ทำความเข้าใจการใช้ไม้อย่างยั่งยืนผ่านการออกแบบบูธ WOODDEN หนึ่งใน Thematic Pavilion ของงานสถาปนิก’66 ที่ PAVA Architects ออกแบบให้คล้ายป่าขนาดย่อมที่แสดงกระบวนการแปรรูปไม้สักตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
“การใช้ไม้ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ เราหวังว่า คนที่เข้าบูธจะได้เห็นวงจรของไม้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แล้วเขาจะเข้าใจว่า เราสามารถใช้ไม้ได้อย่างยั่งยืน หากรู้จักการปลูกทดแทน”
พชรพรรณ รัตนานคร สถาปนิกจาก PAVA architects ตอบ เมื่อเราถามถึงแนวคิดการออกแบบบูธ WOODDEN แบรนด์ผู้ผลิต แปรรูป และจัดจำหน่ายไม้สักชั้นเยี่ยมจากประเทศพม่า ในงานสถาปนิก’ 66
แม้ว่าสมัยก่อน ‘ไม้’ จะเป็นวัสดุสร้างบ้าน สร้างอาคารยอดนิยมของไทย เพราะไม้หาได้ง่าย และใช้งานได้หลากหลายแบบตั้งแต่พื้นจรดหลังคา แต่หลายครั้ง การตัดไม้เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีระบบจัดการป่า ทรัพยากรป่าไม้จึงเหือดหายไป เมื่อพูดคำว่า ‘ตัดไม้’ ก็จะมีคำว่า ‘ทำลายป่า’ สร้อยตามมาทันที
ในความเป็นจริง การ ‘ตัดไม้’ ก็อาจจะ ‘ได้ป่า’ หากอยู่ภายใต้กระบวนการ ‘Sustainable Harvesting’ ที่กำหนดแนวทางการตัดไม้ หรือการปลูกทดแทนที่เหมาะสม แทนที่ทรัพยากรไม้จะหดหายไปตามเวลา ไม้ใหม่ๆ ก็สามารถโตขึ้นมาทดแทน ระบบนิเวศป่าก็มีความยั่งยืน
WOODDEN เป็นแบรนด์ที่ยึดมั่นกับการผลิตไม้สักด้วยกระบวนการ Sustainable Harvest มาแต่ไหนแต่ไร เมื่อแบรนด์ได้พูดคุยกับ PAVA architects ผู้ออกแบบบูธที่อยากสื่อสารเรื่องนี้เป็นทุนเดิม ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันโดยไม่ลังเลว่าจะนำเรื่องนี้มาบอกเล่าผ่านงานดีไซน์
PAVA architects ออกแบบบูธให้มี 2 ส่วนด้วยกัน คือส่วน Thematic Pavilion และส่วน Exhibitor ในโซน Thematic Pavilion โอบล้อมด้วยผืนผนังเปลือกไม้สูงกว่า 4 เมตร ผนังหลายผืนที่เรียงตัวซ้อนกันในกริดเฉียง และผิวของผนังที่โชว์เปลือกไม้แบบดิบๆ สร้างบรรยากาศโซนนี้ให้เป็นดั่งป่าไม้สักที่สงบร่มรื่น
“เราอยากสร้างความรู้สึกเหมือนป่า ในผังพื้นอาจจะเห็นเป็นกริดเฉียง แต่ในระดับสายตาของคน จะเห็นบูธเป็นเลเยอร์ซ้อนๆ คล้ายป่าที่มีความซับซ้อน และใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ ที่ผนังเราใช้เปลือกไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่คนเอาไปทิ้งและไม่ค่อยใช้กัน เรามองว่ามันไม่ได้เป็นตำหนิ แต่เป็นความงามที่คนเอาไปใช้ได้จริง” พชรพรรณกล่าว
ภายในวงล้อมกำแพงไม้สักของ Thematic Pavilion ยังมีนิทรรศการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไม้สัก ที่เปิดให้เราซึมซับกับคุณสมบัติของไม้สัก และรู้จักวงจรการผลิตไม้ เรียกว่าได้ว่า โซนนี้ทำให้เรา ‘รู้จัก’ และ ‘รู้สึก’ ถึงกระบวนการต้นน้ำของไม้สักแบบลึกซึ้ง
จากผนังไม้โชว์เปลือกสูงชลูด ในส่วน Exhibitor ผนังไม้จะค่อยๆ ลดทอนสเกลลง ทั้งความสูง และสเกลวัสดุหน้าไม้แปะผนัง พชรพรรณ เรียกโซนนี้ว่าเป็นโซน ‘ปลายน้ำ’ แสดงสินค้าไม้สักที่ผ่านการแปรรูปแล้ว
ผนังไม้ที่หลดหลั่นสเกลลง เอื้อให้ผู้ชมเข้าไปสัมผัสและหยิบจับสินค้าด้วยความรู้สึกเป็นกันเอง ผลิตภัณฑ์ไม้ของ WOODDEN ที่มาจัดแสดง ก็มีครอบคลุมตั้งแต่หน้าโต๊ะไม้สักขนาดใหญ่ ไปจนถึงสินค้ากลุ่ม Home Solutions อย่างเช่น ไม้พื้น ไม้ประตู บันได และสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่นอกจากผู้ชมจะเต็มอิ่มกับผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ได้ชื่นชมศักยภาพของไม้สักที่นำไปแปรรูปได้หลากหลายด้วย
“โซนนี้จะเอาโปรดักท์ของ WOODDEN ที่แปรรูปแล้วอย่างไม้พื้น หน้ากว้างต่างๆ กันมาออกแบบบูธ ถึงจะเป็นไม้พื้น ไม้ฝ้า แต่เราอยากบอกว่าไม้พวกนี้เอาไปใช้งานได้หลายอย่าง” พชรพรรณ เล่าไอเดียการออกแบบส่วน Exhibitor ให้ฟัง
ถ้าอดใจไม่ไหวอยากรู้ว่าบูธเป็นอย่างไร ก็ไปเห็นภาพป่าจำลองด้วยตา ยลกลิ่นของไม้ด้วยจมูก สัมผัสผลิตภัณฑ์จาก WOODDEN ด้วยมือ และเปิดใจเรียนรู้วงจรการผลิตไม้สักกันได้ ที่บูธ WOODDEN ในงานสถาปนิก’ 66