความดังกล่าว ดร.สุเมธ ได้วิพากษ์วิจารณ์สถาปัตยกรรม High-tech ในรายละเอียด โดยยกตัวอย่างทั้งธนาคาร HSBC และ Pompidou Centre ว่าในขณะที่อาคารพยามแสดงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการวางงานระบบอาคารและโครงสร้างไว้ด้านนอก แต่ในความเป็นจริงแล้วการก่อสร้างและการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ยังต้องพึ่งพาแรงงานช่างฝีมือชั้นสูงมากทักษะและประสบการณ์อย่างมาก จึงจะทำให้อาคารเสร็จสมบูรณ์มีรูปลักษณ์ High-tech แบบนี้ได้ สำหรับ ดร.สุเมธ แล้ว ความ High-tech และความแท้ของมันจึงมีขีดจำกัด เช่นเดียวกันกับการแสดงออกถึงสัจจะแห่งความ High-tech ทางสถาปัตยกรรม เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ดร.สุเมธ จึงเลือกการแสดงออกด้วยการ “สื่อความหมาย” ถึงความ High-tech แทน
ประเด็นการสื่อความหมาย นำเรามาสู่ประเด็นเรื่องแนวความคิด Postmodernism ซึ่งรูปทรงองค์ประกอบต่างๆ ของตึกหุ่นยนต์ มีทั้งแง่มุมที่ท้าทายแนวคิด Postmodern Classicism และแง่มุมที่แสดงให้เห็นว่ามันยังถูกออกแบบมาจากแนวคิด Modernism อยู่บ้าง ในแง่มุมแรก ดร.สุเมธ อธิบายในปาฐกถา Why the Robot? โดยเริ่มจากการอ้างถึงสถาปัตยกรรม Postmodern ประเภท Classicism สำคัญๆ ทั้งในและนอกประเทศ โดยตั้งคำถามว่าถ้าโลกนี้มีตึกอย่าง “the grandfather’s clock” (ซึ่งน่าจะหมายถึงตึก AT&T ที่เมืองนิวยอร์ก) และ “the Acropolis in downtown Bangkok” (ซึ่งน่าจะหมายถึงศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซ่า) แล้วทำไมจะมีตึกหุ่นยนต์ไม่ได้ ดร.สุเมธ วิจารณ์ว่าแนวคิด Postmodern Classicism นั้นเป็นเพียงการนำองค์ประกอบต่างๆ จากอดีตมาผสมผสาน แปะลงไปบนอาคาร เป็นการนำเสนอสิ่งใหม่ที่จริงๆ แล้วไม่ใหม่ แต่เป็นการนำของที่เก่ากว่างานแบบ Modern กลับมาใช้แบบปลอมๆ เสียมากกว่า
สำหรับแง่มุมที่ว่าตึกหุ่นยนต์ยังถูกออกแบบมาจากแนวคิด Modernism อยู่บ้างนั้น เห็นได้จากองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่แสดงออกถึงการใช้สอยของมัน หรือแสดงออกถึงการใช้สอยภายใน แม้ว่ามันจะถูกทำให้เป็นรูปทรงนามธรรมที่เสริมความเป็นหุ่นยนต์ให้กับภาพรวมของตึกไปด้วยในเวลาเดียวกันแล้ว ตัวอย่างขององค์ประกอบเหล่านี้ได้แก่ หัวน้อตหรือล้อตีนตะขาบที่มีหน้าที่ใช้สอยเป็นหน้าต่างบางบาน และหลังคาคลุมทางเข้าอาคารด้านข้าง เป็นต้นนอกจากนั้นแล้ว องค์ประกอบอีกหลายอย่างถูกออกแบบให้ตอบรับสภาพอากาศร้อนชื้นและการดูแลรักษาที่ง่าย เช่น การออกแบบผนังทึบด้านตะวันออกตะวันตก และการออกแบบแผงกันแดดทิศเหนือใต้ที่สามารถเดินออกไปทำความสะอาดหน้าต่างกระจกได้ แน่นอนว่า ทั้ง 2 องค์ประกอบนี้แสดงออกถึงหน้าที่ใช้สอยของมัน แต่ก็แสดงตัวเป็นตัวถังทึบด้านข้างและเส้นสายที่ชวนให้นึกถึงแผงวงจรของหุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน
จากการเปรียบเทียบตึกหุ่นยนต์กับงานแบบ Modern และ Postmodern Classicism ข้างต้นสถาปนิกผู้ออกแบบจึงเชื่อว่าตึกหุ่นยนต์อาจจะเป็นแนวคิดที่แหวกแนวและล้ำที่สุดในวงการสถาปัตยกรรมโลกขณะนั้นเลยทีเดียว ในวงการสถาปัตยกรรมโลกในยุคนั้น การที่สถาปนิกในประเทศโลกที่ 3 ที่โดยปกติแล้วเป็น “คนอื่น” ที่อยู่นอกสายตาของผู้ทรงอิทธิพลในวงการสถาปัตยกรรมโลก ซึ่งเกือบทั้งหมดคือสถาปนิกผู้ชายชาวตะวันตก ออกแบบงานที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครคิดหรือทำมาก่อน รวมถึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์งานของสถาปนิกระดับโลกชาวตะวันตกเช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งใหม่ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงนับได้ว่าตึกหุ่นยนต์ทำให้ชื่อเสียงของสถาปนิกไทยเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับโลก11
ดร.สุเมธ ไม่ได้หยุดแค่การวิพากษ์วิจารณ์งาน Postmodern Classicism หรือสถาปัตยกรรม High-tech แต่มองว่าตึกหุ่นยนต์เป็นหมุดหมายแรกในการพัฒนาแนวคิดทางสถาปัตยกรรมในยุคต่อไป ดร.สุเมธ อภิปรายต่อไปในปาฐกถาเดียวกันนั้นว่าตึกหุ่นยนต์เป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่เขามองว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือจริง ๆ แล้วมันไม่จำเป็นจะต้องเป็นหุ่นยนต์ สถาปัตยกรรมในยุคต่อไปอาจจะเป็นอะไรก็ได้ ที่จะส่งเสริมให้สังคมก้าวสู่ยุคที่ก้าวหน้าไปอีกได้ แต่อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนั้น ดร.สุเมธ มองว่าหุ่นยนต์เป็นตัวแทนที่เด่นชัดของความสัมพันธ์ระหว่างคนและเครื่องจักรในยุคนั้นและในอนาคต ดร.สุเมธกล่าวว่าคนและเครื่องจักรกำลังค่อยๆ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ในช่วงปี 1980 ที่แสดงปาฐกถานั้น ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุดในสายตาของ ดร.สุเมธ คือการขับรถของคน เมื่อแรกฝึกขับรถ รถยนต์และจักรกลของมันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อขับรถคล่องแล้ว คนขับสามารถใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายบังคับการเคลื่อนที่ของรถอย่างคล่องแคล่ว เหมือนกับว่าร่างกายของคนและรถรวมทั้งเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ดร.สุเมธ ยังอภิปรายต่อไปว่าในศตวรรษหน้า ภายในครึ่งศตวรรษแรก คนและเครื่องจักรจะหลอมหลวมเป็นหนึ่ง และครึ่งศตวรรษหลังการปฏิวัติทางการติดต่อสื่อสารจะไม่ถูกจำกัดด้วยคุณสมบัติทางกายภาพอย่างความเร็วแสงเท่านั้น แต่จะขยายไปทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนน่าสนใจว่า ณ วันนี้ที่เราได้เข้าศตวรรษนี้มากว่า 2 ทศวรรษแล้ว สิ่งที่ ดร.สุเมธ กล่าวว่าน่าจะเกิดภายในเวลา 100 ปี เหมือนจะเกิดขึ้นไปมากแล้วภายในช่วงเวลาแค่ 20 ปี และมีความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอยู่มากเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการออกแบบก่อสร้างและอำนวยความสะดวกหรือปรับสภาพแวดล้อมในอาคารประเภท “smart” ต่าง ๆ ให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ความต้องการ และความชอบของผู้ใช้สอย หรือการสร้างและการใช้ รวมไปถึงการซื้อขายพื้นที่และสถาปัตยกรรมในโลกเสมือนจริงอย่าง metaverse ดังนั้นหากมองว่ากระแส AI, smart, metaverse เหล่านี้เป็นวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมที่สืบเนื่องมาจากตึกหุ่นยนต์แล้วนั้น สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน หรือที่อาจเรียกได้ว่ายังไม่มีอะไรใหม่ชัดเจนอาจจะเป็นรูปทรงของพวกมัน เพราะสถาปัตยกรรมทุกรูปแบบน่าจะเกี่ยวข้องกับ AI, smart, metaverse ได้ทั้งนั้น หรือนี่จะเป็นการตอกย้ำว่า มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นหุ่นยนต์ มันจะเป็นอะไรก็ได้จริง ๆ …
ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมในยุคต่อไปอาจจะเป็นอะไรก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วโดยพื้นฐานสถาปัตยกรรมก็ยังต้องประกอบไปด้วยที่ว่างและรูปทรง และถ้าย้อนกลับมาที่ประเด็นการหารูปทรงใหม่อีกนิด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตึกหุ่นยนต์เป็นรูปทรงใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนจริง ๆ ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ได้กล่าวทิ้งท้ายในการปาฐกถาว่าตึกหุ่นยนต์เป็นเพียงก้าวแรก ณ ปลายศตวรรษที่แล้วของการขจัดปัดเป่าความแปลกแยกของเครื่องจักรที่มีต่อคน โดยมีจุดมุ่งหมายว่าสุดท้ายเครื่องจักรก็จะเป็นเหมือนเพื่อน เป็นสิ่งคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน และเป็นพวกเดียวกับเรา และประเด็นสุดท้ายนี้เองที่นำไปสู่คำถามสำคัญหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ที่หน้าสุดท้ายของบทความ Why the Robot?
คำถามนั้นก็คือตึกหุ่นยนต์มีอัตลักษณ์ของความเป็นเอเชียไหม ดร.สุเมธให้คำตอบไว้ว่าเรื่องอัตลักษณ์ของเอเชียหรือของชาติ บางทีมักเป็นเรื่องของปมด้อยที่เกิดจากการถูกครอบงำจากภายนอก ที่ทำให้คนในชาตินั้นๆ อยากมีสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าขาด ซึ่งในที่นี้ก็คืออัตลักษณ์ของเอเชียหรือของชาติ ทั้งที่ดร.สุเมธคิดว่าในความเป็นจริงคนทุกคนทุกกลุ่มก็มีต้องมีอัตลักษณ์ของตนอยู่แล้ว และการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ต่างๆ นั้นควรจะเป็นไปในเชิงมานุษยวิทยาที่ลึกซึ้ง มากกว่าดูแค่รูปทรงองค์ประกอบ ซึ่งอย่างหลังนี้มักทำให้เกิดงานประหลาดๆ ขึ้นมาเสมอ อย่างไรก็ตามดร.สุเมธคิดว่าตึกหุ่นยนต์มีอัตลักษณ์เอเชียอยู่ เพราะเป็นการทำเครื่องจักรให้มีความเป็นคนมีความเป็นมิตรมากขึ้น เขาเปรียบเทียบกับการประดับตกแต่งเรือหางยาวและตุ๊กตุ๊กในไทย และรถจี๊บนี่ในฟิลิปปินส์
การโยงความสัมพันธ์ระหว่างตึกหุ่นยนต์กับเรือหางยาว ตุ๊กตุ๊ก และจิ๊บนี่นี้นี่เอง ที่อาจจุดประกายให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ The Times ในลอนดอนเขียนจดหมายในนาม John Leech ไปถึงกองบรรณาธิการ โดยอ้างถึงบทความ “The world’s first robot-shaped building” ที่ตีพิมพ์ไปก่อนหน้านั้นในวันที่ 7 ธันวาคม 1986 และให้ความเห็นว่ากรณีเรือหางยาว ตุ๊กตุ๊ก จิ๊บนี่และตึกหุ่นยนต์นี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชาวตะวันตกควรศึกษาทำความเข้าใจในการผสานแนวคิด เทคโนโลยี และการพัฒนามนุษย์ไปด้วยกันในภาพรวมมากกว่าคิดแยกส่วน
กล่าวโดยสรุป ตึกหุ่นยนต์เป็นสถาปัตยกรรมจากช่วงปี 1980 ที่ไม่เพียงท้าทายแนวความคิดทางการออกแบบระดับโลกอย่าง Modernism, Postmodern Classicism และ High Tech โดยนำเสนอแนวทางที่อาจเรียกได้ว่า Post-High-tech ที่ผสานแนวคิดและการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม และความเป็นมนุษย์เข้าไปในแนวคิดเกี่ยวกับความก้าวหน้าล้ำสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการท้าทายการผูกขาดทางวัฒนธรรมและการแสดงออกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยสังคมตะวันตกด้วย ที่สำคัญการท้าทายนี้ถูกสื่อสารออกมาด้วยภาษาสากล จากสถาปนิกในประเทศที่แต่ไหนแต่ไรมาเป็น “คนอื่น” ในวงการสถาปัตยกรรมโลก ตึกหุ่นยนต์จึงไม่ใช่เพียงหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านทางแนวความคิดหลักของวงการสถาปัตยกรรมโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในแง่บทบาทและสถานะของสถาปนิกจากประเทศไทยในระดับนานาชาติด้วย
1 Docomomo_Thai. 2023. Facebook.
2 Singnoi, Weerapon. 2023. ‘Save our fading modern architecture’, Bangkok Post, 30 March 2023, section OPED.
3 ลาซูส, ปองขวัญ. 2023. “จดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารธนาคาร UOB ประเทศไทย.” In. กรุงเทพฯ.
4 ‘กรุกระจกหรือแผงกันแดดคอนกรีตดีกว่ากัน : เรื่องถกของสองแนวทางโมเดิร์นในวงการสถาปัตยกรรมไทยช่วงปีพ.ศ. 2524.’ in. 2008. อยากทันสมัย – สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย พ.ศ. 2510-2530 (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ: กรุงเทพฯ).
5 ภูมิจิตร, ปิยพงศ์ 2017. ‘รังสรรค์ ต่อสุวรรณ: อาจารย์ สถาปนิก นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย (1)’, Accessed 4 April. https://themomentum.co/successful-opinion-rangsan-torsuwan/.
6 ‘High Tech’. RIBA, Accessed 4 April. https://www.architecture.com/explore-architecture/high-tech#.
7 Sir Banister Fletcher’s a History of Architecture. 1987. (Butterworths: London).
8 Fusinpaiboon, Chomchon. 2014. “Modernisation of building : the transplantation of the concept of architecture from Europe to Thailand, 1930-1950s.” PhD. Dissertation : University of Sheffield.
9 “ธนาคารหุ่นยนต์ : สถาปัตยกรรมยุคต่อจากวิทยาการสูง = ROBOT : a statement in post high-tech.” In. 1987. เอเชียทรัพย์สิน.
10 Jumsai, Sumet. 1987. “Building Study: Bank of Asia, Bangkok.” In Mimar : Architecture in Development, 74-81. Singapore: Concept Media Ltd.
11 Rujivacharakul, Vimalin. 2004. ‘Bangkok, Thailand.’ in Sennott R. Stephen (ed.), Encyclopedia of 20th-century Architecture (Fitzroy Dearborn: New York, London).